เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 12 จาก 24 ตอนของ

เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์
อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ

เพราะฉะนั้น ฤทธิ์นี้แม้จะทำได้ ท่านก็ไม่สนับสนุน ผลเสียที่ว่ามานี้ก็เป็นตัวอย่าง

ตกลงว่า หลักพระศาสนาท่านวางไว้ให้แล้ว เราจะต้องช่วยกันรักษาหลักพระศาสนาไว้โดยปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงคุณสมบัติของชาวพุทธไว้ ซึ่งเราควรจะนำมาเตือนกันให้มากๆ

คุณสมบัติที่ว่านี้ ก็คือคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ที่ดี ถ้าเราเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มีคุณสมบัติที่ว่านี้ ก็จะไม่หลงออกไปนอกลู่นอกทาง

อุบาสกอุบาสิกาที่ดีมีคุณสมบัติ ๕ ประการ1 ในห้าประการนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล ท่านแปลกันมาว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เรียกตามภาษาบาลีว่า ไม่เป็นคนชนิด โกตุหลมังคลิกะ

คนที่ตื่นข่าวมงคลนั้น เวลามีเสียงเล่าข่าวลือ เกี่ยวกับความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่นว่ามีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่ไหน ไม่ว่าที่โน่นที่นี่ ก็ตื่นตามกันไป

ถ้าเป็นผู้ตื่นข่าวมงคล ก็ไม่สามารถเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดีได้ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ไม่เป็นผู้ตื่นข่าวมงคลแล้ว ก็จะเป็นคนมีเหตุมีผล ตั้งอยู่ในหลักพระศาสนา แล้วก็จะเอาใจใส่ถามกันว่า เราจะต้องประพฤติปฏิบัติอะไร สิ่งที่เราทำอยู่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องดีแล้วไหม มีอะไรที่เราควรจะปฏิบัติต่อไปอีก แล้วก็ยินดีอิ่มอกอิ่มใจอยู่กับการกระทำในสิ่งที่ดีที่พึงชอบนั้น ไม่มัวไปยุ่งคิดฝันหวังเพ้อตื่นข่าวที่โน่น ตื่นพระดังที่นั่น เดี๋ยวดังที่โน่นเดี๋ยวดังที่นี่ ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ไปโน่นทีไปนี่ที หมดเวลาไปเดือนหนึ่งไม่ต้องทำอะไร

ถ้าเอาเวลานั้นมาใช้ ตั้งใจทำการตามเหตุผลด้วยความเพียรพยายาม ก็จะได้การได้งานมากมาย หรือจะใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ก็เจริญก้าวหน้าพัฒนาไปได้มาก ถ้าอยากมีฤทธิ์ ก็ฝึกตัวให้มีฤทธิ์เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วนี่ เธอก็ทำได้ แล้วทำไมจะต้องไปรอให้คนอื่นทำฤทธิ์ให้ เพราะเราก็คนเหมือนกันนี่ เราก็พัฒนาตัวเองได้ เราอยากจะเป็นพระพุทธเจ้า ยังมีสิทธิเลย พระพุทธเจ้าไม่เคยหวงตำแหน่ง

พระพุทธเจ้าไม่เคยผูกขาดตำแหน่ง ใครอยากเป็นพระพุทธเจ้า ก็เอาเลย ตั้งใจเข้าว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีไป พระพุทธเจ้าถือว่าทุกคนมีศักยภาพ มีสิทธิทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ ย่อมสำเร็จได้ด้วยการฝึกหัดฝึกฝนโดยพัฒนาตนยิ่งขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการมีฤทธิ์ เราก็ฝึกตัวเองพัฒนาตัวเองให้มีฤทธิ์ได้ แต่ก็ขอให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญในเรื่องนี้ เพราะว่าการมีฤทธิ์นั้นไม่ได้ทำให้หมดหรือลดกิเลส

ทางแห่งการมีฤทธิ์ กับทางแห่งการหมดกิเลส ไม่ใช่ทางเดียวกัน แต่ผู้หมดกิเลสอาจจะมีฤทธิ์ด้วยก็ได้ หรือผู้มีฤทธิ์อาจจะยังมีกิเลสมากก็ได้ ถ้าคนหมดกิเลสมีฤทธิ์ ก็เป็นผลดี เพราะท่านจะใช้เทคโนโลยีแห่งฤทธิ์ในทางที่เป็นประโยชน์

อิทธิฤทธิ์นั้นเป็นเหมือนเทคโนโลยี ใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นอุปกรณ์ในการทำงานได้

เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ทำอะไรๆ ได้สำเร็จมากมายและง่ายยิ่งขึ้น ถ้าคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นคนดี ก็จะใช้เทคโนโลยีในทางที่ดี ถ้าคนที่ใช้เป็นคนชั่ว ก็จะใช้เทคโนโลยีในทางร้าย ฤทธิ์ก็เป็นเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่ง จะดีหรือร้าย ก็อยู่ที่ผู้ใช้ เพราะฉะนั้น พระที่ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่หวังลาภสักการะเพื่อตนเอง ท่านก็เอาฤทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในการทำงานพระศาสนา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ฤทธิ์นั้นก็เป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา เราเอามาใช้ไม่ได้ ไม่เหมือนเทคโนโลยีทางวัตถุ ที่ยืมใช้กันได้ ถ้าผู้อื่นเอาฤทธิ์มาช่วยเรา เราก็ไม่เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนั้น และถ้าเรามัววุ่นวายอยู่กับเรื่องนี้ ก็จะเกิดผลเสียมากกว่า ไม่คุ้มที่ได้ โดยเฉพาะจะหยุดพัฒนา

ท่านจึงให้เราหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตนเอง โดยใช้สติปัญญาทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย ซึ่งเราจะเป็นตัวของตัวเอง และทำให้เราพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากยังมีจิตใจไม่เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่และเดินหน้าไปด้วยความเพียรและปัญญาของตนเอง จึงหวังอำนาจคุ้มครองช่วยเหลือจากภายนอก

ในกรณีอย่างนั้น ก็จะต้องรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าให้เสียหลัก ทั้งในฝ่ายผู้มีฤทธิ์ และฝ่ายเราผู้หวังพึ่งฤทธิ์

ทางด้านพระขลังมีฤทธิ์นั้น เราก็ดูว่าท่านมุ่งหวังหรือลุ่มหลงในลาภสักการะ และให้เราหลงติดท่านหรือไม่ ทำให้ขึ้นต่อบุคคลไหม และในด้านของเรา ก็ดูว่า ความสัมพันธ์นี้ทำให้เราเพียรพยายามทำกรรมดี เพื่อผลสำเร็จที่ต้องการตามเหตุตามผล หรือว่าทำให้เรามัวรอหวังผลจากการดลบันดาลของปัจจัยภายนอก

ถ้ามันทำให้เราเกิดกำลังใจ แล้วมีความเพียรในการทำการตามเหตุผลมากยิ่งขึ้น ก็พอใช้ได้ เพราะเรายังไม่มีกำลังใจเข้มแข็งพอ เรายังไม่เข้มแข็งขนาดเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ เรายังอยากได้สิ่งที่ช่วยเสริมกำลังใจบ้าง แต่จุดตัดสินก็คือ อย่าละทิ้งหลักกรรม คือ การกระทำเป็นอันขาด ต้องทำๆ ตามเหตุตามผล ทำที่เหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญาสืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย และสร้างสรรค์ทำให้สำเร็จด้วยการเพียรพยายามทำเหตุปัจจัย อย่างนี้จึงจะไม่ผิดหลักพระศาสนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน >>

เชิงอรรถ

  1. ดู คุณสมบัติ ๕ ของอุบาสกอุบาสิกา ใน ภาคผนวก

No Comments

Comments are closed.