ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 8 จาก 24 ตอนของ

ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์
พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม

พระพุทธเจ้าเองนั้น ตอนแรกทรงจาริกเดินทางสั่งสอนธรรมไม่ได้หยุดหย่อน ทรงประกาศพระศาสนา ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา พอสงฆ์เจริญขยายตัวมีขนาดใหญ่ พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ต่อจากนั้นก็ให้สงฆ์เป็นใหญ่

แต่ก่อนนั้น พระองค์เคยบวชพระเอง ใครจะบวช เมื่อมีคุณสมบัติถูกต้อง พระองค์ก็บวชให้ แต่พอให้สงฆ์เป็นใหญ่แล้ว พระองค์ก็ให้สงฆ์เป็นผู้บวช กิจการต่างๆ ก็ให้สงฆ์วินิจฉัย เพราะฉะนั้นความเคารพสงฆ์ และการถือสงฆ์เป็นใหญ่ จึงเป็นหลักการที่สำคัญมากในพระศาสนา พระทุกองค์ต้องเคารพสงฆ์ และถือความสามัคคีของส่วนรวมเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่พระอรหันต์ก็อาจถูกสงฆ์ลงโทษ

เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญทางพระศาสนา มีเรื่องกระทบกระเทือนต่อส่วนรวมเกิดขึ้น พระอรหันต์จะเป็นผู้นำในการเอาใจใส่ขวนขวายแก้ไขสถานการณ์ จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ มีตัวอย่างเรื่อยมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เคยเล่าให้โยมฟังแล้ว เอามาเล่าซ้ำย้ำอีก

มหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ผู้ชอบปลีกหลีกเร้น ท่านถือธุดงค์อยู่ป่าตลอดชีวิตเลย หลายท่านคงนึกว่าท่านปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่พระอรหันต์ที่ในชีวิตส่วนตัวชอบแสวงวิเวกอยู่สงัดอย่างนั้น พอมาถึงเรื่องกิจของสงฆ์ ท่านไม่ทิ้งเลย นอกจากรับผิดชอบเป็นผู้อบรมพระสงฆ์หมู่ใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเมื่อมีเรื่องของส่วนรวมเกิดขึ้นด้วย

ในตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีพระองค์หนึ่งพูดไม่ดีต่อการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย น่าเป็นห่วงว่าพระศาสนาจะยืนยงหรือไม่ พระมหากัสสปะได้เป็นผู้นำเรียกประชุมพระอรหันต์ และชักชวนในการทำสังคายนา เพื่อปกป้องพระศาสนา รักษาพระธรรมวินัย และเชิดชูประโยชน์สุขของพหูชน

สมัยต่อๆ มาก็เหมือนกัน เวลามีเหตุการณ์กระทบกระเทือนพระศาสนาเกิดขึ้น พระอรหันต์จะมาประชุมกันพิจารณาหาทางระงับปัญหาแก้ไขสถานการณ์ ในกรณีนั้น ถ้าพระอรหันต์องค์ไหนขาดประชุม ก็อาจจะถูกลงโทษ

เคยมีพระอรหันต์บางองค์ไปอยู่ในป่า ในตอนที่พระอรหันต์ท่านอื่นมาประชุมพิจารณากิจการของส่วนรวม ที่ประชุมก็มีมติลงโทษพระอรหันต์ที่ไม่มาประชุม เรียกว่า ทำทัณฑกรรม โดยท่านลงโทษด้วยวิธีมอบงานให้ทำ เป็นการทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมความก็คือถือว่าพระอรหันต์ต้องเป็นผู้นำในเรื่องกิจการของส่วนรวม

ในเมืองไทยนี่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากอย่างหนึ่ง คือได้เกิดท่าทีที่ผิด โดยมีความเข้าใจว่าพระหรือใครก็ตาม ที่ไม่ยุ่ง ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี่ เป็นพระหมดกิเลส อันนี้เป็นอันตรายต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง ในประวัติพระพุทธศาสนาของเราไม่ได้เป็นเช่นนี้ พระอรหันต์เป็นผู้นำในกิจการส่วนรวม เป็นประเพณีในทางธรรมมาโดยตลอด เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว พระอรหันต์และพระผู้ใหญ่จะต้องเอาใจใส่เป็นผู้นำไม่ทิ้งเรื่อง

ในประเทศศรีลังกามีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นบ่อย บางครั้งสถาบันพระพุทธศาสนาถึงกับสูญสิ้น เพราะภัยสงคราม เช่นภัยสงครามจากทมิฬในอินเดียตอนใต้ยกมา และภัยลัทธิอาณานิคมจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสมาปกครอง ทำให้พระสงฆ์ถูกกำจัดหมดเลย

ท่านเล่าไว้ในคัมภีร์ถึงการรักษาพระศาสนาว่า ในขณะที่ฉุกละหุก ทั้งประชาชนและพระสงฆ์เร่งรีบหนีภัยกัน ตอนนั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้แล้ว ทุกคนต่างก็ไปลงเรือหนี แต่เรือไม่พอ พระผู้ใหญ่ที่สูงอายุ บอกว่าเราไม่นานก็ตาย แต่พระหนุ่มบางองค์ที่มีคุณสมบัติจะต้องรักษาพระศาสนาต่อไป เราจะไม่ลงเรือนี้ เราจะต้องให้ที่ในเรือนี้ แก่พระหนุ่มนั้น อะไรทำนองนี้ ท่านทำมาอย่างนี้เป็นแบบอย่าง คือการถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก พระจะต้องถือสงฆ์และประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคนไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน >>

No Comments

Comments are closed.