พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 5 จาก 24 ตอนของ

พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ

มีปราชญ์ท่านหนึ่งพูดไว้น่าฟัง ท่านเปรียบเทียบระหว่างศรัทธากับปัญญา หรือระหว่างความเชื่อกับการเห็นความจริง เหมือนอย่างว่า อาตมภาพนี้ กำมือขึ้นมา แล้วก็ตั้งคำถามว่า โยมเชื่อไหม? ในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ดอกหนึ่ง พออาตมาถามอย่างนี้ โยมก็คงจะคิดว่า เอ! เชื่อดีไหมหนอ บางท่านก็ว่า อ๋อ! องค์นี้เรานับถือ เชื่อทันทีเลย ไม่ต้องคิด หรืออาตมภาพอาจจะมีมือปืนไว้บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อจะยิงตายเลย อย่างนี้ก็จำใจ ใจเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ปากก็บอกว่าเชื่อ

ทีนี้ สำหรับบางท่านก็จะคิดว่า เออ! เชื่อได้ไหมนะ ขอคิดดูก่อน ท่านองค์นี้มีประวัติมาอย่างไร เป็นคนพูดจาขล่อกแขล่กหรือเปล่า น่าเชื่อไหม อือ! องค์นี้ท่านไม่เคยพูดเหลวไหลนะ เท่าที่ฟังมาท่าน ก็พูดจริงทุกที ท่าจะน่าเชื่อ นี่เรียกว่าเอาเหตุผลในแง่เกี่ยวกับประวัติบุคคลมาพิจารณา

แต่บางท่านก็มองในแง่ของเหตุผลแวดล้อมอย่างอื่นว่าเป็นไปได้ไหม มือแค่นี้จะกำดอกกุหลาบได้ เอ! ก็เป็นไปได้นี่ แล้วก็พิจารณาต่อไปอีกว่า ท่านนั่งอยู่ในที่นี้ จะมีดอกกุหลาบมาให้กำได้หรือเปล่า ท่านจะเอามาจากไหนได้ไหม ท่านเดินผ่านที่ไหนมาบ้าง อะไรต่างๆ ทำนองนี้ ก็คิดไป ในตอนนี้ก็จะเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลว่าเป็นไปได้ไหม

ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ศรัทธาของคนหลายคนนั้นต่างกัน ของบางคนเป็นศรัทธาที่เชื่อโดยไม่มีเหตุผลเลย งมงาย บอกให้เชื่อก็เชื่อ บางคนก็เชื่อเพราะถูกบังคับ บางคนก็เชื่อโดยใช้เหตุผล แต่การใช้เหตุผลก็มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เท่ากัน

แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในระดับของศรัทธาหรือความเชื่อทั้งนั้น ไม่ว่าจะแค่ไหนก็ตาม ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นที่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่า อาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ในกำมือ โยมก็คิดเอาเองว่าจะเชื่อไหม

ทีนี้ สุดท้ายอาตมาก็แบมือ พอแบมือออกมาแล้ว เป็นอย่างไร โยมก็เห็นเลยใช่ไหม เห็นด้วยตาของโยมเอง ว่าในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบหรือไม่ ตอนนี้ไม่ต้องพูดเรื่องเชื่อหรือไม่เชื่ออีกแล้ว ใช่หรือเปล่า มันคนละขั้น ปัญหาความเชื่อมันอยู่ที่ตอนยังกำมืออยู่ แต่ตอนแบมือแล้ว เห็นด้วยตาแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องความเชื่อ มันเป็นเรื่องของการประจักษ์ว่ามีหรือไม่มี

เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า พระอรหันต์ท่านถึงขั้นที่เห็นความจริงประจักษ์เองแล้ว จึงไม่ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ แต่สำหรับปุถุชนก็ยังต้องอยู่กับความเชื่อ จะต่างกันก็ตรงที่ว่า เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผล มีปัญญาประกอบ หรือไม่มี

สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้น เราต้องการเข้าถึงความจริงที่ประจักษ์ ที่ไม่ต้องเชื่ออีกต่อไป

แต่ระหว่างนี้ ในขณะที่เรายังไม่เข้าถึงความจริงนั้น เราใช้ความเชื่อชนิดที่มีเหตุผล มาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะเข้าถึงความจริงที่ไม่ต้องเชื่อต่อไป เราไม่ต้องการความเชื่อชนิดที่งมงาย

ฉะนั้น เราจะต้องมีหลัก เมื่อเรามีหลักในใจแล้ว ก็จะเป็นคนมีเหตุผล ไม่งมงาย ไม่ตื่นตูม ไม่แกว่งไกว นี่เป็นลักษณะของศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหมสงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ >>

No Comments

Comments are closed.