บทพิเศษ ๑

5 กุมภาพันธ์ 2537
เป็นตอนที่ 21 จาก 24 ตอนของ

บทพิเศษ ๑

พระอริยะ กับ ผู้วิเศษ1

อาตมาได้รับนิมนต์มาที่วัดสวนแก้วอีกครั้ง ที่มานี่ก็พอดีประจวบกับมีเหตุการณ์ที่ชาวไทยหรือพุทธศาสนิกชนกำลังสนใจมากเป็นพิเศษ บางคนเลยอาจเข้าใจผิดว่า อาตมามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย แต่ที่จริงไม่เกี่ยวกัน คือ อาตมาได้รับนิมนต์ไว้นานแล้ว ได้รับหนังสือนิมนต์จากพระอาจารย์พยอม กลฺยาโณ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ ตอนนั้นก็ยังไม่มีเหตุการณ์นี้

วันนี้อาตมาไม่ได้คิดจะพูดอะไรที่เป็นเรื่องหลักสำคัญเป็นพิเศษ จะมาพูดกับโยมในเรื่องที่สบายๆ แทนที่จะบรรยายธรรม ก็อยากจะให้เป็นการตั้งคำถาม และแทนที่จะให้โยมถาม อาตมากลับเป็นฝ่ายถามโยม เพราะฉะนั้นวันนี้จะตั้งคำถามให้โยมตอบ ทีนี้ ถ้าจะให้โยมตอบจริงๆ ก็คงใช้เวลามาก จะวุ่นวายสับสน ฉะนั้นอาตมาถามไป แล้วก็ให้คิดและลองตอบดูว่า จะตรงกันหรือไม่

คำถามที่จะถาม ก็อย่างที่ว่าข้างต้น คือวันนี้จะพูดแบบสบายๆ ไม่ใช่ถามเรื่องหลักธรรมที่ลึกซึ้งอะไร ถามเรื่องง่ายๆ ที่เราควรจะรู้ ควรจะสนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน

อาตมามานึกว่า เวลานี้ เราควรจะให้ความสนใจแก่หลักพระศาสนาให้มาก คือมาสังเกตว่าประชาชน หรือที่เรียกว่าชาวพุทธในปัจจุบันนี้ มีความแกว่งไกวมาก แกว่งไกวไปตามเหตุการณ์ เรื่องราว หรือบุคคล ไม่ได้หลัก

ถ้าหากเป็นคนที่มีหลัก รู้หลักพระศาสนาดีแล้ว ก็ยืนอยู่กับหลัก เหตุการณ์เรื่องราวอะไรต่างๆ ผ่านมา เรายืนอยู่กับหลักแล้ว ก็ไม่หวั่นไหว เราอาจจะมอง เราอาจจะเห็น แล้วสิ่งนั้นก็ผ่านไป

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเรามีหลักแล้ว เราสามารถวินิจฉัยได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้น การกระทำต่างๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะฟังทางโน้นทีทางนี้ที แล้วก็หวั่นไหวไป ถ้าหากว่าดำรงตัวไม่ดี ดีไม่ดีก็หล่นไปจากพระพุทธศาสนาเลย

ตกลงว่า วันนี้ย้ำความสำคัญเรื่องหลัก ทีนี้หลักที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่หลักธรรมสำคัญอะไรนักหรอก เป็นเรื่องง่ายๆ แต่บางทีไม่ได้คิดกัน ฉะนั้น ตอนนี้อาตมาจะตั้งคำถามเล็กๆ น้อยๆ ตั้งไว้สัก ๔-๕ ข้อก่อน

ข้อที่ ๑ ถามว่า ยุคนี้เขาเรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล คุณสมบัติของชาวพุทธข้อไหน ที่สำคัญสำหรับยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล ขอให้นึกดู จะตอบได้ ก็ต้องรู้ว่าชาวพุทธมีคุณสมบัติอะไร

ข้อที่ ๒ ถามว่า การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง คือนับถืออย่างไร อันนี้ถามเกี่ยวกับคติพระโพธิสัตว์ แล้วก็ถามเนื่องออกไปว่า ระหว่างพระโพธิสัตว์ กับพระอรหันต์ นั้นมีความต่างกันอย่างไรในการทำความดี ต่อไป

ข้อที่ ๓ พระอริยะกับผู้วิเศษ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และก็อาจจะถามเนื่องเข้าไปด้วยกับข้อนี้ว่า ใครจะรู้หรือตัดสินได้ว่าผู้ใดเป็นพระอริยะ ตลอดจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์

ข้อที่ ๔ ถามว่า ปาฏิหาริย์มีกี่อย่าง ต่างกันอย่างไรในพระพุทธศาสนา ท่านให้นับถือปาฏิหาริย์หรือเปล่า

(ไม่ใช่ตอบตามลำดับคำถาม แต่ตอบตามเนื้อหาที่โยงกัน)

ทีนี้อาตมาจะเริ่มตั้งแต่คำถามข้อที่ ๑ ที่ว่า คุณสมบัติของชาวพุทธข้อไหนมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับยุคปัจจุบัน ที่เรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล

โยมจะตอบ ก็ต้องทราบว่าชาวพุทธมีคุณสมบัติอะไรบ้าง อาตมาขอทวนว่า องค์ธรรมของอุบาสกอุบาสิกา ที่ถือกันเป็นหลักสำคัญทั่วไปมี ๕ ประการ

๑. มีศรัทธามั่นในคุณพระรัตนตรัย เชื่อมีเหตุผล ไม่งมงาย

๒. มีศีล คือมีความประพฤติดีงามสุจริต ตั้งอยู่ในศีล ๕ เป็นอย่างน้อย

๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากมงคล

๔. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

๕. เอาใจใส่ส่งเสริมสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา

อันนี้โยมฟังแล้ว เห็นว่าข้อไหนสำคัญมากสำหรับยุคปัจจุบัน (มีญาติโยมตอบว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว)

บอกแล้วว่ายุคข่าวสารข้อมูล คำว่า ไม่ตื่นข่าว ก็ตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ข้อที่ ๓ ถือว่าเป็นข้อที่สำคัญเป็นพิเศษในยุคนี้ ขอแปลว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล คือได้ยินว่ามีขลังที่โน่น ศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ มีฤทธิ์ที่นั่น พระดังที่โน้น ก็ตื่นกันไป ไปโน่นไปนี่ จนกระทั่งว่าไม่เป็นอันได้ทำกิจหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันได้ฝึกฝนพัฒนาตน ไม่เป็นอันได้ปฏิบัติธรรม กลายเป็นคนไม่มีหลัก ถ้าเป็นคนตื่นข่าวมงคล ก็ไม่มีหลัก

สำหรับชาวพุทธผู้อยู่ในหลักที่ถูกต้อง ก็จะหวังผลจากกรรม เชื่อกรรม คือหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน โดยใช้สติปัญญาพิจารณาจัดทำตามเหตุตามผล อันนี้ก็จะเป็นทางให้เราพัฒนาตัวเองได้

ชาวพุทธเชื่อกรรม ฉะนั้นหลักกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราจะเชื่ออะไรที่เป็นพิเศษออกไป สิ่งนั้นจะมาขัดขวางหลักกรรมไม่ได้ มีแต่จะต้องให้มาสนับสนุนหลักกรรม

สนับสนุนอย่างไร ก็คือจะต้องมาทำให้เรามีความมั่นคง มีกำลังใจเข้มแข็งในการกระทำสิ่งที่ควรจะทำ ในการทำหน้าที่หรือทำความดีนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นคนนั่งนอนคอยโชค หวังผลจากการดลบันดาล ถ้ามัวหวังผลจากการดลบันดาลนั่งนอนคอยโชค ก็เป็นอันว่าผิดหลักกรรม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องตรวจสอบตัวเอง แล้วก็ยึดในหลักนี้ไว้ให้มั่น

ทีนี้เลยไปข้อปาฏิหาริย์ ในพระพุทธศาสนานี้ท่านสอนให้เชื่อในปาฏิหาริย์หรือเปล่า

ข้อนี้ตอบไม่ดีอาจผิด ต้องแยกแยะก่อน ปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าสอนไว้มี ๓ อย่าง คือ

๑. อิทธิปาฏิหาริย์  เป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องฤทธิ์ คือการแสดงฤทธิ์ หรือความเป็นผู้วิเศษ ดลบันดาลอะไรต่างๆ เหาะเหินเดินอากาศ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น

๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์  คือการทายใจโยมได้

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์  คือคำสอนที่เป็นอัศจรรย์ คำสอนที่แสดงความจริงให้ผู้ที่ฟังรู้เข้าใจ มองเห็นความจริงเป็นอัศจรรย์ แล้วก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตามได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ อันนี้คือให้โยมเกิดปัญญารู้ความจริง

ในปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญปาฏิหาริย์สองอย่างแรก คือ อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญข้อที่สาม ได้แก่ อนุศาสนีปาฏิหาริย์

ทีนี้ ลองมาดูกัน เอาง่ายๆ ๒ ข้อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับฤทธิ์ เนื่องกับความสามารถพิเศษทางจิต ก็แยกข้อ ๑-๒ เป็นพวกหนึ่ง ข้อ ๓ เป็นพวกหนึ่ง ทีนี้พระพุทธเจ้าสรรเสริญข้อที่ ๓

ก็เป็นอันว่า ข้อที่ ๑-๒ นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ยกย่อง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ยกย่อง เราจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างปาฏิหาริย์ ๒ แบบนี้

ปาฏิหาริย์ประเภทฤทธิ์นี่ เวลาแสดง คนที่ดูที่ฟัง ดูฟังเสร็จแล้ว ก็งงไปเลย ดูว่าตัวผู้แสดงนั้นเก่ง แต่ตัวโยมเองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อยู่เท่าเดิม อาจจะแย่ลง เพราะว่างง เดิมยังไม่งง พอดูท่านผู้แสดงฤทธิ์เสร็จ งงไปเลย งงนี่ต้องระวัง เดี๋ยวจะกลายเป็นโง่ไป คือกลายเป็นโมหะ กลายเป็นว่า พอเห็นฤทธิ์ ท่านแสดงฤทธิ์ให้ดูเสร็จ ตัวเองกลับมีโมหะมากขึ้น

ทีนี้ไปดีที่ไหน ก็ไปดีที่คนแสดง คนแสดงก็เด่นยิ่งขึ้น ตกลงเราก็ต้องไปหวังพึ่งท่านผู้แสดงฤทธิ์อยู่เรื่อยเลย ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว คอยรอหวังผลว่าท่านจะทำอะไรให้

คราวนี้มาดูอนุสาสนีปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้ายกย่อง พอแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์เสร็จ อะไรเกิดขึ้นในใจของผู้ฟัง ปัญญาเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร เป็นของผู้นั้นเอง ทีนี้ผู้ฟังได้ คือ ได้ปัญญา พอปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาอยู่กับตัว ไปไหน ก็พาปัญญาไปด้วย ใช่ไหม ทีนี้ไม่ต้องมัวพึ่งผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์แล้ว ฉะนั้นผู้ที่ได้คือผู้ฟัง

ท่านที่แสดงก็แสดงของท่านไป ท่านก็มีความชำนาญมากขึ้นในสิ่งที่แสดง แต่ว่าผู้ฟังสิได้จริงๆ แล้วก็เป็นอิสระ คือได้แล้ว ตัวเองก็รู้ก็เข้าใจ เป็นปัญญาของตัว ท่านผู้แสดงนั้นแสดงให้เห็นความจริงอะไร ผู้ฟังก็ได้เห็นความจริงนั้น ผู้ฟังก็เป็นอิสระแก่ตัวเอง ก็จบ

ต่อไปจะถามคำถามที่ต่อเนื่องกันคือ พระอริยะ กับผู้วิเศษ ต่างกันอย่างไร

ถ้าเราเข้าใจข้อนี้แล้ว เราก็จะอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น เพราะประชาชนในปัจจุบันนี่สับสนมาก มักเอาความเป็นผู้วิเศษกับความเป็นพระอริยะเป็นอันเดียวกันเสีย ถ้าอย่างนี้ หลักพระศาสนาก็จะสับสน แล้วก็เสื่อมด้วย

ผู้วิเศษคืออะไร เรามักจะเรียกคนมีฤทธิ์นั้นเองว่าเป็นผู้วิเศษ เช่น โยคี ฤาษี ดาบส ก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น ก็มีโยคี ฤาษี ดาบสเยอะ อยู่ในป่า ได้ฌานสมาบัติ ได้โลกียอภิญญา มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราเรียกได้ว่าเป็นผู้วิเศษ คือผู้มีฤทธิ์นั่นเอง

ส่วนความหมายของพระอริยะ คืออะไร พระอริยะ คือท่านผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ประเสริฐเพราะไกลจากกิเลส ไกลจากกิเลสก็คือ หมดจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่ากำจัดความโลภ โกรธ หลง ให้ลดน้อยเบาบางลง กิเลสน้อยลงไปๆ จนกระทั่งว่าเป็นอริยะสูงสุดก็คือ เป็นพระอรหันต์ หมด โลภะ โทสะ โมหะ

ผู้วิเศษไม่จำเป็นต้องเป็นอริยะ แต่ก็มีพระอริยะหลายองค์ พระอรหันต์หลายองค์ท่านได้ฤทธิ์ ได้ฌานได้สมาบัติ ทีนี้ ถ้าท่านได้นี่ ก็เป็นความรู้พิเศษของท่าน เป็นความสามารถที่เอามาใช้ประโยชน์ในการประกาศพระศาสนาได้

พวกฤทธิ์พวกความวิเศษนี่ ถ้าไปอยู่กับคนชั่ว ก็ใช้ในทางร้าย เอาไปหาลาภสักการะเพื่อตนเอง เอาไปทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เอาไปหลอกลวงประชาชน ถ้าเป็นคนที่ดี ท่านก็เอามาใช้ในการทำงานพระศาสนา

ท่านที่ใช้ในทางที่ถูกต้อง จะไม่ล่อให้ประชาชนหลงใหล เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว จะใช้ให้เป็นทางเพียงเพื่อให้โยมเกิดปัญญา ฉะนั้น โยมต้องแยกให้ถูก ระหว่างผู้วิเศษ กับพระอริยะ

ความวิเศษไม่ใช่เครื่องตัดสินความเป็นพระอรหันต์ หรือความเป็นพระอริยะ ฉะนั้น พระอริยะ หรือพระอรหันต์นั้น ท่านไม่มีหรอกเรื่องความวิเศษที่จะให้โยมได้เห็นฤทธิ์อะไร เวลาไปไหน ท่านก็ไปธรรมดาๆ โยมก็ไม่ตื่นเต้น ตรงกันข้ามกับเห็นผู้วิเศษ ฉะนั้น ต้องแยกกันให้ถูก ถ้ารู้หลักพระศาสนาแล้ว ก็แยกได้ หมดปัญหา

ทีนี้ก็ตอบคำถามที่เนื่องกันไปนิดหน่อยว่า ก็แล้ว จะรู้ว่าใครเป็นพระอริยะ หรือใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้ตัดสิน

ผู้ที่จะรู้ได้ว่าใครเป็นอริยะ ก็ต้องเป็นอริยะเองก่อน พระอรหันต์จึงจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ คือ ต้องเป็นคนระดับเดียวกัน หรือสูงกว่า อันนี้เป็นหลักทั่วไป เอาแค่หลักทั่วไปก่อน

อันนี้ต้องระวัง ประชาชนปัจจุบันมีความโน้มเอียงจะไปเที่ยวตั้งพระองค์โน้นเป็นพระอรหันต์ ตั้งพระองค์นี้เป็นพระอริยะ ระวังเถอะ มันเป็นเรื่องที่จะทำให้เสียหลักพระศาสนา

แต่เรามีสิทธิ์ที่จะพิจารณาด้วยปัญญา เรามีหลัก เราก็ดูและตรวจสอบได้ว่า พระองค์นี้มีความประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในหลักพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าเลื่อมใสหรือไม่ เราอาจจะสันนิษฐานอะไร ก็อยู่ในใจของเรา แต่อย่าเพิ่งไปวินิจฉัยตัดสิน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธานบทพิเศษ ๒ >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถา แสดงในงานเสริมธรรม-เสริมปัญญา ณ วัดสวนแก้ว วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ (ปรับปรุงจากที่ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗)

No Comments

Comments are closed.