ภาคผนวก

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 23 จาก 24 ตอนของ

ภาคผนวก

อุบาสกธรรม (คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา) ๕

๑. มีศรัทธา เชื่อมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย

๒. มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕

๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง ของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์

๔. ไม่เแสวงหาทักขิไณย์นอกหลักคำสอนนี้

๕. เอาใจใส่ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา

ชาวพุทธที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ นี้ ท่านเรียกว่าเป็น อุบาสกรัตน์ อุบาสิการัตน์ (อุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว)

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๗๕/๒๓๐)

มหาโจร ๕

มหาโจรพวกที่ ๑ ผู้มีพฤติกรรมเหมือนกับมหาโจรที่รวบรวมพวกได้บริวารจำนวนร้อยจำนวนพัน เข้าไปก่อความเดือดร้อน ฆ่า ปล้น เอาไฟเผาในคาม นิคม ราชธานี ได้แก่ ภิกษุบางรูปที่พาภิกษุจำนวนร้อยจำนวนพันเป็นบริวารจาริกไปในคาม นิคม ราชธานี ให้คฤหัสถ์ และบรรพชิต สักการะ เคารพ นับถือ บูชา อ่อนน้อม พร้อมทั้งได้ปัจจัยสี่

มหาโจรพวกที่ ๒ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว กล่าวอ้างว่าเป็นของตนรู้เอง (เพื่อยกชูตัวขึ้นไป)

มหาโจรพวกที่ ๓ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้ใส่ความกำจัดเพื่อนพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ ด้วยข้อกล่าวหาว่าประพฤติผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมูล

มหาโจรพวกที่ ๔ ได้แก่ ภิกษุชั่วทรามบางรูป ผู้เอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร เช่น อาราม พื้นที่อาราม วิหาร พื้นที่วิหาร เตียงตั่ง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปสงเคราะห์ ประจบเกลี้ยกล่อมคฤหัสถ์

มหาโจรพวกที่ ๕ ได้แก่ ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง ภิกษุนี้จัดว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎร ด้วยอาการแห่งขโมย

(วินย.๑/๒๓๐/๑๖๙)

ปาฏิหาริย์ ๓

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี ใกล้เมืองนาลันทา ครั้งนั้น เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เกวัฏฏะบุตรคฤหบดีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่ง สมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญชาให้ภิกษุรูปหนึ่งกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ โดยอาการอย่างนี้ ชาวเมืองนาลันทา จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่งสุดที่จะประมาณได้

เมื่อเกวัฏฏะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกะเกวัฏฏะบุตรคฤหบดีว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์แก่คฤหัสถ์ …

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนเกวัฏฏะ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทศนาปาฏิหาริย์ อนุศาสนีปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้… เราเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์… จึงเอียน ระอา รังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ ก็ อาเทศนาปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความคิด ทายความไตร่ตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้…เราเห็นโทษในอาเทศนาปาฏิหาริย์ จึงเอียน ระอา รังเกียจอาเทศนาปาฏิหาริย์

ดูก่อนเกวัฏฏะ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ เป็นไฉน ดูก่อนเกวัฏฏะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงคิดอย่างนี้ อย่าคิดอย่างนั้น จงมนสิการอย่างนี้ อย่ามนสิการอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงบำเพ็ญสิ่งนี้…

ดูก่อนเกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนหนอ

ลำดับนั้น ภิกษุได้เข้าสมาธิ ชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกก็ปรากฏ ครั้นแล้วภิกษุเข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ ได้ถามพวกเทวดาเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔… ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน… พวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชกล่าวว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ…

ต่อแต่นั้น ภิกษุได้เข้าไปหาหมู่พรหม… เข้าไปหาท้าวมหาพรหม แล้วถามว่า มหาภูตรูป ๔… ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน… ท้าวมหาพรหมนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครเหนือ เป็นผู้หยั่งเห็นถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้เนรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้จัดสรร เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ทั้งที่เกิดแล้วและที่จะเกิดต่อไป ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น… ข้าพเจ้าถามท่านว่ามหาภูตรูป ๔… ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ต่างหาก

ดูก่อนเกวัฏฏะ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมจับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วกล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านภิกษุ หมู่พรหมเหล่านี้ รู้จักข้าพเจ้าว่า อะไรๆ ที่พระพรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง เป็นอันไม่มี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูป ๔… ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหานี้เถิด…

(เกวัฏฏสูตร, ที.สี.๙/๓๓๙/๒๗๓)

(สาระสำคัญว่า แม้จะมีฤทธิ์มากมาย แต่ก็ไม่อาจรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่สามารถแก้ข้อสงสัยในใจของตนได้ ในที่สุดก็ต้องอาศัยอนุศาสนีปาฏิหาริย์ จึงได้ปัญญารู้ความจริง)

พุทธบัญญัติห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมและห้ามแสดงฤทธิ์

“ภิกษุใด ไม่รู้ประจักษ์ กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม (เช่นว่าตนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น)… โดยน้อมเข้ามาในตน… ภิกษุนี้เป็นปาราชิก…”

(วินย.๑/๒๓๑/๑๗๒)

“ภิกษุใด บอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิใช่ภิกษุ หรือภิกษุณี เช่น บอกแก่คฤหัสถ์) ถ้ามีจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๓๐๕/๒๑๑)

“ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นอุตริมนุสธรรม แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ภิกษุใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๓๓/๑๖)

“ภิกษุไม่พึงเรียนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ… ภิกษุไม่พึงสอนติรัจฉานวิชา ภิกษุใดสอน ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๘๓-๔/๗๑)

พุทธพจน์ให้นับถือพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาแทนพระองค์

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

(ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)

พุทธพจน์ให้เคารพสงฆ์

“เราสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่เราได้ตรัสรู้นั้นเองอยู่ และเมื่อใดสงฆ์เติบใหญ่ขึ้นแล้ว เมื่อนั้นเราย่อมมีความเคารพแม้ในสงฆ์”

(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๑/๒๗)

พุทธบัญญัติห้ามพระภิกษุขอ

“ภิกษุใดขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชาย หรือหญิง ผู้มิใช่ญาติ มิใช่ปวารณา (คือผู้ไม่ได้นิมนต์หรือพูดเปิดโอกาสไว้ให้ขอ) ได้มา ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นแต่สมัย คือจีวรถูกลักไปหรือสูญหาย”

(วินย.๒/๕๔/๓๘)

“ภิกษุใดขอด้ายมาเอง ให้ช่างหูกทอเป็นจีวร ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๑๕๓/๑๓๓)

“ภิกษุใด ไม่อาพาธ ขอโภชนะประณีต อันมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เอามาฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๑๗/๓๔๑)

“ภิกษุไม่อาพาธ พึงยินดีการปวารณาด้วยปัจจัยเพียง ๔ เดือน เว้นแต่เขาปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์ ถ้าเธอยินดีเกินกว่านั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๕๖/๓๗๑)

“ภิกษุพึงสำเหนียกว่า เราไม่อาพาธ จักไม่ขอกับแกงหรือข้าวสุก เพื่อประโยชน์แก่ตน มาฉัน (ถ้าขอต้องอาบัติทุกกฎ)”

(วินย.๒/๘๓๖/๕๔๗)

พุทธบัญญัติป้องกันมิให้ความสัมพันธ์กับสตรีเป็นไปในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสีย

“ภิกษุใดเสพเมถุน โดยที่สุด แม้ในสัตว์ดิรัจฉาน เป็น ปาราชิก”

(วินย.๑/๒๒/๔๐)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง… ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๓๗๕/๒๕๓)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง… ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๓๙๗/๒๗๔)

“ภิกษุใดมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม… ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๔๑๔/๒๘๘)

“ภิกษุใดชักสื่อชายหญิงให้สมสู่กัน… แม้แต่กับหญิงโสเภณีที่อยู่ร่วมเพียงชั่วขณะ ต้องสังฆาทิเสส”

(วินย.๑/๔๒๖/๓๐๒)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตาพอจะทำกรรมได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับอาบัติ ๓ อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”

(วินย.๑/๖๓๒/๔๓๓)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับหูที่พอจะพูดเกี้ยวกันได้ กับหญิงตัวต่อตัว ถ้าอุบาสิกาผู้มีวาจาควรเชื่อได้เห็นแล้วมาพูดขึ้น เข้ากับอาบัติ ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น หรืออุบาสิกานั้นว่าอย่างใด พึงปรับอย่างนั้น”

(วินย.๑/๖๔๔/๔๓๙)

“ภิกษุใด นอนในที่มุงที่บังอันเดียวกันกับผู้หญิง แม้เพียงเริ่มราตรี ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๒๙๔/๒๐๑)

“ภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้หญิง เกินกว่า ๕-๖ คำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ด้วย”

(วินย.๒/๓๐๐/๒๐๖)

“ภิกษุใด นั่งในอาสนะปกปิดในที่ลับกับผู้หญิง (ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน) ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๓๙/๓๕๖)

“ภิกษุใด นั่งในที่ลับตัวต่อตัวกับผู้หญิง ต้องปาจิตตีย์”

(วินย.๒/๕๔๓/๓๕๙)

“ภิกษุใด ชวนผู้หญิงเดินทางด้วยกัน แม้ชั่วระยะหมู่บ้านหนึ่ง ต้องปาจิตตีย์ (เว้นแต่ทางมีอันตราย)”

(วินย.๒/๖๕๙/๔๒๙)

“ภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ จะเป็นภิกษุชั่วทรามก็ตาม จะเป็นภิกษุที่สิ้นกิเลสแล้วก็ตาม ย่อมเป็นที่ระแวง เป็นที่รังเกียจ คือ ไปมาหาสู่(โคจร)หญิงแพศยา ๑ ไปมาหาสู่หญิงหม้าย ๑ ไปมาหาสู่สาวเทื้อ ๑ ไปมาหาสู่กระเทย ๑ ไปมาหาสู่ภิกษุณี ๑”

(วินย.๘/๙๗๙/๓๒๕)

ภิกษุเป็นผู้อโคจร (ไปมาหาสู่บุคคลและสถานที่อันไม่สมควรแก่ภิกษุ) (๘) คือ ไปมาหาสู่หญิงแพศยา… หญิงหม้าย… สาวเทื้อ… กระเทย… ภิกษุณี… ร้านสุรา คลุกคลีกับคฤหัสถ์อย่างไม่สมควร… คบหาตระกูลที่มุ่งร้ายไม่ศรัทธาต่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

(อภิ.วิ.๓๕/๖๐๔/๓๓๒)

พุทธบัญญัติบางอย่างที่ควรทราบเกี่ยวกับการแต่งกายของภิกษุ

“ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ เราอนุญาตให้ไว้ผมได้ ๒ เดือน หรือยาว ๒ องคุลี”

(วินย.๗/๑๓/๖)

“ภิกษุไม่พึงแต่งหนวด ไม่พึงไว้หนวด ไม่พึงไว้เครา… รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๕๐/๖๐)

“ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์… รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฎ”

“ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์… รูปใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฎ”

(วินย.๗/๑๖๙-๑๗๐/๖๖)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทพิเศษ ๒บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐ >>

No Comments

Comments are closed.