งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 2 จาก 20 ตอนของ

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

เมื่อจะพูดสั้นๆ ง่ายๆ ก็บอกว่า ถ้าคนที่ทำงานตั้งใจทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต แค่นี้ก็เรียกว่า มีธรรมในการทำงานแล้ว แต่เมื่อพูดกันอย่างจริงจัง ธรรมคงไม่ใช่เท่านี้ เพราะว่าธรรมนั้นมีความหมายกว้างมาก

ธรรมเป็นเรื่องของความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม และการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ

ในการทำงาน ธรรมก็หมายความว่า เราทำงานถูกต้องตามความหมายของงาน และทำให้งานได้ผลตามเหตุตามผลของมัน ทั้งหมดนี้ รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างอย่างยิ่ง

เริ่มต้นเราคงต้องมาพูดกันก่อนว่า “เราทำงานเพื่ออะไร?” พอถามอย่างนี้ ก็ตอบกันได้หลายอย่าง

เวลาพูดออกมาข้างนอก เราก็อาจจะตอบว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสังคม หรืออะไรทำนองนี้

แต่เวลาพูดกันเป็นส่วนตัว มันมักจะมาลงที่นี่ คือ “ทำงานก็ต้องได้เงินสิ”

คำตอบนี้แหละที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมปัจจุบัน คือเรื่องทำงานแล้ว ก็ต้องได้เงิน เราทำงานเราก็ต้องการเงินสิ ไม่มีเงินเดือนให้ใครจะไปทำงานล่ะ และอีกอย่างหนึ่ง ที่เราต้องการก็คือ “ความสุข”

ฉะนั้น ถ้าพูดกันแบบกันเอง ในการทำงานมักจะมีคำที่สำคัญคือ หนึ่ง ทำงาน สอง ก็ต้องได้เงิน และสามคือ เราก็จะมีความสุข

งาน เงิน ความสุข สามอย่างนี้มาต่อกันเป็นชุด จนกระทั่งสมัยหนึ่ง ได้เกิดเป็นคำขวัญขึ้นมาเลยทีเดียว ท่านผู้ใดที่อายุยาวสักหน่อย ผ่าน พ.ศ. ๒๕๐๓ มา จะได้ยินคำขวัญออกวิทยุทุกวัน เช้า-ค่ำ ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ข้อความนี้ โยมที่อายุมากหน่อยจะจำได้ แต่คนรุ่นหลังๆ ไม่ทัน

คำขวัญนี้ มี ๓ คำ ที่พูดไปแล้วก็ครบ งานคือเงิน และเงินคืองาน แล้วสุดท้ายก็บันดาลสุข

งานคือเงิน หมายถึง คนที่ไปทำงาน หรือฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งจะบอกว่า ฉันทำงานก็ต้องได้เงินนะ

ส่วนฝ่ายนายจ้างก็บอกว่า เงินคืองาน ฉันให้เงินก็ต้องได้งานให้สมกับเงิน

และลงท้ายทุกคนก็บอกว่า เมื่อได้เงินมาแล้วทีนี้ เงินนั้นก็จะบันดาลสุขละ

ทีนี้ ในคำชุดนี้มีข้อสังเกต คือ ในเรื่องงาน เงิน และความสุขนั้น เรามักจะพูดถึงงาน แล้วโยงไปถึงความสุขโดยผ่านเงิน หมายความว่า ทำงานแล้วก็ได้เงิน แล้วจึงมีความสุข เราไม่สามารถพูดว่า งานก็เป็นความสุขด้วย งานทำให้ได้เงิน แล้วเงินจึงบันดาลสุขให้ งานบันดาลความสุขโดยตรงไม่ได้ กลายเป็นต้องบันดาลความสุขโดยผ่านเงิน

เราพูดได้ไหมว่า “งานบันดาลสุข” จะเห็นว่างานบางทีไม่เป็นสุข แต่งานกลายเป็นทุกข์ไปเสีย ต้องมีเงินก่อนจึงจะมีสุขได้ นี้เป็นข้อสังเกตที่ ๑

ข้อสังเกตที่ ๒ คือ ในคำพูดนี้เรามักนึกถึงเรื่องของตัวเอง เวลาเราพูดถึงงาน งานก็คืองานที่ฉันทำอยู่นี่แหละ ไม่ได้นึกกว้างไปกว่านี้ หรือแม้แต่ถามว่างานนั้นมีความหมายแค่ไหน เพียงใด

ความจริง คำว่างานมีความหมายมากมาย แต่เรานึกถึงแค่หน้าที่ที่ฉันรับผิดชอบที่ฉันทำอยู่นี้ ซึ่งโยงต่อไปยังข้อความต่อจากนั้นที่บอกว่า “คือเงิน” และเมื่อได้เงินมาแล้ว “ก็ทำให้มีความสุข” ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของตัวฉัน งานที่ฉันทำ ฉันต้องได้เงิน เงินเป็นของฉัน และฉันได้เงินมาแล้วฉันใช้จ่ายก็เป็นความสุขของฉัน งาน จึงหมายถึงงานที่ฉันทำอยู่ที่จะทำให้ฉันได้เงินมาหาความสุขนี่แหละ

แต่ที่จริงผลของงานที่แท้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา อย่างน้อยมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ผลของงานที่จริงหมายถึงประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือแก่สังคม

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตัวเราเองนี่แหละ เวลาพูดในเชิงเหตุผลเราจะเน้นในแง่ส่วนรวมหรือสังคม เราจะพูดว่างานนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่ในแง่ความรู้สึกเราจะเน้นที่ตัวเอง เวลาพูดว่างานคือได้เงิน และเงินบันดาลสุขนี้ เรามักนึกถึงแต่เรื่องของตัวเองไปหมด

คำว่าความสุขที่อยู่ท้ายนี้ ที่จริงไม่ใช่แค่ความสุขของตัวเรา มันหมายถึงความสุขหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม หรือแก่สังคมด้วย แต่เพราะเหตุที่คำว่า “สุข” ในที่นี้ เรามักจะนึกจำกัดอยู่แค่ตัวเอง จึงอาจจะต้องเพิ่มถ้อยคำเข้ามาอีกหนึ่งคำ ให้ระบุชัดถึงความสุขในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมส่วนรวม คือประโยชน์ที่เกิดกับสังคม เช่นการทำงานทางการแพทย์ คือการรักษาพยาบาล ย่อมต้องการผลอย่างแน่นอนว่า เพื่อจะช่วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นงานทางด้านสังคมเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

ตามที่ว่ามานี้ จึงเท่ากับว่าเราต้องแยกข้อความเป็น ๔ คำ เพราะว่าสุขที่เราพูดเมื่อกี้เป็นสุขส่วนตัวไปแล้ว เราจึงต้องเพิ่มประโยชน์สุข (ของส่วนรวมหรือสังคม) เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง เป็น งาน – เงิน – ความสุขของตัวข้า – ความสุขของประชาชน

ประโยชน์จากงานนั้น เป็นผลโดยตรงจากการทำงานของเรา ที่บอกว่าเป็นผลโดยตรงเพราะงานแต่ละอย่างนั้น มี ผลโดยตรง กับ ผลโดยอ้อม

ผลโดยตรง คือ ผลที่เกิดตามเหตุโดยธรรมชาติของงานนั้น ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ในการทำสวน ผลโดยตรงของการทำสวน คือการที่ “ต้นไม้เจริญงอกงาม” ซึ่งเป็นผลที่แท้ตรงตามธรรมชาติ แต่ผลสำหรับตัวเราก็คือ “เงิน” ซึ่งเป็นผลโดยอ้อมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกำหนดกัน

จะเห็นว่างานรักษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน การแพทย์มีไว้เพื่ออะไร การแพทย์มีผลโดยตรงคือ การทำให้คนไข้หายป่วยไข้ มีสุขภาพดี แต่มีผลโดยอ้อมตามเงื่อนไขในทางอาชีพคือ การได้เงินเดือนดี หรือมีผลตอบแทนมาก

ในบรรดาผล ๒ อย่างนี้ ผลโดยตรงตามธรรมชาติที่ตรงตามเหตุ เป็นผลที่เราต้องการแท้จริง ซึ่งเป็นผลที่เกี่ยวกับประโยชน์แก่สังคม เป็นเรื่องของส่วนรวม ดังนั้น เมื่อพูดให้ครบ โดยรวมประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมที่เป็นผลโดยตรงของงานนี้เข้าด้วย จึงแยกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการทำงานเป็น ๔ อย่าง คือ งาน เงิน ประโยชน์ (ส่วนรวม) และความสุข (ส่วนตัว)

แต่เวลานี้ปัญหาได้เกิดขึ้นว่าองค์ประกอบ ๔ อย่างนี้ไม่กลมกลืนกัน

เรามักจะมองแยกกันอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า ทำงานก็ได้เงิน แล้วจึงบันดาลความสุขให้ พอพูดว่า งาน เงิน เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเป็นความสุขแก่ตัวเอง บางทีก็ไม่เป็นเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้จะเกิดปัญหา

พูดได้เลยว่า ผู้ใดประสาน ๔ ข้อ ให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกันได้เมื่อไร ผู้นั้นจะทั้งมีความสุขในตัวเอง ในการทำงาน และจะทำให้งานได้ผล เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่ด้วย

ทำอย่างไรจะให้มันกลมกลืนกันไปหมดว่า งานคือเงิน ก็ใช่ งานเป็นความสุขด้วยก็ใช่ ไม่ใช่งานต้องไปเป็นเงิน แล้วจึงจะเป็นความสุข คือต้องไปผ่านเงินก่อน ถ้าอย่างนี้งานก็กลายเป็นความทุกข์

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องให้งานก็เป็นความสุขด้วย เงินก็เป็นความสุขด้วย กลมกลืนกันหมด ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไร ก็สำเร็จเมื่อนั้น แถมยังเติมคำว่าประโยชน์เข้ามาด้วย หมายความให้ได้ทั้ง ๔ ข้อ ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

พูดได้เลยว่า ถ้าใครทำให้องค์ ๔ ข้อผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ทั้งหมด นั่นแหละจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่เวลานี้องค์ ๔ ข้อนั้นอาจจะยังแยกกันอยู่กระจัดกระจาย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำให้กลมกลืนกันได้จริงๆ ในที่สุด เงินจะกลายเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น คือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้นโดยที่ว่า โดยตัวงานเราก็มีความสุขอยู่แล้ว แต่เงินมาเสริมความสุขเท่านั้น เพราะที่จริงนั้น เงินเป็นของแถมมาทีหลัง เป็นของที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรมแล้ว

เดิมทีเดียว คนที่เราเรียกว่าไม่มีอารยธรรมเขาก็ต้องทำงาน ขุดดิน ถางหญ้า และเมื่อทำไป ผลของงานก็เกิดขึ้นมา เวลานั้นคนยังไม่รู้จักใช้เงิน เมื่อเขายังไม่มีเงินใช้ แล้วเขายังไม่มีความสุขหรือ ถ้าต้องรอเงินจึงจะมีความสุข คนในสมัยก่อนนี้ไม่มีเงิน ก็มีความสุขไม่ได้นะสิ

ที่จริงเงินเป็นของแถม เพิ่งเกิดทีหลัง มนุษย์ยุคก่อนมีอารยธรรมนั้น ไม่มีใครมาให้เงิน เขาขุดดิน ปลูกต้นไม้ รดน้ำไป ผลงานของเขาก็เกิดขึ้นมา คือ ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงาม เขาก็มีความสุข

ถ้าจะเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงความจริงแท้ จะต้องมีความสุขที่เกิดขึ้นในเนื้อแท้ของชีวิตจิตใจ ซึ่งจะเป็นไปโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติเลย คือ ในที่สุดแล้ว งานเป็นความสุขอยู่ในตัว แล้วเงินก็มาแถมมาเติม มาเสริมสุขให้มากยิ่งขึ้น

ถ้าใครทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเป็นคนที่เข้าถึงความจริงของชีวิต และจะเป็นคนที่ไม่หลงไม่พลาด พร้อมทั้งจะมีความสุขที่จริงแท้

แต่เราก็มาเจอปัญหาว่า จะประสาน ๔ ข้อที่พูดไปแล้วนั้น เข้าด้วยกันได้อย่างไร นี่ก็คือธรรมะเข้ามาในการทำงาน

แต่ตอนนี้จะยังไม่พูดเพราะจะพูดเรื่องทั่วไปก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< กล่าวนำทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.