- การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต
- พัฒนาคน หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต
- เอาปราชญ์มาสอนให้นำสังคมได้เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ตามสนองสังคมทัน
- อาการฟูยุบในวงวิชาการ
- ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน
- การปรับตัวปรับความคิดใหม่ในวงวิชาการ
- จะพัฒนาคน แต่ความคิดก็ยังพร่าสับสน
- พัฒนาอย่างไรจะได้คนเต็มคน
- รู้อย่างไรว่าพัฒนาแล้วเป็นคนเต็มคน
- กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไทยต้องปรับตัวให้ทัน
- จะปรับตัวอย่างไร ไทยจึงจะฟื้นตัวทัน
- พัฒนาทั้งให้เป็นคนไทยและให้เป็นคนที่สร้างสรรค์อารยธรรม
- ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน
- แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์มองโดยความสัมพันธ์กับวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ
- แง่ที่ ๒ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ สิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี
- แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลง
- แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ
- แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
- แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกน ของการพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงอิสรภาพ
จะปรับตัวอย่างไร ไทยจึงจะฟื้นตัวทัน
ที่พูดนี้หมายความว่า สภาพแวดล้อมทางวัตถุปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมสะดวกสบาย ชีวิตในยุคนี้ เป็นชีวิตยุคกดปุ่ม ฝรั่งบอกว่าเดี๋ยวนี้ ใช้แต่กล้ามนิ้ว ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ สมัยก่อนเราจะทำอะไรลำบาก ต้องใช้กล้ามเนื้อมาก เวลานี้ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ใช้แค่กล้ามนิ้ว กดปุ่มเอาก็ได้แล้ว ในสภาพเช่นนี้คนที่เห็นแก่ความสะดวกสบายจะอ่อนแอลง ไม่อยากทำอะไร อยากทำแต่ง่ายๆ พบอะไรก็ไม่อยากทำ ไม่อยากสู้ มีปัญหาอะไรก็ไม่อยากคิดแก้ไข แต่พร้อมกันนั้น ระบบชีวิตและระบบสังคมก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้คนจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางวัตถุทำให้คนอ่อนแอลง คนที่เป็นผลิตผลของสังคมนั้นก็จะสู้กับระบบความซับซ้อนในชีวิตและสังคมไม่ได้ พออ่อนแอ สู้ระบบในสังคมของตนเองก็ไม่ไหว ยิ่งออกไปในระบบการแข่งขันของเวทีโลกก็ยิ่งไม่ไหว จะต้องแก้ไขให้คนที่อ่อนแอนั้นเป็นคนที่เข้มแข็งให้ได้
มีสิ่งสำแดงหลายอย่างที่แสดงว่าคนไทยเรามีความอ่อนแอ เราจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาคนของเราขึ้นมา เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมเดิมในสังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็ทำให้คนไทยมีจิตใจโน้มไปในทางเห็นแก่ความสะดวกสบาย ต่อไปประการที่สอง ในยุคที่แล้วมาเมื่อเริ่มติดต่อกับตะวันตก (ที่จริงต้องว่าเมื่อแรกที่ฝรั่งเข้ามา) เราได้รับเทคโนโลยีสำเร็จรูปโดยไม่ต้องผลิต และเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปประเภทบริโภค ซึ่งก็มาเสริมความสะดวกสบายให้แก่เรา ทำให้คนไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น เลยมีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ความสะดวกสบาย และอ่อนแอลงไปอีก
สภาพภูมิหลังนี้ต่างจากสังคมตะวันตกที่ว่าธรรมชาติแวดล้อมบีบคั้นกว่าเรา และเทคโนโลยีก็เป็นเทคโนโลยีที่เขาผลิตจากน้ำมือหรือฝีมือของเขา เขาผลิตมันขึ้นมา และพัฒนาเทคโนโลยีมากว่าจะสำเร็จสักอย่างเป็นเวลาร้อยๆ ปี เทคโนโลยีที่กว่าจะผลิตมาสำเร็จอย่างที่เห็นในสภาพปัจจุบันนี้ ที่ได้เห็นว่าเจริญอย่างนี้ ต้องผ่านช่วงของการเพียรพยายามคิดค้นสร้างสรรค์มาเป็นร้อยๆ ปี ฝรั่งต้องผ่านทั้ง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะเขาอาศัยวิทยาศาสตร์มาสร้างเทคโนโลยี และพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาพร้อมกับการเพาะนิสัยใฝ่รู้ มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล ชอบทดลอง ชอบพิสูจน์ และต้องผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม เพื่อทำการผลิตด้วยอุตสาหะ จนเกิดมี วัฒนธรรมอุตสาหกรรม แห่งความขยันอดทนบากบั่นสู้สิ่งยาก ฝรั่งต้องพัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี กว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างนี้ได้ และเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นด้วย
จะเห็นว่าเทคโนโลยีในประเทศตะวันตก ที่พัฒนามาถึงขนาดนี้นั้น มีความหมายว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์พัฒนามา ด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ทำให้เขาได้นิสัยจิตใจเป็น คนใฝ่รู้และ สู้สิ่งที่ยาก มีความเข้มแข็งขยันหมั่นเพียร เป็น นักคิด และเป็น นักผลิต ซึ่งตอนนี้เพิ่งกำลังมาตกต่ำเสื่อมถอยลง
เวลานี้ฝรั่งเองก็กำลังโอดครวญว่า คนรุ่นใหม่ของเขา ซึ่งเกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อม ก็เห็นแก่ความสะดวกสบาย เป็นคนหยิบโหย่ง สำรวย แต่นิสัยที่เขาได้มาเป็นร้อยปีนั้นก็ยังคงอยู่พอสมควร
การที่เราเสียเปรียบก็เพราะว่า หนึ่ง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว สอง ได้ใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป โดยตัวเองไม่ต้องผลิต ไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมา จึงไม่ได้นิสัยใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก สาม แถมมีวัฒนธรรมน้ำใจที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอีก ไม่เหมือนวัฒนธรรมฝรั่งแบบตัวใครตัวมันที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ถือกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย วัฒนธรรมน้ำใจของไทยเราที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน เมื่อใช้โดยประมาทก็ทำให้คนจำนวนมากอ่อนแอ คอยหวังพึ่งผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง แล้วมาปัจจุบันนี้ สี่ เรายังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์อะไรต่างๆ อีก ไม่อยากเผชิญความยากลำบาก ไม่อยากคิดแก้ปัญหา ก็ไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านช่วย เอาเครื่องเซ่นสังเวยไปอ้อนวอนท่านเพื่อให้ท่านช่วยทำแทน ซึ่งขอเรียกว่าระบบถ่ายโอนภาระ คือโอนภาระจากตัวเองไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้
คนไทยชอบสะดวกสบาย ไม่ต้องพยายาม ไม่เป็นคนหมั่นเพียร ขาดความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เป็นคนไม่มีความเข้มแข็ง ต้องระวังให้ดี นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับสังคมไทย ถ้าจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันของโลก เราจะต้องเป็นคนเข้มแข็ง ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก นี้เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไปที่จะต้องทำให้ได้
เราจะต้องมีจุดเน้น เช่นว่า สำหรับกาลเทศะของยุคนี้ สังคมไทยเป็นอย่างไร โดยเทศะก็คือสังคมไทยของเราในประชาคมโลก โดยกาละ ก็คือสภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน ภูมิหลังของคนไทยเป็นอย่างนี้ เราจะแก้ไขเตรียมคนของเราอย่างไร เราจะให้คนของเราเป็นอย่างไร หรือเราต้องการคนอย่างไร นี่ก็ระดับหนึ่ง
ส่วนในอีกระดับหนึ่ง คือเทศะระดับโลก ความเป็นสากลของปัจจุบันยังใช้ไม่ได้ เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีปัญหา เราจะต้องสร้างมนุษยชาติ และสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกใหม่ ให้เป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราไม่มีเวลาที่จะลงรายละเอียด แม้แต่เรื่องความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก ก็มีปัญหาโยงมาแม้กระทั่งประชาธิปไตย เวลานี้เราจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าคนไทยเรายังมัวแต่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีแนวโน้มด้านจิตใจที่จะไม่พึ่งตนเอง เวลาจะทำอะไร ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาคิดแก้ปัญหา แต่เอาภาระไปโยนให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตที่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก
ผู้มีอำนาจภายนอกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจเหนือธรรมชาติ และอย่างที่สองคืออำนาจของมนุษย์ที่มีอิทธิพลความยิ่งใหญ่ แต่จิตใจที่หวังพึ่งอำนาจภายนอกทั้งสองอย่างนี้ จะเป็นจิตใจแบบเดียวกัน คือ เวลามีอะไรก็ไม่ต้องคิดไม่ต้องพยายามเอง แต่ให้ผู้มีอำนาจคิดให้ทำให้ แทนที่จะพึ่งตนเองและใช้ปัญญา เมื่อเป็นอย่างนี้การพัฒนาสังคมประชาธิปไตยจะสำเร็จได้อย่างไร
เรื่องที่ว่ามานี้สัมพันธ์กันหมด ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยก็ไม่สำเร็จ เวลานี้ในสังคมไทย คนไม่อยากใช้ความคิดของตนเอง ไม่อยากใช้ความเพียรพยายามของตนเอง แต่ไปหวังพึ่งอะไรต่อมิอะไรภายนอก อำนาจเร้นลับบ้าง อำนาจไม่เร้นลับบ้าง อำนาจมนุษย์บ้าง อำนาจเหนือธรรมชาติบ้าง
ในด้านผลที่ต้องการ ก็โยนไปให้อำนาจภายนอกบันดาลให้ ส่วนในด้านเหตุปัจจัย ว่าเป็นเพราะอะไรและเพราะใคร ก็ซัดทอดกัน ซัดกันไปซัดกันมา ซัดจนทรุดไปด้วยกัน เรื่องนี้มีข้อปลีกย่อยที่จะพูดกันในรายละเอียดมากมาย
ขอย้ำว่า ต้องมีแนวความคิด และมีจุดมุ่งหมายทั้ง ๒ ขั้นที่ว่า ทั้งโดยกาละและเหนือกาละ ทั้งโดยเทศะ และเหนือเทศะ ทั้งเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเพื่อความเป็นมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาพเฉพาะหน้า
นอกจากนั้นเราจะต้องได้ทั้งขั้นที่ ๑ สู้เขาได้ในเวทีการแข่งขันของโลกตามทันโลก ชนะเขาได้ และขั้นที่ ๒ ต้องเหนือการตามโลก เหนือกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เหนือการแข่งขัน เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้มิใช่เพียงยังเข้าไม่ถึงสันติสุข แต่กลายเป็นโลกในยุคที่เสี่ยงภัยพิบัติมากที่สุด และในการแก้ปัญหานั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนานำสูงสุดแล้วก็ยังติดกันอยู่ ยังคิดไม่ออก ยังหาทางกันอยู่ หรือแม้บางทีเห็นทางบ้างแล้ว ก็ทำไม่ได้ตามที่รู้เห็น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะตามเขาอยู่ ไม่มีทางแก้ปัญหาของโลกและของมนุษยชาติได้ เราจะต้องเหนือขึ้นไป จะต้องมีอะไรที่คิดได้ดีเหนือกว่าที่เขารู้และทำได้ในปัจจุบัน
No Comments
Comments are closed.