- การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม
- เคารพ
- บูชา
- สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี – ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
- “อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม” ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
- สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
- คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม
- คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
- สันโดษ เตรียมความพร้อม ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
- แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
- ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ
- ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
- ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง
- พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน
- เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก
- ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า
- คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้
- บูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม
คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที
คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
เรื่องที่อาจารย์ป๋วยเขียนไว้ แสดงออกถึง “ธรรม” ที่ท่านสนใจ ที่ท่านรู้ ที่ท่านปฏิบัติ โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ควรเน้น ซึ่งเด่นในตัวท่าน ที่คนในสังคมรู้กันมาก คือ ความซื่อสัตย์สุจริต
แน่นอนว่า ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรมข้อสำคัญ โดยเฉพาะเป็นสัจจะ คือความจริง ซึ่งตรงกับธรรมอยู่ในตัวเลยทีเดียว เพราะธรรมก็มีความหมายว่าความจริง คือความจริงเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น จึงตรงไปตรงมา
เมื่อปฏิบัติไปตามความจริง ก็ตรงตามธรรม และเป็นความซื่อสัตย์สุจริตด้วยพร้อมกัน
คนที่ซื่อสัตย์ คือคนที่อยู่กับธรรมตั้งแต่ต้น หรืออยู่บนฐานที่ถูกต้อง คือเป็นธรรมอยู่ในตัวเลย เพราะไม่เขวออกไปจากธรรมที่เป็นหลักแหล่งของความจริงนั้น
ความซื่อสัตย์สุจริต โยงไปหาความประพฤติความเป็นอยู่และคุณธรรมข้ออื่นๆ ด้วย เพราะมนุษย์อยู่ในโลกต้องดำเนินชีวิต ต้องกิน ต้องอยู่ ต้องมีปัจจัย ๔ เป็นต้น การที่จะมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ได้จะต้องมีธรรมข้ออื่นโยงกันเข้ามาอีก
ลักษณะของอาจารย์ป๋วยอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าดูไม่ผิด คือท่านมีความสันโดษ
สันโดษ แปลว่า ความพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่อยากได้ของคนอื่น และอยากได้ยอมรับเฉพาะสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม
ขยายความให้เต็มว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามทำให้มีขึ้นมา โดยชอบธรรม เน้นว่า ต้องได้ด้วยความเพียร และโดยชอบธรรม ถ้าไม่ชอบธรรมไม่เอา
ได้ทราบว่า อาจารย์ป๋วย แม้แต่ของขวัญ ก็ไม่ยอมรับ ท่านมีความสันโดษ ไม่เอาของอะไรอื่น อยู่ด้วยวัตถุแค่ตามที่มีสิทธิได้รับ เช่น เงินเดือนของตนตามสิทธิโดยถูกต้อง สิทธิของตนมีเท่าใดก็รับแค่นั้น เกินนั้นไม่เอา อย่างนี้เป็นสันโดษน่ะชัดเต็มที่อยู่แล้ว แต่มองให้ดี จะก้าวไปถึง “มักน้อย” ด้วยซ้ำ คือถึงขั้นที่เรียกว่า เป็นผู้มักน้อยสันโดษ
สันโดษนั้น ไม่ต้องการบำรุงบำเรอตัวเอง ไม่หาวัตถุมาปรนเปรอ
สันโดษนี่ใช้กับพวกวัตถุ พูดง่ายๆ ว่า ใช้กับวัตถุเสพบริโภค สิ่งของ เครื่องกิน เครื่องใช้ เริ่มด้วยปัจจัย ๔ ที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขทางกาย สิ่งเหล่านี้ท่านสอนให้สันโดษ
โดยเฉพาะ “พระ” พระพุทธเจ้าตรัสสอนอยู่เสมอว่า พระภิกษุจะต้องสันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขาร ตัวเองก็อยู่เรียบง่าย และเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย
คนที่สันโดษย่อมมีความสุขได้ง่าย แต่ถ้าไม่สันโดษจะสุขได้ยาก คนสันโดษมีแค่ไหนก็สุข แต่คนไม่สันโดษไม่มีความสุขด้วยของที่มี เพราะความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็สุขไม่ได้สักที คนที่ไม่สันโดษก็เลยเป็นคนไม่มีความสุข
มองดูลักษณะพื้นฐานง่ายๆ ว่า เมื่อสันโดษทำให้เป็นคนที่มีความสุขง่าย ก็เลยไม่ต้องมัววุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบริโภค แต่ความหมายไม่จบแค่นั้น
ถ้าสันโดษจบแค่นี้ก็แย่ เพราะจะเลื่อนลอย และมาตันที่ความสุข แล้วก็ทำให้เฉื่อยชาและประมาท
ถ้าสันโดษมีความหมายแค่นี้ ก็มีทางที่จะกลายเป็นปัจจัยแห่งความเกียจคร้านไปก็ได้ เรียกง่ายๆ ว่า สันโดษของคนขี้เกียจ
No Comments
Comments are closed.