- (กล่าวนำ)
- มงคลสองด้านประสานเสริมกัน
- ความสมบูรณ์มีไม่ได้ ถ้าไร้ดุลยภาพ
- ดุลยภาพทางร่างกายทำให้มีสุขภาพดี
- ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง
- สังคมไม่เสียดุลยภาพ ประชาชนก็ไม่ขาดสันติสุข
- เมื่อมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ก็นำความพินาศมาสู่โลก
- ดุลยภาพของจิตใจ ภายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง
- ดุลยภาพของจิตใจ: ศูนย์พลังยิ่งใหญ่แห่งการสร้างสรรค์
- ถึงจะเสียดุลยภาพกาย ก็ต้องรักษาดุลยภาพใจไว้ให้ได้
- คนโง่ เสียดุลยภาพกายแล้วก็พลอยเสียดุลยภาพใจไปด้วย คนฉลาด เอาดุลยภาพใจมาช่วยดุลยภาพกาย
- แม้แต่ธรรมก็ต้องมีดุลยภาพ
- ถ้าจัดธรรมเข้าดุลได้ ก็ไม่พลาดจากผลที่มุ่งหวัง
- ในที่สุด ธรรมคือดุลยภาพ และดุลยภาพก็คือธรรม
- ทางสายกลาง คือ ทางแห่งดุลยภาพ
- ดุลยภาพ คือสาระขององค์รวม
- ผู้มีดุลยภาพทางใจ แม้แต่ความตายก็ดึงขึ้นมาเข้าดุลได้
- อยู่ในโลก ก็รู้จักมองสิ่งทั้งหลาย ยามเจ็บไข้ ก็ปฏิบัติให้พร้อมดุล
- มาร่วมกันสร้างกุศล ช่วยกันทำวันเวลาให้เป็นมงคล และปฏิบัติตนให้สุขสันต์ทุกเวลา
ดุลยภาพของจิตใจ: ศูนย์พลังยิ่งใหญ่แห่งการสร้างสรรค์
ทีนี้ จะทำอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าได้แล้วเกิดเหลิงระเริงมัวเมา ได้เงิน ได้ทอง ก็ใช้กันเป็นการใหญ่สนุกสนานหากันแต่ความสุข ถ้าอย่างนี้ก็หมด ไม่ใช่หมดแต่เพียงทรัพย์เท่านั้น สุขภาพก็เสื่อมโทรมลงไปด้วยกับเงินที่หมดไปนั้น หรือว่าได้ยศก็มัวเมาในยศนั้น ถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด เช่น ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น หรือทำการชั่วร้ายทุจริต หาผลประโยชน์ บำรุงบำเรอตนเอง สร้างปมสร้างปัญหาขึ้นมา ถ้าอย่างนี้การได้ลาภ หรือได้ยศนั้น ก็กลายเป็นเหตุให้ชีวิตของเขาต้องเอียงหรือตะแคงเสียดุลไป
ทีนี้ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากประสบความเสื่อม พอเสื่อมลาภ เสื่อมยศ สูญเสียเงินทองมากมาย ประสบภัยพิบัติอันตรายและเสื่อมยศ เสียฐานะ ก็มีความเศร้าเสียใจเกินไปรักษาตัวไม่อยู่ จิตใจก็อาจจะเลยเถิดไป อาจจะเสียจริตเสียสติไปเลยบางทีไม่ถึงขนาดนั้นก็อาจจะเหงาหงอยเฉากาย เฉาใจ เป็นคนเสียสุขภาพ มีผลกระทบมาทางร่างกายอีกกลายเป็นคนที่ทั้งกายทั้งใจนี่บอบซ้ำ ทรุดโทรมไปหมด และชีวิตทั้งชีวิตก็หมด ก็เสื่อม ก็โทรม ก็ทรุดไป นี่ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อทั้งได้และเสีย คือฟูเกินไป และยุบเกินไป
ทีนี้ ถ้าปฏิบัติถูกต้องจะเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็กลายเป็นว่า ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นผลดีแก่ชีวิตขึ้นมา เช่น คนได้ลาภ พอได้ลาภก็รู้ทันว่า นี่เป็นโลกธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกเป็นธรรมดา เมื่อเราได้ ก็คือเหตุปัจจัยมาประกอบกัน ประจวบพอดีทำให้เป็นผลดีแก่เรา เราก็ควรใช้ลาภ ใช้เงินใช้ทองนี้ให้มันเป็นประโยชน์ หรือถ้าได้ยศ ก็ถือโอกาสใช้ยศให้เป็นประโยชน์ เป็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์ความดี
เวลามีเงินมีทองก็ผูกมิตรไมตรี ช่วยเหลือเจือจานคนเข้าไว้ เป็นโอกาสแล้วที่จะทำความดี ถ้าคนมีความตั้งใจดี การได้เงินได้อำนาจเป็นต้น ก็เป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีมากขึ้น แทนที่จะหลงระเริงมัวเมาใช้ไปในทางที่บำรุงบำเรอตัวเอง หรือข่มขี่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เอามาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำความดีให้มากขึ้นส่งเสริมกัน ก็เท่ากับเป็นความดีทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นปลูกฝังเข้าไว้ อันนี้ก็กลายเป็นว่าการได้นั้น ทำให้เกิดความดีงามและประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ลาภยศเป็นต้น ก็จะกลายเป็นโอกาสให้เราทำความดีได้มากยิ่งขึ้น
คนบางคนแม้จะมีความคิดที่ดีแสนดี แต่ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ไม่สะดวก ไม่มีบริวารทำไม่ได้ติดขัดไปหมด ทำได้แคบๆ แต่ทีนี้พอมีเงินมีทรัพย์ก็สามารถนำเอาความคิดดีอย่างนั้นมาทำได้สบายเลย เงินก็มี บริวารก็มี ตำแหน่งฐานะและอำนาจก็มี พอมีอย่างนี้แล้ว คนเขาเชื่อถือ ทำอะไรก็ได้สะดวก ความคิดที่ดีงามนั้นก็เกิดผลงอกเงยออกไป เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ใช้ลาภยศในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นโอกาสในการที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้มากยิ่งขึ้นไป
ในทางตรงข้าม พอประสบความเสื่อมเสีย พบโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าพอใจ เกิดเสื่อมลาภ เสียเงินเสียทอง หรือเสื่อมยศขึ้นมา ก็รู้เท่าทันอีกนั้นแหละว่า นี่แหละ ถึงคราวที่เราเจอบ้างแล้วนะ อ้าว มันก็เป็นบททดสอบเรา เอาล่ะ ให้มันรู้ไป เราเจอมันเข้าแล้วเป็นอย่างไร เอาเป็นบททดสอบ ถ้ามองในแง่เป็นบททดสอบ เราก็ปรับตัวปรับใจได้ ดูซิว่าเราเข้มแข็งมั่นคงพอไหม
No Comments
Comments are closed.