ความตายโยงไปหาอนิจจัง แล้วโยงต่อไปยังความไม่ประมาท

7 มกราคม 2535
เป็นตอนที่ 6 จาก 10 ตอนของ

ความตายโยงไปหาอนิจจัง แล้วโยงต่อไปยังความไม่ประมาท

พระพุทธศาสนาสอนให้ถือเอาประโยชน์จากความตายไว้หลายอย่าง หลักการทั่วไปในเรื่องนี้เรียกว่า มรณสติ แปลว่าสติระลึกถึงความตาย เมื่อระลึกเป็นแล้ว ไม่กลัวเลย สามารถเผชิญหน้ากับความตาย ระลึกถึงความตายได้ทุกเวลา นึกถึงแล้วเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์อย่างไร ประโยชน์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะสำนึกถึงกาลเวลาแล้วขวนขวายไม่ประมาท เร่งทำความดีงาม ด้วยการทำหน้าที่การงานของตนเป็นต้น อันนี้เป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระดับพฤติกรรมที่ต้องทำให้ได้ก่อน และเหนือขึ้นไป ในทางจิตปัญญาจนสูงสุดคือทำให้เข้าใจชีวิต รู้ตระหนักในความจริงถึงขั้นมีปัญญารู้แจ้ง อย่างที่เรียกว่ารู้เท่าทันสังขาร แล้วก็ทำให้จิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความบีบคั้นครอบงำของความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายในภายนอก เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความสุข จิตใจเบิกบานผ่องใสได้ทุกเวลา นี้เป็นประโยชน์อย่างน้อยสองระดับของการทำใจให้ถูกต้อง ในการนึกถึงความตาย

ประโยชน์ขั้นพื้นฐานข้อที่ ๑ เป็นสิ่งที่มองเห็น จะต้องย้ำสำหรับคนทั่วไปให้มาก เราจะต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าทรงสอนมรณสติ เพื่อโยงมาหาความไม่ประมาท หลักขั้นต้นของการนึกถึงความตายก็คือ ถ้าเรานึกถึงความตายแล้ว กระตุ้นเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท แสดงว่าเรารู้จักถือเอาประโยชน์จากความตาย และนึกถึงความตายในทางที่ถูก ทำให้มีการพัฒนาตนเอง ทั้งพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาได้

ความตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ทุกคนรู้อยู่ว่ามีเกิด ก็ต้องมีตาย ถ้ามีการเริ่มต้นก็มีที่สิ้นสุด อันนี้เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ไหนๆ เราก็จะต้องพบกับธรรมดานี้ ต้องเผชิญหน้ากับความจริง หนีความจริงไปไม่พ้น เราก็พิจารณาความจริงนั้นให้ทั่วตลอดเสียเลย นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะให้ผลดีแก่เรา

ความจริงในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือเรื่องของอนิจจัง ที่แปลว่าความไม่เที่ยง เรื่องของความไม่เที่ยง ก็คือการที่สิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตลอดเวลาหมายความว่า พร้อมไปด้วยกันกับเวลา คู่เคียงกับเวลา เมื่อเรานึกถึงความเปลี่ยนแปลง เราก็นึกถึงกาลเวลาด้วย กาลเวลากับความเปลี่ยนแปลงเป็นของคู่กัน เรารู้จักวันเดือนปีจากอะไร เรารู้จากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คือการโคจรเคลื่อนที่ไปของดวงดาว ของดวงจันทร์ ของดวงอาทิตย์ และของโลกเราเอง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แหละทำให้เรารู้กาลเวลา

กาลเวลานั้น กำหนดจากความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกาลเวลากับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นของคู่กัน ถ้าเราเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลา เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่รอเรา แม้แต่ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลง มันเคลื่อนย้ายจากจุดเริ่มต้นไปหาจุดดับหรือจุดสิ้นสุด ก็คือจากเกิดไปหาตาย เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราทุกคนนี้จึงเดินหน้าไปหาความตาย โดยแข่งกับกาลเวลา และกาลเวลานี้มีความยุติธรรมเสมอกันต่อทุกคน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าเราจะใช้เวลาอย่างไร

ในเมื่อกาลเวลาคืบหน้าไปเรื่อย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราตลอดเวลา ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรเมื่อไร เพราะฉะนั้น เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ เราจะต้องเร่งขวนขวายทำความดีงาม ทำหน้าที่ทำการงาน ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ การที่เราไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่ปล่อยปละละเลย เร่งทำความดี เร่งทำหน้าที่ นี่แหละคือความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทนั้น มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านลบ อีกด้านหนึ่งเป็นด้านบวก ด้านลบก็คือไม่ ด้านไม่ก็คือว่า อะไรที่จะเป็นทางเสื่อม ทางเสียหาย ทางผิดพลาด เราไม่ยอมถลำไป ไม่ยอมพลาดหลงลงไปในทางนั้น นี่คือด้านลบ ส่วนในด้านบวกก็ต้องมีความไม่ประมาท คือด้านที่ว่าอะไรเป็นโอกาสให้เกิดความดีงาม มีช่องทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์แล้ว เราไม่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไปเสียเปล่า รีบฉวยทำประโยชน์ให้แก่ชีวิตและแก่สังคม การใช้โอกาสนั้นทำให้เกิดประโยชน์นี่คือความไม่ประมาท หลักอันนี้สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ทำให้มีการพัฒนา

เมื่อเรานึกถึงความตาย ก็กระตุ้นเตือนใจตัวเองให้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงและความคืบเคลื่อนของกาลเวลา แล้วก็กระตุ้นเตือนต่อไปให้เราระมัดระวังตัว ไม่ถลำผิดพลาดไถลออกไปในทางของความเสื่อม เร่งแก้ไขปัญหา และรีบเร่งขวนขวายปรับปรุงสร้างสรรค์ ชีวิตก็จะเจริญงอกงาม ชีวิตของคนที่ไม่ประมาท จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นึกถึงความตาย เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ถ้ารู้จักใช้ ชีวิตก็มีคุณค่ามหาศาล >>

No Comments

Comments are closed.