คุณค่าแก่ตัวบุคคล

7 มกราคม 2535
เป็นตอนที่ 4 จาก 10 ตอนของ

คุณค่าแก่ตัวบุคคล

ทีนี้มาดูข้อสุดท้าย เป็นข้อตรงข้าม ในข้อสุดท้ายนี้ผู้บำเพ็ญกุศลได้ทำบุญให้แก่ตนเอง คือทำความดี แต่ละคนที่มาร่วมพิธี ตั้งแต่เจ้าภาพเป็นต้นไป ต่างคนต่างก็ได้ทำบุญด้วยกันทั้งสิ้น ในแง่นี้ ถ้ามองอย่างง่ายๆ ก็เห็นชัด โดยเฉพาะเจ้าภาพนั้นเห็นกันอยู่จะแจ้ง ว่าได้ทำบุญกันทุกคน ตั้งแต่เริ่มพิธีในวันแรกมาเลย ก็ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม จบแล้วก็มีการถวายสิ่งของ ที่เราเรียกว่าไทยธรรม อันนี้เรียกกันมาตามประเพณีว่าเป็นการทำบุญ ถ้าว่าตามหลักศาสนาเรียกว่าถวายทาน เป็นการทำบุญอย่างที่ ๑

นอกจากได้ถวายทานแล้วเราได้ทำบุญอะไรอีก นอกจากถวายทานแล้วก็ได้รักษาศีล พอเริ่มประกอบพิธี ก็มีการสมาทานศีล คือ เราขอศีล เรียกว่าอาราธนาศีล พระสงฆ์ท่านให้ศีลมาเราก็รับศีลเรียกว่า สมาทานศีล อันนี้เป็นกิจกรรมที่แสดงออกอย่างเป็นทางการว่า จะรักษาศีล แต่ที่จริงนั้น นอกจากสมาทานศีลตามแบบแผนของพิธีกรรมแล้ว ในเวลาที่อยู่ในพิธีกรรมนี่ เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีมาอยู่ในบรรยากาศที่ต้องทำกิจกรรมและรักษาความประพฤติ กาย วาจา ให้ดีงามสุจริต ในระหว่างนี้ทุกคนจึงงดเว้นจากสิ่งไม่ดีไม่งาม และตั้งตนอยู่ในระเบียบวินัย

เราทุกคนมาอยู่ในพิธีนี้ เรามีวัฒนธรรมประเพณี วัฒนธรรมประเพณีนั้นเป็นระเบียบอยู่ในตัว เช่น เวลาเราอยู่ในที่ประชุม เราจะต้องวางตัวให้เหมาะสม ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวัฒนธรรมนั้น การปฏิบัติเหล่านั้นเป็นเรื่องของวินัย เป็นเรื่องของศีล ทำให้เราทุกคนได้ควบคุมกาย วาจา ของตน ตั้งตนอยู่ในกาย วาจา ที่เรียบร้อยสวยงาม นี่คือการได้รักษาศีล เป็นการทำบุญอย่างที่ ๒ และต่อไป

การทำบุญอย่างที่ ๓ ทางพระเรียกว่า ภาวนา ภาวนา แปลว่า การพัฒนา หมายถึงพัฒนาจิตใจ และปัญญา แยกเป็น ๒ ส่วน

ส่วนแรก คือ การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เมื่อเราเข้ามาในพิธีนี้ โดยเฉพาะเจ้าภาพที่ใกล้ชิดที่สุดที่เป็นลูกหลาน ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะทำจิตใจของตนให้สงบ โดยระลึกถึงคุณความดีของบุพการี ระลึกถึงคุณความดีของคุณพ่อ นึกถึงท่านแล้วทำใจของเราให้สงบ ให้เป็นใจที่นึกอยู่ในเรื่องของความดีงาม การนึกถึงที่ทำจิตใจให้สงบ การที่ทำจิตใจให้ระลึกอยู่ในคุณธรรมความดีงามอย่างนี้ ท่านเรียกว่าจิตตภาวนา คือการเจริญจิตใจหรือทำจิตใจให้เจริญงอกงาม ทุกคนที่มาร่วมพิธีก็เหมือนกัน เมื่อมาแล้วก็ควรสำรวมใจ ทำใจให้สงบ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ใจผ่องใสด้วยความคิดนึกที่ดีงาม เช่น ความปรารถนาดีต่อผู้ล่วงลับและต่อเจ้าภาพ เมื่อทำอย่างนั้นก็จะทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เป็นภาวนา ในส่วนที่ท่านเรียกว่า จิตตภาวนา

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือการฝึกอบรมเจริญปัญญา เมื่อมาในพิธีนี้และได้ฟังพระสงฆ์กล่าวธรรมแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ท่านอธิบาย และรู้หลักการ รู้วัตถุประสงค์ของการทำพิธีในแง่ต่างๆ เหล่านี้ว่าเราทำพิธีกันไปทำไมเป็นต้น ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นคือปัญญาเจริญขึ้น อันนี้เรียกว่าเจริญปัญญา แม้ไม่ได้ฟังพระสงฆ์ ถ้าเป็นลูกเป็นหลานรู้จักใช้โอกาสสอบถามท่านผู้รู้ หรือท่านผู้ใหญ่ อาจจะเป็นรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นป้า รุ่นน้าอา ท่านบอกเล่าให้ฟัง ก็ได้เรียนรู้ อย่างน้อยปัญญาในด้านนี้ก็เกิดขึ้น

ที่ว่ามานี้คือการทำบุญให้แก่ตัวเองด้วยการพัฒนาตนในด้าน ทาน ศีล ภาวนา ทานศีลภาวนาก็เจริญงอกงามขึ้น แต่การทำบุญยังไม่หมดเท่านั้นหรอก นี่เป็นทาน ศีล ภาวนา ในเบื้องต้น หรือขั้นพื้นฐานสามัญเท่านั้น

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คุณค่าทางสังคมของการทำบุญงานศพนึกถึงความตาย เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ >>

No Comments

Comments are closed.