คุณค่าทางสังคมของการทำบุญงานศพ

7 มกราคม 2535
เป็นตอนที่ 3 จาก 10 ตอนของ

คุณค่าทางสังคมของการทำบุญงานศพ

ข้อที่ ๓ คือ การบูชาคุณของผู้ล่วงลับ เมื่อกี้ก็ได้อธิบายไปบ้างแล้วว่า การที่เรามาประกอบพิธีต่างๆ นี้ เป็นการแสดงน้ำใจต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการประกาศยกย่องคุณงามความดีของท่านให้ปรากฏ

การยกย่องคุณงามความดีของคนในสังคมนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนในครอบครัวก็ต้องยกย่องคุณความดีของกันและกัน ลูกก็ต้องบูชาคุณความดีของพ่อแม่ ทีนี้ขยายออกไป ในสังคมถ้ามีใครก็ตามที่ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม คนในสังคม ที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นทุกคน ก็ควรจะแสดงออก ช่วยกันเชิดชูยกย่องคุณความดีนั้น และยกย่องให้เกียรติแก่คนที่ทำความดี การกระทำอย่างนี้เป็นผลดีแก่สังคมนั้นเอง ในการที่จะดำรงรักษาสังคมนั้นให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้สังคมมีกำลังที่จะรักษาสิ่งที่ดีงาม มีความสงบสุข มีความสามัคคี เป็นสังคมซึ่งมีหลักการที่จะยึดเหนี่ยวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำให้วัฒนธรรมอันดีเกิดขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่าง การที่เรามีพิธีกรรมมาบำเพ็ญกุศลให้คุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้วนี้ ลูกๆ ก็มาประชุมกันพร้อมเพรียง เพื่อแสดงน้ำใจบูชาคุณพ่อ ทำให้ลูกๆ ได้มาพบปะกัน มาอยู่พร้อมกัน ช่วยเหลือกัน สามัคคีกัน แสดงน้ำใจต่อกัน ครอบครัวและวงศ์ตระกูลก็ดำรงอยู่ได้ พร้อมกันนั้นลูกหลาน เด็กๆ เล็กๆ รุ่นหลังๆ ที่เป็นอนุชน ได้เห็นผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ของตัวมาทำพิธีเหล่านี้และได้ร่วมพิธีด้วย ก็จะรู้จักพิธีนั้นและจำไว้เป็นแบบแผน ทำให้เข้ามาอยู่ร่วมในวัฒนธรรมและได้เข้าสู่สังคมอันเดียวกัน นี่คือเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี

การบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นกิจกรรมของสังคมทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ส่วนย่อยคือครอบครัว ขยายออกไปจนถึงสังคมประเทศชาติทั้งหมด เราทำกิจกรรมนี้ก็เพื่อให้สังคมมีการถ่ายทอดความดีงาม และดำรงอยู่ด้วยความสามัคคี มีการสืบต่อและเสริมเติมสิ่งที่เรียกว่าเป็นมรดกของสังคมนั้น ตลอดจนทำให้สังคมมีเอกลักษณ์

ในการบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับนี้ เราต้องจัดทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเรื่องเป็นราว จึงทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นแบบแผนของชุมชน หรือสังคมนั้นๆ อันนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนี้ก็จะรักษาหมู่ชนนั้นไว้ให้มีความเรียบร้อยงดงาม และดำรงอยู่ได้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ชาติใด สังคมใด สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ได้ด้วยดี ชาตินั้น สังคมนั้นก็มีความมั่นคงยืนนาน ดำรงอยู่ได้สถาพร โดยมีความงดงามและคุณสมบัติประจำตัวที่จะอยู่กับคนอื่นหรือชนหมู่อื่นได้ด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจ

นอกจากนั้น การที่เรายกย่องคุณความดีและนิยมเชิดชูคนดีนี้ ก็เป็นตัวอย่างในทางสังคมที่จะช่วยให้คนทั้งหลายมีค่านิยมในทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันเชิดชูคนที่ทำความดีงามไว้ เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ถือเป็นแบบอย่าง

พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการยกย่องเชิดชูความดี และบูชาคนมีความดี ไว้เป็นอย่างมาก มีพุทธพจน์ในธรรมบทแห่งหนึ่ง ตรัสไว้เป็นข้อความว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํฯ (๒๕/๑๘)

แปลว่า ถึงแม้จะไปประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนด้วยทรัพย์จำนวนครั้งละพัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยปี ก็สู้มาช่วยกันยกย่องคนที่พัฒนาตัวเองแล้ว ซึ่งมีคุณความดีอย่างแท้จริง สักครั้งเดียวไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญไว้อย่างนี้ นี่คือหลักการที่จะให้สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราช่วยกันยกย่องคนที่มีคุณงามความดี ที่ได้ทำประโยชน์ไว้แก่สังคม ก็จะเป็นหลักของสังคม ที่จะทำให้สังคมนั้นมีความสงบสุขรุ่งเรืองต่อไป

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ในแง่ของการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ จึงเป็นวัตถุประสงค์ในทางสังคมที่สำคัญ บางทีเราไม่ได้สังเกตว่า ในการมาบำเพ็ญกุศลกันนี้ เราได้มาช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมไว้ ทำให้อนุชนรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึมซาบรับเอาวัฒนธรรมจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และรุ่นพ่อแม่ของตนเองเอาไว้ แล้วเขาก็จะรักษาสืบต่อไป ทำให้สังคมยืนยงต่อไปอีก โดยมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีแกนที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมนั้นอยู่ได้ยั่งยืนสืบต่อไป

อันนี้เป็นความหมาย ในแง่ของการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของการบำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า ทักษิณานุประทานนี้ ทีนี้อาตมาจะขอผ่านไป ที่กล่าวมานั้นเป็นวัตถุประสงค์ที่เน้นในแง่สังคม

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทำบุญงานศพทำไม?คุณค่าแก่ตัวบุคคล >>

No Comments

Comments are closed.