ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน

14 กันยายน 2538
เป็นตอนที่ 6 จาก 20 ตอนของ

ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน

ปัจจุบันนี้ ในหลักสูตรอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา คำว่า วิชาศึกษาทั่วไป (general education) ก็ดี ศิลปศาสตร์ (liberal arts) ก็ดี หมวดวิชา ๓ สาขา คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (the humanities, social sciences and natural sciences) ก็ดี ถือได้ว่ามีความหมายเป็นอันเดียวกัน กล่าวคือ ในการจัดวิชาศึกษาทั่วไปก็คือจัดให้เรียนศิลปศาสตร์ และศิลปศาสตร์นั้นก็ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุม หมวดวิชาทั้ง ๓ สาขาที่กล่าวมา

การที่มาจัดเข้ารูปบรรจบกันอย่างนี้ ก็เพิ่งยุติเมื่อกลางคริสตศตวรรษปัจจุบัน คือ คริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่นานนี้เอง ซึ่งที่จริง วิชาการแต่ละอย่างแต่ละหมวดนั้นได้มีมาก่อนช้านานแล้ว แม้แต่สังคมศาสตร์ที่เป็นน้องสุดท้อง ก็เริ่มเกิดขึ้นมาแล้วประมาณ ๒๐๐ ปี

การที่มาจัดอย่างนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ จะฟื้นฟูกู้ฐานะกลับให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ที่ได้ตกต่ำด้อยค่าด้อยฐานะลงไปนานแล้ว (ดูคำ “HUMANITIES” ใน Encyclopedia Britannica, 1959, vol. 17, p. 878)

ในระยะนี้แหละที่รัฐสภาสหรัฐได้ตรารัฐบัญญัติมูลนิธิศิลปะและมนุษยศาสตร์แห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ขึ้น ซึ่งได้ให้กำเนิดแก่ “กองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์” (National Endowment for the Humanities) และถอยหลังไปก่อนนั้น ๓ ทศวรรษ เมื่อมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) ตั้งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ข้อ ๔ ว่า “เพื่อพัฒนาทรัพยากรในด้านมนุษยศาสตร์ และศิลปะ”

การพยายามให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพียงแต่ให้ลดการเน้นที่เอียงหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปจนเสียดุล และจัดให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมพอดี พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความพยายามนั้นจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะการเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแง่ที่หนุนความเจริญทางเศรษฐกิจระบบผลประโยชน์ แม้จะรู้ว่าเป็นโทษ อเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายก็ลดไม่ได้ เพราะตัวติดพันผูกแน่นอยู่กับระบบแข่งขัน ถึงขั้นที่อาจจะทำให้ต้องยอมทำลายโลก เพื่อรักษาชัยชนะของตัวไว้

นอกจากนั้น การพยายามฟื้นฐานะของมนุษยศาสตร์ ก็มิใช่หมายความว่าจะต้องสำเร็จผลด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษนี้ วงวิชาการมนุษยศาสตร์ของสหรัฐได้ประสบปัญหาปั่นป่วนขัดแย้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเฟื่องขึ้นมาของแนวคิด “หลังสมัยใหม่” (postmodernism) และปัญหาอื่นๆ จนกระทั่งอดีตประธานกองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์ (Lynne V. Cheney เป็นประธานระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖-๑๙๙๒) ถึงกับกล่าวว่า “สามทศวรรษที่รัฐบาลอุดหนุน ไม่ได้ช่วยให้มนุษยศาสตร์ดีขึ้น แต่ตรงข้ามช่วงเวลานี้กลับได้เห็นมนุษยศาสตร์ตกต่ำดิ่งลงไป”1 แต่นั้นก็เป็นเรื่องภายในของอเมริกาที่เกิดจากปัญหาที่เป็นภูมิหลังเฉพาะตัวของเขาเอง

แม้ว่าวิชาการทั้งหลายเหล่านี้จะมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เราก็ควรจะศึกษาหรือเกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทัน โดยมองเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อย

ไม่เฉพาะมนุษยศาสตร์เท่านั้น ที่ประสบชะตากรรมฟูยุบ ที่จริงทุกหมวดทั้ง ๓ สาขาต่างก็ประสบภาวะไม่มั่นคงด้วยกันทั้งนั้น แต่ในลักษณะที่แตกต่างกัน

มนุษยศาสตร์ที่มีมาเก่าก่อน และครองความยิ่งใหญ่ตลอดมานั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ผู้คนหันไปชื่นชมและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้มนุษยศาสตร์อับแสงด้อยค่าลงไป ยิ่งวิชาบางอย่างไปเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ และแยกตัวออกไปเกิดเป็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์แล้ว มนุษยศาสตร์ก็ยิ่งตกต่ำ มนุษยศาสตร์อับรัศมีในวงวิชาการมาช้านานอย่างที่กล่าวแล้วว่า จนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐ นี้

ฝ่ายสังคมศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ ๒๐๐ ปี เมื่อทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็รุ่งเรืองขึ้นมาเป็นอันมาก วิชาเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เป็นต้น ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งตลอดยุคแห่งการพัฒนาที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็มีความภูมิใจได้ไม่เต็มที่ นอกจากความไม่ลงตัวในการจัดเข้าหมวดของบางวิชา ซึ่งก็ยังไม่แน่นอนจนบัดนี้แล้ว ก็ยังมีผู้แคลงใจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ ว่าเข้ากันได้กับวิชาสังคมศาสตร์จริงหรือไม่ (ดู คำ “social sciences” ใน The New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1993) ยิ่งในยุคนี้ เมื่อแนวคิดองค์รวมเฟื่องขึ้นมา สังคมศาสตร์ก็เป็นเป้าของการถูกวิจารณ์ว่ามีความบกพร่อง เนื่องจากอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดแบบแยกส่วน (reductionism)

ส่วนวิทยาศาสตร์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เฟื่องฟูขึ้นๆ จนเป็นตัวชูแห่งยุคสมัยและโดดเด่นที่สุดในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ โดยได้รับความนิยมเชื่อถือในฐานะเป็นมาตรฐานวัดความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่หวังว่าจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ดังได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อมาถึงศตวรรษปัจจุบัน ฐานะของวิทยาศาสตร์ก็กลับสั่นคลอนลง ในเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปแล้ว กลับค้นพบว่าศาสตร์ของตนไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ได้ จนกระทั่งนักฟิสิกส์ชั้นนำบางท่าน ประกาศออกมาเองถึงความจริงนี้ (เช่น เซอร์ เจมส์ จีนส์ / Sir James Jeans กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้” และเซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน / Sir Arthur Eddington กล่าวว่า “…แต่นำให้เข้าถึงได้แค่โลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงาแห่งความจริงเท่านั้น”)

ยิ่งเมื่อความหวังที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เอง ต้องสะดุดชะงักลง ความฝันของมนุษย์ที่ว่าวิทยาศาสตร์จะนำความสุขสมบูรณ์มาให้ก็สลายลงด้วย และวงการวิทยาศาสตร์ก็สูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจ พร้อมกับที่ความนิยมเชิดชูวิทยาศาสตร์จากภายนอกก็ลดถอยลง

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์แม้จะตกต่ำลงไปบ้าง ความสำคัญที่เหลืออยู่ก็ยังมีมหันต์ โดยเฉพาะในฐานะที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (พร้อมกับที่พลอยถูกติเตียนเพราะโทษภัยของเทคโนโลยีด้วย) และขณะนี้เมื่อวิทยาศาสตร์ขยายขอบเขตแห่งการแสวงหาความรู้ออกมาสู่แดนของนามธรรมด้วย วิทยาศาสตร์ก็มีทีท่าว่าจะตีตื้นฟื้นฐานะสูงขึ้นอีก

แต่กล่าวโดยทั่วไป ยุคสมัยปัจจุบันนี้ เป็นช่วงเวลาที่วงวิชาการสับสน และสูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจลงไปอย่างมาก บางคนเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางปัญญา เป็นจุดเปลี่ยนแปลง จุดหักเลี้ยว หรือหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่วงวิชาการจะต้องปรับตัวปรับความคิดใหม่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นอีก ทั้งปัญหาเก่าที่สืบเนื่องมาจากเดิม และปัญหาใหม่ เช่น ความขาดสามัคคีในวงวิชาการ อย่างในอเมริกาและอังกฤษปัจจุบัน ปัญญาชนสายมนุษยศาสตร์ กับนักวิชาการชั้นนำฝ่ายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ค่อยลงรอยกัน อึดอัดต่อกัน วิจารณ์หรือถึงกับดูถูกดูแคลนกัน และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นส่วนร่วมซ้ำเติมวิกฤตการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน2

การรู้เรื่องราวและปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการเป็นอยู่และดำเนินกิจการต่างๆ ด้วยความรู้เท่าทัน เพื่อความไม่ประมาท ไม่หลงตามเรื่อยๆ เปื่อยๆ และจะได้ร่วมแก้ไขปรับปรุงอย่างมีอะไรเป็นของตนเอง ที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อาการฟูยุบในวงวิชาการการปรับตัวปรับความคิดใหม่ในวงวิชาการ >>

เชิงอรรถ

  1. Lynne V.Cheny, Telling the Truth (New York: Simon & Schuster, 1995) p.115.
  2. ตัวอย่างหนังสือที่ช่วยให้เห็นสภาพปัจจุบันของวงวิชาการอุดมศึกษาของอเมริกา
    Bennett, William J. The De-valuing of America. New York : Summit Books, 1992.
    Brockman, John. The Third Culture. New York : Simon & Schuster, 1995.
    Gingrich, Newt. To Renew America. New York : Harper Collins Publishers, 1995.
    Roche, George. The Fall of the Ivory Tower. Washington, D.C.: Regnery Publishing, Inc., 1994.

No Comments

Comments are closed.