ถาม-ตอบ ท้ายบรรยาย

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 4 จาก 4 ตอนของ

ถ้าจะแข่งกับเขา ก็ต้องมีกำลัง และตั้งต้นด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน

ขอแถมอีกหน่อย ได้พูดไว้ว่า จะแก้วิกฤติเศรษฐกิจให้ได้ผลจริง ต้องแก้วิกฤติคุณภาพคน และการสร้างคุณภาพคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง ก็คือ จะต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตขึ้นมาในตัวคนไทย

ได้พูดไว้ด้วยว่า ที่จริงความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ ยังต่ำ ยังแคบ ยังน้อยไป แต่คนไทยเวลานี้แค่นี้ก็ให้ได้ก่อนเถอะ เหนือกว่านี้ ยังจะต้องมีความสามารถในการสร้างสรรค์ด้วย เพราะความสามารถในการผลิต ยังอยู่แค่เรื่องเศรษฐกิจ เราจะพัฒนาให้ชีวิตและสังคมมีสันติสุขจริง จะต้องสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ที่สูงเลิศประเสริฐกว่านั้น ในทางคุณภาพชีวิต ในเรื่องจิตใจ และในทางปัญญาด้วย

พูดกันให้ชัด แม้แต่ในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ความสามารถในการผลิตก็ยังไม่พอ จะให้เศรษฐกิจเจริญมั่นคงดีจริง จะต้องเน้นที่ความสามารถเชิงสร้างสรรค์

ในโลกยุคที่อุตสาหกรรมก้าวมาไกลแล้วนี้ ประเทศที่ถือว่าเจริญทางเศรษฐกิจมากๆ ถึงกับบอกว่าตนผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว อย่างที่เรียกว่าเป็น postindustrial ในประเทศที่พัฒนามากแล้วพวกนี้ อุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้ามีความสำคัญน้อยลง แต่ด้านที่ขึ้นมามีบทบาทเด่น คืออุตสาหกรรมภาคบริการ ที่เรียกว่า service industry

อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้กำลังคนภาคบริการมีจำนวนเกือบ ๓ ใน ๔ ของแรงงานทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมภาคผลิตสินค้า ใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๒๖ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรใช้กำลังคนเพียงประมาณ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านอย่างนี้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตื่นไปว่า ด้านผลิตสินค้าไม่สำคัญแล้ว เราจะต้องหันไปเน้นด้านบริการ ฟังแล้วอ่านแล้วก็ต้องพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์ให้ดี ถ้ายังไม่ชัดทางปัญญา ก็ต้องค้นคว้าให้จะแจ้ง

เมืองอเมริกาเป็นต้น ที่ว่าใช้แรงงานภาคผลิตสินค้าน้อยนั้น ไม่ใช่ว่าการผลิตสินค้าไม่สำคัญ ต้องพูดว่าสำคัญ แต่ไม่พอ ประเทศพวกที่พัฒนาแล้วนั้น ที่เขาใช้กำลังคนในภาคผลิตสินค้าน้อย ก็เพราะเขามีความสามารถในการผลิตมามากจนเกินพอ คือคนน้อยแต่ผลิตได้มาก เช่นใช้เครื่องจักรมาทุ่นแรง หรือทำแทนไปเลยบ้าง ผลักหรือโยนอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ความสามารถน้อยไปให้ประเทศด้อยพัฒนาทำเสีย(มาก)บ้าง แล้วเอากำลังคนที่พัฒนาดีให้มีฝีมือมีประสิทธิภาพของตนไปผลิตสินค้าพวกไฮเทค และงานด้านบริการต่างๆ

ประเทศอเมริกา ที่ว่าแรงงานด้านเกษตรเขาลดลงๆ จนเหลือแค่ ๓ เปอร์เซ็นต์นั้น เขาอวดได้ว่า ในช่วง ๕๐ ปี ผลผลิตรวมของชาติของเขาเพิ่มขึ้นๆ จนเกือบจะเป็น ๕ เท่า

ประเทศไทย ก่อนจะมองด้านบริการ ต้องจับด้านการผลิตให้ชัดเจนและมั่นคง โดยเฉพาะยุคที่แล้วมาควรจะยอมรับว่าพลาด การผลิตด้านการเกษตรที่ตัวก็ชำนาญและพื้นฐานก็ดี เช่น ธรรมชาติเอื้ออำนวย มีโอกาสที่จะทำได้ดีที่สุด กลับไปทิ้งเสีย คนที่จะเป็นกำลังการผลิตด้านเกษตรได้ดี ถูกปล่อยให้ทิ้งไร่นาไปเป็นกำลังผลิตที่ไร้ฝีมือ หรือไม่ค่อยมีฝีมือ หรือเป็นแรงงานราคาถูก ในการผลิตภาคโรงงานและการก่อสร้าง เข้าทำนองที่ว่า ดีที่ตัวมีก็ทิ้งให้หลุดมือไป ดีใหม่ที่จะเอาก็ทำไม่ได้

เวลานี้เจอวิกฤติต้องถอยกลับไปเน้นภาคเกษตร แต่ธรรมชาติก็ถูกทำให้เสื่อมโทรมไป ทุนที่ดินทำกินก็ขายหลุดมือไปเสียมาก ฝีมือความชำนิชำนาญและจิตใจของกสิกรก็ชักจะด้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ตัวใหม่ จำไว้ให้ดี ถึงคติที่ว่า ดีเก่าที่ตัวมีต้องรักษาไว้ ดีใหม่ที่ยังไม่มีก็ต้องก้าวไปทำให้สำเร็จ

ความสามารถในการผลิตของไทยนั้น นอกจากจะต้องชัดเจนและมั่นคง ด้วยปัญญาที่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น เรามีทุนพื้นฐานดีด้านไหนที่จะต้องรักษาและเสริมเป็นพิเศษแล้ว ก็ต้องไปโยงกับแนวคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยว่า เราผลิตของกินของใช้เพื่อเป็นปัจจัยหนุนชีวิตและสังคมให้สามารถก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป อย่างที่พูดข้างต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความพอดี

นอกจากพัฒนาความสามารถในการผลิตให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ต้องพัฒนาความสามารถเชิงสร้างสรรค์ เช่น ในการที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เป็นต้น ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรืออย่างประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องแข่งกันในการพัฒนาความคิดและกระบวนการผลิตในด้านไฮเทค

แต่คำว่า “สร้างสรรค์” เวลานี้ ก็เป็นคำที่กำกวม ความหมายไม่ชัดเจน คนฉลาด เก่ง คิดทำอะไรใหม่ๆ หรือก้าวหน้าไปได้ ก็เรียกว่าสร้างสรรค์ บางทีสิ่งที่ทำนั้น ในวงกว้างหรือในระยะยาวอาจเป็นการทำลายก็ได้ พูดง่ายๆ ไม่ต้องบรรยายกันยาว ว่าเป็นเพียงการสนองโลภะ โทสะ และโมหะ ควรจะจำกัดความหมายของการสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องของความดีงามและประโยชน์สุขของชีวิต ของสังคม และของโลกทั้งหมดเท่านั้น

คำว่า “อุตสาหกรรมบริการ” นั้น น่าจะต้องระวังเป็นพิเศษ เดี๋ยวจะคิดว่า อ้อ ฝรั่งเจริญอย่างนี้ ถ้าเรามีกิจการด้านบริการมากๆ แล้วแสดงว่าประเทศเจริญ ต้องแยกแยะให้ดี บางทีมีงานด้านบริการเยอะๆ ก็อาจจะกลายเป็นเสื่อมเต็มที่

อุตสาหกรรมบริการมีมากมายหลายชนิด บริการประเภทรับใช้อำนวยความสะดวก อย่างโรงแรม การนำเที่ยว ฯลฯ ก็มี ประเภทให้ความสนุกสนานบันเทิง บำรุงบำเรอก็มี ช่วยบำบัดทุกข์แก้ไขปัญหา อย่างการแพทย์ การว่าความ เป็นต้น ก็มี ประเภทนำเสนอข่าวสาร ให้ความรู้ อบรมสั่งสอน อย่างสื่อมวลชน การเป็นครูอาจารย์ งานค้นคว้าวิจัย เป็นต้น ก็มี เป็นเรื่องการเงิน การธนาคาร ก็มี ฯลฯ

ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมบริการมากมาย แต่ดูจะหนักไปทางด้านรับใช้ อำนวยความสะดวก และสนุกสนานบันเทิง บางอย่างมีชื่อเสียงเด่นไปทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการทางเพศ และแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตยาเสพติด จนหนังสือฝรั่งขั้นตำรับตำรา เอาไปตีเป็นตราหรือเป็นภาพลักษณ์ของเมืองไทย ต้องแยกแยะให้ชัดว่าอุตสาหกรรมบริการอย่างไหน จึงจะทำให้ประเทศเจริญงอกงามได้ดี

บริการทั้งหลายจะเจริญงอกงามได้ผลดี ก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่งานบริการสำคัญยิ่งยวด ที่ต้องการความสามารถในการคิดสร้างสรรค์อย่างสูง และเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าด้านอื่นๆ พร้อมทั้งอำนาจและอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลก ก็คือ อุตสาหกรรมบริการทางปัญญา

อเมริกาปัจจุบันมีสินค้าและบริการเด่นมากทางด้านการบันเทิง เป็นเจ้าอิทธิพลที่สร้างแฟชั่น กระแสค่านิยมและวัฒนธรรมไปทั่วโลก จนบังตาคนในประเทศล้าหลังให้ติดเพลินชื่นชมและมองภาพความเจริญอย่างผิวเผินและฉาบฉวยอยู่แค่นั้น แต่เบื้องหลังบริการบันเทิงเหล่านั้น สิ่งที่เป็นฐานรองรับ เป็นสื่อ และเป็นพาหะ ก็คือความเป็นเจ้าทางด้านบริการข่าวสารข้อมูล รวมทั้งวิชาการต่างๆ และแม้แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งประสานกับความก้าวหน้าในความสามารถเชิงสร้างสรรค์ด้านไฮเทค โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการใช้ปัญญา

รายงานเศรษฐกิจประจำปี ๑๙๙๗ ของสารานุกรมบริแทนนิกาบอกว่า ในอเมริกาปี ๒๕๓๙ เศรษฐกิจภาคที่มีพลังก้าวหน้ามากที่สุด ก็คือ ไฮเทค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้กิจการด้านนี้ เพิ่มค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ๒๐๐-๓๐๐ เท่า และสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมาเป็นแถวๆ

ถ้าจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจกันจริงๆ หรือจะสู้เขาให้ได้ในระบบแข่งขันของโลก (ไม่ต้องพูดถึงว่าจะก้าวขึ้นไปแก้ปัญหาของโลก) อย่ามัวอยู่กับยากล่อมทั้งหลาย จะต้องใช้ปัญญากันให้มาก จับให้ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยตัวแท้ตัวจริง ในการที่จะแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ความเจริญ แม้แต่ในความหมายแคบๆ ด้านเศรษฐกิจ

 

ไหวหรือไม่ไหว ก็จะได้พิสูจน์กันคราวนี้

ที่ผ่านมาและเวลานี้ ธุรกิจมีบทบาทสำคัญที่สุด เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบทุนนิยม ธุรกิจเป็นตัวนำ ดำเนิน ประสาน ชักพา หันเห พลิกผัน หมุน ปั่น และปั้นแต่ง รวมทั้งเป็นตัวการสำคัญที่พาเมืองไทยมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้

ถ้าธุรกิจพ่วงไปกับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการ ที่ประกอบด้วยความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจก็จะเป็นแก่นสารและมีฐานที่มั่นคง แต่ในยุคที่ผ่านมา ธุรกิจของไทย เป็นแบบฉลาดอย่างขาดการสร้างสรรค์เสียมาก เป็นนักปั่น นักหมุน กันเยอะ ไม่มีเนื้อใน ได้แต่ปั่น เช่น ปั่นเงิน ปั่นหุ้น เป็นต้น เป็นฟองสบู่ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นเหยื่อของนักปั่นแท้ ที่มีฐานแข็งกว่า ที่ปั่นซ้อนปั่น ทั้งหมุนทั้งปั่น คือฝรั่ง เลยแทบจะพาประเทศชาติไปสู่ความวิบัติ จนต้องมาคิดกู้แผ่นดินกันอยู่นี่

ถ้าจะให้ประเทศไทยก้าวไปในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี คนไทยจะต้องมองธุรกิจไทยให้ชัด ว่าเรามีความสามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้จริงหรือไม่ และพยายามพัฒนาธุรกิจไทยให้แข็งแกร่งด้วยปัญญาเชิงสร้างสรรค์ อย่าไปชื่นชมกับธุรกิจแบบ ศรีธนญชัย จะต้องให้ธุรกิจนั้นดำเนินไปกับอุตสาหกรรม ทั้งด้านสินค้าและบริการ ที่ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตและความเพียรสร้างสรรค์

พวกที่เราเรียกเขาว่าอารยประเทศนั้น เขาพูดกันถึง “ระบอบโลกใหม่” (new world order) และเขาก็จะจัดสรรระบอบโลกใหม่นั้น เราภูมิใจเพียงแค่จะได้ไปอยู่ในระบอบโลกใหม่ที่เขาจัดให้เท่านั้นหรือ

ระบอบโลกอย่างใหม่ที่เขาจัดสร้างขึ้นนั้น เขาว่าจะให้มีสันติสุขมากขึ้น แต่ก็ไม่ไปไหน ก็มีแต่ส่งเสริมและเต็มไปด้วยการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (economic competition) ซึ่งโยงเอาการเป็นคู่แข่งทางการเมือง (political rivalry) ติดมาด้วย การแข่งแบบนี้ย่อมแฝงความเป็นปฏิปักษ์กันอยู่ในตัว แล้วโลกจะมีสันติสุขแท้ได้อย่างไร เราไม่มีความสามารถหรือคิดจะพัฒนาความสามารถที่จะมีส่วนร่วมสร้างระบอบโลกใหม่ที่ดีงามขึ้นบ้างหรือ จะภูมิใจอยู่แค่ได้ขึ้นไปเต้นบนเวทีที่เขาสร้างและกำกับการแสดงเท่านั้นหรือ

ได้ยินคนไทยเรามักจะพูดว่า “รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ทำไมเราไม่พูดเน้นถึงการ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” เหมือนกับว่า ลึกลงไปในใจ เราเคยชินอยู่กับแนวคิดตามลัทธิคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล และการหวังความช่วยเหลือ ควรจะตื่นขึ้นมามองและมุ่งที่จะ “ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว” ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรและสติปัญญาของเรา

วิกฤติคราวนี้ ที่ไทยเป็นหนี้ ไอเอมเอฟ ๑๗,๐๐๐ ล้านดอลลาร์นั้น มากมายยิ่งนัก หลายคนท้อใจว่าคงจะไม่มีทางหลุดออกไปได้ ถ้าคิดตามอัตรา เมื่อ ๑ ดอลลาร์มีค่า ๔๒ บาท หนี้ก็เป็นเงินไทยเกินกว่า ๗ แสนล้านบาท แต่ถ้าไม่มัวละห้อยละเหี่ยอยู่ มาสร้างเศรษฐกิจใหม่กันบนฐานที่แข็งแรง คือความสามารถในการผลิตและคิดสร้างสรรค์นั้น การที่จะฟื้นตัวขึ้นมาก็ไม่เหลือวิสัยแต่อย่างใด

เพียงเงินไทยแข็งขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็น ๓๐ บาทต่อดอลลาร์ หนี้ก็ลดหายไปทันทีถึง ๒ แสนกว่าล้านบาท ถ้าเกิดเงินไทยแข็งขึ้นมากลายเป็น ๑ บาท ต่อ ๒ ดอลลาร์ หนี้ก็เหลือเพียง ๘ พันห้าร้อยล้านบาท จริงอยู่ เรื่องเศรษฐกิจซับซ้อนกว่าที่จะพูดง่ายๆ อย่างนี้ แต่ก็พูดไว้ให้เห็นตัวอย่างถึงความเป็นไปได้ ซึ่งอยู่ที่ความเข้มแข็งและมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างมีปัญญา

อย่าลืมว่าเมืองไทยเราเป็นหนี้ต่างประเทศ ไม่ใช่เฉพาะหนี้ IMF คราวนี้เท่านั้น เราเป็นหนี้มาก่อนนี้นานแล้ว สะสมมาเรื่อยๆ และไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเป็นหนี้ เอกชนก็เป็นหนี้อย่างหนัก เวลานี้เมืองไทยเป็นหนี้ต่างประเทศรวมแล้วเกือบ ๙ หมื่นล้านเหรียญอเมริกัน ถ้าคิดอัตราดอลลาร์ละ ๓๖ บาท ก็ติดหนี้เป็นเงินไทยราว ๓ ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้ ถ้าเราเดินถูกทาง ตั้งตัวให้ดีก็ต้องแก้ได้

ข้อสำคัญ ต้องไม่เป็นเพียงนักเสพนักบริโภค แต่ต้องเป็นนักผลิต นักสร้างสรรค์ ต้องเป็นคนที่หวังผลจากการกระทำ ไม่ใช่หวังผลจากการดลบันดาล

การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว

ถ้ามัวแต่เป็นนักขอผลดลบันดาลกันอยู่ ต่อไปชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ท่านจะบันดาลให้ สังคมของตนจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่ใครที่มีอำนาจยิ่งใหญ่จะมาดลบันดาล ที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจก็เพราะฝรั่งดลบันดาล แล้วก็รอต่อไปว่า ฝรั่งคงจะมาช่วยดลบันดาลให้สังคมของเราพ้นวิกฤติ นี่แหละคือชะตากรรมของนักขอและนักรอผลดลบันดาล

ควรจะพัฒนาตัวขึ้นมาให้มีความสามารถที่จะดลบันดาลกับเขาบ้าง อย่างน้อยก็ให้สามารถมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของโลก ไม่ใช่มัวแต่รอให้เขากำหนดให้

ต้องเข้มแข็ง มีความเพียรที่จะสร้างผลสำเร็จขึ้นด้วยเรี่ยวแรงการกระทำความสามารถและสติปัญญาของตน อย่าเป็นนักหวังลาภลอย หรือรวยทางลัด อย่างที่ฝรั่งเอาไปเขียนใส่สารานุกรม เป็นหนังสือบ้าง เป็น CD-ROM บ้าง เผยแพร่เหมือนประจานเมืองไทยไปทั่วโลก

ตัวอย่างเช่น Encarta Encyclopedia 1998 และ 1999 ที่บรรยายสภาพเมืองไทย(Thailand)ว่า “ผู้ชายชาวต่างประเทศมาเพื่อดูหญิงงามของประเทศไทย และหาความสุขจากอุตสาหกรรมกามารมณ์ ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู” อีกตอนหนึ่งว่า “เวลานี้ (ในเมืองไทย) ทุกคนรีบไปๆ ใจก็นึกถึงแต่เงินๆ . . . โสเภณี ยาเสพติด การทำลายป่า มลภาวะ การอยู่กันแออัดยัดเยียด-ปัญหาทุกอย่างทั้งหมดนี้ สืบสาวหาเหตุแล้ว ก็มาจากความอยากรวยลัดรวยเร็ว (quick baht) อย่างเดียวแท้ๆ”

ผลเกิดจากเหตุ เหตุปัจจัยก่อให้เกิดผล ขณะนี้ ไทยเราก็ประสบผลแล้วคือวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลร้าย แต่เหตุปัจจัยของมันคืออะไร คิดที่จะค้นหาและแก้ไขกันให้จริงจังหรือยัง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝัน ก็ย่อมตกใจ เสียใจ ระทมทุกข์ ฯลฯ กันได้เป็นธรรมดา แต่ถึงขณะนี้ หมดเวลาแล้วที่จะมัวระทดระทวย ละห้อยละเหี่ย กล่อมใจปลอบใจกัน ควรจะลุกขึ้นมาใช้ความเพียรและปัญญาเดินหน้าให้จริงจังเสียที สร้างเศรษฐกิจที่มีแก่นสาร บนฐานที่มั่นคง คือความสามารถในการผลิต และการคิดสร้างสรรค์

ถ้าทำได้แค่นี้ ในแง่เศรษฐกิจ ก็แก้ปัญหาของไทยได้ แต่เรายังจะต้องก้าวต่อไปอีก เพื่อแก้ปัญหาของโลกให้ได้ด้วย โดยนำมนุษย์เข้าสู่แนวคิดที่ถูกต้อง ว่าการพัฒนามิใช่เพื่อเศรษฐกิจรุ่งเรืองเป็นจุดหมาย แต่เพื่อจะได้เอาเศรษฐกิจที่เพียงพอและมั่นคงเป็นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลกที่ดีงาม มีสันติสุขสืบไป

สำหรับเฉพาะหน้าตอนนี้ ที่จะเริ่มต้นกันได้ ก็อย่างที่พูดไปแล้ว ซึ่งขอย้ำอีกที

๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา

๓. ร่วมกันเผชิญทุกข์เผชิญปัญหา พากันเดินหน้าต่อไป

ที่ว่านี้ขยายความว่า ในแต่ละคนให้มีคุณสมบัติแห่งความเข้มแข็ง และสร้างสรรค์อยู่เป็นพื้นฐาน แล้วก็มารวมกำลังกันอีกทีหนึ่งทั้งหมดทั้งสังคม ตอนนี้จะต้องปลุกใจกันใน ๓ ประการนี้

เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อย่าไปมัวกล่อมกันอยู่ ให้ตั้งท่าทีต่อสถานการณ์และต่อข่าวให้ถูกต้อง เช่น ข่าวความช่วยเหลือของต่างประเทศนี่แหละดีนัก ตั้งท่าทีกันให้ถูก อย่าไปตั้งท่าทีแบบเพลิน แหม ได้แล้ว ฉันดีใจ หายทุกข์แล้ว เราจะพ้นวิกฤติละ แล้วก็เฉื่อยลง อย่างนั้นใช้ไม่ได้

ต้องตั้งจิตมองด้วยท่าทีว่า นี่คือความจำใจนะ ที่เราต้องรับความช่วยเหลือ แล้วจะต้องตั้งใจว่า เราจะต้องพ้นไปจากภาวะนี้ให้ได้ เราจะไม่มามัวชื่นชมและหลงระเริงภูมิใจกับการได้สิ่งเหล่านี้มาง่ายๆ ถ้ามัวคิดว่าฉันมีคนมาช่วยเหลือแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว ก็ชวนให้น้อมไปในความประมาทตามเคย

อะไรก็ตามที่จะทำให้ประมาท ต้องถือว่าผิดทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสย้ำแล้วย้ำอีกว่า ความไม่ประมาทเป็นธรรมเอก เปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง รอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดลงได้ในรอยเท้าช้างฉันใด ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็ลงได้ในความไม่ประมาทฉันนั้น ลงได้มีความไม่ประมาทอย่างเดียว ธรรมอย่างอื่นก็เกิดผลหมด ทำหมด รู้แค่ไหน แม้แต่รู้ธรรมข้อเดียวก็ทำข้อนั้น รู้ ๑๐ ข้อก็ทำ ๑๐ ข้อ รู้ทั้งหมดก็ทำทั้งหมด แต่ถ้าประมาทอย่างเดียว รู้เท่าไรก็ไม่ทำสักอย่าง เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงครอบคลุมธรรมะไว้หมด พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นเหลือเกิน

ขอจบลงด้วยคำเน้นที่ว่า ถ้าไม่ประมาท จะไม่ต้องพบความเสื่อม จะหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ขอให้เราพากันไม่ประมาท สร้างความเข้มแข็งขึ้นมา เพียรใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ และร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่าเดินหน้าต่อไป

 

การขอและรอผลดลบันดาลนั้น ง่ายดี และสบายด้วย เพราะไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่รอ นั่งนอนกริ่มๆ กระหยิ่มใจ คอยชื่นชมอำนาจความยิ่งใหญ่ของท่านที่จะมาทำให้ แต่นี่คือลัทธิกล่อมใจ และก็คือความประมาท ที่จะทำให้อ่อนแอลงเฉพาะหน้า และพาสู่หายนะระยะยาว”

“. . . ขอให้เราชาวพุทธลุกขึ้นมากู้ธรรมะให้แก่แผ่นดินไทย โดยเริ่มต้นที่ในหัวใจของเรา แล้วก็มาชวนกัน และปลุกใจกันให้

๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา

๓. ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่า เดินหน้าต่อไป

ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็กู้ธรรมะได้ และกู้แผ่นดินไทยสำเร็จ”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.