ทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 20 ตอนของ

ทำงานคือทำสัมมาชีพ
ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา

หันมาพูดถึงความหมายพื้นฐานของงาน ก่อนที่เราจะก้าวไปถึงขั้นที่จะประสานกลมกลืนให้องค์ประกอบ ๓ ก็ตาม ๔ ก็ตาม ที่พูดมาแล้วนั้นกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เราต้องเข้าใจความหมายก่อนว่า “งานคืออะไร?”

ในที่นี้ไม่ต้องพูดถึงความหมายโดยตรง งาน ที่เราทำในสังคมนั้น มักจะเน้นกันว่า จะต้องเป็นสัมมาชีพ ถ้าเข้าใจคำนี้แล้วความหมายของงานจะมาเองในตัว

สัมมาชีพ หรือ สัมมาอาชีวะนั้น เป็นอย่างไร พูดกันสั้นๆ คนทั่วไปมองว่า สัมมาชีพ ก็คืออาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย อย่างนี้เป็นความหมายพื้นๆ

แต่ความจริง งานมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น ลองแยกศัพท์ออกไป สัมมาชีพ ประกอบด้วย สัมมา+อาชีพ แล้วเรียกสั้นๆ ก็เป็นสัมมาชีพ หรือจะแยกเป็น สัมมา+อาชีวะก็ได้ ภาษาเดิมเรียกว่า อาชีวะ ก็อันเดียวกัน

เมื่อแยกเป็น ๒ คำแล้ว ก็มาดูทีละคำ

๑. อาชีวะ หรือ อาชีพ ก็คือ การหาเลี้ยงชีพ แค่นี้เราก็ได้ความหมายที่ ๑ ของ “งาน” แล้ว คือเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพ ที่เราพูดกันในแง่ได้เงินได้ทอง หรือจะได้มีปัจจัย ๔ มีสิ่งของเครื่องใช้ อันนี้เป็นความหมายอย่างง่าย

แต่เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพยังไม่พอ ต้องเป็นสัมมาด้วย สัมมาเป็นตัวจำกัดให้แคบลงไป การหาเลี้ยงชีพอย่างไรเป็นสัมมา?

๒. สัมมา แปลว่า ถูกต้อง คือถูกต้องตามความหมายของมัน ถ้าจะเอาลึกซึ้งก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่น เป็นคนทำสวน การที่ทำสวนนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินเดือนมา แต่ทำสวนเพื่อให้ได้ผลที่ตรงตามเหตุ คือเมื่อทำสวน ก็ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เมื่อทำงานทางแพทย์ เช่นรักษาคนไข้ ก็คือต้องการช่วยให้คนไข้หายป่วย หรือช่วยให้เพื่อนมนุษย์ในสังคมนี้มีสุขภาพดีขึ้น บรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ อย่างนี้ถือว่าตรงไปตรงมา คือ เหตุตรงกับผล

ส่วนการได้เงินได้ทองมาก็เป็นเรื่องของความหมายโดยอ้อมตามเงื่อนไข คือ เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพ

เมื่อถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง คือตรงเหตุตรงผลแล้ว ก็มีผลดีทุกอย่าง ดีอย่างไร?

ในเรื่องที่เป็นอาชีพของมนุษย์นี้ เรามองในแง่สังคมก่อน คือจะต้องดีแก่สังคม ดังที่มีการเน้นว่า สัมมาชีพ คือ อาชีพที่ถูกต้องนั้น จะต้องไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อน ไม่บั่นทอนทำลายสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีคำอธิบายว่าไม่ผิดกฎหมาย เพื่อเข้ามาเน้นในแง่ที่ว่า ไม่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน ไม่ทำลายใคร ในขั้นนี้เป็นความหมายเชิงปฏิเสธ ซึ่งต้องมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ปฏิเสธ จะต้องมีความหมายเชิงสร้างสรรค์ด้วย คือนอกจากไม่เบียดเบียนไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครแล้ว อาชีพที่เราทำนี้ จะเรียกว่า สัมมาชีพ ต้องเป็นอาชีพที่ช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยช่วยให้ชีวิตดีงามขึ้น สังคมเจริญงอกงามขึ้น อย่างน้อยก็บำบัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อน

ยกตัวอย่าง อาชีพของแพทย์และพยาบาลนี้ มีทั้งสองด้าน คือในด้านแก้ปัญหา ก็บำบัดความเจ็บไข้ได้ป่วย และในด้านสร้างสรรค์สังคม ก็ทำให้คนมีสุขภาพดี จะได้เป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศชาติและสังคม ช่วยสร้างสรรค์ทำให้สังคมเจริญงอกงามต่อไป ความหมายในแง่สังคมนี้ด้านหนึ่งแล้ว

ทีนี้ในแง่ตนเอง สัมมาชีพต้องดีต่อตัวเองด้วย ดีแก่ตัวเองอย่างไร? อาชีพทุกอย่างนั้น ถ้าเป็นอาชีพที่ดี จะเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตน

ชีวิตของคนเรานี้ต้องพัฒนาตลอดเวลา ต้องเจริญงอกงามขึ้น

๑. ในด้านพฤติกรรม คือการดำเนินชีวิตทั่วไป การเป็นอยู่ การเกี่ยวข้องกับผู้คน ทั้งทางกาย และทางวาจา

๒. ในด้านจิตใจ คือ ในเรื่องคุณธรรม ความสามารถ หรือสมรรถภาพของจิตใจ และความสุข โดยเฉพาะการมีสุขภาพจิต และ

๓. ในด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการคิดพิจารณาวินิจฉัยและจัดดำเนินการ

คนเราจะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องเก่งขึ้นในด้านต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเราประกอบอาชีพที่ดี ก็จะเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตนเอง ในด้านพฤติกรรม เราก็จะรู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เราจะรู้จักอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้มารยาทต่างๆ รู้จักติดต่อเข้าพบเข้าหา รู้จักพูดจาปราศรัย รู้จักที่จะปฏิบัติงานต่างๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พฤติกรรมของเราก็พัฒนา

ส่วนในด้านจิตใจ เวลาทำงานทำการ ขณะที่ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้รู้จักการอยู่ร่วมสังคม เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีนั้น เราก็ฝึกความมีน้ำใจเมตตากรุณาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และในตัวงานเองเราก็ได้ฝึกความรับผิดชอบ ความขยัน ความอดทน ความมีใจหนักแน่นมั่นคง ความมีสติ การมีสมาธิหรือความมีใจแน่วแน่ในการทำงาน เป็นต้น

ต่อไปในด้านปัญญา เมื่อเราทำงาน เราจะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น การทำงานทำให้เรารู้วิชาการของเราชัดเจนและช่ำชองยิ่งขึ้น ทำให้เราได้คิดได้ค้นคว้า เรียนหาทางแก้ปัญหา รู้วิธีจัดการดำเนินการ และเรียนรู้ไม่เฉพาะในเรื่องวิชาการและการงานเท่านั้น แต่ได้เรียนรู้โลกและชีวิตด้วย เริ่มแต่ได้เรียนรู้เพื่อนมนุษย์ ทำให้รู้จักและเข้าใจผู้คนในสังคม ตลอดจนรู้จักเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และแม้แต่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นไปและเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย พูดสั้นๆ ว่า ได้เรียนรู้โลกและชีวิตมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ชีวิตของเรานี้ ที่เราได้พัฒนาตนเองขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่พัฒนาจากการทำงาน เพราะว่าชีวิตของเราอยู่กับการทำงานหลายเปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งๆ เราอยู่กับการงานอาชีพครึ่งค่อนวัน เช่นอาจจะต้องทำงาน ๘ ชั่วโมง หรืออาจจะเกินกว่านั้น เพราะบางทีต้องมาก่อนเวลา บางทีต้องเลิกหลังเวลา ชีวิตของคนเราจึงอยู่กับการงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนาชีวิตของเรา ก็ต้องใช้อาชีพการงานของเรานี่แหละเป็นเวที หรือเป็นแดนเป็นสนามที่พัฒนาตนเอง มิฉะนั้นเราจะหาโอกาสพัฒนาตนเองได้ยาก ถ้าเรามุ่งอย่างเดียวว่าจะทำงานทำการเพื่อได้เงิน เราก็จะพลาดโอกาสที่ดีนี้ไปเสียหมด เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าสัมมาชีพจึงมีความหมายกว้างมาก

ขอสรุปอีกครั้งว่า อาชีพก็คือเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ และที่เป็นสัมมาก็เพราะมีความหมายถูกต้อง คือเป็นไปตามเหตุผลที่ว่า ทำให้เกิดผลที่ต้องการของการงานอาชีพนั้น ซึ่งแต่ละอาชีพมีวัตถุประสงค์ของมันเอง ดังเช่น การแพทย์และพยาบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยให้คนไข้หายโรคภัยไข้เจ็บ และมีสุขภาพดี

อาชีพที่เป็นสัมมาจึงเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนทำลายใคร และยังแถมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมด้วย นอกจากนั้นก็ยังดีกับตัวเองโดยเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตทุกด้าน

ถ้าเรามองความหมายถูกต้องอย่างนี้ เวลาทำงานเราก็จะพยายามทำให้ได้ตามนี้ แล้วเราจะมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะเราทำงานอย่างมีจุดหมาย ไม่ใช่ทำงานโดยมุ่งผลตอบแทนคือเงินอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เราขาดประโยชน์ที่พึงได้ไปอย่างมาก พร้อมกันนั้นความทุกข์ก็จะมากกว่าสุข เพราะการทำงานกลายเป็นการรอความสุข เวลาทำงานจึงกลายเป็นเวลาแห่งความทุกข์ โดยที่ความสุขนั้นขึ้นต่อเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่รอ ที่ยังไม่มาถึงสักที

นี่เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อให้ความหมายพื้นฐานอย่างนี้แล้ว เราก็มาดูแนวทางที่จะประสานองค์ประกอบต่างๆ ที่พูดไปเมื่อกี้ คือ เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเรื่องความสุขของตนเอง ว่าจะทำอย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุขต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน >>

No Comments

Comments are closed.