- การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม
- เคารพ
- บูชา
- สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี – ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
- “อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม” ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
- สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
- คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม
- คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
- สันโดษ เตรียมความพร้อม ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
- แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
- ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ
- ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
- ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง
- พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน
- เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก
- ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า
- คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้
- บูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม
ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
คนที่จะไปทำงานบัณฑิตอาสาสมัครนั้น ถ้าต้องเสียสละด้วยใจไม่พร้อม คือ ไม่มีความต้องการ ก็ย่อมมีความฝืนใจ แล้วก็ต้องทุกข์แน่ๆ และการงานก็ยาก
วิธีที่จะแก้คนให้ปรับเปลี่ยนความต้องการ ก็เริ่มตั้งแต่ภายใน ซึ่งมีหลายอย่าง วิธีอย่างหนึ่งก็คือ ตั้งท่าทีรับใหม่
เพียงแค่คิดว่าคนที่จะไปทำงานต้องเสียสละ ก็ฝืนใจแล้วใครๆ ก็อยากได้เพื่อตัวเองทั้งนั้น พอบอกว่า “สละ” ใจก็ไม่เอา นอกจากนั้นยังต้องไปโดดเดี่ยว เดียวดาย ว้าเหว่ เหงา ก็ทุกข์ทั้งนั้น
เสียสละอย่างเดียวก็ฝืนใจ ทุกข์แล้ว แล้วยังไปโดดเดี่ยวอีก เคยอยู่กับญาติพี่น้อง ครอบครัว พ่อแม่ ต้องไปอยู่ห่างไกล ก็เหงา ทุกข์อีกแล้ว จะทำอย่างไร ก็ตั้งท่ารับใหม่ ให้ใจเริ่มพัฒนาความต้องการใหม่
เริ่มแรกเราตั้งท่าทีของการมีจิตสำนึกในการฝึกตน จิตจะเริ่มรับได้ทันที ฝึกนี้คู่กับฝืน หรือตรงข้ามกับฝืน ถ้าเราทำอะไรด้วยฝืน จะรู้สึกทุกข์ แต่ถ้าทำอะไรด้วยความรู้สึกว่าเราได้ฝึก เราจะสุข
งานอย่างหนึ่ง ยาก เราไม่ชอบ แต่ต้องทำ มันฝืนใจ เราก็ทำด้วยความทุกข์ แต่งานเดียวกันนั้นแหละ ที่ยากและเราไม่ชอบ แต่เรามองเห็นว่าถ้าทำ เราจะฝึกตัวได้เรียนรู้มาก เกิดความต้องการฝึกขึ้นมา ใจเราเอาด้วย ก็ทำด้วยความสุข
การที่จะเปลี่ยนแนวคิดความรู้สึกจากฝืนมาเป็นฝึกนั้น เราก็ให้ปัญญา เช่นบอกว่า คนเรานี่จะเจริญพัฒนาได้ต้องฝึกตนนะ มนุษย์นี้ตั้งแต่เกิดมีอะไรได้มาเองเปล่าๆ ไหม ไม่เฉพาะสิ่งของเงินทองเท่านั้น แม้แต่วิธีเป็นอยู่ดำเนินชีวิต ไม่มีเลยใช่ไหม
เงินทองวัตถุสิ่งของนอกกาย ถ้าพ่อแม่ของเราร่ำรวยมั่งมี เมื่อท่านอยากให้ เราก็อาจจะได้มาไม่ยาก แต่ชีวิตของเราที่จะมีความสามารถ เป็นอยู่ได้ดี มีสติปัญญา นานาคุณสมบัตินั้น ไม่มีใครหยิบยกให้ได้ ต้องฝึกเอา จึงจะได้จึงจะมี
คนเกิดมานี่ไม่เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายพวกอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมันได้วิธีเป็นอยู่มาด้วยสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ อยู่ๆ เดี๋ยวมันก็เดินได้ เดี๋ยวมันก็หากินและอะไรๆ ตามแบบของมันได้ ฝึกน้อยเหลือเกิน มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ
แต่มนุษย์นี่ แทบไม่มีอะไรเลยที่ได้มาเอง สัญชาตญาณช่วยน้อยเหลือเกิน แล้วทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยการฝึก ฉะนั้น มนุษย์นี้ จะนอน จะนั่ง จะกิน จะขับถ่าย จะพูด จะเดิน ต้องฝึกทั้งนั้น เรียกง่ายๆ ว่า ต้องเรียนนั่นเอง
เรียนก็คือฝึกนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ชอบใช้คำว่า “เรียนรู้” เป็นอันว่า ต้องฝึกขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราที่เป็นอยู่มาได้ทุกวันนี้ เรามิใช่ได้มาเปล่าๆ เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราได้มาด้วยการฝึก ลงทุนด้วยการฝึก ถ้าเราไม่หยุดฝึก ชีวิตของเราจะดียิ่งขึ้นๆ เห็นไหมที่ผ่านมา ฝึกแล้วมันดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งใจฝึก ชีวิตของเราจะดีอย่างยิ่ง ทุกคนที่ชีวิตเขาเจริญก้าวหน้า เขาฝึกหรือเอาจริงกับการเรียนรู้ทั้งนั้น
การที่เราเจอปัญหา ก็คือได้แบบฝึกหัด เด็กจะเจริญมีปัญญาดีมีความสามารถ ต้องมีแบบฝึกหัด คำว่า แบบฝึกหัดก็คือ “แบบฝึก” และ “หัด” ก็ต้องฝึกและหัด คนไหนเจอแบบฝึกหัดมาก คนนั้นก็จะเจริญพัฒนาได้มาก
อะไรเป็นแบบฝึกหัด ก็เช่นปัญหา ความทุกข์ ความยาก ความลำบาก
คนที่เจอแต่สุข มีแต่ง่าย สะดวก สบาย จะแทบไม่มีโอกาสฝึกเลย เพราะไม่มีแบบฝึกหัด
ไม่เฉพาะบุคคลเท่านั้น สังคมก็เหมือนกัน สังคมที่มีแต่ความสุขนี่ เสียเปรียบนะ มองในแง่ดีก็ได้เปรียบ แต่มองในแง่ไม่ดี เสียเปรียบมาก สังคมที่สุขสบาย ก็เหมือนไร้แบบฝึกหัด
ชีวิตที่ขาดแบบฝึกหัดก็ดี สังคมที่ไม่มีแบบฝึกหัดก็ดี พัฒนายาก สังคมที่เขาพัฒนานั้น ไปดูเถอะ โดยมากในภูมิหลังมีแบบฝึกหัดมากมาย เมื่อมีปัญหาความทุกข์ยากลำบากมาก ก็ต้องสู้ ต้องฝึกมาก เรียกว่า ยิ่งมีแบบฝึกหัดมาก ก็ยิ่งเจริญมาก
No Comments
Comments are closed.