พระพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตร

13 กุมภาพันธ์ 2516
เป็นตอนที่ 6 จาก 6 ตอนของ

พระพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตร1

คำนำ

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เรารู้จักกันดี แต่การนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ในด้านอื่น เช่น การศึกษา ถือว่าเป็นของใหม่ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ การประยุกต์อาจจะมุ่งไปในด้านวัฒนธรรมประเพณี หรือตัวแกนกลางคือ พุทธธรรม ซึ่งเรียกว่าพุทธปรัชญา ก็ได้ ในที่นี้จะพูดในแง่หลักคือ พุทธธรรม

พุทธธรรมหรือพุทธปรัชญา เราถือว่านับถือมาพร้อมๆ กับพระ​พุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หลักธรรมและความเชื่อถือที่พุทธศาสนิกชนไทยนับถือปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่หลักแท้ของพระพุทธศาสนาไปทั้งหมด อาจมีลัทธิผีสางเทวดาและศาสนาพราหมณ์เป็นต้น ปะปนอยู่ด้วย โดยเป็นความเชื่อถือเดิมก่อนนับถือพุทธศาสนาบ้าง นับถือพร้อมๆ กันมาบ้าง

การวิเคราะห์พุทธศาสนา

เราต้องวิเคราะห์พระพุทธศาสนาที่เรานับถือ ว่าอะไรเป็นหลักแท้ ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาแบบไทย ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเราเอง และได้เจริญควบคู่มากับประวัติศาสตร์ของชาติไทย บางสมัยพุทธ­ศาสนาก็เจริญ บางสมัยก็เสื่อมลง ดังนั้น การที่จะบอกว่าพุทธศาสนาที่เรานับถือปัจจุบันเป็นพุทธศาสนาตัวแท้หรือไม่ ครั้งแรกเราต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะยอมรับทันที จริงอยู่เมื่อเริ่มต้นเรายอมรับว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เราจึงเกิดศรัทธาและยอมรับมา แต่การที่เรายอมรับมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเข้าถึงพระพุทธศาสนา ในบางสมัยเราอาจจะได้มีการศึกษา มีการค้นคว้า และมีผู้มีความสามารถในการที่จะถ่ายทอดสั่งสอนทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าถึงพุทธศาสนาได้จริงๆ แต่บางสมัยก็เสื่อมทรามลงไป เพราะฉะนั้น การวิเคราะห์ว่าพระพุทธศาสนาตัวแท้จะอยู่ที่ไหน เราต้องแยกศึกษาเป็นส่วนๆ ไป

ประการแรก เราต้องศึกษาหลักแท้ของพระพุทธศาสนา โดยแยกจากความเชื่อถือที่ปะปนหรือเคลื่อนคลาดในสังคมไทย

ประการที่สอง จะต้องศึกษาพุทธธรรมที่แท้ โดยแยกจากความเชื่อถือในศาสนาที่มีอยู่ในดินแดนที่พุทธศาสนาเกิดขึ้น โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ เหตุสำคัญที่ต้องแยก เพราะพระพุทธศาสนาเกิดในประเทศที่มีการนับถือศาสนาอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า คนเหล่านั้นนับถือไม่ถูกต้องหรือผู้ที่นำศาสนานั้นๆ สืบต่อกันมาได้ปฏิบัติผิดพลาดไป พระพุทธเจ้าจึงทรงพยายามแก้ไข เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของพระพุทธ­ศาสนาจึงหมายถึงการแก้ไขความเชื่อผิดๆ เหล่านั้น

พระพุทธเจ้าแม้จะทรงอุบัติขึ้นในที่นั้นและต้องการจะแก้ไข แต่เวลาจะทรงสั่งสอนจะต้องอาศัยภาษาที่เขาพูดกันมาแต่เดิม จะต้องพูดกับคนที่เขานับถือศาสนาเดิมนั้น เพราะฉะนั้น คำศัพท์ต่างๆ ก็ต้องใช้คำศัพท์อย่างเดียวกันเป็นส่วนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะคำพูดอย่างเดียวกันที่มีในพุทธศาสนาและศาสนาเดิมนั้น อาจมีความหมายไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคำอะไรก็ตามที่มีใช้ทั้งสองศาสนา ต้องตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องใช้คนละความหมาย เช่นคำว่า “กรรม” เป็นต้น

ประการที่สาม จะต้องแยกพุทธธรรมจากคติของศาสนาทั่วๆ ไป เช่นเรื่องศีล ในศาสนาทั่วๆ ไป คติที่เป็นรากฐานของเขาคือมีองค์พระผู้เป็นเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้บันดาล ศีลในลักษณะของศาสนาแบบนี้ก็จะอยู่ในรูปที่ว่า เป็นคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจะเป็นผู้ตัดสิน มีการลงโทษและให้รางวัล ถ้าทำผิดก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า และจะถูกลงโทษให้ไปนรก ถ้าทำดีปฏิบัติตามพระองค์ ก็ให้ไปเกิดในสวรรค์ นี่คือคติของศาสนาที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งกำหนดว่าความหมายของศาสนาต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอำนาจพิเศษเหนือธรรม­ชาติ คือ องค์พระผู้เป็นเจ้า

ศีลในแง่ของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เราต้องตั้งข้อสังเกตตามพื้นฐานของศาสนาว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนหลักธรรม หลักธรรมโดยทั่วๆ ไปก็คือ หลักความจริงที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นกฎแห่งเหตุและผล พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า กฎเกณฑ์ธรรมชาติแห่งเหตุและผลนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าพระพุทธองค์จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระองค์เป็นเพียงผู้ค้นพบและนำมาประกาศสั่งสอน อาศัยความสามารถในทางสติปัญญาและความสามารถในการสั่งสอนให้ผู้อื่นเข้าใจ โดยวางเป็นหลักเป็นข้อให้เข้าใจง่ายขึ้น พระองค์ไม่ตัดสินลงโทษหรือให้รางวัลแก่ผู้ใด เป็นแต่เพียงแนะนำว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ ควรทำหรือไม่ควรทำ ผู้ที่เป็นเวไนย­สัตว์รับฟังแล้วก็ทำความเข้าใจตาม และประพฤติได้ถูกต้อง ก็จะได้รับผลดีอันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ลักษณะทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนา

เราจะพิจารณาลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนา จากข้อสังเกต ๓ ข้อ คือ

๑. ฐานะขององค์พระศาสดา ซึ่งเป็นผู้ค้นพบหลักความจริง และนำสิ่งที่ค้นพบมาสั่งสอน โดยถือว่าความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจในฐานะนี้จะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้ประยุกต์ต่อไป

๒. หลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและสั่งสอนสรุปได้ด้วยข้อความสั้นๆ ดังปรากฏในศิลาจารึกสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งพบในคราวเดียวกับพระธรรมจักรที่นครปฐม มีจารึกคาถา เย ธมฺมาเหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต คือ คาถาที่บอกหลักของพระพุทธศาสนาโดยย่อว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุเกิดของธรรมเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับไปของธรรมเหล่านั้น ข้อนี้แสดงว่าพุทธธรรมก็คือหลักแห่งเหตุและผลนั่นเอง

๓. ธรรมะที่มาเกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์ ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ด้วยวิธีการและสติปัญญาของมนุษย์เอง ไม่ใช่เกิดจากการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า

หลักธรรมที่จะนำมาประยุกต์

สิ่งที่เราจะพิจารณาต่อไปก็คือ หลักธรรมอะไรที่ถือว่าเป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนา ถ้าจะกล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้วจะมีอยู่ ๕ ข้อใหญ่ๆ คือ

๑. หลักอริยสัจจ์ ๔

๒. หลักขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์

๓. หลักปฏิจจสมุปบาท

๔. หลักไตรลักษณ์

๕. หลักมัชฌิมาปฏิปทา = ไตรสิกขา = โอวาทปาฏิโมกข์ = มรรค ๘

ผู้ที่เข้าใจหลักธรรมดังกล่าวจะได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

หลักอริยสัจจ์ คือหลักที่แสดงถึงสภาพของชีวิตมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์จะสามารถหาได้จากชีวิตนี้ ให้มนุษย์จัดการกับปัญหาของมนุษย์ด้วยหลักการและสติปัญญาของมนุษย์เอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ ทุกข์ คือปัญหาของมนุษย์เอง สมุทัย คือเหตุเกิดของทุกข์ นิโรธ คือความดับทุกข์ มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หลักนี้เป็นหลักสำคัญของพระ​พุทธศาสนา เป็นเรื่องปัญหาของมนุษย์และการแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยมนุษย์เองทั้งสิ้น

หลักเบญจขันธ์ คือหลักที่แสดงถึงภาวะของชีวิตว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สุดแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

หลักปฏิจจสมุปบาท คือหลักแห่งเหตุและผล ที่แสดงกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ตามกระแสความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เหตุหมายถึงตัวการใหญ่ที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ปัจจัยหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ช่วยหนุนให้เกิด เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมิใช่มีแต่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยด้วย ปัจจัยแวดล้อมนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

หลักไตรลักษณ์ คือหลักที่มุ่งให้มนุษย์มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หลักนี้กล่าวถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และนำมาใช้เพื่อวัตถุ​ประสงค์ในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก

หลักมัชฌิมาปฏิปทา คือหลักที่มุ่งให้มนุษย์เว้นจากการหมกมุ่นมัวเมาและการทรมานตัวเองให้ลำบาก โดยเว้นจากการประพฤติที่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป มรรคนั้นเป็นทางสายเดียวแต่ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ส่วน ถ้าออกมาในรูปการอบรมก็เป็นไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้าเราจะนำพุทธศาสนามาประยุกต์ในทางปฏิบัติ เราต้องนำหลักใหญ่ทั้งห้าอย่างมาพิจารณา หลักบางหลักแม้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เราพิจารณาคนละแง่ เช่น หลักมัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นส่วนหนึ่งของหลักอริยสัจจ์ ๔ แต่เราแยกออกมาพิจารณาต่างหาก เพราะเป็นที่รวมของข้อปฏิบัติหรือจริยธรรมของพระพุทธศาสนา

แนวทางประยุกต์พุทธธรรมในด้านการศึกษา

ก. แนวความเข้าใจเกี่ยวกับเบญจขันธ์

ชีวิตประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งจัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ๕ ประเภท เรียกว่าขันธ์ ๕ คือ

๑. รูป องค์ประกอบฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายร่างกายทั้งหมดรวมทั้งคุณสมบัติและพฤติการณ์ทั้งปวงของมัน

๒. เวทนา เรื่องของอารมณ์ทุกข์และสุขของมนุษย์ ปัญหาของมนุษย์จะเริ่มจากจุดนี้ และจะพัวพันกับจริยธรรมมาก

๓. สัญญา ความหมายรู้ต่างๆ เช่น เสียงทุ้ม แหลม ดัง เบา เป็นตัวสร้างความจำและวัตถุดิบของความคิด มีความสำคัญมากในกระบวน​การเรียนรู้ สัญญาที่ดีย่อมให้เกิดความจำที่ดี

๔. สังขาร เป็นนามธรรม แปลว่าปรุงแต่ง หมายถึงปรุงแต่งจิตให้ดีให้ชั่ว ซึ่งเราเรียกว่ากุศลบ้างอกุศลบ้าง มีองค์ประกอบของจิตถึง ๕๐ อย่าง ที่เป็นตัวนำคือ เจตนา ฝ่ายดีมี เมตตา สติ ปัญญา ฯลฯ ฝ่ายชั่วมี โลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ

กระบวนการของความคิดและพฤติกรรมอยู่ที่นี่ มนุษย์สร้างกรรมที่จุดนี้

5. วิญญาณ การรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสโดยตรง วิญญาณประเภทที่ปรากฏในอาการรู้ตัวเรียกว่า วิถีวิญญาณ วิญญาณประเภททำหน้าที่สืบเนื่องโดยอาการไม่รู้ตัวเรียกว่า ภวังควิญญาณ

ส่วนประกอบทั้งห้าต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ชีวิตขึ้นกับสิ่งทั้งห้า ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวไม่คงที่ อยู่ในกระแสแห่งความเกิดดับสืบเนื่องอยู่ตลอดเวลา แม้ในทางจิตการปรุงแต่งก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท

ข. แนวความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท

๑. อวิชชา

๒. สังขาร

๓. วิญญาณ

๔. นามรูป

๕. สฬายตนะ

๖. ผัสสะ

๗. เวทนา

๘. ตัณหา

๙. อุปาทาน

๑๐. ภพ

๑๑. ชาติ

๑๒. ชรามรณะ

องค์ประกอบ ๑๒ ข้อดังกล่าว อาจเขียนแสดงเป็นวงจรได้ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาท

องค์ประกอบในปฏิจจสมุปบาท มีความสัมพันธ์กัน และเป็นวงจรของการเกิดความทุกข์ แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ ๓ หมวด คือ กิเลส กรรม และวิบาก

๏ องค์ประกอบที่เป็นกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

๏ องค์ประกอบที่เป็นกรรมคือ สังขาร และภพ

๏ องค์ประกอบที่เป็นวิบากคือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ และชรามรณะ

ตัณหา เป็นตัวที่แสดงบทบาทสำคัญในวงจร มีทั้งที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา กามตัณหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยากได้สิ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขความสบาย ภวตัณหาคือความอยากได้ภาวะชีวิตที่จะได้เสวยความสุขสบายนั้น อยากให้ตนดำรงอยู่ในภาวะชีวิตที่จะเสวยสิ่งที่พอใจนั้น ส่วนวิภวตัณหาจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการให้สิ่งที่เราไม่ชอบ พ้นไป หมดไป สลายไปเสีย ตัณหาเหล่านี้เกิดมาจากเวทนา เวทนาเป็นสุข ก็ชอบใจอยากได้ เวทนาเป็นทุกข์ ก็ไม่ชอบใจ อยากพ้นหรือให้พ้นไปเสีย

เวทนาเกิดจากอะไร เวทนาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผัสสะก่อน ผัสสะคือการกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือแม้แต่ผัสสะทางใจ ซึ่งเป็นการคิดถึงอารมณ์ต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ต่อๆ ไปอีก เช่น สฬายตนะ (อินทรีย์ทั้งหกที่รับรู้สิ่งเร้าต่างๆ) นามรูป วิญญาณ สังขาร และอวิชชา

อวิชชา เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะว่ามนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง จึงมีความหลงผิดว่ามีตัวตนอันหนึ่ง และจากตัวตนอันหนึ่งที่เราหลงผิดว่าเรามี จะทำให้เรายึดมั่นในตัวตนอันนั้น ความหลงผิดนี้จะเป็นต้นตอของความดีความชั่วต่อๆ ไป เพราะว่าเมื่อเรามีความยึดมั่นในตัวตนที่เราหลงรู้สึกคลุมๆ เครือๆ ไว้ว่ามีอยู่ จะทำให้เราเกิดตัณหา อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อสนองความต้องการของตัวตนอันนี้ และต้องการให้สิ่งที่ไม่ชอบพ้นไปเสีย เพราะเราต้องการทำให้ตัวตนอันที่เรายึดไว้พ้นไปจากภาวะอันนั้น

ในเวลาเดียวกัน ความไม่รู้เข้าใจเกี่ยวกับชีวิต ย่อมหมายถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายโดยทั่วไปด้วย เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ความหลงผิดที่มีอยู่นั้น ก็ทำให้ความคิดปรุงแต่งต่างๆ เป็นไปตามแนวทางของมัน หลงผิดอย่างใด มีความเชื่อความเข้าใจอย่างใด ก็ตั้งเจตจำนงคิดปรุงแต่ง คิดวินิจฉัย และคิดแสดงออกไปตามความหลงผิด ตามความเชื่อความเข้าใจอย่างนั้น

ความคิดปรุงแต่งทั้งหมดนี้เรียกว่า สังขาร และสังขารนี้ก็จะประสานเข้าแนวเดียวกับตัณหา ซึ่งมีมูลรากมาจากอวิชชาเช่นเดียวกัน กล่าวคือจะตั้งเจตจำนง คิดปรุงแต่งไปในแนวทางที่จะสนองตัณหา สนองความต้องการของตัวตน ในทางบวกบ้าง ในทางลบบ้าง แล้วแต่กรณี โดยนัยนี้ อวิชชาจึงเป็นต้นตอของสังขารและทำให้เกิดตัณหา อุปาทาน พร้อมทั้งองค์ประกอบข้ออื่นๆ ตามมา

ภพ คือภาวะชีวิตที่เราอยู่ในขณะนั้น เราเกิดความยึดมั่นในสิ่งใด เราก็เกิดภาวะในจิตใจหรือภาวะแห่งชีวิตของเราในสภาพอย่างนั้น เช่นบางคนอยากเป็นเศรษฐี ยึดมั่นในความเป็นเศรษฐี ใจก็คิดถึงแต่เรื่องเงินเรื่องทอง และภาพของความเป็นเศรษฐี ภาวะของจิตของเขาที่เป็นอยู่ขณะนั้นเป็นภพหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากความคิดนึกของเขา ถ้าคนเราเกิดความปรารถนาและยึดมั่นอะไรก็ตาม จิตในขณะนั้นก็จะมีสภาพของมันเป็นอย่างหนึ่งๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่าภพหนึ่งๆ ภพมีสองอย่างคือ กรรมภพและอุปปัตติภพ

กรรมภพ เป็นตัวกรรมหมายถึงกระบวนพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล ตามปกติบุคคลย่อมมีความยึดมั่นในความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะมีภาวะชีวิตอันหนึ่งขึ้นมาโดยเฉพาะตามภาวะที่ยึดไว้นั้น ภาวะชีวิตจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมทั้งหมดของเรา เช่นบุคคลผู้ซึ่งยึดมั่นในความเป็นเศรษฐี ในความเป็นคนมีเงิน ภาวะชีวิตในรูปของกรรมภพก็คือกระบวนพฤติกรรมของเขา ซึ่งเขาจะแสดงออกในรูปแบบของความเป็นเศรษฐีตามที่เขาเข้าใจ ถ้าเขาไม่เป็นเศรษฐีจริงเขาก็จะแสดงท่าทางอาการต่างๆ ออกมา ซึ่งเป็นอาการเทียมและมักเกินความจริง ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง อันเนื่องมาจากแรงกระตุ้นของจิตใต้สำนึกของเขา

อุปปัตติภพ เป็นภาวะชีวิตที่ไม่ใช่ส่วนพฤติกรรม แต่เป็นภาวะในทางจิต คือการที่จิตใจของเขาได้เข้าสู่สภาพที่มีลักษณะอย่างหนึ่งตามภาวะชีวิตที่เขายึดมั่นไว้นั้น

องค์ประกอบทั้งสามหมวดของปฏิจจสมุปบาทมีความเกี่ยวเนื่องกันคือ กิเลสทำให้เกิดกรรม และกรรมทำให้เกิดวิบาก วิบากเป็นส่วนผล กิเลสเป็นเหตุเดิมกระตุ้นทำให้เราทำกรรมต่างๆ ให้มีพฤติกรรมต่างๆ ผลที่เรียกว่าวิบากนั้น ไม่มีความดีความชั่วในตัวเอง ท่านไม่เรียกว่าดีว่าชั่ว

เพราะฉะนั้นส่วนที่เรียกว่า เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ ชรามรณะ และ ชาติ ไม่ดีไม่ชั่วโดยตัวของมันเอง แต่ว่าเป็นเหตุให้เกิดกิเลสต่อไป พอเกิดกรรมคือกรรมภพแล้ว วิบากคือ ชาติและชรามรณะ ก็เกิดตามมา พอเกิดชรามรณะแล้ว ก็เกิดปฏิกิริยาในจิตใจขึ้นมา พอใจหรือไม่พอใจก็สัมพันธ์กับกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานของเรา เมื่อวงจรเวียนมาถึงกิเลสแล้ว ก็หมุนให้เกิดกรรมและวิบากสืบเนื่องต่อไปอีก สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจตอนนี้คือ ชาติ และชรามรณะ

ตัวเราคืออะไร บางคนก็ตอบว่าร่างกาย บางคนก็ตอบว่าจิตใจ แท้จริงแล้วตัวเรานั้นไม่ใช่ร่างกายหรือจิตใจ ตัวเราคือภาพลวงของตัวตน ซึ่งเรายึดถือไว้อย่างคลุมเครือ โดยสัมพันธ์กับภาวะชีวิตอันใดอันหนึ่ง การที่ตัวตนที่เรายึดถือไว้นั้น เข้าอยู่ในภาวะชีวิตหรือภาพชีวิตอันใดอันหนึ่ง นั่นคือความหมายของคำว่าชาติ เมื่อเกิดมีตัวเราที่ได้เข้าไปเสวยภาพชีวิตอันหนึ่งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะต้องเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การเคลื่อนคลายและการแยกหรือการพรากกันออกไประหว่างตัวตนกับภาพชีวิตอันนั้น ซึ่งเรียกว่า ชรามรณะ

ถึงตอนนี้ ถ้ามีกิเลส ผลคือความทุกข์ก็จะเกิดตามมา พร้อมทั้งปฏิกิริยาและแรงสะท้อนอื่นๆ ตามสัดส่วนของกิเลสคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ คนทำดีก็อาจจะเกิดความทุกข์ได้

สมมติว่าเราทำความดีอันหนึ่ง แล้วเราหวังว่าคงจะได้รับความชื่นชม คงจะเห็นคนอื่นๆ แสดงอาการชื่นชมยินดีแล้วเราจะได้รับความภูมิใจ สิ่งนี้คือตัณหา ต่อไปก็เกิดอุปาทานความยึดมั่นในภาพชีวิตอันนั้น ถึงแม้ว่าเราได้เสวยภาพชีวิตนั้นสมใจ แต่ภาวะเช่นนี้จะคงอยู่ตลอดไปไม่ได้ จะมีการเสื่อมหรือสลายไป ทีนี้ถ้าเรามีตัณหาและยึดมั่นมาก เราก็จะเกิดความเสียดาย เกิดความเป็นทุกข์ว่า ความชื่นชมที่เราได้รับนั้น ขณะนี้เสื่อมลงไป ตัวเรากำลังเสื่อมไปจากภาพชีวิตที่ชื่นชมนั้น นี้คือองค์ประกอบที่เรียกว่าชรามรณะ คือการที่ตัวตนสลายหรือพลัดพรากไปจากภาวะชีวิตที่เคยเสวยหรือเคยเข้าครอง แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น จุดนี้เป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้

แต่ถ้าเราปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องแล้ว จะไม่เกิดเป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเรา นี่คือตอนที่เป็นจริยธรรม คือการหาทางที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่ต้องมาทุกข์โดยใช่เหตุ ถ้าคนไหนมีความยึดมั่นมาก มีตัณหารุนแรงมีอุปาทานความยึดมั่นรุนแรง เกิดในภพต่างๆ เมื่อไร ก็จะเกิดการแก่การตายแบบนี้ ที่เต็มไปด้วยทุกข์เรื่อยๆ สำหรับคนธรรมดาสามัญ ทุกข์ที่จะเกิดอยู่เสมอตามวงจรนี้ก็คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

โสกะ คือ ความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจ

ปริเทวะ คือ ความคร่ำครวญร่ำไร

ทุกขะ คือ ความเจ็บปวดรวดร้าว

โทมนัส คือ ความเสียใจ น้อยใจ

อุปายาส คือ ความคับแค้นใจ สิ้นหวัง

ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้องเราก็จะมีความทุกข์มาก เราต้องหาทางแก้ไม่ให้ทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากเกิดทุกข์แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาจริยธรรมด้วย เนื่องจากความทุกข์ประเภทต่างๆ เหล่านั้นเป็นส่วนสั่งสมในวงจรที่ไม่ได้ระบายออกไป กลายเป็นแรงกดดันอัดอั้นขึ้นภายใน ก่อให้เกิดแรงสะท้อนและปฏิกิริยาต่างๆ เช่น ความอยากได้ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ความหวงและห่วงฐานะอำนาจ ความหวาดกลัวต่อความสูญเสีย ความระแวง ความเบื่อหน่าย ความเกลียดกลัวคิดทำลาย เป็นต้น (วิบากทำให้เกิดกิเลส) แล้วแสดงออกมาในรูปของปัญหาซับซ้อน อาชญากรรม และความชั่วร้ายต่างๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่รู้จักหลักที่จะจัดการกับตนเองให้ถูกต้อง นี่คือวงจร ปฏิจจสมุปบาทในรูปหนึ่งที่นำมาใช้แก่ชีวิตในทางจริยธรรม

ค. สติและปัญญากับอวิชชา

ตัณหาเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดปัญหา ตัณหา คือความอยากที่จะสนองความต้องการของตัวตนอันใดอันหนึ่งที่เราหลงผิดยึดถือว่ามีอย่างคลุมเครือๆ บางท่านคิดว่าถ้าไม่มีตัณหาแล้วจะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้อย่างไร ที่จริงแล้วตัณหาเป็นตัวการสั่งสมปัญหาในกระบวนการพัฒนา เมื่อเราทราบว่าตัณหาทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เราจะต้องมีสิ่งที่จะมาหักล้างตัณหาให้ลดลงหรือสลายไป ตัณหาจะแก้ได้อย่างไร เราจะไปทำลายตัณหาหรือ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเช่นนั้น เพราะบางครั้งการแก้ปัญหานั้น ท่านให้ใช้การสนับสนุนโดยอาศัยตัณหา ละตัณหาก็ได้ เนื่องจากตัณหาไม่ใช่ตัวการต้นเดิม มันเป็นเพียงตัวแสดงบทบาท

ดังนั้น การแก้ปัญหา เราจะไปแก้ที่ตัณหานั้นย่อมไม่ได้ผลจริง เพราะเป็นวิธีการกดมันไว้เท่านั้น เราต้องแก้ที่อวิชชา เพราะถ้ามนุษย์ไม่รู้เท่าทัน การเกิดทุกข์หรือปัญหาก็จะหมุนเวียนอย่างนี้ แต่ถ้ามนุษย์รู้เท่าทันเรามีองค์ประกอบฝ่ายตรงข้ามมาตัดวงจรได้ องค์ประกอบที่สำคัญคือ สติกับปัญญา สติเกิดเมื่อไรจะช่วยให้ผู้นั้นยั้งได้และเปลี่ยนกระแสในวงจรได้ ปัญญาก็จะช่วยให้ผู้นั้นทำลายแรงกดดันสะสมภายในวงจรได้

ถ้าสติกับปัญญาไม่เกิด องค์ประกอบต่างๆ ก็จะหมุนไปตามวงจรเดิม พอเกิดชรามรณะขึ้นมา ก็เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วจะผลักดันให้กิเลสเกิด แล้วก็มีแรงสะท้อนให้กระทำการ คือ กรรมต่างๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาแก่ตนเองบ้างแก่ผู้อื่นบ้างต่อๆ ไป

ฉะนั้น ตามหลักพุทธธรรม เมื่อเราทราบว่าเหตุเกิดจากอวิชชา เราจะต้องแก้ที่อวิชชา โดยการสร้างปัญญาขึ้น ปัญญาที่สร้างขึ้นนี้ จะต้องเป็นปัญญาแบบเฉพาะที่มีความมุ่งหมาย เนื่องจากอวิชชาหมายถึงภาวะที่เราไม่รู้แท้จริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต ทำให้วางทัศนคติต่อโลกและชีวิตไม่ถูกต้อง ดังนั้นปัญญาที่เกิดจะมีลักษณะเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง และจะทำลายอวิชชา ซึ่งเป็นความหลงผิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตนที่ยึดมั่นไว้อย่างคลุมเครือ

เพราะฉะนั้น ในการพัฒนาปัญญาเพื่อทำลายอวิชชา จะต้องมีการทำลายการเห็นแก่ตนนี้ออกไปเรื่อยๆ ด้วย และจริยธรรมที่จะได้ผลจะต้องสร้างปัญญา ถ้าปัญญามากขึ้นอวิชชาจะน้อยลง และตัณหาก็น้อยลงไปด้วย แต่ถ้าความรู้ที่สร้างนั้นไม่ทำลายการเห็นแก่ตัวให้น้อยลงไป ก็ไม่ใช่ปัญญาที่ถูก

ความรู้ของมนุษย์นั้น แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๒ หมวด เรียกว่า สุตะ พวกหนึ่ง กับ ปัญญา พวกหนึ่ง สุตะ เป็นความรู้ประเภทเล่าเรียนศึกษา และความรู้ที่สั่งสมอย่างเดียว แต่ปัญญานั้นเป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ดังนั้น ความรู้ที่ได้จากการสั่งสมอย่างเดียว โดยไม่มีการกลั่นกรองจะไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตที่แท้จริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือประกอบอาชีพและสิ่งที่จะนำมาอวดกัน ส่วนปัญญาที่สร้างขึ้นจะเป็นของชีวิตเราและจะเป็นผลแก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง

พัฒนาการของปัญญาจะมีหลายชั้น เมื่อไปถึงระดับหนึ่งๆ จะมีชื่อเรียกเปลี่ยนไปเฉพาะแต่ละระดับ เช่น ที่เรียกว่า ญาณ เป็นต้น การสร้างปัญญาโดยการกลั่นกรองเชื่อมสัมพันธ์ความรู้ มีหลักสำคัญอยู่ที่การเข้าใจสภาวะของสิ่งต่างๆ ซึ่งจะกล่าวในกระบวนการสร้างปัญญา

ง. กระบวนการสร้างปัญญา

เราทราบแล้วว่าการสร้างปัญญาจะทำให้อวิชชาลดน้อยลง และในเวลาเดียวกันจะช่วยทำลายการเห็นแก่ตัวลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ตัณหาจะลดไปด้วย ปัญญาที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นคู่ปฏิปักษ์กับอวิชชา แต่คุณธรรมอันใดที่เราจะสร้างคู่กับปัญญา ซึ่งเป็นคู่ปฏิปักษ์กับตัณหา เราลองพิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้

สมมติว่ามีเด็กนักเรียน ๒ คน เป็นเพื่อนรักใคร่ชอบพอกัน วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งหน้าบึ้ง คนที่เป็นเพื่อนเข้าไปทักทายก็ไม่ยอมพูดด้วย เด็กคนหลังจะมีปฏิกิริยาเข้าวงจร คือ เกิดตัณหา (วิภวตัณหา) เพราะการไม่พูดตอบของเพื่อนนั้นขัดกับความปรารถนาของตนเอง บีบคั้นอัตตาของตน ถ้าเด็กคนหลังโกรธตอบก็จะก่อตัณหามากขึ้น โดยมีอวิชชาครอบคลุมอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กคนหลังไม่ได้เกิดสติฉุกคิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลว่า เพื่อนของตนหน้าบึ้งอาจมีสาเหตุอะไร วงจรของปัญหาก็หมุนต่อไป

แต่ถ้าเด็กมีสติใช้ปัญญา เขาจะคิดว่าเพื่อนเรารักใคร่กัน วันนี้เขาหน้าบึ้ง คงจะมีเหตุไม่สบายใจ อาจถูกผู้ปกครองดุ หรือมีเหตุไม่สบายใจอื่นๆ เราควรเป็นที่พึ่งช่วยปลอบใจเขา เมื่อเด็กเกิดปัญญาคิดเหตุผล ความกรุณาก็จะเกิดขึ้นมาด้วย เป็นการเข้าใจในชีวิตผู้อื่น และต้องการจะเผื่อแผ่อิสรภาพแก่ผู้อื่น (เพราะตนไม่ถูกบีบคั้น อิสรภาพยังคงอยู่) วงจรปัญหาจะถูกตัดขาดลง เพราะฉะนั้น องค์ประกอบหรือคุณธรรมที่จะมาลบล้างตัณหาก็คือ กรุณา โดยนัยนี้การสร้างปัญญาที่ถูกวิธีจะเกิดความกรุณาควบคู่ไปด้วย

อนึ่ง ในท่ามกลางกระบวนการนี้ เมื่อเริ่มใช้ปัญญาความคิดตั้งต้นถูกทางแล้ว จะเกิดฉันทะที่เป็นธรรมฉันทะขึ้น คือเกิดความใฝ่รู้ ต้องการจะสืบสาวให้เข้าถึงความจริงที่เป็นแก่นแท้หรือต้นตอของเรื่อง และเมื่อเกิดกรุณาแล้ว จะมีฉันทะที่เป็นกัตตุกัมยตาฉันทะ คือต้องการจะทำการแก้ไขช่วยเหลือ ฉันทะเหล่านี้คือ แรงเร้าที่ต้องการตามหลักพุทธธรรม เป็นตัวผลักดันการกระทำที่ตรงข้ามกับตัณหา เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังสร้างเสริม และเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในการพัฒนาที่ดี

ปัญญาเป็นคุณสมบัติฝ่ายตน กรุณาเป็นคุณสมบัติที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ดังนั้นคนเราควรจะพัฒนาสร้างปัญญาให้เจริญขึ้น พร้อมกับที่กระทำการต่างๆ โดยใช้กรุณาเป็นแรงจูงใจให้มากขึ้น เมื่อพูดในแง่ของการศึกษา ถ้าเราจะสร้างคนตามหลักการนี้ กระบวนการให้​การศึกษาของเราจะต้องสร้างคนตามคุณสมบัติที่พึงต้องการ ๒ อย่างคือ อัตตัตถสมบัติ และปรัตถปฏิบัติ

อัตตัตถสมบัติ หรือ อัตตหิตสมบัติ คือ ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ของตน หรืออัตถะของตน

ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ คือ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

องค์ประกอบที่สำคัญของอัตตัตถสมบัติ คือ ปัญญา ปัญญาเป็นตัว นำเพื่อให้ทำกิจการสำเร็จ ให้สำเร็จพุทธภาวะ คือความเป็นพระพุทธเจ้า และให้สำเร็จอัตตนาถะ คือความเป็นที่พึ่งของตนเองได้

องค์ประกอบที่สำคัญของปรัตถปฏิบัติ คือ กรุณา บุคคลที่สมบูรณ์อย่างพระพุทธเจ้าต้องมีคุณสมบัติประการที่สองด้วย คือเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ปฏิบัติเพื่อผู้อื่น พระพุทธเจ้าอาศัยพระคุณสำคัญคือกรุณาเป็นตัวนำให้สำเร็จพุทธกิจ คือบำเพ็ญหน้าที่ของพระพุทธเจ้าได้ และสำเร็จโลกนาถะ คือความเป็นที่พึ่งของชาวโลกได้

แนวความเข้าใจเกี่ยวกับไตรสิกขา

ไตรสิกขา คือหลักการศึกษาหรือการฝึกฝนอบรม ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือทำความปลอดทุกข์ให้สำเร็จผลตามหลักปฏิจจสมุป­บาท ไตรสิกขา เป็นกระบวนการศึกษาที่มีองค์ประกอบ ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

องค์ประกอบ ๓ ขั้นนี้มิได้แบ่งเป็นขั้นตอนต่างหากกัน แต่คาบเกี่ยวกันไปโดยตลอด ที่เป็นขั้นเพราะเป็นปัจจัยส่งทอดแก่กัน เรียงลำดับตามหน้าที่ที่ทำให้เข้าถึงจุดหมาย คือ การแก้ปัญหา หรือให้เกิดตัวการศึกษาที่แท้ ปัญญาเป็นตัวให้สำเร็จกิจของการศึกษา คือเป็นตัวการให้แก้ปัญหาได้ หรือทำให้พ้นทุกข์ได้ จึงเรียงไว้ลำดับท้าย เพราะต่อจากปัญญาก็คือวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากปัญหา ความเป็นอิสระ ปลอดจากทุกข์) และจึงกล่าวว่า การศึกษาคือกระบวนการสร้างปัญญา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระบวนนั้น องค์ประกอบทั้งสามเป็นปัจจัยสนับสนุนกันและกัน ไม่เฉพาะแต่ศีลเป็นปัจจัยแก่สมาธิ และสมาธิเป็นปัจจัยแก่ปัญญาเท่านั้น แต่องค์ประกอบข้อท้ายๆ ก็เป็นปัจจัยแก่องค์ประกอบข้อต้นๆ ด้วย ทุกข้อเป็นปัจจัยแก่กันเชื่อมโยงไปมา เช่น จะมีพฤติกรรมการแสดงออกทางกายและวาจาถูกทางยิ่งขึ้น ในเมื่อรู้วิธีแก้ปัญหาดีขึ้น และพฤติกรรมที่ดีถูกทางยิ่งขึ้น ก็เกื้อกูลแก่การแก้ปัญหาคราวต่อๆ ไป

ศีล คือ ภาวะของผู้ที่มีหลักความประพฤติถูกต้อง คือมีความประพฤติดีทางกาย วาจา และสัมมาชีพ ศีลไม่ใช่ตัวการให้เกิดปัญญาโดยตรง ภารกิจของศีลในกระบวนการสร้างปัญญาคือ การสร้างภาวะเกื้อกูลแก่การกำจัดอวิชชา และเป็นปัจจัยสนับสนุนการสร้างปัญญา ด้วยระบบความประพฤติและการดำเนินชีวิตที่

๑. ยับยั้งควบคุมตัณหาให้อยู่ในขอบเขต ปิดช่องทางไม่ให้โอกาสขยายตัวแก่ตัณหา ซึ่งเป็นตัวการให้แก้ปัญหาผิดและเพิ่มปัญหา

๒. สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ความอยู่ดี และภาวะปลอดโปร่งโล่งใจ ซึ่งอำนวยโอกาสให้ใช้พลังจิตมุ่งไปในทางใช้ความคิดสร้างปัญญาได้มากขึ้น

ระบบของศีลจะเป็นอย่างใด มองดูเคร่งครัดเข้มงวดเพียงใดย่อมขึ้นต่อวัตถุประสงค์ของระบบการครองชีวิตแบบนั้นๆ โดยสัมพันธ์กับจุดหมายของการศึกษา อัตราเร่งในการเข้าถึงจุดหมายพร้อมทั้งอัตราส่วนเพิ่มลดของการควบคุมตัณหา และการใช้พลังทางจิตที่ต้องการในกรณีนั้นๆ ซึ่งทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยปกติถือว่าศีล ๕ เป็นหลักความประพฤติสามัญสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะครองชีวิตอยู่ในระดับใดๆ คือเป็นหลักความประพฤติพื้นฐานของบุคคลแต่ละคนในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จึงเรียกว่า มนุษยธรรม ต่อจากนั้น จึงมีหลักความประพฤติจำเพาะสำหรับระบบการครองชีวิตที่มีวัตถุประสงค์จำเพาะแต่ละระบบ ซึ่งผู้สมัครเข้าสู่ระบบนั้นๆ หรือเข้าสู่ฐานะในระบบนั้นๆ จะต้องประพฤติเป็นพิเศษออกไปอีก เช่น ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ ศีล ๓๑๑ สำหรับภิกษุณีเป็นต้น

หรืออย่างนักเรียน นอกจากศีล ๕ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ก็ย่อมจะต้องมีศีลนักเรียน ศีลเด็กในครอบครัว กล่าวคือวินัยเพื่อความเป็นอยู่ที่เกื้อกูลแก่วัตถุประสงค์ของการดำเนินชีวิตในโรงเรียนและในครอบครัวอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องจำเพาะตัวและใกล้ชิดตัวที่จะต้องรับผิดชอบ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องศีล ที่ควรคำนึงถึงไว้ให้มาก

ศีล เป็นคำที่ใช้บ่อยในภาษาไทย แต่ความหมายที่ใช้ส่วนมากเป็นความหมายตามรูปแบบเท่านั้น มักไม่ได้คำนึงถึงสาระสำคัญที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อพูดถึงคำว่าศีล เราจึงมักนึกถึงศีลเป็นข้อๆ เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ซึ่งเป็นเพียงหลักปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมให้เป็นผู้มีศีล (เรียกคำบาลีว่าสิกขาบท)

การติดในรูปแบบทำให้เรามักลืมนึกถึงระเบียบวินัยทั่วๆ ไป ถ้าจะเป็นคนมีศีลจริง ก็ต้องรู้จักรักษาระเบียบวินัยใกล้ๆ ตัวให้ได้ เช่น ระเบียบวินัยในครอบครัวและในโรงเรียน เป็นต้น ถ้าเด็กไม่ได้ฝึกในเรื่องวินัยทั่วๆ ไปที่ใกล้ตัวแล้ว จะหวังอะไรในระยะยาวให้เด็กรักษาศีลได้ ศีลสำหรับระบบชีวิตแต่ละอย่าง ต้องมีวินัยจำเพาะสำหรับฝึก เมื่อแยกเป็นข้อๆ ก็เรียกว่าสิกขาบท ถ้าเด็กไม่มีระเบียบวินัย อยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ ตัณหาก็พอกพูนขึ้น จิตใจก็ส่ายพร่ามากขึ้น มุ่งแต่จะหาสิ่งสนองความอยากปรนเปรอตัวตน เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายแต่เพียงฉาบ​ฉวย ผิวเผิน ไม่เกิดฉันทะที่จะระดมพลังจิตให้มุ่งไปในการใช้ความคิดแสวงปัญญา พูดง่ายๆ ว่าไม่เกิดสมาธิ

ตรงข้าม ถ้ารักษาระเบียบวินัยดี มีศีลแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะผูกจิตให้มุ่งแน่วแน่อยู่กับคุณธรรมความดีงาม เช่น ให้ยึดมั่นในอุดมคติ ให้มีสติรู้จักยั้งคิด และมีความเพียรพยายามแน่วแน่ในจุดหมาย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของสมาธิทั้งสิ้น ในเวลาเดียวกันเมื่อผูกจิตให้คุ้นและแน่วแน่อยู่กับความดี เช่น ให้ยึดมั่นในอุดมคติได้แล้ว ก็จะช่วยให้ความมีระเบียบวินัยแน่นแฟ้นมั่นคงขึ้นด้วย สมาธิจึงกลับเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ศีลอีกต่อหนึ่ง

ตัวอย่างแสดงความสัมพันธ์ระหว่างศีล สมาธิ และปัญญาที่หยาบๆ ง่ายๆ กว่าข้างต้นนี้ เช่น บุคคลหนึ่งไปลักทรัพย์ของคนอื่นมา แล้วเข้าไปนั่งฟังการสนทนาในสมาคมแห่งใดแห่งหนึ่ง บุคคลผู้นั้นจะไม่สงบ ไม่มีสมาธิ จิตใจกระสับกระส่าย ฟุ้ง ไม่แน่วแน่ รับฟังอะไรไม่ชัด ไม่มีความเข้าใจและปัญญาก็จะไม่เกิด

โดยนัยนี้ เมื่อศีลขาดไป จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิ ก็ไม่สามารถพัฒนาความคิดให้เกิดปัญญา ถ้าต้องการสมาธิความแน่วแน่ของจิตและกำลังใจในขั้นสูงขึ้นไป ก็ต้องใช้กำลังศีลที่บริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น เพราะต้องมีการควบคุมตน ให้อยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยแก่การมีสมาธิ และมีความมั่นใจในตัวมากยิ่งขึ้น ศีลนั้นมีทั้งศีลฝ่ายตนเองและฝ่ายสังคม มีทั้งศีลในทางลบและศีลในทางบวก ศีลในทางลบ เช่น ศีลห้า การเว้นอบายมุข ศีลในทางบวก เช่น สาราณียธรรม สังคหวัตถุ ทิศ ๖ เป็นต้น

สมาธิ คือความแน่วแน่มั่นคงหนักแน่นของจิตใจ ส่วนมากเรามักนึกถึงสมาธิในรูปแบบมากเกินไป นึกไปในแง่การนั่งนิ่ง ซึ่งเป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันว่าได้ผลดีในการเตรียมตัวสร้างสมาธิ คนบางคนอาจจะเก่งกว่าคนที่ไปนั่งนิ่งๆ และมีสมาธิที่ดีกว่า การนั่งนิ่งๆ ไม่ใช่ตัวสมาธิ สมาธินั้นจะต้องมีองค์ประกอบที่เป็นความแน่วแน่มั่นคงหนักแน่นของจิตใจที่จะนำไปใช้ในการกระทำกิจทุกๆ อย่าง โดยเฉพาะสติและวิริยะ เด็กจะรักษาระเบียบวินัยได้ดี เราต้องฝึกในเรื่องสมาธิ ให้เขาเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง สามารถจะควบคุมยับยั้งตนเองได้ดี มีความเพียรพยายามตั้งใจแน่วแน่

วิธีฝึกคนในขั้นสมาธิมีหลายอย่างเช่น วิธีฝึกคนให้ยุ่งกับกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ให้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับความชั่ว วิธีเอาความดีเข้ามาข่มความชั่ว หรือฝึกให้คุ้นกับสิ่งที่ดีงามจนมีคุณธรรมเป็นภูมิต้านทาน หรือผูกมัดจิตไว้กับสิ่งที่ดีงามบางอย่างแบบที่เรียกว่าให้มีอุดมคติ และวิธีฝึกสมาธิโดยมุ่งความเข้มแข็งของจิตใจเป็นสำคัญ แต่การฝึกด้วยวิธีของสมาธิไม่ได้ผลถาวร ขั้นที่ได้ผลแท้จริงและเด็ดขาด จะต้องเป็นขั้นปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา คือขั้นที่เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงจนเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนค่านิยม มีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ได้

ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ จะต้องมีองค์ประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ถ้าขาดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จะกลายเป็นระบบการศึกษาที่ทำลายการศึกษาเสียเอง และนำความหายนะมาสู่สังคม เช่น ระบบการศึกษาที่หย่อนในศีล ขาดการฝึกอบรมในเรื่องระเบียบวินัย จะกลายเป็นเครื่องผลาญประโยชน์ของปัญญาเสียเอง

อธิบายอย่างง่ายๆ ปัญญาเป็นตัวแกนของการศึกษา เพราะทำให้รู้ทางออกจากปัญหา ซึ่งหมายถึงการรู้ทางเลือกมากขึ้นในแต่ละกรณีๆ ด้วย แต่สำหรับปัญญาขั้นต้นๆ (โลกียปัญญา) ที่ยังไม่เข้าถึงความรู้พื้นฐานถึงขนาดมีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ ปัญญานั้นยังอาจเปิดช่องให้แก่ตัณหาได้ คือ เมื่อเกิดปัญญาเห็นทางเลือกขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าทางเลือกใดนำไปสู่อิสรภาพของชีวิต เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ด้วยดีร่วมกัน ทางเลือกใดสนองความอยากให้ความปรนเปรอแก่ตัวตนชั่วระยะเวลาสั้น แต่สร้างความสับสนและความทุกข์แก่สังคมในระยะยาวและกว้างไกล ทั้งที่รู้อยู่เช่นนี้แต่เพราะยอมตกเป็นทาส ดำเนินไปตามอำนาจของตัณหาคือความเห็นแก่ตน กลับเลือกเอาทางเลือกที่สนองตัณหา การถือเอาทางเลือกนี้ สำหรับปุถุชนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมากมาย

ในเมื่อขาดศีล ไม่มีระเบียบวินัยหรือระบบควบคุมความประพฤติสำหรับปิดโอกาสในการทำความชั่วหรือตะล่อมไว้ในทางดีได้ ยิ่งขาดสมาธิเช่นความแน่วแน่เข้มแข็งที่จะยืนหยัดในอุดมคติเป็นต้นด้วยแล้ว ก็ทำความชั่วได้ง่ายอย่างยิ่ง ในกรณีเช่นนี้เสรีภาพก็จะมีความหมายเป็นเพียงการทำได้ตามใจชอบ หรือการสมัครใจเป็นทาสของตัณหาเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นเพียงภาวะที่ตรงข้ามกับศีล หรือความมีระเบียบวินัยเท่านั้นเอง

องค์ประกอบที่จะช่วยให้เกิดไตรสิกขา

ก่อนจะถึงไตรสิกขา จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ช่วยในการฝึกอบรม ทั้งที่เป็นองค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบภายในบุคคล คือ

๑. กัลยาณมิตร เป็นองค์ประกอบภายนอก ได้แก่สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี

๒. โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบภายใน ซึ่งควบคู่ไปกับองค์­ประกอบภายนอก ได้แก่การใช้ความคิดถูกวิธี คือ คิดสืบสาวให้ถึงต้นตอ ตามหลักความสัมพันธ์แห่งองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ

ในการศึกษา ครูนอกจากเป็นสิปปทายก (ผู้ให้หรือถ่ายทอดศิลปวิทยา) แล้ว จะต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรด้วย ช่วยให้เด็กใช้ความคิดที่ถูกวิธี และช่วยให้รู้จักคิดรู้จักหาเหตุผลก็คือช่วยให้เด็กเกิดโยนิโสมนสิการ ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยสร้างโยนิโสมนสิการให้เกิดขึ้นแก่เด็ก เด็กจะถูกชักจูงไปในทางไม่ดีได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากการที่ตนเองไม่รู้จักคิดก็ตามหรือปัจจัยภายนอกเหนี่ยวนำก็ตาม

ในทางปฏิบัติ การสร้างคุณธรรมตามระบบ จึงต้องขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมส่วนหนึ่งและการสร้างสมคุณธรรมภายใน โดยเฉพาะการรู้จักคิดรู้จักวางใจต่อสิ่งต่างๆ ของเด็กเองส่วนหนึ่ง หลักที่กล่าวนี้จะเห็นได้จากข้อธรรมต่างๆ ที่นำมาประยุกต์เพื่อให้เหมาะกับบุคคลและสถาน­การณ์ที่จะนำไปปฏิบัติ เช่น จักร ๔, มงคล ๓๘ เป็นต้น

การปฏิบัติทั้งปวงมุ่งเพื่อไปสู่จุดหมายที่เรียกว่า วิมุตติ คือภาวะที่เป็นอิสระเสรีอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้บุคคลหลุดพ้นจากสิ่งบีบคั้นทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ทั้งทางสังคมและส่วนบุคคล มีความพร้อมอย่างแท้จริง ที่จะเสวยผลของความมีชีวิตโดยสมบูรณ์ มีคุณสมบัติครบทั้งอัตตัตถสมบัติและปรัตถปฏิบัติ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย (มองจากแง่ของพุทธธรรม)

เชิงอรรถ

  1. แก้ไขเพิ่มเติมจากบทสรุปคำบรรยาย เรื่องพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตรไทย ที่กองพัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖

No Comments

Comments are closed.