นำเรื่อง

10 กรกฎาคม 2549
เป็นตอนที่ 1 จาก 6 ตอนของ

ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ1

นำเรื่อง

ในวันอาสาฬหบูชาซึ่งต่อเนื่องกับวันเข้าพรรษา โยมญาติมิตรผู้มาร่วมกันทำบุญ ได้ทำกุศลทั้งทางกาย วาจา ใจ

ใจนั้น นอกจากศรัทธา ก็มีน้ำใจเกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา และต่อพระสงฆ์ พร้อมทั้งมีความปรารถนาดีต่อญาติมิตรด้วยกันเอง จึงชวนกันมา

อย่างในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็มากับลูกๆ ชวนกันมาทำบุญ เป็นความสุขในครอบครัว เมื่อได้ทำบุญทำกุศลอย่างนี้แล้ว จิตใจเราก็เบิกบานผ่องใส ได้ความสุขที่ลึกซึ้งติดอยู่ในใจไปนาน

บางทีคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้หรอกว่า เด็กๆ มาทำบุญ เมื่อเขามารู้มาเห็น และมีความสุข จะเป็นภาพที่ติดฝังใจไปจนโต สิ่งเหล่านี้แม้จะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่มีความหมายลึกซึ้งมาก แล้วก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ใจก็ดีมาแล้ว บรรยากาศก็ได้ด้วย หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจก็ชื่นบาน ในครอบครัวที่ชวนกันมาทำบุญอย่างนี้ จึงมีความสุขที่ลึกซึ้งและยั่งยืน

ทำบุญวันเดียว ได้สองอย่าง

วันนี้ได้ทำบุญอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ๒ อย่างเลย คือ งานบุญสองวันมารวมกัน วันเดียวได้สอง คือ ทั้งบุญวันเข้าพรรษา และบุญวันอาสาฬหบูชา

วันเข้าพรรษาคือพรุ่งนี้ แต่พิธีเราทำก่อน คือถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน แต่จะไม่ขยายความ เพราะหลายท่านมาถวายกันทุกปีๆ

ต่อไปก็คือส่วนของวันอาสาฬหบูชา ที่เราจะมีพิธีเวียนเทียน เรื่องวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญในด้านบูชา เราก็รู้กันอยู่ จำกันได้ว่า คือ วันบูชาพระรัตนตรัยเนื่องด้วยเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแสดงปฐมเทศนา

ปฐมเทศนานั้น คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก เรียกว่าเริ่มประกาศธรรม และประดิษฐานพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาง่ายๆ ก็คือ ตั้งพระพุทธศาสนานั่นเอง วันอาสาฬหบูชาจึงถือว่าเป็นวันสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายไป

หลายท่านจำได้ว่า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่เกิดมีพระสงฆ์ เป็นวันที่ครบพระรัตนตรัย โดยมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรกในอริยสงฆ์

ถึงวันอาสาฬหบูชา ควรได้อะไร

ถ้าเราได้แค่นี้ ก็เป็นเรื่องของการจำได้ แต่จำได้อย่างเดียวนั้นไม่ดีพอ นอกจากจำได้แล้ว ก็ควรจะเข้าใจความหมายด้วย

นอกจากจำได้ และเข้าใจดีแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร หรือนำไปปฏิบัติอย่างไรอีก จึงจะสมบูรณ์

อย่างเรื่องวันอาสาฬหบูชานี้ ก็ควรรู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ว่าอย่างไร เราเข้าใจไหม และจะเอาไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร ต้องให้ได้ ๓ ขั้น คือ

  1. จำได้
  2. เข้าใจดี
  3. มองเห็นวิธีที่จะนำไปใช้ หรือมองเห็นทางปฏิบัติ

ถ้าได้ครบ ๓ ขั้นนี้ จึงจะถือว่าสมบูรณ์ ถ้าอยู่แค่ความจำอย่างเดียว ก็ไม่ไปไหน เมื่อไรๆ ก็รู้ว่าวันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก เกิดพระอริยสงฆ์ แล้วก็จบ วนอยู่นั่น

เพราะฉะนั้น ต้องเอาไปใช้ให้ได้ แต่ก่อนจะเอาไปใช้ ก็ต้องเข้าใจให้ดี

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เรื่องวันอาสาฬหบูชานี้ ในแง่เหตุการณ์ต่างๆ ที่จำกันได้ ถ้าจะมาอธิบายกันทุกครั้ง ก็ซ้ำๆ และยืดยาว เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีเราก็จับเอาเพียงบางจุดมาย้ำ มาเตือน มาขยายความกัน

ในวันอาสาฬหบูชา ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกหรือปฐมเทศนา เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรที่เป็นการหมุนวงล้อธรรม หรือตั้งอาณาจักรธรรม

พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ หลายคนจำได้ด้วยว่า มีสาระสำคัญ คือ

๑. พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่อง ทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ให้เว้นจากสุดโต่งสองอย่าง คือ อัตตกิลมถานุโยค กับ กามสุขัลลิกานุโยค นักเรียนหลายคนจำได้แม่น แต่เข้าใจแค่ไหนก็อีกเรื่อง

๒. เมื่อแสดงทางสายกลางจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง อริยสัจ ๔

ที่จริง สาระสำคัญที่ว่า ทางสายกลาง กับ อริยสัจ ๔ นั้น ทั้งสองอย่างก็เรื่องเดียวกัน

ทางสายกลางนั้น ก็เป็นเพียงว่า พระพุทธเจ้าตรัสขึ้นมาเพื่อจะนำเข้าสู่อริยสัจ ในอริยสัจเองนั้น ก็มีมัชฌิมาปฏิปทารวมอยู่แล้ว คือ ทางมีองค์ ๘ ประการ ในข้อ “มรรค” หรืออริยสัจข้อที่ ๔ นั่นเอง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้น ก็คือเรื่องเดียวกัน เพราะมัชฌิมาปฏิปทาก็รวมอยู่ในอริยสัจ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปเป็นกลางแท้ อยู่ที่เอาความถูกต้อง >>

เชิงอรรถ

  1. ธรรมกถาวันอาสาฬหบูชา พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) แสดงที่วัดญาณเวศกวัน ๑๐ ก.ค. ๒๕๔๙

No Comments

Comments are closed.