เป็นกลางแท้ อยู่ที่เอาความถูกต้อง

10 กรกฎาคม 2546
เป็นตอนที่ 2 จาก 6 ตอนของ

เป็นกลางแท้ อยู่ที่เอาความถูกต้อง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องทางสายกลางนี่แหละ เป็นจุดปรารภ เพราะว่าในสมัยพุทธกาลนั้น คนเอียงสุดโต่งกันนัก ไม่ว่าจะดำเนินชีวิต จะถือศาสนา จะปฏิบัติอะไร ก็ไปสุดโต่ง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่ามันผิด จะต้องเดินทางใหม่ให้ถูก จึงได้ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา

ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเข้าใจถูกต้อง แล้วเดินไปตามทางสายกลาง ก็จะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เอาทางสายกลาง มาวางความเป็นกลางให้ถูก

เวลานี้คนพูดเรื่องความเป็นกลางกันเยอะ เอามาพูดกันว่า เป็นกลางๆ พูดกันไปกันมา แต่ไม่รู้ว่าเป็นกลางคืออย่างไร

ทางสายกลาง เป็นเรื่องใหญ่ เป็นวิถีชีวิตทั้งหมด เป็นการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

ส่วน ความเป็นกลาง นั้น เป็นการปฏิบัติปลีกย่อย บางทีก็เป็นการวางตัวในแต่ละกรณี

ในที่นี้ เราไม่พูดถึงความเป็นกลางทางการเมือง ดังเช่นการสงครามระหว่างประเทศ เป็นกลางของเขาก็คือ ไม่เข้าข้างไหน และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างที่ว่า เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว

ความเป็นกลางทางการเมืองอย่างที่ว่านั้น ลึกลงไปก็เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ ความเป็นกลางแบบนี้จึงอาจจะมีความหมายและการปฏิบัติที่ซ่อนเร้น คืออย่างที่ว่ามองที่ผลประโยชน์ของพวกตัว หรือของประเทศของตนเป็นหลัก

ถ้าเป็นกลาง คือไม่เข้าข้างโดยไม่ยุ่งเกี่ยวแบบนี้ เราไปพบคนร้ายรังแกเด็ก หรือเห็นโจรปล้นชาวบ้าน เราก็บอกว่า ฉันเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหน ไม่ใช่เรื่องของข้า ฉันไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย แล้วก็ปล่อยให้เขารังแกและปล้นกันไป เป็นกลางอย่างนี้คงไม่ดีแน่

ฉะนั้น ความเป็นกลางที่แท้ หรือความเป็นกลางที่ดี จึงต้องมีหลัก ก็คือทำตามคติของทางสายกลางนั่นแหละ

เราจึงมาดูกันซิว่า ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทางสายกลางเป็นอย่างไร

ระวัง! เป็นกลางไม่เป็น จะกลายเป็นคนไม่มีหลัก

ขอย้ำก่อนว่า เป็นกลาง หรือทางสายกลางนี้ ไม่ใช่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างสองฝ่าย ถ้าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย ก็จะกลายเป็นว่า ทางสายกลาง หรือกึ่งกลางนี่ ขยับไปขยับมา เพราะว่าคนแต่ละฝ่ายเขาเอียงไม่เท่ากัน

เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ คนหนึ่งกินเหล้ามาก คนหนึ่งกินเหล้าน้อย เราเป็นกลาง เราก็กินกึ่งกลางระหว่างสองคนนั้น ถ้าคนแรกกินสิบแก้ว คนที่สองกินสี่แก้ว เราเป็นคนกลาง จะกินเท่าไร คิดเอาเอง และถ้าสองคนนั้น กินเพิ่มขึ้น หรือลดลง เราก็ต้องเพิ่มต้องลดตาม

เป็นกลางอย่างนี้ ไม่ถูก พอพวกสุดโต่งขยับไปขยับมา ก็ต้องขยับเรื่อย ถ้าเป็นแบบนี้ คนเป็นกลางนี่แย่ที่สุด กลายเป็นคนไม่มีหลัก

คนที่สุดโต่งเขายังมีหลักเป็นตัวเขาเอง แต่คนเป็นกลางแบบนี้ต้องรอดูว่าเขาจะเอาอย่างไร แล้วตัวเองก็ขยับไป ต้องเป็นนักคำนวณ และคอยจ้องดู ถ้าอย่างนี้ไม่ถูกแล้ว

ทางสายกลาง คือทางที่ตรงไปตามความถูกต้อง

ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องมีหลัก พระพุทธเจ้าตรัสหลักไว้แล้ว ความจริง มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางนี่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกชื่อหนึ่งว่า “สัมมาปฏิปทา”

เมื่อกี้บอกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาที่เป็นมัชฌิมา คือเป็นกลาง ทีนี้บอกอีกว่า สัมมาปฏิปทา ปฏิปทาที่เป็นสัมมา หรือข้อปฏิบัติชอบ คือถูกต้อง

เอาละ… คราวนี้มีหลักที่จะกำหนดแล้ว คือต้อง “ถูกต้อง” แต่ว่าถูกต้องอย่างไร

มีคำขยายอีกว่า สัมมาปฏิปทา ได้แก่ “ธัมมานุธัมมปฏิปทา” แปลว่า ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับธรรม

พอถึงตรงนี้ก็ชัดแล้ว ทางสายกลาง ก็คือทางที่ตรงตามธรรม ทางที่ดำเนินไปตามธรรม ถ้าเราเป็นกลาง เราก็อยู่กับธรรม ธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นอย่างไร เราเอาอย่างนั้น

ตอนนี้แหละ ถ้าเราเป็นกลาง เราไม่ขยับไปไหนแล้ว พวกสุดโต่งนั้นแหละต้องขยับตามเรา

เป็นกลาง คืออยู่กับความถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องเป็นกลางให้ถูก คือ ไม่ไปถือตามข้างไหน ไม่ใช่แค่ไม่เข้าข้างไหน แต่ถึงขั้นไม่เข้าใครออกใคร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นกลาง คือ ไม่เอียง ไม่ติด ไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ตกไปข้างซ้าย ไม่ตกไปข้างขวา พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ไม่เอียงข้าง ไม่ตกเป็นฝ่าย แต่อยู่กับธรรม อยู่กับความถูกต้อง อยู่กับสัมมา ตั้งแต่มีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรถูกต้อง

เมื่อเราอยู่กับธรรม ใครปฏิบัติถูกตามธรรม ก็เข้ากับเราได้เอง เราก็เป็นหลักได้เลย

เป็นกลางมีจุดเดียว ไม่กลาง ก็เอียงข้างทั้งหมด

หากจะเป็นหลักให้แก่สังคม คนที่เป็นกลางจะต้องหาธรรมให้ได้ว่า ธรรมอยู่ตรงไหน และยึดธรรมนั้น เอาธรรมเป็นหลัก

อย่างนี้ละก็ เป็นกลางที่แท้จริง เป็นกลางที่ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นกลางตลอดกาลด้วย เพราะว่ามันคงอยู่อย่างนั้น ใครไม่อยู่กับธรรม คนนั้นก็เอียงข้างหมด จริงหรือไม่จริงก็ให้คิดดู

ความจริง ความถูกต้อง มีจุดเดียว ดังนั้น คนที่ไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับความถูกต้อง ก็เอียงหมด เขวไปข้างโน้นบ้าง ไปข้างนี้บ้าง เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า ความเป็นกลางที่ถูกต้อง คือมีหลักการที่ดีที่สุด ซึ่งยืนยงคงที่ตลอดกาลเลย

จึงขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางที่แท้จริงนั้น ก็คือ การที่อยู่กับธรรม อยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั่นเอง

มีปัญญารู้ความถูกต้อง จึงเดินทางสายกลางได้

ทีนี้ การที่จะอยู่กับธรรม อยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามได้นี้ เราก็จะต้องมีคุณสมบัติอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปัญญา ที่รู้เข้าใจ

ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร อย่างนี้ก็อยู่กับทางสายกลางไม่ได้

เพราะฉะนั้น คนที่จะอยู่กับทางสายกลาง จึงต้องมีปัญญา นี้เป็นหลักพื้นฐาน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< นำเรื่องความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ >>

No Comments

Comments are closed.