ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

10 กรกฎาคม 2546
เป็นตอนที่ 4 จาก 6 ตอนของ

ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

ต้องย้ำด้วยว่า เราทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแสนะ ตรงนี้ต้องระวังว่า ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

ถ้าต้านกระแส เราก็แย่ มีแต่พัง จึงต้องสอนวิธีปฏิบัติไว้

ขอบอกว่า ทวนกระแสนะ ไม่ต้องไปต้านกระแส เพราะว่า ถ้าทวนกระแส เราก็ไปของเรา โดยเป็นตัวของตัวเอง ฝ่าทะลุกระแสไป

แต่ถ้าต้านกระแส ก็คือเราเอากำลังไปมัวต่อต้าน ไปสู้ ไปทานกำลังของเขา นอกจากเสียเวลาแล้ว ในเมื่อกระแสนั้นมันใหญ่โตและกำลังไหลเชี่ยวรุนแรง เราก็จะทานไม่ไหว แถมจะถูกมันกระแทกกระทั้นซัดพัดผันจนสะบั้นแหลกลาญไป เลยไม่ได้ประโยชน์อะไร

ถ้าใช้วิธีทวนกระแส เมื่อเราเข้มแข็งจริงๆ พอเราทวนกระแสก้าวไปได้ เราจะกลายเป็นผู้นำไปเลย เพราะว่า เมื่อเราทวนกระแสขึ้นไป พอเขาเห็นว่ามันทวนไปได้ คนที่เขาเห็นว่าเราทวนไปได้ และทางที่ไปนั้นถูกต้อง เขาก็อยากจะตาม เราก็เป็นผู้นำ

ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ต้องการเด็กและเยาวชนที่มีความเข้มแข็งมาก โดยมีกำลัง ทั้งกำลังนอก และกำลังใน

ทวนกระแสไหว ถ้าได้พลัง ๕

ทีนี้ กำลังอะไรที่จะมาช่วยเราในท่ามกลางกระแสที่ไหลรุนแรงในปัจจุบันนี้ เมื่อกี้บอกไว้บ้างแล้ว ก็มาว่ากันต่อ

กำลังที่ ๑ คือ กำลังปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ความรู้เหตุรู้ผล คนที่เล่าเรียนมาพอสมควรแล้ว อย่างน้อยก็พอรู้ว่า อะไรจะเป็นทางไปสู่ความเจริญงอกงามของชีวิตของเรา

พร้อมนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็รักเรา และมีชีวิตอิงอยู่กับเรา ก็ต้องให้ครอบครัวของเราเจริญงอกงามไปด้วยกัน สังคมประเทศชาติก็ต้องการเราเพื่อไปช่วยเป็นสมาชิกในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติต่อไป เราก็ต้องเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติด้วย และประเทศชาติของเรายังอยู่ในโลกอย่างมีปัญหา เราจะต้องช่วยกันพัฒนาอารยธรรมของโลกด้วย

ถ้าเด็กมีปัญญารู้จักคิดอย่างนี้ ก็จะเริ่มตั้งตัวขึ้นมามองดู แล้วก็เริ่มมองเห็นทิศเห็นทาง และเริ่มมีกำลังเข้มแข็งขึ้นมา

คราวนี้ กระแสอะไรจะมาพัดพาเราออกไปนอกลู่นอกทาง หรือผิดทาง ไม่เอาแล้ว เราไม่ยอม เราอยู่กับธรรม เราตั้งหลัก สู้เลย นี้คือกำลังปัญญา

จิตใจที่เข้มแข็งนั้น ทั้งแน่วแน่มั่นคง และตื่นตัวทันการ

กำลังที่ ๒ คือ กำลังสมาธิ มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหว อะไรจะมากระทบกระแทก ก็ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว มั่นอยู่กับสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง จิตใจของเราอยู่กับสิ่งที่เป็นงานเป็นหน้าที่ เช่น อยู่กับการศึกษาเล่าเรียนของเรา นี่เรียกว่า มีสมาธิ

เมื่อใจเราแน่วอยู่ได้ ไม่เฉไปไหน ไม่ว่ากระแสอะไรก็พัดพาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิ

กำลังที่ ๓ คือ กำลังสติ มีความตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นมา ไม่เผลอ ไม่พลาด ไม่ลอยผ่านไป มองดูปั๊บและจับส่งให้ปัญญามองออกแล้ว พร้อมที่จะรับมือทันที อย่างที่เรียกว่าสำรวจตรวจตรา

สตินี่เปรียบเหมือนนายประตู คือ นายประตูนั้นต้องดูว่า คนไหนร้าย คนไหนดี ควรจะให้ผ่านไปหรือไม่ ถ้าดูน่าสงสัย หรือยังไม่รู้ชัดแจ้ง ก็จับตรวจอย่างละเอียด

สติจะตามจะจับจะกำหนดจะตรวจดูเหตุการณ์ ความเป็นไป หรือไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้น รวมทั้งกระแสทั้งหลายที่เข้ามา อย่างพวก IT ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สิ่งเสพบริโภค ลาภลอยอะไรนี่ สติก็จับหรือกำหนดเอาไว้(ให้ปัญญา)ตรวจวิเคราะห์ดูว่า คืออะไร เป็นอย่างไร ดีหรือร้าย มีคุณมีโทษอย่างไร ควรหรือไม่ จะเอาอย่างไร

ยกตัวอย่างว่า ใครมาชวนเราให้ไปไหนทำอะไรเอาอะไร เราก็ตรวจตราวิเคราะห์ดูเสียก่อนว่า อันนี้ถูกต้องไหม ชอบธรรมไหม ดีงามหรือไม่ จะเป็นเหตุของความเจริญหรือเป็นเหตุของความเสื่อมแก่ชีวิตก็ตาม แก่สังคมประเทศชาติก็ตาม ถ้าไม่ถูกต้อง ไม่ดี จะทำให้เสื่อม เราไม่เอา แต่ถ้าถูกต้อง ดี ทำให้เจริญ จึงเอา อย่างนี้เป็นต้น

สติเป็นตัวตรวจตราจับความเคลื่อนไหวเป็นไป ทำให้ตื่นตัวทันต่อสถานการณ์ ทำให้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นได้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องร้าย หรือจะพลาดละก็ ยั้งทันที ถ้าเป็นเรื่องดี ก็ไม่ปล่อยให้พลาดเสียโอกาสไป อันนี้เป็นเรื่องของพลังสติ

วีรชนแท้ คือสู้ไม่ถอย เพื่อเอาชนะงานสร้างสรรค์

กำลังที่ ๔ คือ กำลังความเพียร (วิริยะ) ความเพียรนั้นมาจากรากศัพท์ว่า “วีระ” จึงหมายถึงความแกล้วกล้าเข้มแข็ง ใจสู้ จะเอาชนะภารกิจ จะทำให้สำเร็จให้ได้

ความเพียรเป็นตัวแสดงออกของความไม่อ่อนแอ และกำลังทั้งหลายก็ออกมาทำงานกันที่ความเพียรนี่แหละ

เจอเรื่องต้องทำที่ดีงาม เช่น การเล่าเรียนศึกษา เมื่อรู้ว่ามันถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีแน่แล้ว ถึงจะยาก เราก็สู้ เราไม่ถอย

ไม่ใช่ว่า พอเจอการเล่าเรียนว่ามันยาก ก็ถอย เรื่องเสพบริโภค เรื่องเกม เรื่องสนุกสนานบันเทิง อันนี้มันง่าย เอาอันนี้ดีกว่า อย่างนี้ก็คือแพ้แล้ว นี่คืออ่อนแอแล้ว

เป็นอันว่า ต้องเข้มแข็ง อะไรที่ดี เราสู้ เรียกว่าใจสู้ เดินหน้าเลย จะเอาชนะให้ได้ ไม่ว่าจะยากอย่างไร ก็ต้องทำให้สำเร็จ อย่างนี้เรียกว่ามีกำลังความเพียร

สังคมที่ถอยล่า กลับเดินหน้าได้ ถ้ามีกำลังนอกมาเสริม

กำลังที่ ๕ คือ กำลังศรัทธา ข้อนี้เป็นตัวเชื่อมกำลังภายใน กับกำลังภายนอก

ถ้าไม่มีกำลัง ๔ ตัวข้างต้น คือ กำลังความเพียร ความเข้มแข็งที่จะเอาชนะการงานการศึกษาเล่าเรียนของตน ก็ไม่มี กำลังสติ ที่จะตื่นตัวทันต่อสถานการณ์เพื่อยับยั้งเหนี่ยวรั้งหรือกระตุ้นเตือนตัวเอง ก็ไม่มี กำลังสมาธิ ความเข้มแข็งของจิตใจที่จะอยู่กับสิ่งที่ทำให้แน่วแน่เด็ดเดี่ยวลงไป ก็ไม่มี กำลังปัญญา ความรู้เข้าใจ ก็ไม่ค่อยมี แล้ว จะทำอย่างไร

ตอนนี้แหละจะต้องเชื่อมกับกำลังนอก คือเอาหลักนอกตัวมาช่วยสร้างกำลังภายใน

กำลังนอกเชื่อมต่อเข้ามาปลุกกำลังในข้อที่ ๕ คือกำลังศรัทธา ขึ้นมา ด้วยการที่เรามีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลก็ได้ ได้แก่บุคคลที่เป็นแบบอย่าง ผู้ประพฤติดีงาม มีคุณความดี บำเพ็ญประโยชน์ ได้สร้างสรรค์ประเทศชาติ และเป็นที่เคารพรักนับถือ

กำลังศรัทธาในพลังแผ่นดิน

อย่างญาติโยมทั้งหลายมาวันนี้ เห็นใส่เสื้อสีเหลือง ไม่ถึงกับหมด แต่ก็มากทีเดียว

ที่ใส่เสื้อเหลือง ก็เพราะระลึกถึงในหลวง ที่ระลึกถึงในหลวง ก็เพราะซาบซึ้งในพระคุณความดีของพระองค์

เราซาบซึ้งในพระคุณความดีของพระองค์ มีความเลื่อมใส มีความภูมิใจ มองพระองค์เป็นหลัก อยากเชื่อฟัง อยากทำตาม ยึดเอาเป็นแบบอย่าง และมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม อันนี้แหละเรียกว่า ศรัทธา

ผู้ที่มีหลักยึดเหนี่ยวใจ ด้วยศรัทธาในบุคคลที่เราเลื่อมใส ภูมิใจเชื่อถือ จะทำให้มีกำลังใจที่จะเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ได้ ไม่ยอมไหลไปตามกระแสความรุนแรง หรือกระแสอะไรก็ตามที่ไม่ดีไม่งาม พร้อมกันนั้นก็พยายามทำสิ่งที่ดีงามตามแบบอย่างให้ได้

แม้แต่งานสร้างสรรค์ที่แสนยาก ถ้ามีศรัทธาแรงกล้า ก็จะมีกำลังและเพียรพยายามทำให้สำเร็จให้ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอมีเสาหลักหลากหลาย จึงค้ำสังคมให้ก้าวไปได้มั่นคง >>

No Comments

Comments are closed.