- กล่าวนำ
- งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข
- ทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา
- ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน
- ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
- มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้
- สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ : สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย
- งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ
- สูตรหนึ่งของธรรมชาติ: คนยิ่งพัฒนาตน สังคมยิ่งพ้นปัญหา
- มองวัตถุเสพเป็นจุดหมาย การทำงานก็กลายเป็นความทุกข์ มองวัตถุเสพเป็นปัจจัย งานยิ่งได้ผล คนยิ่งเป็นสุข
- ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
- ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้
- สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์
- ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา
- วัดความสำเร็จที่ไหน? ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี
- เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ” คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ
- สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน
- ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม
- จะประสานงาน ต้องประสานคน ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี
- งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้ เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์คิดทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข
จะประสานงาน ต้องประสานคน
ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี
วันนี้ อาตมาพูดมาตั้งแต่บ่ายโมงครึ่งถึงสามโมงครึ่ง ก็สองชั่วโมงพอดี คงจะได้เวลายุติ แต่อยากจะฝากปิดท้ายไว้สักนิดหนึ่งว่า พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นคุณธรรมประจำในใจ เมื่อออกสู่การปฏิบัติ จะมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งมารับช่วง ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการ ใครทราบบ้างว่า ธรรมภาคปฏิบัติการที่รับช่วงต่อจากพรหมวิหารนี่คืออะไร ขอให้ลองทายดู มี ๔ ข้อเหมือนกัน เท่ากัน รับกันพอดีเลย
ได้ยินแว่วๆ ว่า “สังคหวัตถุ ๔” ถูกต้อง เก่งมาก
“สังคหวัตถุ” แปลว่า “หลักแห่งการสงเคราะห์” สงเคราะห์ เราแปลกันว่า ช่วยเหลือ แต่ที่จริง การสงเคราะห์นั้น ตัวศัพท์เองแปลว่า ยึดเหนี่ยว ประสาน ประมวล หรือรวมเข้าด้วยกัน หมายความว่า สังคมของเรานี้จะรวมกันเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพด้วยการปฏิบัติตามหลัก ๔ ข้อนี้
“สังคหะ” รวมเข้าด้วยกัน โดยยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี (วัตถุ คือ หลัก)
สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง? และรับกันกับพรหมวิหาร ๔ อย่างไร?
๑. ทาน ให้ปัน
๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักัน
๓. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์แก่กัน
๔. สมานัตตตา ทำตัวให้สมานกัน
ถ้าใช้คำว่าช่วยเหลือ ก็จะได้ความหมายดังนี้
๑. ทาน ช่วยด้วยเงินทองวัตถุสิ่งของ
๒. ปิยวาจา ช่วยด้วยถ้อยคำ
๓. อัตถจริยา ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง
๔. สมานัตตตา เอาตัวสมานเข้าถึงกัน
สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนข้อที่ ๔ เข้าถึงตัวกินอยู่ทำงานสุขทุกข์ด้วยกันเลย ทีนี้ ๔ ข้อนี่ รับช่วงปฏิบัติการต่อจากพรหมวิหารในใจ อย่างไร?
๑. ทาน ให้ปัน
ก) ให้ด้วยเมตตา เขาอยู่เป็นปกติ ไม่ได้ทุกข์เดือดร้อนอะไร เราก็เผื่อแผ่ แบ่งปัน แสดงน้ำใจต่อกัน อย่างสมัยโบราณอยู่บ้านข้างเคียง บ้านนี้ ทำกับข้าว ทำแกง ก็แบ่งเอาไปให้บ้านโน้น
ข) ให้ด้วยกรุณา เขาเป็นทุกข์ เช่น ไฟไหม้ เดือดร้อน เราก็ให้เงินทอง ให้เสื้อผ้าอาหารเครื่องใช้
ค) ให้ด้วยมุทิตา เขาทำสิ่งดีงาม แต่ขาดทุนรอน เราก็ส่งเสริม ให้ทุนรอนสนับสนุน
๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน
ก) พูดดีด้วยเมตตา ในยามปกติ ก็พูดจาสุภาพ พูดอย่างเป็นมิตร แสดงน้ำใจ ทักทายปราศรัยกัน
ข) พูดดีด้วยกรุณา เวลาเขาเดือดร้อน มีทุกข์ มีปัญหา ก็ปลอบโยน ให้กำลังใจ แนะนำ บอกวิธีแก้ปัญหาให้ ดังเช่น คุณหมอและพยาบาลแนะนำคนไข้และญาติคนไข้ให้เข้าใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและการปฏิบัติตัว ตลอดจนปลอบใจให้กำลังใจ
ค) พูดดีด้วยมุทิตา คือ เมื่อเขาทำดีงาม มีความสำเร็จ หายโรค พ้นภัย ก็แสดงความยินดีด้วย ให้กำลังใจ พูดส่งเสริมสนับสนุน
๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์ให้เขา
ก) ช่วยทำประโยชน์ด้วยเมตตา คือในยามปกติเราอยู่ด้วยกันกับเขา มีอะไรพอจะช่วยกันได้ ก็ช่วยกัน เช่นยกเก้าอี้ให้นั่งบ้าง เอาน้ำให้ดื่มบ้าง แสดงถึงเมตตาไมตรี มีน้ำใจ
ข) ช่วยทำประโยชน์ด้วยกรุณา เวลาเขาตกต่ำเดือดร้อน มีปัญหา เช่น เขาตกน้ำ ถ้าเราว่ายน้ำแข็งมีกำลังดี เราก็โดดน้ำลงไปช่วย หรือเขาติดอยู่ในไฟ ก็เข้าไปเอาเขาออกมา หรืออย่างที่คุณหมอและพยาบาลช่วยเหลือรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ ก็อยู่ในข้อนี้
ค) ช่วยทำประโยชน์ด้วยมุทิตา เขาทำความดีกัน เราก็ไปสละแรงกายช่วยเขา มีการสร้างสรรค์ความดีอะไรสักอย่าง เราก็เอาเรี่ยวแรงไปช่วย ไปส่งเสริมเขา อย่างสมัยก่อนนี้ ชาวบ้านขนทรายเข้าวัด เราก็ไปสละกำลังกายช่วยเขาเป็นการทำบุญ คือเอากำลังความสามารถไปช่วยส่งเสริมคนทำความดี
เป็นอันว่าพรหมวิหาร ๓ ข้อต้น มาคูณด้วยสังคหวัตถุ ๓ เป็น ๙
๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน แปลตามตัวอักษรว่า ความมีตนเสมอ ข้อนี้หนักไปทางอุเบกขา ซึ่งเป็นตัวดุล ที่จะรักษาหลักการและความเที่ยงธรรมไว้ โดยเป็นกลาง เสมอภาคกัน
ก) “สมานอัตตา” มีตนสมเสมอกัน เสมอภาค เช่น
– ไม่ถือตัว ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน
– ไม่เลือกที่รัก ไม่ผลักที่ชัง ไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ
– ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
ข) “สมานกิจ” มีกิจสมเสมอกัน ร่วมด้วยช่วยกันทำงาน
ค) “สมานสุขทุกข์” มีสุขมีทุกข์เสมอกัน คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมกันเผชิญและแก้ไขปัญหา
อย่างนี้เรียกว่า สมานัตตตา คือมีตนเสมอสมานเข้าด้วยกัน ทำให้มีเอกภาพ มีความสามัคคี อยู่กันได้ดี สังคมก็มั่นคง มีสันติสุข
No Comments
Comments are closed.