ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย (มองจากแง่ของพุทธธรรม)

13 กันยายน 2517
เป็นตอนที่ 5 จาก 6 ตอนของ

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย
(มองจากแง่ของพุทธธรรม)1

ก. กระบวนการของการศึกษา

๑. กระบวนการของการศึกษามองเห็นได้จากธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง ลักษณะของชีวิตตามธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่แล้วถึงภาวะที่ดิ้นรนเพื่อความหลุดพ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่บีบคั้นขัดขวาง และแสวงหาความเป็นอิสระเพื่อจะเสวยผลแห่งความมีชีวิตของตนอย่างปลอดโปร่งโล่งเบา แม้ว่าชีวิตจะไม่ตระหนักถึงจุดหมายของตนเอง แต่จุดหมายนั้นก็ส่อชัดอยู่แล้วโดยภาวะแห่งการดิ้นรนนั่นเอง จุดเริ่มต้นแห่งการดิ้นรนนั้น ก็คือภาวะที่ถูกบีบคั้นขัดข้อง เรียกง่ายๆ ว่า ปัญหา หรือ ทุกข์ กระบวนการของชีวิตและการดำเนินชีวิตแต่ละขณะก็คือ การเผชิญปัญหาและพยายามแก้ปัญหา หรือการเผชิญทุกข์และหาทางออกจากทุกข์นั่นเอง

การดิ้นรนของชีวิต เป็นขั้นตอนสำคัญ คือเป็นช่วงที่เกิดมีกระบวน​การของการศึกษา ณ จุดเริ่มต้น คือปัญหาหรือความทุกข์นั้น ย่อมมีอวิชชาคือความไม่รู้ครอบงำอยู่ ทั้งความไม่รู้ในสภาวะของปัญหานั้น ไม่รู้เหตุปัจจัยของปัญหา ไม่รู้ที่หมายอันเป็นตำแหน่งที่พ้นไปได้จากปัญหา และไม่รู้ทางออกจากปัญหา ความแสวงอิสรภาพที่ถูกครอบงำด้วยความมืด คือความไม่รู้ไม่เข้าใจ ย่อมเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะหลุดพ้นและการดิ้นรนตามมา ยิ่งเกิดความหลงผิดในที่หมายด้วยแล้ว

ความเข้าใจผิดพลาดนั้นจะทำให้มองไม่เห็นชัดโดยปรุโปร่ง และจะยิ่งทำให้เกิดความดิ้นรนกระเสือกกระสนมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวกระวนกระวาย และความยึดมั่นถือมั่นป้องกันตัวตนมากขึ้น ความมืดบอดด้วยความไม่รู้ ทำให้เกิดความกระวนกระวายประเภทหวาดผวา และยึดในภาพตัวตนที่ยกขึ้นมาปิดป้องไว้ ความหลงผิดในที่หมาย (แสดงอยู่ในตัวถึงการมองไม่เห็นชัดเจนทะลุปรุโปร่งตลอดสาย) ทำให้เกิดความกระวนกระวายประเภทดิ้นรนไขว่คว้าทะยานอย่างรุนแรง พร้อมกับที่ยึดมั่นในภาพตัวตนนั้นเหนียวแน่นยิ่งขึ้น ภาวะที่ทะยานอยากดิ้นรน เรียกว่า ตัณหา ภาวะทั้งสองอย่างสัมพันธ์เนื่องถึงกัน เป็นปัจจัยแก่กัน

ในทางตรงข้าม ถ้ากระแสความคิดดำเนินอย่างถูกต้องเกิดความรู้ความเข้าใจแต่เบื้องต้นก็ดี ในระหว่างที่ดิ้นรน กระแสความคิดดำเนินควบไปด้วย จนพบเงื่อนที่นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ ณ จุดหนึ่งจุดใดก็ดี ทันทีที่ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้น มองเห็นสภาวะของปัญหาตามที่มันเป็น มองเห็นเหตุปัจจัยแห่งความบีบคั้น ขัดข้อง มองเห็นที่หมายอันพ้นจากปัญหา และมองเห็นทางออกไปจากปัญหาเข้าสู่ที่หมาย ทันทีนั้นความกระวนกระวายจะระงับลง ความสงบจะเกิดขึ้น ยิ่งมองเห็นกระจ่างแจ้ง เห็นทางออกทุกแง่ทุกมุมเท่าใด ก็ยิ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเห็นชัดเจนมีความมั่นใจโดยสมบูรณ์ ก็จะไม่มีความกระวน­กระวาย ไม่มีความดิ้นรน ความหวาดผวาห่วงกังวลคอยปิดป้องตัวตนจะหมดไป มีการปฏิบัติด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัยขึ้นมาแทน นอกจากความหวาดผวาห่วงกังวลในตัวตนจะหมดไปแล้ว ยังมีความรู้สึกปรารถนาจะเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นออกไปให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ความรู้ความเข้าใจมองเห็นชัดเจนนี้เรียกว่าปัญญา ความรู้สึกที่คลี่คลายขยายตัวเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นออกไปแก่ผู้อื่นเรียกว่ากรุณา

อนึ่ง เมื่อเริ่มเดินสายความคิดถูกต้อง เกิดปัญญามองเห็นทางออกก็ดี เกิดความกรุณาปรารถนาจะเผื่อแผ่อิสรภาพแก่ผู้อื่นก็ดี ก็จะเกิดแรงเร้าที่เรียกว่าฉันทะขึ้น ซึ่งในกรณีนี้จะเป็นธรรมฉันทะ คือความใฝ่รู้ความ​จริงและเข้าถึงสาระหรือแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ และกัตตุกัมยตาฉันทะ คือความใฝ่ทำเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่มองเห็นนั้น ฉันทะคือความใฝ่รู้และใฝ่ทำนี้จะเป็นพลังสำคัญในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตรงข้ามกับตัณหาคือความอยากได้และทะยานอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งเป็นพลังในการแก้ปัญหาที่ผิด หรือตัวการที่ชักให้เขวออกไปจากการแก้ปัญหา

ตามความที่กล่าวมา มีข้อควรพิจารณาดังนี้

๑.๑ กระบวนการของการศึกษา (กล่าวในแง่นี้) ก็คือ กระบวนการแก้ปัญหาหรือทุกข์ ปัญหาหรือทุกข์นั้นมีอยู่พร้อมด้วยอวิชชา การศึกษาเกิดขึ้น ณ จุดที่ปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น ณ จุดที่แก้ปัญหาได้ (แก้ได้ในความคิดแล้วก็แก้ได้ในการกระทำ) การใช้ปัญญาคือวิธีแก้ปัญหาที่แท้

๑.๒ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น ก็จะเกิดการดิ้นรนกระวนกระวายทะยานไขว่คว้า คือพยายามแก้ปัญหาด้วยตัณหา การกระทำเช่นนี้ จะทำให้ห่วงกังวลปิดป้องตัวตนมากขึ้น (มีความเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้น) ตัณหากับอวิชชา จึงมาด้วยกันและช่วยเสริมกำลังแก่กัน การแก้ปัญหาหมายถึงการทำลายอวิชชา เมื่อแก้แล้วกลับทำให้อวิชชามากขึ้น การแก้ปัญหาด้วยการใช้ตัณหาก็ย่อมเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด หรือวิธีแก้ปัญหาเทียม ทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น

๑.๓ ถึงแม้การใช้ตัณหาจะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างเทียม (คือไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับเพิ่มปัญหา) ก็จริง แต่ถ้าไม่ละทิ้งปัญญาเสียทีเดียว การดิ้นรนด้วยอำนาจตัณหาอาจช่วยให้ไปพบจุดหนึ่ง ที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ปัญญา ทำให้ปัญญาจับได้แม่นยำและดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้สำเร็จ วิธีการนี้อาจนำมาใช้ในกรณีช่วยผู้อื่นแก้ปัญหาบ้างก็ได้ (คือในกรณีให้การศึกษาแก่ผู้อื่น) โดยการเร้าด้วยตัณหาให้ผู้นั้นดำเนินไปสู่จุดที่จะเกิดปัญญาตามต้องการ แต่ทั้งนี้ผู้ช่วยนั้นจะต้องมองเห็นจุดที่จะแก้ปัญหาด้วยปัญญาอย่างชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ ก็คงเป็นการแก้ปัญหาด้วยปัญญานั่นเอง เป็นแต่ซับซ้อนขึ้น การใช้ตัณหานั้นเรียกได้เพียงว่าเป็นกลวิธีขั้นหนึ่งในการแก้ปัญหา เป็นอุปกรณ์ของปัญญา หาใช่ตัวการแก้ปัญหาไม่

๑.๔ การแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง นอกจากทำลายอวิชชาแล้ว ยังเป็น การปิดกั้นและกำจัดตัณหาไปด้วย ความเจริญของปัญญาจึงทำลายความเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดแรงเร้าอย่างใหม่คือกรุณาเข้ามาแทนที่ พร้อมด้วยองค์ธรรมควบประสานคือ ฉันทะ การศึกษาจึงเป็นกระบวนการเปลี่ยนแรงเร้าจาก ตัณหา ให้กลายเป็น ฉันทะ และ กรุณา มากขึ้นโดยลำดับ

ในการสั่งสอนอบรม ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาแท้และเทียม (การศึกษาที่ถูกและการศึกษาที่ผิด) นี้อยู่เสมอ ในหมู่มนุษย์นั้น การแสวงหาอิสรภาพจะมองเห็นชัดในเด็ก จะเห็นว่าเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นและแสดงความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ การถามของเด็กเป็นสัญญาณของการใฝ่อิสรภาพ แสดงถึงการแสวงคำตอบคือการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าผู้ปกครองแนะนำให้คำตอบถูกวิธี (ให้รู้ให้เข้าใจเกิดความใฝ่รู้ใฝ่ทำ) ปัญญาและการศึกษาก็จะเกิดขึ้น ถ้าผู้ปกครองแนะนำให้คำตอบผิดวิธี (ทำให้อยากได้และทะยานในการเสริมสนองตัวตน) ตัณหาและปัญหาก็จะเกิดขึ้น เป็นการศึกษาที่ผิด

สรุปความข้างต้นโดยย่ออีกครั้งหนึ่งว่า

ก. กระบวนการของการศึกษา คือกระบวนการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง หมายถึง กระบวนการทำลายอวิชชาและตัณหาพร้อมกับสร้างเสริมปัญญา ฉันทะ และกรุณา

ข. ตัณหา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเทียม อาจนำมาใช้เป็นกลวิธีขั้นหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาได้ ใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ของปัญญาและมีปัญญาคอยกำกับ แต่เป็นวิธีการที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงได้
ปัญหาหรือทุกข์…ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมภายนอก

๒. ปัญหาหรือทุกข์นั้น เกิดจากการที่ชีวิตต้องดำรงอยู่และดำเนินไปท่าม​กลางปัจจัยแวดล้อมภายนอก ซึ่งชีวิตจะต้องพึ่งอาศัย กล่าวในแง่นี้ การที่ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ดี การจะแก้ปัญหาได้ก็ดี อยู่ที่การเข้าไปเกี่ยว​ข้อง หรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ว่ากระทำด้วยตัณหาหรือด้วยปัญญา มนุษย์ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นที่เนื้อหาแท้จริงของมัน แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคุณค่าของมันตามที่มีความหมายแก่ตน กล่าวโดยทั่วไป คุณค่านั้นย่อมมีสองประเภท โดยสัมพันธ์กับลักษณะของการเกี่ยว​ข้อง (ระบบการตีค่า) ที่ใช้ปัญญาหรือตัณหา ซึ่งในที่นี้ขอบัญญัติคำเรียกเอาเองดังนี้

๒.๑ คุณค่าแท้ หมายถึงความหมายและประโยชน์ที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนโดยตรง จัดเป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญา เรียกได้ว่าคุณค่าที่สนองปัญญา เช่น อาหารมีคุณค่าสำหรับรับประทานหล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้มีกำลังมีสุขภาพ ดำรงชีวิตอยู่ได้ผาสุก ปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนได้ รถยนต์ช่วยให้เดินทางได้รวดเร็ว เกื้อกูลแก่การปฏิบัติหน้าที่การงานและความเป็นอยู่ ควรมุ่งเอาความสะดวก ปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน

๒.๒ คุณค่าเสริม หรือคุณค่าเทียม หมายถึงความหมายและประโยชน์ที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อเสริมราคาของตัวตน ที่หลงผิดยึดไว้ จัดเป็นการเกี่ยวข้องด้วยตัณหา เรียกได้ว่า คุณค่าที่สนองตัณหา เช่น อาหารมีคุณค่าสำหรับรับประทานให้เอร็ดอร่อย แสดงฐานะความโก้หรูหรา เสริมความสนุกสนาน รถยนต์เป็นเครื่องแสดงฐานะ ความโก้ ความมั่งมี ควรให้สวยงามและเด่นที่สุด ดังนี้เป็นต้น

อาหารเพื่อคุณค่าแท้ในข้อ ๑ ราคาสิบบาทกับอาหารเพื่อคุณค่าเทียมในข้อ ๒ ราคาพันบาท อาจมีคุณค่าแท้เท่ากัน

เรื่องคุณค่าสองอย่างนี้ มีความสำคัญมาก นอกจากเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะกรณีโดยตรงแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องตัดสินเกี่ยวกับการใช้ประยุกตวิทยาใหม่ๆ ด้วย โดยเลือกทำและเลือกใช้แต่สิ่งที่ให้คุณค่าแท้ สนองปัญญาโดยตรง และระมัดระวังป้องกันภยันตรายซึ่งจะเกิดจากการทำลายตนเองของมนุษย์ ผู้มุ่งแต่จะแสวงหาความสุขสำราญสนองตัณหา

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับคุณค่าสองประการนี้ คือการให้​การศึกษาที่ถูกต้องและผิดพลาด ซึ่งจะมีผลดีและผลร้ายแก่สังคมอย่างมากมาย เช่น เด็กที่พบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดความอยากรู้อยากเห็น ได้รับ​คำแนะนำให้รู้จักเข้าใจสิ่งนั้นว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีส่วนประกอบอย่างไร นำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง จนเกิดความใฝ่รู้ใฝ่ทำขึ้น ย่อมได้รับการปลูกฝังนิสัยในการแก้ปัญหาที่แท้

แต่ถ้าได้รับคำแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ที่ให้เห็นเพียงว่า น่าอยากได้ อยากเล่น เป็นต้น โดยผู้แนะนำไม่มีจุดหมายทางปัญญาที่จะสืบเนื่องต่อไป ก็ย่อมได้รับการปลูกฝังนิสัยในการแก้ปัญหาแบบเทียม ชนิดสนองตัณหา การให้การศึกษาด้วยการส่งเสริมความใฝ่คุณค่าเทียม (สนองตัณหา) นี้ คือการศึกษาที่ผิด (ที่จริงคือไม่ใช่การศึกษา) ทำให้เกิดผลร้ายต่างๆ เช่น

ก. ทำให้มีนิสัยเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต

ข. ความผิวเผิน ไม่จริงจัง ตื่นเต้นของแปลกใหม่ง่ายๆ

ค. ทำให้เรียนเพื่อได้ประกาศนียบัตรมากกว่าเพื่อได้ความรู้

ง. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

จ. การไม่รู้จักรักษาถ่ายทอดของของตน ไม่รู้จักรับและเปลี่ยน​แปลงเข้ากับสิ่งใหม่ๆ อย่างรอบคอบ

ฉ. ความขาดระเบียบวินัย และขาดความรับผิดชอบ

ช. การเลือกเรียนและเลือกงาน โดยมีเงินเป็นแรงจูงใจ มากกว่า​ทำด้วยใจรัก อยากเห็นความก้าวหน้าของ

วิชาการและผลงาน

ญ. การทำงานแต่พอสำเร็จ พอให้ได้ผลตอบแทน มากกว่าความใฝ่ในผลสัมฤทธิ์ และความดีเลิศของงาน

ฎ. การขาดท่าทีแบบวิทยาศาสตร์

ฏ. การพัฒนาแบบปัญหา

ฯลฯ

๓. กระบวนการของการศึกษา เพื่อทำลายอวิชชา-ตัณหา และเสริมสร้างปัญญา-กรุณา นั้นแบ่งเป็นช่วงตอนสำคัญได้ ๒ ตอน คือ

๓.๑ ตัวการศึกษาที่แท้ คือมีมรรคมีองค์ ๘ หรือ ไตรสิกขา เป็นส่วนที่อยู่ในตัวบุคคล เกิดขึ้นที่ตัวบุคคลเอง (โดยการเหนี่ยวนำหรือชักจูง ๓.๒) การศึกษาเริ่มขึ้นเมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาที่แท้เบื้องต้น

๓.๒ ตัวประกอบของการศึกษา คือ เครื่องเหนี่ยวนำชักจูงให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคล เป็นส่วนบุพภาคแห่งการศึกษา และสิ่งที่เกื้อหนุนประคับประคองการศึกษา คำกล่าวว่า “การให้​การศึกษา” ก็รวมอยู่ในความหมายของข้อนี้ ตัวประกอบนี้มี ๒ อย่าง คือ

๓.๒.๑ ตัวประกอบภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะ คือ เครื่องชัก​จูงจากภายนอกฝ่ายที่ดี โดยเฉพาะคือ กัลยาณมิตร ทั้งผู้ที่เสวนาคบหาใกล้ชิด และที่นิยมเยี่ยงอย่าง หมายถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น บิดามารดา ครู อาจารย์ เพื่อน สื่อมวลชนที่ดี เป็นต้น

๓.๒.๒ ตัวประกอบภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิด หรือคิดถูกวิธี หมายถึงคิด แยกแยะวิเคราะห์ให้เห็นตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ สืบสาวหาเหตุผลแต่ต้นจนตลอด เป็นต้น
ตัวประกอบภายนอกของการศึกษาคือ กัลยาณมิตร

๔. ตัวประกอบภายนอกของการศึกษา คือ กัลยาณมิตร หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีนั้น มีความสำคัญอย่างมาก แต่เป็นหลักที่ไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร แม้แต่ชาวพุทธเองก็มักละเลยมองข้ามไปเสีย เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามักถูกเพ่งเล็งไปในด้านเดียว ในแง่ที่เป็นคำสอนซึ่งเน้นปัจเจกบุคคล ความสำคัญของหลักข้อนี้มีมากถึงขนาดที่ควรแยกพิจารณาเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว เพราะตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ความมีกัลยาณมิตรเท่ากับพรหมจรรย์ คือ การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หรือการดำเนินตามมรรคทั้งหมด

ข. ความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

เมื่อสำรวจดูกระบวนการศึกษาตามที่เป็นไปในชีวิตจริง และมองเห็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว จึงให้ความหมายและกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาได้ดังนี้

๑. ความหมายของการศึกษา

๑.๑ มองในแง่สภาพที่เผชิญ: การศึกษา คือการแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือพูดให้ชัดว่า การทำให้ชีวิตแก้ปัญหาได้ ถ้าไม่มีปัญหา การศึกษาก็ไม่มี (ทุกข์-ทุกขนิโรธ)

๑.๒ มองในแง่สภาพที่ประสบผล: การศึกษา คือการทำให้ชีวิต

๑.๒.๑ แง่ลบ: หลุดพ้นจากปัญหา ปราศจากสิ่งบีบคั้นขัดข้อง

๑.๒.๒ แง่บวก: เข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐหรือดีที่สุดที่ชีวิตพึงได้ มีอิสรภาพสมบูรณ์

๑.๓ มองในแง่ความสัมพันธ์ของชีวิตกับปัจจัยแวดล้อม: การศึกษา คือการทำให้มนุษย์ พ้นจากการต้องพึ่ง ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก มีความสมบูรณ์ในตัวเองมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ

๒. จุดหมายของการศึกษา

เป็นอันเดียวกับจุดหมายของชีวิต เรียกตามภาษาพระว่า ความหลุดพ้น (วิมุตติ = Freedom) ได้แก่ ความปลอดโปร่ง โล่ง เป็นอิสระ หมายถึงสภาพชีวิตที่พร้อมสำหรับใช้ประโยชน์ มากกว่าการใช้ประโยชน์นั้นเอง และอาจมองได้เป็น ๒ แง่

๒.๑ ในแง่ลบ หมายถึง ภาวะที่พ้นจากความบีบคั้น ผูกมัด ขัดข้อง ปราศจากข้อบกพร่อง

๒.๒ ในแง่บวก หมายถึง ภาวะที่มีความเป็นใหญ่ในตัว ซึ่งทำให้พร้อมที่จะทำ (และไม่ทำ) การใดๆ ได้ตามปรารถนา

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดหมายนี้บางประการคือ

๒.๓ จุดหมายสูงสุดแสดงด้วยภาษาลบ เพราะภาวะที่สมบูรณ์แท้ คือภาวะที่ปราศจากข้อบกพร่อง คือ ลบลบ (– –) มีค่าเหมือนบวก และสมบูรณ์กว่าบวก

๒.๔ จุดหมายสัมพันธ์แสดงด้วยภาษาบวก (+) ยังแสดงภาวะที่ต้องการเพิ่ม ซึ่งหมายถึงขาดแคลนอยู่ในตัว คือ ยังต้องถามว่า บวกด้วยอะไร

โดยนัยนี้ จึงมีข้อควรคำนึงในทางปฏิบัติว่า

๒.๕ ควรใช้ภาษาลบล้วน เฉพาะเมื่อเล็งถึงภาวะขั้นสุดท้าย

๒.๖ ส่วนขั้นที่อยู่ในระหว่าง ควรใช้ภาษาบวก หรือ ลบกับบวกควบกันไป เพื่อให้เห็นชัดว่า เพื่อให้บรรลุผลสมบูรณ์ในขั้นนั้นๆ ควรต้องแก้ไขกำจัดอะไร และเมื่อแก้ไขกำจัดสิ่งนั้นแล้ว จะต้องเพิ่มเติมเสริมด้วยอะไร การปฏิบัติจึงจะได้ผลแท้จริง การดำเนินชีวิตในโลกโดยปกติเป็นไปในขั้นจุดหมายสัมพันธ์ ควรทำให้ได้ครบตามนี้ และน่าจะย้ำว่าการปฏิบัติการต่างๆ ยังมักบกพร่องกันในข้อนี้มาก เช่น เพ่งแต่แง่บวกอย่างเดียว เป็นต้น

๒.๗ ความหมายซึ่งเพ่งไปในทางบวกมากแง่หนึ่งของจุดหมายสัมพันธ์นั้น ก็คือ เสรีภาพ ซึ่งนอกจากเป็นจุดหมายแล้ว ยังเป็นวิถีหรือมรรควิธีไปด้วยพร้อมกัน ความยากของเรื่องเสรีภาพนี้ อยู่ที่ว่าอะไรคือ ความหมายที่ถูกต้อง เมื่อพูดว่า เสรีภาพคือภาวะที่กระทำการต่างๆ ได้ตามความพอใจ ก็เกิดปัญหาในที่สุด ก็ต้องต่อด้วยคำที่แสดงความจำกัดว่า ภายในขอบเขตอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เสรีภาพที่ถูกจำกัดก็คือยังไม่ใช่เสรีภาพแท้จริงนั่น​เอง ความหมายของเสรีภาพน่าจะได้แก่ ความรู้จักพอใจและทำได้ตามพอใจในสิ่งที่ควรพอใจ จริงอยู่ คำลงท้ายว่า “ที่ควรพอใจ” แสดงถึงภาวะที่ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่เหมือนกัน แต่กินความไม่เหมือนกัน คำว่าภายในขอบเขต แสดงถึงความบีบคั้นปิดทาง ซึ่งอาจไม่เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่คำว่าในสิ่งที่ควรพอใจ แสดงถึงการใช้ปัญญา และการกระทำหรือยับยั้งการ​กระทำโดยสมัครใจ ตามที่เห็นชอบด้วยปัญญา ปรัชญาการศึกษาควรให้คำตอบได้ว่า เสรีภาพคืออะไร โดยเฉพาะที่ว่าอะไรควรพอใจไม่ควรพอใจ และการศึกษาควรทำให้บุคคลรู้จักพอใจ และทำได้ตามพอใจในสิ่งที่ควรพอใจนั้น

๓. คุณลักษณะของผู้ได้รับการศึกษา หรือผู้ได้รับผลตามความมุ่งหมายของการศึกษา

๓.๑ ในแง่คุณสมบัติประจำตน คุณธรรมที่เด่น คือ

๓.๑.๑ ปัญญา ซึ่งเจริญขึ้นโดยลำดับพร้อมกับการสูญสิ้นของอวิชชา

๓.๑.๒ กรุณา ซึ่งจะเป็นแรงเร้าในการกระทำมากโดยลำดับแทนที่ตัณหา

๓.๒ ในแง่การดำเนินชีวิต มีลักษณะสำคัญ คือ

๓.๒.๑ อัตตัตถะ หรือ อัตตหิตสมบัติ การบรรลุถึงประโยชน์ตน คือ ได้ฝึกฝนอบรมตัวเองดี พึ่งตนเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ (รวมทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม) ถึงความเจริญงอกงามแห่งสติปัญญาและคุณธรรมต่างๆ (เช่น สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ หรือประกอบด้วยทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะ เป็นต้น) ข้อนี้คุณธรรมที่เด่นคือ ปัญญา

๓.๒.๒ ปรัตถะ หรือ ปรหิตสมบัติ การบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยเหลือผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ทางวัตถุก็ดี ทางจิตใจก็ดี (เช่น สังคหวัตถุ ๔ และ สาราณียธรรม ๖ เป็นต้น) ข้อนี้คุณธรรมที่เด่น คือ กรุณา

ในทางปฏิบัติ คุณสมบัติและคุณลักษณะ ๒ ฝ่ายนี้มีความสัมพันธ์อิงกันอยู่ เช่น เมื่อปัญญาที่แท้จริงเจริญขึ้น จะต้องทำให้กรุณางอกงามขึ้นด้วย การจะมีกรุณาที่แท้จริงได้ ก็ต้องมีปัญญาสูงขึ้น ดังนี้

ค. พุทธธรรมที่เป็นสาระสำคัญของการศึกษา

หลักธรรมที่ช่วยให้มองเห็นกระบวนการของชีวิต ตลอดจนสามารถวางหลักการศึกษาได้สำเร็จ มีดังนี้

๑. หลักธรรมที่พึงวิเคราะห์เพื่อแสวงพุทธปรัชญาการศึกษา

๑.๑ หลักธรรมที่สรุปเนื้อหาแห่งการตรัสรู้ทั้งหมด

๑.๑.๑ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน (ตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเมื่อจะทรงประกาศธรรม)

๑.๑.๒ อริยสัจจ์ ๔ (ตามแนวแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

ทั้งสองอย่างนี้ โดยสาระสำคัญ คือสิ่งเดียวกัน ต่างโดยแง่ที่เป็นหลักวิชากับการนำเสนอเพื่อผลในทางปฏิบัติ

๑.๒ หลักธรรมสำคัญ แสดงสาระสำคัญที่แฝงอยู่ในหลักธรรมตามข้อ ๑.๑

๑.๒.๑ ขันธ์ ๕

๑.๒.๒ ไตรลักษณ์

๑.๒.๓ กรรม (กรรมและวิบาก)

๑.๒.๔ ไตรสิกขา หรือ มัชฌิมาปฏิปทา

๒. แนวคิดและทัศนคติบางประการ ที่แสดงออกจากหลักธรรมสำคัญในข้อ ๑ (ตัวอย่าง)

๒.๑ ปฏิจจสมุปบาท แสดงว่า

๒.๑.๑ ความจริงหรือสัจธรรม คือกฎแห่งเหตุผลที่มีอยู่ในธรรมชาติธรรมดา ไม่ขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้า หรือการอุบัติของศาสดา ฐานะของศาสดาก็คือเป็นผู้ค้นพบและนำมาเปิดเผยแสดง

๒.๑.๒ ปรากฏการณ์ หรือผลอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีเหตุ และมิใช่เหตุอย่างเดียวเท่านั้น ต้องมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุนหรือเอื้ออำนวยด้วย

๒.๒ อริยสัจจ์ ๔ แสดงว่า

๒.๒.๑ สภาวะของชีวิตนี้เป็นอย่างไร และประโยชน์สูงสุดที่จะพึงได้จากชีวิตนี้คืออะไร

๒.๒.๒ ปัญหาของมนุษย์แก้ไขได้ และเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องแก้ไขด้วยปัญญาและการกระทำของมนุษย์เอง ไม่เกี่ยวกับเทพเจ้าหรืออำนาจพิเศษใดๆ

๒.๓ ขันธ์ ๕ แสดงว่า

๒.๓.๑ ชีวิตนี้ มีสภาวะเป็นที่ประชุมขององค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามเหตุปัจจัย (dynamic)

๒.๔ ไตรลักษณ์ แสดงว่า

๒.๔.๑ (เหมือน ๒.๑.๑)

๒.๔.๒ ให้มองสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ยอมรับและกล้าเผชิญหน้าความจริงนั้นๆ ทั้งที่น่าพอใจและไม่พอใจ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต

๒.๕ กรรม แสดงว่า

๒.๕.๑ ความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ (ทั้งบุคคลและสังคม) ดำเนินไปตามกฎแห่งเหตุและผล เริ่มแต่ความคิดและคุณค่าต่างๆ ในจิตใจ มีทัศนคติและค่านิยมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่ามโนกรรม และมโนกรรมนี้มีความสำคัญที่สุด (ในบรรดากรรมด้วยกัน) และเป็นเรื่องที่การศึกษาควรเกี่ยวข้องมากที่สุด (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก)

๒.๕.๒ มนุษย์มีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่พึงแบ่งแยกโดยชาติกำเนิด และชีวิตความเป็นอยู่นั้น แก้ไขปรับปรุงได้ตามกฎแห่งเหตุปัจจัย

๒.๕.๓ ผลสำเร็จที่ต้องการหรือจุดหมาย จะเข้าถึงได้ด้วยการกระทำหรือลงมือปฏิบัติด้วยความเพียรพยายามอย่างจริงจัง มิใช่ด้วยการปรารถนา การอ้อนวอนหรือนอนรอคอย

๒.๖ มรรค หรือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ไตรสิกขา แสดงว่า

๒.๖.๑ การศึกษาในความหมายที่แท้ มีพุทธศึกษาและ จริย­ศึกษาควบไปด้วย มิใช่เป็นต่างหากกัน

๒.๖.๒ ขอบเขตของการศึกษา จะต้องไม่ละเลยชีวิตด้านร่าง​กาย คือสุขภาพอนามัย แต่ในเวลาเดียวกัน ต้องไม่ให้เกินขอบเขตจนเป็นการปรนเปรอสนองตัณหาภายใต้ความมืดของอวิชชา

๒.๗ นิพพาน แสดงถึง

๒.๗.๑ สภาวะที่เข้าถึงเมื่อแก้ปัญหาแท้ของมนุษย์ได้แล้ว และประโยชน์สูงสุดที่พึงได้จากการมีชีวิต

๒.๗.๒ ความมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การให้การศึกษาเพื่อจุดหมายของชีวิตพระพุทธศาสนาและการนำธรรมมาพัฒนาหลักสูตร >>

เชิงอรรถ

  1. บรรยายในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “แนวคิดเรื่องปรัชญาการศึกษาไทย” ณ คณะศึกษา­ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๑๓ กันยายน ๒๕๑๗

No Comments

Comments are closed.