- การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต
- พัฒนาคน หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต
- เอาปราชญ์มาสอนให้นำสังคมได้เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ตามสนองสังคมทัน
- อาการฟูยุบในวงวิชาการ
- ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน
- การปรับตัวปรับความคิดใหม่ในวงวิชาการ
- จะพัฒนาคน แต่ความคิดก็ยังพร่าสับสน
- พัฒนาอย่างไรจะได้คนเต็มคน
- รู้อย่างไรว่าพัฒนาแล้วเป็นคนเต็มคน
- กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไทยต้องปรับตัวให้ทัน
- จะปรับตัวอย่างไร ไทยจึงจะฟื้นตัวทัน
- พัฒนาทั้งให้เป็นคนไทยและให้เป็นคนที่สร้างสรรค์อารยธรรม
- ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน
- แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์มองโดยความสัมพันธ์กับวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ
- แง่ที่ ๒ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ สิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี
- แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลง
- แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ
- แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
- แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกน ของการพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงอิสรภาพ
เอาปราชญ์มาสอนให้นำสังคมได้ เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ตามสนองสังคมทัน
ถ้าเรามองการพัฒนาคนเพียงในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แน่นอนว่าจะทำให้เราให้การศึกษาประเภทที่สนองความต้องการของสังคมหรือตามสังคม เช่น สังคมต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือต้องการพัฒนาสังคมในด้านนั้น ต้องการกำลังคนในด้านนี้มาก เราก็จะผลิตคนให้สำเร็จวิชาชีพด้านนั้นๆ มาใช้ คือเราจะผลิตคนมาเป็นกำลังคนสำหรับสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจจะมีบัญชีว่า เวลานี้ประเทศชาติต้องการกำลังคนในด้านนี้ ในวิชาการนี้ จำนวนเท่านี้ๆ แล้วก็ผลิตคนออกมาให้สอดคล้องกัน การให้การศึกษาแบบนี้จึงเน้นการสนองความต้องการของ สังคม พูดสั้นๆ ก็เป็นการศึกษาที่ตามสังคม
แต่การที่จะตามสังคมอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง การศึกษาควรทำหน้าที่ได้ดีและมากกว่านั้น คือ การศึกษานั้นแท้จริงแล้วต้องนำสังคม ไม่ใช่คอยตามสังคม หมายความว่า สังคมนี้อาจจะเดินทางผิดพลาดก็ได้ ถ้าเราได้แค่ผลิตคนมาสนองความต้องการของสังคม ให้ได้กำลังคนมาในด้านนั้นๆ ถ้าสังคมเดินทางผิดพลาดการศึกษาก็ผิดพลาดด้วย กำลังคนที่ได้มาเป็นผลของการศึกษาก็ผิดพลาด เหมือนอย่างในระยะที่แล้วมา เราผลิตคนมาในฐานะเป็นทรัพยากร และกระแสการพัฒนาผิดพลาด สังคมก็เลยผิดซ้ำเข้าไป
คนจะต้องมีความดีพิเศษยิ่งกว่านั้น ต้องมีคุณภาพสูงกว่านั้น ต้องมีสติปัญญาความรู้คิดมากกว่านั้น เช่น จะต้องรู้เท่าทันสังคม รู้กระทั่งว่าสังคมเดินทางผิดหรือเดินทางถูก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการพัฒนาตัวคน ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเขาจะต้องเก่งกว่าการที่จะเป็นเพียงทรัพยากร แน่นอนและนี่ก็คือการพัฒนาตัวมนุษย์แท้ๆ ซึ่งวิชาศึกษาทั่วไปน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ในขณะที่วิชาชีพต่างๆ คงทำไม่ได้ เพราะวิชาชีพวิชาเฉพาะเหล่านั้นจะทำได้ก็เพียงสนองความต้องการของสังคม ด้วยการผลิตกำลังคนมาให้
จากการเปรียบเทียบวิชา ๒ ฝ่ายนี้ เราจะเห็นความสำคัญของวิชาการศึกษาทั่วไปได้มาก นี่เป็นแง่คิดบางอย่าง และเรื่องนี้จะเล็งไปถึงตัวผู้สอนด้วย การหาผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปให้ได้ผลดีจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก
แต่ก่อนเมื่อเราเรียกว่าวิชาพื้นฐาน บางคนอาจจะนึกว่าเป็นวิชาขั้นต้นๆ คำว่า “พื้นฐาน” นั้นมองได้หลายอย่างหลายความหมาย ความหมายหนึ่งก็คือ เป็นขั้นต้นๆ หรือขั้นเตรียมการ ก็เลยชวนให้นึกว่าวิชาอย่างนี้จะเอาครูอาจารย์ที่ยังไม่เก่งมาสอนก็ได้ ที่ไหนได้ วิชาพื้นฐานนี้แหละเป็นการสร้างตัวบัณฑิต เป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพขนาดที่จะไปนำสังคมได้ เพราะฉะนั้น วิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงเคยพูดไว้ว่าต้องใช้คนที่เป็นปราชญ์ ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพนั้นใช้ผู้เชี่ยวชาญ
“จะสอนวิชาเฉพาะวิชาชีพ ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ
แต่จะสอนวิชาพื้นฐาน ต้องใช้นักปราชญ์”
วิชาชีพวิชาเฉพาะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใครก็สอนได้ ขอให้ถนัดในเรื่องของตน แต่ผู้ที่จะมาสอนวิชาศึกษาทั่วไป ต้องสอนให้คนเข้าใจสถานการณ์ของโลก รู้โลกและชีวิต เข้าถึงสัจธรรมความจริง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีคุณโทษดีเสียเป็นต้นอย่างไร สามารถที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็สามารถมีชีวิตที่ดีงาม การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม สามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และสร้างสรรค์สังคมได้นั้น คนนั้นต้องมีคุณสมบัติดีจริงๆ และคนที่สอนยิ่งต้องมีคุณสมบัติมากหรือสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า “ต้องเป็นนักปราชญ์” และด้วยเหตุนั้นวิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นี่คือข้อสังเกตทั่วไปที่ขอพูดในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการจัดแบ่งวิชาต่างๆ เหล่านี้ แม้แต่ในวิชาศึกษาทั่วไป ยังมีความสับสนไม่น้อย บางทีก็เกิดความขัดแย้งกัน เป็นการดีที่ทบวงมหาวิทยาลัยปัจจุบันยังให้โอกาส ที่ว่าทางสถาบันแต่ละแห่งมีความเป็นอิสระที่จะจัดเข้ามาตามที่ตนเห็นสมควร ไม่เฉพาะจะต้องเป็นไปตามกำหนดตายตัว นี่ก็เป็นแนวความคิดที่เรียกได้ว่าขยายกว้างขึ้น
แต่ในการที่ขยายกว้างขึ้นนั้นก็กลับกลายเป็นว่าผู้ที่จัดต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และต้องมีสติปัญญามองเห็นกว้างไกลมากขึ้น มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ที่พูดมานี้หมายความว่า แบบเก่าท่านจัดมาเสร็จโดยวางตายตัวไปเลยว่าอย่างนี้ๆ คงถือว่าผู้ที่วางนั้นคิดว่าตัวเองมองดีที่สุดแล้ว แต่ในการวางตายตัวก็มีจุดอ่อน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และสภาพท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ยืดหยุ่นไว้ก็อาจจะมีข้อบกพร่องและความไม่เหมาะสมบางประการ จึงต้องมีการยืดหยุ่นขึ้นมา แต่เมื่อยืดหยุ่นขึ้นมาก็ต้องการสติปัญญาเพิ่มขึ้น ในการที่จะทำให้ได้ผล เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าการขยายโอกาสในการจัด ก็กลายเป็นว่าทำให้มีความยากมากขึ้น ถ้าทำดีก็ดีไปเลย ถ้าพลาดก็เสียมากเหมือนกัน จึงต้องตระหนักในความสำคัญและตั้งใจทำด้วยความรอบคอบให้ดีที่สุด
No Comments
Comments are closed.