- พระพุทธศาสนา กับประชาธิปไตย
- พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
- เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
- เกณฑ์วินิจฉัย ความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
- ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม
- สันโดษ
- วรรณะ
- การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์
- ตบะ
- โยคะ
- ภาคผนวก ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
- บทสัมภาษณ์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
- ที่มา
- อนุโมทนา
- คำนำ
พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย
ท่านสหธรรมิกและท่านสาธุชนทั้งหลาย
การพูดเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยในวันนี้ ท่านผู้ดำเนินรายการ1 ได้วางแนวการพูดไว้กว้างๆ ส่วนหนึ่งแล้ว สำหรับอาตมภาพเห็นว่าแนวของเรื่องกว้างขวางมาก จำเป็นจะต้องจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่สัมพันธ์กับเวลาที่จะเป็นโอกาสให้พูดได้ นอกจากแนวที่ท่านผู้ดำเนินรายการได้พูดไปแล้ว อาตมภาพอยากจะจำกัดแนวของตนเองให้ชัดเข้าไปอีก เพื่อจะให้เห็นว่าเราจะนำพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับประชาธิปไตยได้อย่างไร
พระพุทธศาสนา ๒ แง่
ในเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยนั้น เห็นว่าจะพูดได้เป็น ๒ แนวทางด้วยกัน ในแง่หนึ่งคือพูดในด้านศาสนธรรมได้แก่ตัวหลักศาสนาหรือคำสอน โดยพูดให้เห็นว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนามีส่วนที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือขัดแย้งกัน จะสนับสนุนหรือจะทำลายล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย อันนี้เป็นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นการพูดในแง่ของสถาบัน คือ พูดในแง่ที่ว่าการปกครองคณะสงฆ์เป็นต้น ที่วางไว้ตามแบบแผนของพระธรรมวินัยนั้น เป็นไปได้โดยสอดคล้องกลมกลืนกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร มีคติอะไรที่จะนำมาใช้ได้บ้าง สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนกระทั่งว่า ระบบการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นของพระพุทธศาสนานั้นจะดำรงอยู่ได้ด้วยดีหรือไม่ ในท่ามกลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ นี้เป็นแนวทางกว้างๆ ที่เราจะพูดได้ ๒ อย่าง สำหรับวันนี้เวลามีจำกัด เพราะฉะนั้นอาตมภาพก็คงจะพูดเฉพาะในด้านเดียวคือ ในแง่ที่หนึ่ง ได้แก่ศาสนธรรม กล่าวคือหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ว่าหลักพระพุทธศาสนานั้นมีส่วนเกื้อกูล หรือจะนำมาช่วยสร้างสรรค์ให้คนอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างไร
ประชาธิปไตย ๒ แง่
ทีนี้ในแง่ของประชาธิปไตยบ้าง ประชาธิปไตยนั้นก็อาจจะพูดได้ ๒ แง่เช่นเดียวกัน แง่ที่ ๑ คือรูปแบบ ได้แก่รูปแบบการปกครองที่วางไว้ว่า ในการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น อาจจะมีการปกครองระบบประชาธิปไตยแบบโดยตรง ซึ่งคนทุกคนได้มาร่วมกันดำเนินการปกครองเอง มีการออกกฎหมาย ทำการลงมติในเรื่องอะไรต่ออะไรโดยออกเสียงเองทุกๆ คน ซึ่งในสมัยนี้หาได้ยากแล้ว หรืออาจจะเป็นประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทนอย่างที่ใช้กันส่วนมากในปัจจุบันนี้ ตลอดจนกระทั่งรูปแบบการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจต่างๆ เป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตลอดจนองค์การส่วนย่อยๆ ลงไปต่างๆ อันนี้ถือว่าเป็นรูปแบบ ทีนี้แง่ที่ ๒ ก็คือ ประชาธิปไตยในด้านเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยนั้นก็คือ พื้นฐานของจิตใจ แนวความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำให้คนเราสามารถสร้างระบบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นมาได้ ตลอดจนรักษาระบบการปกครองแบบนี้ไว้ และทำให้ระบบการปกครองเกิดผลดีสมความมุ่งหมาย อาตมภาพจะพยายามจำกัดตนเองโดยพูดในแง่ที่ ๒ คือสาระของประชาธิปไตย ไม่พูดถึงรูปแบบ ที่ไม่พูดถึงนั้นก็เพราะมีเหตุผลว่า ประการที่หนึ่ง เรื่องรูปแบบหรือระบบประชาธิปไตยก็มีผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะอยู่แล้ว ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ชำนาญการนั้น อีกประการหนึ่ง ในแง่ของสาระก็เข้ากันได้ดีกับพระพุทธศาสนาที่จะพูดในแง่ศาสนาธรรม ถ้าจะพูดถึงรูปแบบหรือระบบการปกครอง ก็น่าจะพูดในแง่สถาบัน ส่วนการพูดในแง่สาระของประชาธิปไตย ก็คือพูดในแง่ของหลักคำสอนได้แก่ ศาสนธรรม
ประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ กล่าวคือเรื่องพื้นฐานทางด้านจิตใจ แนวความคิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่ารูปแบบของการปกครองประชาธิปไตยที่ได้วางกันไว้เป็นระบบการต่างๆนั้น ความจริงมันเป็นเพียงวิธีการหรือเป็นโครงรูป ซึ่งได้พยายามคิดประดิษฐ์กันขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ประชาธิปไตยเป็นไปได้เป็นอยู่ได้ ความจริงมันไม่ใช่ตัวประชาธิปไตยหรอก มันเป็นเพียงวิธีการที่จะให้ประชาธิปไตยแสดงตัวออกมา หรือจะให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้เท่านั้นเอง มนุษย์เราเท่าที่คิดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็คิดรูปแบบประชาธิปไตยกันมาได้เพียงเท่านี้ คือคิดเท่าที่สมองจะคิดได้ จนกระทั่งมาแบ่งมีอำนาจ ๓ อย่างเป็น นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีการเลือกตั้งอะไรต่างๆ ก็เป็นเพียงรูปแบบเท่าที่คิดกันขึ้นมาได้ รูปแบบเหล่านี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย ตามเหตุปัจจัยแวดล้อม คือ เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น กาลสมัย และเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดจนความคิดของมนุษย์เองด้วย ถ้าหากมนุษย์เข้าใจในเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยดีแล้ว เขาก็อาจจะปรับปรุงแก้ไขระบบประชาธิปไตยที่วางเป็นรูปแบบการปกครอง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการอะไรนี้ ทำให้มันผิดแปลกไปจากนี้ก็ได้ ต่อไปถ้าคนหัวดีเกิดขึ้นอาจแบ่งอำนาจ ๓ อย่างนี้ใหม่ไม่เป็น ๓ อย่างก็ได้ อาจละลดลงเป็น ๒ หรือเพิ่มเป็น ๔ อะไรก็ได้ เป็นเรื่องของการที่จะรักษาสาระของประชาธิปไตยไว้ให้ได้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ เนื้อหาสาระของประชาธิปไตย หากว่าเราเข้าใจสาระของประชาธิปไตยแล้ว ถ้าเราต้องการจะมีประชาธิปไตย เราก็คงจะพยายามวางรูปแบบอะไรต่ออะไรได้และทำได้ดีที่สุด แต่ถ้าเราไม่เข้าใจสาระของประชาธิปไตย เราก็คงได้แค่ไปลอกแบบเขามา และเราอาจจะลอกแบบมาชนิดที่ไม่เหมาะสมกับตัวเราก็ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจสาระของประชาธิปไตยดีแล้ว แม้เราจะไปลอกเขา เราก็คงไม่ลอกแบบมาทั้งดุ้น คงเอามาคิดปรับปรุงให้เหมะสมกับสภาพของเราเอง ยิ่งกว่านั้น เราอาจจะแก้ไขปรับปรุงระบบประชาธิปไตยของเราให้ดีกว่าที่เขามีก็ได้ คืออะไรที่เขามีอยู่แล้วแต่ไม่ดี เราก็แก้ไขเสีย เราทำทีหลังน่าจะได้ระบบประชาธิปไตยที่ดีกว่าเขา เป็นอันว่าในที่นี้จะพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในแง่ของสาระหรือเนื้อหา ซึ่งสัมพันธ์กับพุทธศาสนาในแง่ของศาสนธรรมหรือหลักคำสอน
ทีนี้ก่อนจะพูดในเนื้อเรื่อง จะขอพูดถึงความหมายของประชาธิปไตยสักเล็กน้อย ความหมายที่พูดกันอยู่ทั่วไปมีอยู่ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือจะเติมให้ได้เนื้อความเต็มที่ในภาษาไทยให้ได้เนื้อหาและความหมายเต็มที่ตามหลักก็ว่า “การปกครองซึ่งประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” หรือจะเติมต่อไปอีกก็ได้ว่า “การปกครองแบบที่จะทำให้สาระแห่งชีวิตของทุกคนปรากฏผลงอกงามออกมาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และให้ผลประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกอย่างนั้นสะท้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของทุกๆ คน” อันนี้เป็นความหมายของประชาธิปไตยที่พอจะเข้าใจกันอยู่โดยย่อ เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็มาพิจารณาต่อไปว่า ประชาธิปไตยดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่การยกเอาขึ้นมาเป็นหัวข้อให้พูดนี้ก็เท่ากับเป็นการยอมรับกันอยู่แล้วว่าระบบประชาธิปไตยดี เพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่ต้องไปวิจารณ์เทียบกับระบบการปกครองอื่นๆ ว่าดีหรือเลวกว่าอย่างไร ถือเป็นการยอมรับแล้วว่าเป็นระบบการปกครองที่ดี
คุณภาพของประชาธิปไตย
ทีนี้หันมาดูประชาธิปไตย อาตมภาพคิดว่า ตัวประชาธิปไตยเองก็น่าจะแบ่งออกไปได้อีก คือเป็นประชาธิปไตยที่ดี ประชาธิปไตยที่พอใช้ และประชาธิปไตยอย่างเลว หมายความว่าคุณภาพของประชาธิปไตยก็มีอยู่ด้วยเป็นชั้นๆ ทีนี้คุณภาพของประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีการ เช่น รูปแบบที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยดำรงอยู่และเป็นไปได้นี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือคุณภาพของผู้ปกครอง เราบอกว่าประชาธิปไตยนี้เป็นการปกครองของประชาชน หมายความว่าประชาชนปกครองตนเองและปกครองกันเอง ในเมื่อประชาชนปกครองตนเองและปกครองกันเอง คุณภาพของประชาธิปไตยก็ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชนนั่นเอง หมายความว่า ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี เราก็จะได้ระบบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพดี ถ้าคุณภาพของประชาชนไม่ดี ก็จะได้ระบบประชาธิปไตยที่ไม่ดีด้วย อันนี้เป็นการแบ่งประชาธิปไตยในแง่คุณภาพได้เป็นขั้นๆ ตามคุณภาพของรูปแบบและคุณภาพของประชาชน
ทีนี้ คุณภาพของประชาธิปไตยในแง่คุณภาพของประชาชนจะดูได้อย่างไร เราคงจะต้องดูว่าประชาชนปกครองตนเองได้ไหม พร้อมหรือไม่ที่จะปกครองตนเอง และจะปกครองตนเองได้ดีแค่ไหน เพียงไร เพราะถ้าต้องการได้การปกครองที่ดี ก็ต้องมีผู้ปกครองที่ดี ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน จะได้ประชาธิปไตยที่ดี ก็ต้องมีประชาชนชนิดคุณภาพดี ประชาชนก็คือบุคคลทุกคนแต่ละคนๆ มาประกอบกันเข้า ถ้าจะได้ประชาชนที่มีคุณภาพดี ก็ต้องทำแต่ละบุคคลทุกๆ คนให้มีคุณภาพดี เมื่อบุคคลทุกคนโดยเฉลี่ยมีคุณภาพดี ก็ได้ประชาชนที่มีคุณภาพดี แล้วก็ได้ประชาธิปไตยชนิดดี แต่ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพดี ผู้ปกครองคือประชาชนเป็นเสียเองแล้ว จะเป็นอย่างไรและจะโทษใคร หันมาดูในแง่นี้ เราจะต้องพิจารณาประชาชนโดยสัมพันธ์กับหลักการเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ว่าประชาชนเข้าถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยหรือไม่ เริ่มด้วยมาพิจารณากันถึงหลักการสำคัญของประชาธิปไตย หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยคงจะมีหลายอย่าง ขอยกเอาที่เด่นๆ สักอย่างก็พอ หลักการข้อที่เด่นมาก เห็นจะได้แก่เสรีภาพ เพราะรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องที่ขึ้นปากเหลือเกิน เป็นที่นิยมชมชื่นกันมาก
เสรีภาพกับการปกครองตนเอง
พูดกันแบบประชาชนแบบชาวบ้านธรรมดา เสรีภาพก็คือ การทำอะไรได้ตามใจชอบ ตลอดถึงไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำด้วย หมายความว่าอยากจะทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ อะไรชอบใจก็ทำ อะไรไม่ชอบใจก็ไม่ต้องทำ ทีนี้เสรีภาพซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ก็มาสัมพันธ์กับหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยด้วยกัน กล่าวคือการปกครองตนเองและปกครองกันเอง การปกครองตนเองนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นความหมายอีกด้านหนึ่งของประชาธิปไตย ในเมื่อเรามีเสรีภาพแล้ว เราก็มีความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่ง คือการปกครองตนเอง การปกครองตนเอง พูดง่ายๆ ก็คือการรู้จักควบคุมตนเอง ให้ทำได้ในสิ่งที่ควรทำ และให้งดเว้นได้จากการกระทำที่ไม่ควรกระทำ หรือที่ควรจะงดเว้น นั่นคือมี ๒ อย่างเป็นของคู่กัน จะเอาอย่างเดียวไม่ได้
เท่าที่เป็นมารู้สึกว่า เราจะหันไปมองหันไปนิยมชมชื่นในด้านหนึ่งมาก คือ ในด้านเสรีภาพ ทีนี้ ถ้าหันไปมองและมัวหลงเพลินในด้านนั้นมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เผลอลืมไปอีกด้านหนึ่งว่า เราจะต้องมีการปกครองตนเองด้วย การปกครองตัวเองนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นคู่กันกับเสรีภาพ ความจริงการปกครองตนเองได้ก็คือ ความสามารถในการใช้เสรีภาพ เสรีภาพนั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย เสรีภาพไม่ใช่จุดหมายในตัวของมันเอง เสรีภาพในฐานะที่เป็นอุปกรณ์ของประชาธิปไตย ก็คือเสรีภาพที่จะอยู่ในสังคมในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งตนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ปรับปรุง มิใช่ร่วมทำลาย ลึกเข้าไปกว่านั้นก็คือ เสรีภาพในการแสวงหาและนำชีวิตให้เข้าถึงสิ่งดีงามที่ชีวิตควรจะได้ และที่ตื้นที่สุดซึ่งควรเป็นความสำนึกแต่เบื้องต้น คือเสรีภาพในการแก้ไขปรับปรุงชีวิต หรือเสรีภาพในการแก้ไขปรับปรุงตนให้มีคุณภาพดี เพื่อให้เป็นบุคคลชนิดที่จะมาเป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนร่วมที่ดีของสังคมประชาธิปไตย
ในสังคมประชาธิปไตย คนต้องมีเสรีภาพ เสรีภาพที่ต้องการคือเสรีภาพในการทำชีวิตให้ดีและใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ในการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงาม และเกื้อกูลแก่สังคม ไม่ใช่เสรีภาพในการสร้างสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย หรือในการทำลายล้าง เมื่อมีเสรีภาพแล้วก็ต้องสามารถใช้เสรีภาพนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วย หรือมีเสรีภาพแล้วก็ต้องใช้เสรีภาพเป็นด้วย เสรีภาพจึงเป็นคู่กับความสามารถหรือความรู้จักใช้เสรีภาพ เหมือนอุปกรณ์เป็นคู่กับการรู้จักใช้อุปกรณ์ ถ้ามีอุปกรณ์แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ทำให้เกิดโทษได้ โดยใช้ผิด ไม่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ เสรีภาพที่เป็นอุปกรณ์ของประชาธิปไตย เมื่อใช้ผิดก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างอนาธิปไตย ประเทศที่สร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ก็เพราะประชาชนขาดความสามารถในการใช้เสรีภาพ ความสามารถหรือความรู้จักใช้เสรีภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความสามารถในการใช้เสรีภาพให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นี่แหละ คือการปกครองตนเองได้ เสรีภาพจึงเป็นคู่กับการปกครองตนเองได้ นอกจากนั้น อีกแง่หนึ่ง เสรีภาพหมายถึงเสรีภาพในการที่จะปกครองตนเองด้วย เมื่อต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องรู้จักปกครองตนเองและรู้จักใช้เสรีภาพเพื่อปกครองตนเองให้ถูกต้องตามแบบประชาธิปไตย
ในเมื่อการปกครองตนเองได้หมายถึงความสามารถในการใช้เสรีภาพแล้ว ย้อนกลับมามองดูความหมายของประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเห็นว่า ประชาธิปไตยในความหมายด้านหนึ่งก็คือการใช้เสรีภาพของคนที่สามารถปกครองตนเองได้ หมู่ชนใดไม่สามารถปกครองตนเองได้ แม้เพียงให้มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตร่วมกันด้านนอก คือขั้นศีล เช่น ปลูกต้นไม้ไว้ในที่สาธารณะ ก็รักษาไว้เป็นของกลางไม่ได้ พากันเหยียบย่ำเด็ดดึงถอนทิ้งเสียหมด เล่นกีฬาก็ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ไม่รักษากติกาของส่วนรวม เอาแต่สนุกสนาน เห็นแก่ตัว มีงานร่วมกันทำไม่ได้ ขึ้นรถเข้าโรงมหรสพจัดเรียงรอลำดับกันไม่ได้ หมู่ชนนั้นจะอ้างตนว่ามีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถึงจะร้องบอกว่าตนมีประชาธิปไตยก็จะเป็นได้เพียงประชาธิปไตยที่ไร้เดียงสา
มองไปอีกด้านหนึ่ง มีข้อที่น่าพิจารณาว่า เสรีภาพนี้ทำไมเราจึงนิยมชมชื่นกันมาก พูดและเอ่ยอ้างกันนัก จนกระทั่งลืมนึกถึงการปกครองตนเอง อาจจะเป็นเพราะว่าเราเคยถูกผู้อื่นปกครองหรือปล่อยให้ผู้อื่นปกครองมา เมื่อผู้อื่นเขาปกครอง เขาก็เอาเสรีภาพของเราไปจัดการ เขาให้เราได้ใช้เสรีภาพบ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง จนกระทั่งเราเกิดความไม่พอใจขึ้น เราก็เรียกร้องเอาเสรีภาพกลับคืนมา เมื่อเสรีภาพกลับคืนมาแล้ว เราก็เพลิดเพลินกับการได้เสรีภาพนั้น แต่ลืมไปว่าอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราเลิกให้เขาปกครองแล้ว เราจะต้องปกครองตนเองต่อไป ทำอย่างไรจึงจะปกครองตนเองได้ นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
เพราะฉะนั้นในเรื่องเสรีภาพนี้ เมื่อเราได้มาแล้ว ก็เป็นช่องทาง เท่ากับมีโอกาสที่จะปกครองตนเองอยู่กับตัวแล้ว ไม่ต้องมานิยมชมชื่นอะไรกันนัก สิ่งที่ต้องถามตัวเองก็คือ เราจะทำตัวอย่างไรดี คือทำตัวอย่างไรจึงจะทำให้การปกครองตนเองและการปกครองกันเองได้ผลดี เราปกครองอย่างไร หรือทำตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถใช้เสรีภาพให้เกิดดอกออกผลเป็นประโยชน์ เป็นช่องทางอำนวยประโยชน์แก่ส่วนรวม คือแก่ชีวิตทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันต่อไป สิ่งที่จะต้องคิดจึงอยู่ที่ว่า เราจะต้องปกครองตนเองแล้วนะ และปัญหาก็อยู่ที่ว่าเราแต่ละคนๆ จะต้องทำอะไรกันบ้าง ที่ว่าจะต้องทำอะไร ก็คือว่า เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะปกครองตนเองได้ เริ่มตั้งแต่จะต้องทำตนให้พร้อมที่จะปกครองตนเองได้เป็นต้นไป เมื่อจะทำคนให้พร้อมที่จะปกครองตนเองได้ ก็ต้องสร้างคุณภาพของคนขึ้นมา เมื่อพูดมาถึงนี่ก็เป็นอันว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ คือความรับผิดชอบของบุคคลในการกระทำ เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้วก็เป็นอันเข้ามาถึงหลักของพระพุทธศาสนา
หลักการปกครองตนเอง: พุทธศาสนากับประชาธิปไตย
ถ้าพูดถึงสาระของประชาธิปไตยที่จะทำให้คนมีคุณภาพพร้อมที่จะปกครองตนเองได้แล้ว เราก็พูดได้ว่าหลักธรรมทุกอย่างในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และให้รู้จักปกครองตนเองได้ แต่จะต้องมองให้ถูกแง่และปฏิบัติให้ถูกตามหลักนั้น หลักธรรมนั้นมีไว้ให้ทุกคนปฏิบัติ คือต้องมองหลักธรรมจากความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องจากผู้อื่น ถ้ามองในแง่นี้แล้ว หลักธรรมทุกอย่างเป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดประชาธิปไตย เช่น คารวะ แปลว่า ความเคารพ หมายถึงการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น ตลอดจนความคิดเห็นของเขา เป็นต้น มองจากแง่ความรับผิดชอบของเราทุกคน จะต้องปฏิบัติความเคารพในความคิดเห็นและคุณค่าของผู้อื่นนั้น นี้เป็นหลักการที่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ถ้าเรามองในแง่เรียกร้องจากผู้อื่นแล้ว ความเคารพก็กลายเป็นเครื่องส่งเสริมลัทธิการเมืองที่ตรงกันข้าม คือเป็นการเรียกร้องความเคารพจากผู้อื่น ซึ่งอันที่จริงก็คือการปฏิบัติผิดหลักพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น การที่จะนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในประชาธิปไตย เบื้องต้นต้องมองจากแง่ให้ถูกเสียก่อน คือว่าจะต้องนำธรรมมาใช้ให้ถูกต้องตามหลัก ธรรมที่ใช้ถูกหลักก็คือ มองจากความรับผิดชอบของตน ว่าเป็นหลักที่ต้องปฏิบัติกันทุกคน ถึงแม้หลักธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น ขันติ ความอดทนที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย พูดกันง่าย หมายความว่า ยอมรับฟังเหตุผลความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็คือแนวทางแห่งประชาธิปไตย แต่ถ้าไปเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากผู้อื่น ก็เป็นลัทธิการปกครองที่ตรงกันข้าม ตอนนี้ยังมีหลักธรรมที่จะต้องพูดโดยตรงที่จะทำให้บุคคลปกครองตนเองได้ตามหลักของประชาธิปไตย แต่เวลาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจะเอาไปไว้พูดตอนต่อไป
ธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตย
บัดนี้ ถึงวาระที่ ๒ ในการพูด ความจริงเวลาพูดรู้สึกว่าจะจำกัดมากเหลือเกิน ในคราวที่แล้วนี้อาตมภาพพูดไป เรียกว่าเพิ่งจะอารัมภบทเริ่มเข้าหัวข้อธรรมเท่านั้นเองก็หมดเวลาเสียแล้ว ยังมีเรื่องจะพูดอีกมากในราวสักครึ่งหนึ่งได้ ก็ไม่อาจจะพูดให้จบเพราะว่าเวลาเหลือน้อย และเผอิญได้ฟังท่านผู้ร่วมอภิปรายนี้ พูดถึงแง่ต่างๆ ก็เกิดมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้อภิปรายด้วยกันขึ้น เพราะฉะนั้น แม้จะมีปัญหาจากที่ประชุมนี้มากมายหลายข้อ ก็จะขอโอกาสท่าน โดยเห็นว่าข้อขัดแย้งระหว่างผู้อภิปรายเอง อาจจะมีความสำคัญมากก็ได้ โดยจะขอตอบสั้นๆ ในบางแง่
เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยที่ดีก็คือ การใช้เสรีภาพของคนที่สามารถปกครองตนเองได้ ทีนี้คนอะไรจะปกครองตนเองได้ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญในขั้นต่อไป คนที่จะปกครองตนเองได้ก็คือคนที่รู้จักวินิจฉัย และกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล เอาหลัก เอาธรรม เอาความจริงความถูกต้อง คือไม่ถือเอาตนเป็นประมาณ และอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้ถือเอาการล่อการชักจูงของผู้อื่นเป็นประมาณ อันนี้ก็คือเข้าหลักอธิปไตย ๓ นั่นเอง แต่เท่าที่พูดๆ กันรู้สึกว่า ยังมีการสับสนอยู่บ้าง
ความจริงอธิปไตย ๓ ประการนี้ เป็นหลักสำหรับปรับปรุงคุณภาพของบุคคล เมื่อคนประกอบด้วยอธิปไตยที่ถูกต้องดีที่สุดในหลักทั้งสามนี้ กล่าวคือมีธรรมาธิปไตยแล้ว เราจึงจะเอาคนที่ประกอบด้วยธรรมาธิปไตย แล้วนั้นไปดำเนินกิจการต่างๆ ของส่วนรวมต่อไป เช่นว่าต้องการประชาธิปไตยก็ต้องให้แต่ละคนมีธรรมาธิปไตย คือต้องให้แต่ละคนเป็นธรรมาธิปไตยแล้วไปปกครองกัน การปกครองจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี หรือประชาธิปไตยที่แท้จริง พูดอีกนัยหนึ่งว่า ในระบบประชาธิปไตย เรามีเสรีภาพที่จะปกครองตนเอง เมื่อต้องการประชาธิปไตยก็ต้องใช้เสรีภาพเพื่อปกครองตนเองให้ถูกต้องตามแบบประชาธิปไตยโดยทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย
อัตตาธิปไตยคืออย่างไร คือการที่วินิจฉัยและตัดสินกระทำการต่างๆ ด้วยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนบ้าง ฐานะของตนบ้าง หรืออะไรต่างๆ ที่สัมพันธ์กับตนเป็นประมาณ พวกที่ ๒ คือ โลกาธิปไตย ถือเอาเสียงชักจูง หรือเสียงนิยมของข้างมากของชาวโลก ในขณะนั้นๆ เป็นประมาณ หมายความว่า คนที่ถืออัตตาธิปไตยนั้น จะถือเอาประโยชน์เอาเกียรติเอาฐานะของตนเป็นหลักแล้วก็ไปตัดสิน หรือกระทำการต่างๆ เช่น ออกเสียง เป็นต้น ไปตามนั้น ส่วนพวกโลกาธิปไตย คือพวกมากลากไป ซึ่งในขณะนี้เราจะเห็นได้มาก คนไม่เป็นตัวของตัวเอง คือไม่ได้พิจารณาใช้เหตุผลตัดสิน แต่เป็นไปตามที่คนข้างมากเขานิยม พวกมากในหมู่คณะของตนฮือฮากันไปอย่างไร กลัวเขาจะว่าตัวเองก็ว่าไปตามอย่างนั้น อันนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ดีพอ
ธรรมาธิปไตยคืออย่างไร ธรรมาธิปไตยคือถือธรรม ถือหลักการ เอาการที่ถูกต้องเป็นประมาณ ถือตามความดีงาม นั่นคือการพิจารณาตัดสินด้วยสติปัญญา หมายความว่าให้แต่ละคนนี้ ถือหลักการพิจารณาตัดสิน และกระทำการต่างๆ ด้วยอาศัยสติปัญญาบริสุทธิ์ พิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุดเท่าที่มองเห็นด้วยการค้นคว้ารับฟังแสวงหาความจริงอย่างถึงที่สุด ด้วยการคิดถึงที่สุด และอย่างจริงใจที่สุด เท่าไรก็เท่านั้น เช่น หลักกาลามสูตรก็อยู่ในข้อธรรมาธิปไตยนี้ ตามหลักนี้เมื่อเขาจะแสดงออก จะวินิจฉัยกระทำการอะไรต่างๆ ก็หมายความว่า สิ่งนั้นได้เกิดจากสุดยอดแห่งปัญญาของเขา สุดยอดแห่งคุณธรรมของเขาเท่าที่มี ในเมื่อแต่ละคนมีแนวในการวินิจฉัยตัดสินความและกระทำการต่างๆ โดยยึดถือสติปัญญาที่วินิจฉัยโดยบริสุทธิ์ใจ มุ่งเอาความถูกต้องเป็นประมาณเช่นนี้แล้ว มาทำให้เกิดเสียงข้างมาก ก็จะมีทางเป็นไปได้มากที่สุดว่า จะได้เสียงข้างมากที่ดี
เพราะฉะนั้นจะต้องแยกให้ถูกว่า อธิปไตย ๓ อย่างนี้ เป็นหลักกำกับความประพฤติและแนวความคิดจิตใจของบุคคลที่จะมาใช้ หรือมาอยู่ในระบบอีกทีหนี่ง คือเมื่อพูดถึงธรรมาธิปไตยก็หมายความว่าให้แต่ละคนพยายามทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย และคนที่เป็นธรรมาธิปไตยนั้น จะมาดำเนินการปกครองระบบใดรูปใดก็ตาม ก็ได้การปกครองที่ดีที่สุดของระบบนั้นรูปนั้น ถ้าเป็นประชาธิปไตยเราก็จะได้เสียงข้างมากที่ดี ได้ประชาธิปไตยที่ดี ทุกคนจึงต้องเป็นธรรมาธิปไตย อันนี้ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้ก่อน
ประชาธิปไตยกับพฤติกรรมของชาวพุทธ
ทีนี้ ที่บางท่านพูดเมื่อกี้นี้ว่า ถ้าจะให้วินิจฉัยว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ให้วินิจฉัยโดยพฤติกรรมของผู้ที่เรียกตนว่าเป็นชาวพุทธ อันนี้จะขอแย้งเล็กน้อย การวินิจฉัยด้วยพฤติกรรมนั้น จริงอยู่ในส่วนหนึ่งอาจจะถูก แต่ไม่ถูกเสมอไป การวินิจฉัยผลุนผลัน อาจเป็นการตื้นเกินไป พฤติกรรมของหมู่ชนอาจมีความซับซ้อน เหมือนอย่างในประเทศไทยเรานี้ เราบอกว่า เรามีประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถ้าถามประชาชนเมื่อสักสิบปีมาแล้ว แกก็บอกว่าแกอยู่ในประเทศประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมของแกเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ เพราะว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่เราพยายามจะเข้าถึง ไม่จำเป็นว่าเรารับพุทธศาสนามาแล้วทุกคนจะเข้าถึงพุทธศาสนาทั้งหมด เราอาจจะได้รับมาในรูปที่เราเห็นว่าดีกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ หรือเราอาจจะชอบในบางแง่ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติตามในแง่นั้นๆ บ้าง ในด้านที่เราเห็นหรือเท่าที่เข้าใจบ้าง จุดหมายที่ดีงาม ถ้าไม่แกล้งเฉย เราก็พยายามดำเนินให้เข้าถึงต่อไป อันนี้ก็เป็นแง่ต่างๆ ซึ่งขอแย้งในข้อที่ว่าจะเอาพฤติกรรมของคนมาวินิจฉัยไม่ได้เสมอไป
และที่พูดว่า พุทธศาสนาจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะสอดคล้องสนับสนุนประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อพุทธศาสนาสอนหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น ก็เพื่อใช้ในระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็ดี ว่าพุทธศาสนาอยู่ในเมืองไทยมาตลอด ๗๐๐ ปี เมืองไทยก็ปกครองด้วยระบบเผด็จการตลอดมา ก็ดี การพูดเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจแคบและสับสน จะพูดชี้แจงสั้นๆ เช่น
๑. ในสมัยพุทธกาล ชมพูทวีปก็คล้ายกับพวกกรีก ประเทศที่ปกครองแบบราชาธิปไตยก็มี ปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมัยนั้นเรียกว่าแบบสามัคคีธรรมก็มี หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็มีสำหรับทั้ง ๒ แบบ เช่น ทศพิธราชธรรมสำหรับผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตย อปริหานิยธรรมสำหรับพวกที่ใช้ระบบสามัคคีธรรม ในแง่ของการทำหน้าที่และรับผิดชอบฝ่ายศาสนา ก็ต้องสั่งสอนเพื่อผลในทางปฏิบัติ สำหรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ในเมื่อราชาธิปไตยรุ่งเรืองอยู่ จะรอให้ราชาธิปไตยหมดสิ้นไปก่อนแล้วจึงค่อยสั่งสอนได้หรือ ก็ต้องสอนผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยให้ปกครองอย่างดีที่สุด เท่าที่ผู้ปกครองนั้นจะสามารถเบนวัตถุประสงค์ของการปกครองออกไป ในทางที่เป็นไปเพื่อผลดีหรือประโยชน์สุขแก่ประชาชนให้มากที่สุด ในเวลาเดียวกัน สำหรับระบอบสามัคคีธรรมที่ยังมีรอดอยู่ ก็ต้องสอนย้ำถึงวิธีการที่จะดำรงรักษาระบอบนั้นไว้ให้ยั่งยืน และให้บังเกิดผลดีตามวัตถุประสงค์มากที่สุด นี้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าจะทำได้ในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติ ส่วนว่าระบบที่พระองค์เองต้องการเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้ดูระบบที่อยู่ในความรับผิดชอบและอำนาจจัดดำเนินการของพระองค์เอง คือดูที่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ตามธรรมวินัย ต้องแยกพิจารณาให้ถูกอย่างนี้
๒. ที่ว่าพุทธศาสนาอยู่เมืองไทยมา ๗๐๐ ปี เมืองไทยก็ปกครองด้วยระบบเผด็จการตลอดมา พุทธศาสนาจึงต้องมีหลักการเป็นแบบเผด็จการหรือไม่สนับสนุนประชาธิปไตย อะไรทำนองนี้ นับว่าเป็นการพูดอย่างคลุมเครือและสับสน หรือพูดอย่างเหมา ข้ามขั้นตอนและขาดการวิเคราะห์ เช่น
- สับสนในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ พุทธศาสนาไม่ใช่ผู้จัดการปกครองเอง และมิใช่สถาบันที่จะต้องทำหน้าที่นั้นแก่รัฐ ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนาถูกรับเข้ามาในรัฐที่เขามีระบบการปกครองของเขาเองอยู่แล้ว สิ่งที่พุทธศาสนาจะทำได้ในกรณีเช่นนี้ อาจจะเป็นการทำหน้าที่แบบนักปฏิบัติ คือ สอนให้ผู้ปกครองปกครองอย่างดีที่สุด ในแง่ที่เป็นผลดีออกมาให้แก่ประชาชนให้มากที่สุด หรืออาจช่วยเป็นตัวผ่อนเบาถ่วงดุลความแรงร้ายในระบบ หรือเสริมสร้างระบบซ้อนหรือระบบควบคู่ไว้เป็นทางเลือก หรือเป็นมุมแปรสำหรับให้พร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบ หรืออย่างน้อยอาจเป็นที่เก็บเชื้อไว้ให้ประชาธิปไตยมีโอกาสก่อตัวหรืองอกงามขึ้นได้ต่อไป
อย่างในทางตะวันตก ทั้งที่ทัศนะเกี่ยวกับการปกครองของพลาโต อริสโตเติล และโคลสธีนิส เป็นต้น ในเรื่องประชาธิปไตยก็มีอยู่ แต่ประเทศตะวันตกหลังยุคกรีกก็มีแต่การปกครองแบบราชาธิปไตยตลอดเวลายาวนาน นี่ย่อมไม่ได้เป็นการแสดงว่าคำสอนของปราชญ์เหล่านั้นสนับสนุนราชาธิปไตยหรือขัดขวางประชาธิปไตยแต่อย่างใด ถ้าบันไดมีอยู่และใช้พาดปีนขึ้นตึกได้ แต่เราไม่ได้ใช้บันไดนั้นพาด หรือพาดแต่ไม่ปีนขึ้นบันไดนั้น ย่อมไม่หมายความว่าบันไดนั้นขัดขวางเราไม่ให้ขึ้นตึก หรือว่ามันสนับสนุนให้เราอยู่บนพื้นล่าง - อีกอย่างหนึ่ง ต้องมองให้ถูกว่า ไม่ใช่พุทธศาสนาเป็นตัวทำเป็นตัวบันดาล หรือเป็นตัวก่ออิทธิพลต่อสิ่งอื่นฝ่ายเดียว ถึงสิ่งอื่นก็ก่ออิทธิพลต่อสิ่งอื่นได้ และต่อพุทธศาสนาได้เหมือนกัน คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงอาจถูกแบ่งส่วนเลือกเอามาบ้าง ถูกตีความบ้าง ให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง หรือแม้แต่ขาดการศึกษา ขาดการชี้แจงแนะนำสั่งสอนที่สม่ำเสมอต่อเนื่องและทั่วถึง จึงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่เพียงพอ ดังนี้เป็นต้น
ข้อสำคัญ เมื่อเกิดความสำนึกแล้ว รู้ว่าต้องการอะไร และมีโอกาสก็ศึกษาเสียให้รู้ชัดว่าหลักการที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาที่ประสบอยู่ และเพิ่มพูนปัญญาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลสำเร็จที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้ ก็ทำสิ่งนั้น ที่มาพูดกันนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อมาดูว่า อ๋อนี่เข้ากันได้นะ เท่านั้น แต่เรามีปัญหาต้องการประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เข้าถึงจริง จึงมาหาเครื่องช่วยแก้ปัญหาว่าอันนี้จะเอามาช่วยได้หรือไม่
สัมฤทธิผลของประชาธิปไตย
นอกจากอธิปไตยแล้ว จะขอพูดสั้นๆ เรื่องประชาธิปไตยอีกเล็กน้อย
ประชาธิปไตยนี้ มันเป็นเรื่องการปกครองร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้น เราจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ เหมือนอย่างคนเดินทางไปร่วมกัน ถ้าเป็นแบบเผด็จการ เมื่อคนเดินทางด้วยกันมากๆ ผู้นำก็จะบังคับเอาว่าจะต้องเดินทางไปให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงผู้เดินทางว่าใครจะอ่อนแอ ใครจะเดินไหว เดินไม่ไหวก็อาจจะปล่อยให้ตายไป เราไปให้ถึงที่หมายให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็หมายความว่าเราจะต้องคำนึงถึงทุกคน เราจะเดินทางไปได้ดีต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน หากว่าคนไหนอ่อนแอ เราก็อาจจะไปช่วยจูงช่วยอุ้ม ซึ่งแม้จะไปถึงที่หมายช้าหน่อย แต่ก็ทำให้ทุกคนเดินทางไปด้วยความสบายและถึงที่หมายโดยทั่วถึงกันทุกคน
ประชาธิปไตยนั้น เป็นกึ่งกลางระหว่างเผด็จการหรือว่าการบีบบังคับ กับอนาธิปไตย คือไม่มีการปกครองเลย ถ้าหากว่าเราไม่มีความพร้อมเพรียง ไม่มีความประสานความร่วมมือกันแล้ว ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นภาวะที่ไม่มีการปกครองนั้นเอง อันนี้จะเทียบง่ายๆ เหมือนอย่างนิทานเรื่อง “นกกระจาบ” นั่นแหละ นกกระจาบที่มันบินลงมากินข้าวในนาแล้ว นายพรานเอาตาข่ายไปดักคลุมมันไว้ทั้งหมด ถ้ามันเป็นประชาธิปไตย คือ พยายามที่จะร่วมมือกัน มันบินไปด้วยกัน พร้อมเพรียงกัน มันก็พาตัวรอดภัยไปได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันถือประชาธิปไตยที่ว่าต่างตัวต่างคนพยายามจะยื้อแย่งผลประโยชน์กัน เกี่ยงกัน ที่จะเอาก็แย่งกัน ที่จะทำก็เกี่ยงกัน บอกว่าอยากมีเสรีภาพ แต่ใช้เสรีภาพเพื่อแย่งกัน ใช้เสรีภาพเพื่อเกี่ยงกัน ผลที่สุดมันก็ตายไปด้วยกันนั่นเอง
เสรีภาพเป็นองค์ประกอบและเป็นอุปกรณ์สำคัญของประชาธิปไตย เป็นช่องทางให้ส่วนที่ดีที่สุดแห่งภูมิปัญญาของทุกคนถูกนำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ บุคคลจึงต้องใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผลเพื่อแสดงสิ่งที่เกิดจากภูมิปัญญา แต่ถ้าคนใช้เสรีภาพเพียงเพื่อเป็นทางระบายอารมณ์ เสรีภาพก็เป็นเพียงช่องทางสนองตัณหา และย่อมนำมาซึ่งความล้มเหลวของประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจะดีหรือไม่ อยู่ที่ว่าเราจะทำสาระของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ มีความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน รู้จักใช้เสรีภาพ รู้จักปกครองตนเอง เป็นต้น ถ้าทำไม่ได้ ประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยขั้นเลว เป็นประชาธิปไตยแบบนกกระจาบ ซึ่งนำไปสู่หายนะได้เช่นเดียวกัน เรื่องสาระของประชาธิปไตยนั้นยังมีอยู่อีกมากมาย ไม่มีโอกาสที่จะพูดในที่นี้ เพราะว่าเวลาหมด เพราะฉะนั้น ขอยุติเพียงเท่านี้ฯ
No Comments
Comments are closed.