- พระพุทธศาสนา กับประชาธิปไตย
- พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
- เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
- เกณฑ์วินิจฉัย ความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
- ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม
- สันโดษ
- วรรณะ
- การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์
- ตบะ
- โยคะ
- ภาคผนวก ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
- บทสัมภาษณ์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
- ที่มา
- อนุโมทนา
- คำนำ
พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
วันนี้อาตมารู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาแสดงธรรมกถาในสถานที่นี้ ซึ่งมีผู้ใฝ่รู้ทางวิชาการและใฝ่ความรู้ทางธรรม เรื่องที่จะพูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักธรรม นับว่าเราได้มาพูดกันถึงเรื่องที่เป็นสิริมงคล และสังคมปัจจุบันก็เป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงมีสภาพน่าสนใจ จึงเป็นข้อน่ายินดีที่กำหนดให้พูดในเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ความหมายของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ความจริงสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องธรรมดา คือสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตลอดทุกเวลา เราเชื่อในหลักพุทธศาสนา คือ หลักอนิจจัง ความไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่ตั้งหัวข้อว่า สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง สังคมนั้นก็ย่อมกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นธรรมดา แต่การที่มาเน้นใส่คำว่า กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าไปในที่นี้ ย่อมมีความหมายเพิ่มเติมเป็นพิเศษนอกเหนือจากปกติอีก คือตามปกติการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกระแสของหลักอนิจจังนั้น อาจเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันไปตามปกติของสิ่งนั้นก็ได้ คือ สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามทิศทางของมันเอง แล้วก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ถ้าพูดอย่างภาษาชาวโลกกว้างๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ บางทีเราถือว่าเป็นการอยู่นิ่งได้เหมือนกัน เหมือนอย่างเรานั่งอยู่ในสถานที่นี้ ตลอดเวลาก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย แต่ในภาษาพูดกว้างๆ เราถือว่านั่งอยู่นิ่งๆ ซึ่งความจริงก็ไม่นิ่ง เพราะในร่างกายทุกส่วน ทั้งทางกายและทางจิตใจมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
คำว่า สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในที่นี้ ย่อมมีความหมายเป็นพิเศษ ในแง่ที่ว่ามันไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงตามปกติ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในอัตราความเร็วที่สูงกว่าปกติ และมีเหตุปัจจัยพิเศษเข้ามาช่วยเร่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น ตลอดจนกระทั่งว่ามันอาจจะเปลี่ยนแปลงทิศทางของความเปลี่ยนแปลงนั้นอีกก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่พูดว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงในที่นี้ จึงหมายถึง สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากการที่สิ่งทั้งหลายไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามปกติ มีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบในโครงสร้าง หรือมีเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ดูผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้ เราถือว่าสังคมไทยเรากำลังอยู่ในยุคของความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ คือไม่ใช่เวลาเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ แต่มีความเปลี่ยนแปลงพิเศษ ถึงอาจจะเปลี่ยนแปลงทิศทางไปก็ได้
เมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเราอาจจะพูดได้หลายแง่ จะพูดในแง่ที่พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นอย่างไร คือช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไรหรือไม่ และช่วยในทางดีหรือทางเสีย หรืออาจจะพูดในแง่ที่ว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปนั้นมันจะเกิดผลกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร พระพุทธศาสนาจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงไป เพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น อาจจะพูดในแง่นี้ก็ได้ หรืออาจจะพูดในแง่ที่ว่าในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนั้น พระพุทธศาสนาควรมีบทบาทอย่างไร พระพุทธศาสนาควรช่วยสังคมอย่างไรบ้าง ในระยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ รวมความว่าอาจจะพูดได้หลายแง่ แต่จะให้พูดในแง่ไหนบ้างก็แล้วแต่เวลาและโอกาสจะมีให้ นอกจากนั้น ในการพูดทั้งหมดนี้พูดได้ ๒ แง่ คือ พูดในแง่หลักธรรมของพุทธศาสนาก็ได้ คือ พูดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีส่วนช่วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เราจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไร อย่างนี้ก็ได้ หรือ อาจพูดในแง่ว่าในสภาพที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง พระสงฆ์วัดวาอารามจะทำอะไรกันได้บ้าง อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพูดถึงทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะพูดได้ไม่หมดในเวลาที่กำหนดให้เพียงเท่านี้
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
เมื่อพูดเรื่องพระพุทธศาสนา กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงจะพูดในแง่ใดก็ตาม ก็มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนานั้น เหมาะที่จะเอามาพูดเอามาเกี่ยวข้องกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะมีลักษณะของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่เข้ากันได้กับเรื่องนี้ คือ พระพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และการที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เป็นความเพียรพยายามที่จะแก้ปัญหาของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไร อันนี้เราควรที่จะย้อนกลับไปพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาตั้งแต่พุทธกาล ในที่นี้เรามีเวลาพอสมควร จะลองหันกลับไปดูภาพในอดีตกันสักเล็กน้อยก็ได้ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นประมาณ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้ก็ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว บวกเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญศาสนกิจทั้งหมด ๔๕ พรรษาเข้าไปเป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนา ก็เป็นเวลาถึง ๒,๕๖๒ ปี แดนอุบัติแห่งพระพุทธศาสนาก็คือชมพูทวีป ชมพูทวีประยะนั้นกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ซึ่งเราเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล ก็เป็นสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จึงพูดได้ว่า พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง ทีนี้ลองมาพิจารณาสภาพและวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาต่อสังคมชมพูทวีปสมัยโบราณเมื่อ ๒ พันกว่าปีมาแล้ว ที่ว่ากำลังเปลี่ยนแปลงนั้น ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ลองสำรวจเป็นแง่ๆ
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ด้านที่ ๑ มองในแง่ของการเมือง ในสมัยพุทธกาลนั้น ชมพูทวีปส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็คือชมพูทวีปภาคเหนือ หรืออินเดียภาคเหนือในปัจจุบัน ในตอนนั้น อินเดียยังแบ่งแยกออกเป็นหลายแว่นแคว้นเหลือเกิน ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนามี ๑๖ แคว้นด้วยกัน1 เช่น แคว้นอังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เป็นต้น แคว้นเหล่านี้ได้มีการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงสมัยพุทธกาลจริงๆ แล้ว มีแคว้นที่ยิ่งใหญ่เหลืออยู่ไม่กี่แคว้น ที่มีอำนาจมากจริงๆ ก็คือ ๑.แคว้นมคธ ๒.โกศล ๓.วัชชี ๔.วังสะ ๕.อวันตี
ในบรรดาแคว้นเหล่านี้ เมื่อว่าโดยระบบการปกครองจะแบ่งออกได้ ๒ ประเภท พวกหนึ่งปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นำ และปกครองด้วยอำนาจที่สมบูรณ์เด็ดขาด ประเทศที่มีการปกครองแบบนี้ ได้แก่ รัฐมคธ เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ปกครอง ต่อมาก็แคว้นโกศล มีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง มีพระเจ้าแผ่นดินชื่อปเสนทิโกศล ต่อไปก็แคว้นวังสะ มีเมืองโกสัมพีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าแผ่นดินชื่ออุเทน ต่อไปก็แคว้นอวันตี มีเมืองหลวงชื่ออุชเชนี มีพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต บรรดาแคว้นทั้ง ๔ นั้น ที่ใหญ่จริงๆ ก็เพียงสองแคว้น คือแคว้นมคธ กับโกศล ซึ่งกำลังเรืองอำนาจมากขึ้น ส่วนระบบการปกครองอีกแบบหนึ่ง ก็คือระบบสามัคคีธรรม ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ประเทศที่ปกครองแบบนี้ที่ใหญ่จริงๆ ในขณะนั้นก็เหลือเพียงวัชชีแควันเดียว ซึ่งมีกรุงเวสาลีหรือไพศาลีเป็นเมืองหลวง แคว้นสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยนอกจากนั้นกำลังสูญสิ้นอำนาจไป เช่นแคว้นศากยะ ตอนพุทธกาลก็ยอมรับอำนาจของแคว้นโกศลแล้ว และต่อมายังไม่ทันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ถูกแคว้นโกศลโดยพระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพไปปราบเสียหายหมด อีกแคว้นหนึ่งคือมัลละ ตอนนั้นก็มีอำนาจเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สภาพทางการเมืองในสมัยนั้นชี้ให้เห็นว่า ในครั้งพุทธกาลกำลังมีการขยายอำนาจ ประเทศต่างๆ กำลังขยายดินแดน สู้รบกันเพื่อจะทำให้ประเทศของตนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็รวบประเทศอื่นเข้ามาอยู่ในอำนาจทั้งหมด รวมแล้วก็มีระบบการปกครองอยู่ ๒ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ การปกครองของวัชชี รวมถึงแคว้นศากยะและพวกมัลละ ซึ่งมีการปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือที่เทียบกับสมัยนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งหรือระดับหนึ่ง จะพูดให้เห็นลักษณะบางอย่างที่ว่าประชาธิปไตยอย่างไร คือประเทศเหล่านี้มีการปกครองโดยมีการประชุมพิจารณาตัดสินกรณียกิจของแว่นแคว้น เขามีสภาหรือที่ประชุมเรียกว่า สัณฐาคาร สัณฐาคารเป็นที่ประชุมของของรัฐ เวลามีเรื่องราวกิจการรัฐเกิดขึ้น พวกชนผู้มีหน้าที่ปกครองจะต้องมาประชุมที่สถานที่นั้นมาพิจารณาร่วมกันลงมติตัดสินใจว่าทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอพระราชธิดาของเจ้าศากยะมาเป็นพระมเหสี เพื่อจะได้เป็นญาติกับพระพุทธเจ้า พวกศากยะทั้งหลายก็ยกเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสัณฐาคาร มีการประชุมพิจารณาว่าจะทำอย่างไร และลงมติตัดสินถือเอาตามเสียงที่ประชุม หรืออย่างแคว้นมัลละตอนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน อย่างพวกกษัตริย์มัลละก็จะพากันไปประชุมที่สัณฐาคาร พิจารณากันว่าในการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นจะจัดงานพระสรีรศพอย่างไรกัน เป็นการเตรียมการล่วงหน้า และตอนที่พระอานนท์ไปแจ้งข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ได้ไปแจ้งที่สัณฐาคาร ในขณะที่เจ้ามัลละกำลังประชุมกันอยู่ แม้แคว้นวัชชีก็มีผู้นำ หรือหัวหน้าหรือผู้ทำหน้าที่ผู้ปกครองในเวลาหนึ่งๆ บริหารร่วมกัน ถึง ๗,๗๐๗ องค์ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประมุขตามวาระ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น พวกนี้ก็ต้องมาประชุมพร้อมกันที่สัณฐาคาร เพื่อจะได้พิจารณาตกลงว่าจะปฏิบัติอย่างไร ในแต่ละกรณี
ในการแย่งชิงอำนาจขยายอาณาเขตนั้น ปรากฏรูปการณ์ว่าฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความเข้มแข็งกว่า และกำลังจะปราบปรามรวมเอาพวกประชาธิปไตยเข้าไว้ในอำนาจได้มากยิ่งขึ้น โดยลำดับ คงเหลือวัชชีเป็นแคว้นสามัคคีธรรมเพียงแคว้นเดียวที่ยังมีอำนาจมากอยู่ นอกนั้นได้ไปตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบหมดสิ้นแล้ว แคว้นวัชชีนี้ยังดำรงอยู่ได้เพราะเป็นแคว้นที่เข้มแข็งมาก มีสามัคคีธรรมอย่างสูง พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาท่ามกลางสภาพทางการเมืองอย่างนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักศาสนา ไม่ใช่เป็นเพียงนักปรัชญา พระองค์ก็จะต้องทรงเกี่ยวข้อง ในการที่จะให้ประชาชนตั้งแต่ชั้นต่ำสุดคือยากจนที่สุด จนกระทั่งพระราชามหากษัตริย์ มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก มีความประพฤติดีงาม มีศีลธรรม ดำเนินกิจการให้บังเกิดผลดีงามทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้น ให้มีการนำธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปกครองด้วย ทีนี้พระพุทธเจ้าจะทรงเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องลองพิจารณากันดู
สรุปว่าในด้านที่ ๑ เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองแคว้นต่างๆ กำลังแย่งชิงอำนาจกันเหลือแคว้นน้อยลงไปตามลำดับ แคว้นไหนมีอำนาจมาก ก็จะรวมแคว้นอื่นเข้ามาอยู่ในอาณาเขตของตน และในสภาพการณ์เช่นนี้ การปกครองแบบประชาธิปไตยก็กำลังจะหมดไป
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม
ด้านที่ ๒ คือด้านเศรษฐกิจ ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อมีการแผ่อำนาจโดยการแย่งชิงดินแดนกัน การค้าขายก็ปรากฏว่าได้เจริญเติบโตตามไปด้วย มีการค้าขายในระหว่างเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวางแต่ว่าการค้าขายเหล่านี้ที่เด่นชัดก็คือ เรื่องของสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ผ้าผ่อนแพรพรรณอย่างดี เพชรนิลจินดา เป็นต้น จะเห็นได้จากหลักฐานสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระเยาว์ เป็นพระกุมารทรงเสวยความสุขสำราญโดยใช้ผ้าจากแคว้นกาสีซึ่งถือว่าเป็นผ้าที่ดีที่สุด หรืออย่างเรื่องกามนิต ชาวกรุงอุชเชนีในแคว้นอวันตีไปราชกิจกับราชทูต แล้วได้เดินทางเกี่ยวกับการค้าขายไปยังเมืองโกสัมพีในแคว้นวังสะของพระเจ้าอุเทน อย่างนี้เป็นต้น เป็นตัวอย่างแห่งการค้าขายระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ
ในเมื่อการค้าขายเจริญเติบโตขึ้นอย่างนี้ การเงินก็มีอิทธิพลมากขึ้น คนอีกประเภทหนึ่งก็มีอิทธิพลมากขึ้นโดยลำดับขึ้น คือ พวกเศรษฐี คหบดี ซึ่งมีอิทธิพลเข้าไปแม้แต่ในวงการของนักปกครอง คือมีอิทธิพลแพร่เข้าไปในราชสำนัก สามารถมีเสียงดังแก่นักปกครองได้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐีมีความเป็นอยู่ดีเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่แพ้พระราชา และแคว้นไหนมีเศรษฐีมากก็มีชื่อเสียงมาก ถึงกับแคว้นที่มีเศรษฐีน้อยต้องขอเศรษฐีจากแคว้นอื่นไปอยู่ในแคว้นของตนก็มี ตัวอย่างเช่นคัมภีร์เล่าเรื่องแคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิโกศล เห็นว่า แคว้นมคธมีเศรษฐีมากถึง ๕ คน ก็เลยขอเศรษฐีชื่อเมณฑกะให้ไปอยู่ในแคว้นของตนบ้าง จะได้ช่วยให้แคว้นของตัวรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ท่านเศรษฐีเมณฑกะก็คือปู่ของของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน
พวกเศรษฐีนอกจากมีอิทธิพลในทางการเมืองแล้ว ก็ยังมีสิทธิในการปกครองด้วย คือในวงการค้าขายมีกลุ่มชนต่างๆ คนมีอาชีพค้าขายเหล่านี้ ถ้ามีกรณีพิพาทกันก็ให้เศรษฐีเป็นผู้ตัดสิน คล้ายๆ ว่าเศรษฐีเป็นผู้ควบคุมดูแลตัดสินใจสายกิจการการพาณิชย์ทั้งหมดทีเดียว เศรษฐีมีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบในกิจการของรัฐ จึงต้องไปเฝ้าพระราชา วันหนึ่ง ๕ ครั้ง อย่างนี้เป็นต้น แสดงถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางการเมือง การปกครองเป็นอย่างดี นี้เป็นสภาพทางเศรษฐกิจ
ด้านที่ ๓ ในทางสังคม สภาพทางสังคมนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วยคือ ความอยู่ดีกินดีของชนบางชั้นที่ร่ำรวยมั่งมีขึ้น ได้แก่ เจ้านาย นักปกครอง เศรษฐีทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ก็อยู่กันอย่างสบาย มีปราสาทอยู่ อย่างพระพุทธเจ้าของเราสมัยเป็นพระราชกุมาร ก็มีปราสาท ๓ ฤดู ถึงพวกเศรษฐีอื่นๆ ก็มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ฟุ้งเฟ้อ ได้รับความสำราญ ได้รับความปรนเปรอเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาศัยการค้าขาย เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองขึ้นมานั้น
จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ก็มีเรื่องอื่นที่ควรพิจารณาพ่วงเข้ามาด้วย คือเรื่องของพวกพราหมณ์ซึ่งเป็นปัญญาชน หรือนักวิชาการในสมัยนั้น พวกพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ปรากฏว่าไม่ทำหน้าที่ของปัญญาชนหรือวิชาการเท่าไร กลับหันมามัวเมาฟุ้งเฟ้อในเรื่องลาภสักการะมาก เพลิดเพลินวุ่นวายอยู่กับพิธีการต่างๆ ชอบความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แสวงหาผลประโยชน์จากนักปกครอง โดยหันไปเอาใจนักปกครอง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตน แทนที่จะเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ทั่วๆไปของประชาชน พวกพราหมณ์นั้นไปบอกนักปกครองคือ พระราชามหากษัตริย์ว่าจะทำพิธีกรรมอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือรบชนะข้าศึกในสงคราม อะไรทำนองนี้เป็นต้น จึงเกิดบัญญัติพิธีกรรมขึ้นมากมาย มีการบูชายัญ เช่นอัศวเมธ เป็นต้น อันนี้ก็มาจากเหตุที่ว่าพราหมณ์ไปเอาใจนักปกครองต่างๆ เพื่อผลตอบแทนของตนเอง เพราะว่าเมื่อพระราชามหากษัตริย์นักปกครองเชื่อถือทำตามอย่างที่ตนสอนให้แล้ว ก็จะต้องให้ผลตอบแทนแก่ตนอย่างมากมาย
สภาพของพราหมณ์ซึ่งเป็นนักวิชาการ และเป็นนักบวชด้วย ในสมัยพุทธกาล จึงเป็นภาวะของการเพลิดเพลินอยู่กับพิธีกรรมและลุ่มหลงอยู่กับลาภสักการะ มีความอยู่ฟุ้งเฟ้อ แล้วนอกจากนี้ยังผูกขาดการศึกษาด้วย คือ พราหมณ์ในฐานะนักวิชาการ ได้ควบคุมการศึกษาไว้ในมือทั้งหมด มีการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมากำหนดว่า หนังสือตำรับตำราชั้นสูงสุดได้แก่พระเวทนั้น คนอื่นจะเรียนไม่ได้ นอกจากคนวรรณะพราหมณ์ หรือรองลงไปอย่างพวกกษัตริย์เท่านั้น ถ้าเป็นคนชั้นต่ำอย่างพวกศูทรไม่มีโอกาสจะเรียนได้เลย ต่อมาถึงกับวางหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดที่สุด กำหนดว่าพวกศูทรนั้นเพียงแต่ได้ยินได้ฟังการสาธยายพระเวทนี้ จะต้องเอาตะกั่วมาหลอมแล้วกรอกหู หรือถ้าเอาคำในพระเวทมาสาธยายก็จะต้องตัดลิ้นเสีย หรือถ้าเรียนพระเวทท่านว่าให้ผ่าร่างกายเป็น ๒ ซึก นี้ถือได้ว่าเป็นการผูกขาดการศึกษาไม่ให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสรู้เท่าเทียมกับพวกพราหมณ์
ส่วนสภาพทั่วไปในด้านประชาชนชาวชนบท ชาวไร่ชาวนาในสมัยนั้น นับว่ามีความเป็นอยู่สุขสบายพอสมควร คือ อยู่กันด้วยความสุขความพอใจ เพราะไม่ถูกแทรกแซงจากภายนอก คือพวกในเมืองไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว พวกชาวนานี้ก็มีที่ดิน ที่ตัวเองมีกรรรมสิทธิ์ร่วมกันในหมู่บ้านหนึ่งๆ ในเขตหนึ่งๆ โดยที่ดินนั้นเป็นของหลวง ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว ไม่มีใครมาแทรกแซงเป็นเจ้าของขึ้นต่างหากออกไป และก็มีหัวหน้าที่ตนเองเลือกขึ้นมา ใครจะมาติดต่อก็ติดต่อกับหัวหน้าที่พวกตัวเองเลือกตั้งขึ้นมานั้น จึงอยู่ด้วยกันอย่างสุขสบาย มีความพอใจในความเป็นอยู่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เค้าของความเดือดร้อนก็ได้เริ่มมีขึ้น เพราะว่าเมื่อมีสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ การรบราฆ่าฟันกันย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เดือดร้อนไปถึงชาวไร่ชาวนาและชาวชนบทด้วย
เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่าตามประวัติเล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในท่ามกลางความสุขสำราญ ได้รับการบำรุงปรนเปรอทุกอย่างทุกประการ จะต้องการอะไรก็ได้ตามปรารถนา แต่พระองค์กลับทรงเบื่อหน่าย ก็เพราะทรงเห็นความเป็นอยู่ของประชาชน ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินออกไปสำรวจ ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ หรือนิมิต ๔ อย่าง ความจริง สิ่งทั้ง ๔ นี้คือ ภาพที่ท่านแสดงเป็นสัญลักษณ์ ให้เห็นถึงปัญหาชีวิตและความทุกข์ยากของมวลมนุษย์นั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงเห็นสภาพความเดือดร้อนของคนทั่วไป โดยเฉพาะที่เป็นเฉพาะหน้าก็คือ ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวแว่นแคว้นของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ไม่อาจที่จะประมาทเพลิดเพลินมัวเมาในราชสมบัติได้ ทรงเห็นว่าความสุขที่พระองค์ได้รับอยู่ไม่มีความหมาย จึงได้ทรงเสียสละความสุขนั้นออกไปดำรงชีวิตอย่างที่เรียกว่า ขัดสนยากแค้นที่สุด แสวงหาอาหารตามแต่จะได้ มุ่งแต่จะหาวิธีการมาช่วยมนุษย์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์เท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เสด็จกลับเข้ามาสั่งสอนประชาชนอีก ทรงเข้ามาในตัวบ้านตัวเมือง เกี่ยงข้องกับคนทุกชั้นตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ลงไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในด้านนักปกครองนั้น พระองค์ทรงเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทีเดียว คือ ระยะที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในแคว้นมคธ ตอนที่เข้าแคว้นมคธก็โปรดพระเจ้าพิมพิสารก่อน ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเข้ามาสั่งสอนเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมดทุกชั้นอย่างนี้ ถ้าต้องการทราบว่า พระพุทธศาสนาได้ช่วยและมีทัศนะในการช่วยอย่างไร ก็ลองแยกออกพิจารณาตามที่ได้พูดไปเมื่อกี้นี้แล้วคือ แยกเป็นเรื่องๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องการเมือง เป็นต้นไป
พระพุทธศาสนากับการเมือง
ในด้านการเมืองนั้น อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เขากำลังพยายามขยายอาณาเขตรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน และมีระบบ ๒ ระบบเป็นคู่แข่งขันกัน คือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับระบบสามัคคีธรรมหรือระบบประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง ใน 2 ระบบนี้มีเค้าให้เห็นแล้วว่า ระบบประชาธิปไตยจะไปไม่ไหวและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แคว้นวัชชีนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ไม่นานเท่าไร ก็ถูกแคว้นมคธโดยพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ เข้ามายุแหย่จนกระทั่งแตกความสามัคคี แล้วส่งกองทัพเข้ามารุกราน แคว้นวัชชีก็พินาศ เรื่องนี้มีมาในวรรณคดีไทยด้วย คือ สามัคคีเภทคำฉันท์ พวกวัชชีหมดก็หมายความว่าระบบประชาธิปไตยสูญสิ้น เหลือแต่ระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเดียว พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ในสังคมสมัยนั้น ทรงคาดการณ์เห็นอยู่แล้วว่า ถึงอย่างไรระบบประชาธปไตยนั้น ก็จะไปไม่ถึงที่สุด จะต้องถูกล้มล้างโดยระบบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์แน่นอน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ประการที่ ๑ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบของผู้ต้องการมีอำนาจอยู่แล้ว คือจุดมุ่งหมายอยู่ที่อำนาจและจะเผยแผ่อำนาจออกไป ส่วนระบบสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยสมัยโบราณ มุ่งแต่ว่าจะจัดการปกครองอย่างไรประชาชนถึงจะอยู่ดีกินดี มีความผาสุกในบ้านเมือง ก็มุ่งไปเท่านั้น
ประการที่ ๒ ระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม อยู่ได้ด้วยความสามัคคี คือต้องมีความพร้อมเพรียงกันร่วมแรงร่วมใจกัน แล้วก็มีปัจจัยที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ ระเบียบวินัย เป็นเครื่องดำรงรักษาความสามัคคี เมื่อใดไม่มีระเบียบวินัย เมื่อไรความสามัคคีหมดไป ระบบสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยแบบสมัยโบราณนั้นก็ต้องพังพินาศ
ทีนี้เมื่อระบบ ๒ ระบบมาแข่งขัน ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังขยายตัว เพราะต้องการอำนาจ กำลังใช้อำนาจนั้นมากที่สุดกำลังรุกรานเพื่อขยายดินแดนและก็ใช้วิธีการที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียความสามัคคีอีกด้วย วิธีการที่ทำให้เสียสามัคคีก็คือการไปยุแหย่ การยุแหย่นั้นทำได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือใช้คนในประเทศนั้นเองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ โดยเอาลาภสักการะเอาผลประโยชน์ทางวัตถุไปให้ พอคนในแคว้นสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยนั้นเห็นแก่ลาภเห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่ช้าก็จะแก่งแย่งกัน แล้วสภาพอย่างนี้ก็เกิดขึ้นในแคว้นวัชชีจริงๆ โดยที่ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ ในไม่ช้าพวกนักปกครองของวัชชีก็แตกแยกความสามัคคีกันหมด พอแตกความสามัคคีไม่พร้อมเพรียงกันแล้วทุกอย่างก็รวนเร ปรวนแปร กำลังก็หมดไป แต่ตรงข้าม ถ้าหากแคว้นวัชชีที่ปกครองด้วยสามัคคีธรรมนั้น ยังมีระเบียบวินัย มีความพร้อมเพรียงกันเป็นอย่างดีแล้ว ถึงแคว้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างมคธจะยกกองทัพไปรุกราน ก็ไม่อาจเอาชนะได้
ในการเกี่ยวข้องกับระบบทั้งสองนั้น พระพุทธเจ้าทรงพยายามช่วยทุกฝ่าย เพื่อให้เขาดำรงรักษาความเรียบร้อยสงบสุขของประเทศไว้ จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนหลักธรรมเพื่อช่วยการปกครองทั้ง ๒ แบบ สำหรับระบอบราชาธิปไตยทรงสั่งสอนเพื่อให้การครองราชสมบัติขยายความหมายออกไปกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนมากที่สุด ให้อำนาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร หรือผู้อยู่ในปกครองให้มากที่สุด สำหรับระบอบสามัคคีธรรมทรงสั่งสอนเพื่อให้การปกครองระบอบนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดีที่สุด และดำรงอยู่ได้ยืนนานที่สุด
สำหรับระบบสามัคคีธรรม จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหลักอปริหานิยธรรมไว้ ๗ ประการ เริ่มตั้งแต่ให้ประชุมกันเนืองนิตย์ คือประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม เมื่อมีกิจที่กระทำเป็นของส่วนรวมก็พร้อมเพรียงกันทำ ให้ยึดมั่นในวัชชีธรรมไม่ล้มล้าง ถ้าเรียกอย่างในปัจจุบันก็คือ ให้ยึดมั่นในหลักรัฐธรรมนูญอะไรทำนองนี้ เทียบกันได้ ในสมัยนั้นเรียกว่าหลักวัชชีธรรม จะอ่านทวนอปริหานิยธรรมให้ฟังก็ได้คือ
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรกระทำ
๓. ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรม ไม่ล้มล้างบัญญัติที่บัญญัติไว้แล้ว ไม่บัญญัติใหม่ในหลักที่ยังไม่บัญญัติ
๔. เคารพ นับถือ รับฟังคำของผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ
๕. ป้องกัน ให้ความอารักขาแก่สตรี กุลสตรีทั้งหลาย ให้มีความเป็นอยู่ดี มิให้ถูกข่มเหงรังแก
๖. เคารพ บูชา สักการะเจดียสถาน ปูชนียสถาน หรืออนุสาวรีย์
๗. ให้ความอารักขาแก่ผู้บริสุทธิ์ ผู้เป็นหลักความประพฤติและหลักใจของประชาชน ได้แก่นักบวชทั้งหลาย ซึ่งกล่าวในที่นั้นเรียกว่าพระอรหันต์
นี้เป็นหลักอปริหานิยธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสำหรับพวกวัชชี ถ้าพวกวัชชียังยึดหลักเหล่านี้อยู่ ก็มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน เมื่อมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ก็ยังมีความมั่นคงเข้มแข็งไม่มีทางเสื่อม ใครๆ เอาชนะไม่ได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง ในระยะที่พวกวัชชีมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันอยู่อย่างนี้ พวกมคธก็ไม่กล้ายกทัพไปตี ทั้งๆ ที่มีกองทัพมากมายมหาศาล จนต้องใช้วิธีให้เกิดความแตกแยกสามัคคีกันก่อน จึงยกทัพไปรุกราน จึงได้รับผลสำเร็จสมปรารถนา นี้เป็นแง่ของระบบประชาธิปไตย หรือแม้สามัคคีธรรมแบบสมัยโบราณ ซึ่งเป็นหลักสำคัญก็คือ อยู่ได้ด้วยความสามัคคี และความมีระเบียบวินัย ซึ่งจะมั่นคงได้ก็เพราะอาศัยความไม่เห็นแก่อามิส แต่เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความถูกต้องดีงามและประโยชน์สุขส่วนรวม เป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่ง
ทีนี้ อีกระบบหนึ่งคือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นแล้วว่า ระบบนี้จะต้องชนะในระยะยาว พระองค์จึงสอนหลักธรรมเป็นอุดมคติไว้สำหรับพระราชาหรือผู้ปกครองสูงสุด เป็นธรรมสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร มี ๑๒ หัวข้อด้วยกัน จักรวรรดิวัตรเป็นหลักที่บอกว่า นักปกครองในระบบราชาธิปไตย ผู้มีอำนาจที่สุด รุ่งเรืองที่สุด ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร และควรปกครองอย่างไร ซึ่งในที่นี้จะสรุปมาให้ฟังรวมได้ ๕ ข้อคือ:-
๑. พระจักรพรรดินั้นเป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพบูชาธรรม
๒. จัดการรักษา คุ้มครองป้องกัน และทะนุบำรุงแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้น ซึ่งในที่นี้แบ่งไว้ ๗ ประเภทด้วยกัน ตลอดจนสัตว์ป่า อันควรสงวนพันธุ์
๓. ไม่ให้มีการกระทำที่ผิดธรรมขึ้นในแว่นแคว้นของตน คือ ป้องกันและกำจัดการกระทำที่ผิดธรรมในแว่นแคว้น
๔. แบ่งปันและเฉลี่ยทรัพย์ให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ หมายความว่า ไม่ให้มีผู้ยากจนในแว่นแคว้น
๕. ปรึกษาไต่ถามสมณพราหมณ์ หมายความว่า ต้องแสวงหาปัญญาอยู่เสมอ โดยหาที่ปรึกษาที่ดี บริสุทธิ์ มีคุณธรรม
นี้เป็นหลักสำคัญ สำหรับระบบราชาธิปไตย ชนิดที่เป็นอุดมคติ คือเป็นจักรพรรดิ มีข้อควรย้ำ ๓ ข้อด้วยกันคือ:-
๑. ตนเองต้องตั้งมั่นในธรรม และต้องสร้างเสริมความเป็นธรรมและความชอบธรรมให้มีขึ้นในแว่นแคว้น
๒. ต้องไม่ให้มีความยากจน ต้องคอยเอาใจใส่หาทางให้คนไม่มีทรัพย์ได้รับการแบ่งปัน และเพิ่มพูนทรัพย์แก่ผู้ยากไร้ขัดสน
๓. ต้องแสวงปัญญา ไม่กระทำการโดยความเห็นเฉพาะผู้เดียวถึงแม้จะเป็นจักรพรรดิสูงสุดก็ต้องหาที่ปรึกษา และต้องคัดเลือกที่ปรึกษานักวิชาการที่ดี มีปัญญา บริสุทธิ์ สุจริต มีคุณธรรมจริงๆ ต้องหมั่นศึกษา ไต่ถามหารือ แสวงหาปัญญาให้มากขึ้น เพื่อวินิจฉัยว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักธรรมสำหรับการปกครองที่ดี
ในที่นี้ มีข้อสังเกตที่ขอตั้งไว้ให้พิจารณาสัก ๓ ข้อ เพื่อให้เข้าใจหลักการ และความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับคำสอนในด้านการปกครองชัดเจนยิ่งขึ้น คือ
๑. ในหลักธรรมสำหรับระบบราชาธิปไตยนั้น ถ้าพิจารณาจะสังเกตเห็นคติหรือแนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการปกครองระบบนี้ว่า มีเนื้อหาสาระที่เน้นในเรื่องใด และผิดแผกแตกต่างจากคติ หรือแนวความคิดเดิมในสมัยนั้นอย่างไร
ตามคติเดิม โดยเฉพาะตามแนวคิดของพราหมณ์หรือฮินดูสมัยต่อมาสอนเรื่องการปกครอง โดยมุ่งไปแต่ในเรื่องความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ พูดถึงแต่อำนาจ วิธีแสวงหาและรักษาอำนาจความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ อิสริยยศและบริวารยศ จนบางทีไม่คำนึงถึงจริยธรรมหรือคุณธรรม เอาความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองไปไว้ที่ความมีอำนาจ จนดูเหมือนจะถือว่า ความมีอำนาจเป็นจุดหมายในตัวของมันเอง หรืออำนาจเป็นจุดหมายของความเป็นกษัตริย์
แต่ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เบนจุดสนใจของการปกครองออกจากความมีอำนาจ หรือความยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจ มายังความสงบสุขของประเทศชาติ หรือความอยู่ดีของราษฎร สอนให้ใช้อำนาจหรือความยิ่งใหญ่นั้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน อำนาจหรือความยิ่งใหญ่มิใช่จุดหมาย แต่กลายเป็นอุปกรณ์ สำหรับใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข หรืออีกนัยหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองมิใช่อยู่ที่อำนาจ แต่อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่บำเพ็ญกรณียกิจ เพื่อประเทศชาติและราษฎร
คติเรื่องนี้ปรากฏผลในทางปฏิบัติให้เห็นสืบต่อมาจนทำให้บางทีรู้สึกกันว่า ในแง่ของการปกครอง พระพุทธศาสนาห่วงประโยชน์สุขของประชาราษฎร์มากกว่าความมั่งคงแห่งอำนาจของผู้ปกครอง ถึงกับมีผู้กล่าวหาพระพุทธศาสนาว่า เป็นต้นเหตุ แห่งความอ่อนแอและความเสื่อมของอำนาจรัฐบางรัฐ เพราะพุทธศาสนาได้ทำให้กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็นผู้มีหทัยอ่อนโยนด้วยความเมตตากรุณา แทนที่จะแข็งกร้าวและทำการทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจไว้ อาจเป็นได้ว่า พระพุทธศาสนาคำนึงถึงสวัสดิภาพและความสงบสุขของประชาชนที่เป็นอยู่ในเวลานั้นๆ ยิ่งกว่าจะยอมสละสวัสดิภาพและสันติสุขนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงของการปกครองที่มีความหมายเพียงการครองอำนาจของบุคคล หรือการมีชื่อยิ่งใหญ่อยู่ในประวัติศาสตร์ และเห็นว่าการปกครองที่มั่นคงเข้มแข็งยั่งยืนนาน แต่ปราศจากความร่มเย็นเป็นสุขของพลเมือง ก็ไม่มีความหมายอะไร
๒. หลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง สำหรับผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยซึ่งได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ และยกมาอ้างกันบ่อย ยิ่งกว่าจักรวรรดิวัตรเสียอีก หลักธรรมนั้นคือ ทศพิธราชธรรม ความจริงทศพิธราชธรรมเป็นหลักธรรมสำคัญมากเหมือนกัน แต่ที่ไม่ยกมาอ้างในที่นี้ เพราะต้องการเน้นจักรวรรดิวัตรให้เด่นชัดขึ้นมา ทศพิธราชธรรมเป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ที่ดี หรือคุณธรรมประจำตัวของนักปกครองที่ดี มากกว่าจะเป็นหลักการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกำหนดพระราชกรณียกิจที่จะพึงบำเพ็ญ และความหมายของศัพท์เองก็บ่งไว้อย่างนั้น
แหล่งที่มาสามัญของทศพิธราชธรรมก็คือคัมภีร์ชาดก การยกธรรมหมวดนี้มาอ้างในการสอน ก็เป็นไปในรูปของการเตือนในฐานะคุณธรรมที่พึงมีโดยถูกต้องตามประเพณี มากกว่าจะมีการย้ำเน้นและขยายความเป็นพิเศษ
ส่วนจักรวรรดิวัตรนี้มาในพระสูตรที่ตรัสจำเพาะ และมิใช่เป็นเพียงคุณสมบัติส่วนพระองค์ แต่เป็นกำหนดพระราชกรณียกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติในการทำหน้าที่ของการปกครองอย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับรัฐ หรือผู้ปกครองกับราษฎร แม้ประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่พึงปฏิบัติผิดไปจากนี้
๓. ในหลักธรรมสำหรับระบบทั้งสอง คือทั้งระบบราชาธิปไตยและระบบสามัคคีธรรมนั้น มีข้อที่แสดงถึงสาระสำคัญที่เหมือนกันซึ่งควรสังเกตเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง คือธรรมข้อแรกในอปริหานิยธรรมว่า หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ กับวัตรข้อสุดท้ายในจักรวรรดิวัตรว่าปรึกษาไถ่ถามสมณพราหมณ์ สาระสำคัญที่เหมือนกันก็คือ มุ่งให้มีการปรึกษาหารือ การแสวงปัญญา สำหรับระบบสามัคคีธรรมนั้น เป็นธรรมดาว่าต้องใช้สติปัญญาช่วยกันอยู่แล้ว จึงเน้นเพียงให้หมั่นประชุมกันสม่ำเสมอโดยพร้อมเพรียงกัน แต่ในระบบราชาธิปไตยที่บริหารวินิจฉัยสั่งการด้วยอำนาจสิทธิขาดแต่ผู้เดียว โอกาสที่จะใช้สติปัญญาร่วมกันเช่นนั้นอาจถูกตัดออกไปโดยสิ้นเชิง
พระพุทธเจ้าทรงถือเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงกำหนดให้มีการชดเชยหรือเติมเต็มให้มีสาระสำคัญข้อนี้เหมือนกันจนได้ในทั้งสองระบบ การกำหนดหลักปฏิบัติข้อนี้ไว้ในระบบราชาธิปไตยนอกจากมีความมุ่งหมายในด้านสติปัญญา ให้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นเหตุผลต่างๆ แล้ว ยังมีความมุ่งหมายในด้านความประพฤติที่เป็นพื้นฐานของการใช้อำนาจอีกด้วย คือให้มีทางที่จะควบคุมเหนี่ยวรั้งผู้ปกครองด้วยคำเตือน คำแนะนำ คำเสนอแนะต่างๆ มิให้ลุ่มหลงเพลิดเพลินจนใช้อำนาจผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น ข้อที่เน้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระบบราชาธิปไตย แม้จะกำหนดให้มีที่ปรึกษาอย่างนี้ แต่เพราะที่ปรึกษาเหล่านั้นผู้ปกครองเลือกเองผู้เดียว และเลือกแล้วผู้ปกครองผู้เดียวรับฟังและตัดสิน อาจเป็นได้ว่าจะมีที่ปรึกษาชนิดเห็นแก่ผลประโยชน์ชักจูงให้ไขว้เขวผิดทาง หรือเป็นแต่คนประจบป้อยอทำให้เสียการ พระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำมากถึงคุณสมบัติของที่ปรึกษานั้นว่า จะต้องเป็นผู้ควรแก่การเคารพนับถือจริงๆ เป็นสมณพราหมณ์ (สมัยนี้ว่านักวิชาการ) ที่ไม่ประมาท ไม่มัวเมา ฝึกอบรมตนอยู่เสมอ สงบระงับ ดับกิเลส ไม่ทะเยอทะยาน เป็นผู้บริสุทธิ์ ให้ความรู้ความคิดเห็นที่เชื่อถือได้จริง ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง
เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมไว้ทั้ง ๒ แบบ หมายความว่า สำหรับระบบประชาธิปไตยก็วางไว้ สำหรับระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็วางไว้ แล้วก็ได้ผล เพราะต่อมาระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรมก็หมดไปจริงๆ เพียงหลังพุทธกาลไม่นานแคว้นวัชชีก็พินาศ เพราะการรุกรานของแคว้นมคธ และต่อมาพวกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยกันก็รบพุ่งกัน จนกระทั่งเหลือแคว้นยิ่งใหญ่อยู่แคว้นเดียว แคว้นโกศลก็หายไป แคว้นวังสะที่มีเมืองโกสัมพีเป็นเมืองหลวงก็หายไป หายไปเมื่อไรไม่ทราบ แคว้นอวันตีที่มีเมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวงก็หายไป หายไปเมื่อไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน เหลืออยู่แต่แคว้นมคธ มาถึงสมัยพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกก็ขึ้นครองราชย์แห่งแคว้นมคธเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป ทรงดำเนินตามปฏิปทาแห่งจักรวรรดิวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ถ้าเราสำรวจก็จะเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงพยายามที่จะดำเนินตามอุดมคติแห่งจักรวรรดิวัตร พยายามทำพระองค์ให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ดี และพระมหากษัตริย์รุ่นหลังก็พยายามดำเนินตามรอยหลายองค์ เช่น พระเจ้ากนิษกมหาราช พระเจ้าหรรษวัฒน์ หรือนอกอินเดียออกไป ในญี่ปุ่น ก็เจ้าชายโชโตกุ ที่เขาเรียกว่า พระเจ้าอโศกแห่งแดนอาทิตย์อุทัย และในประเทศไทยที่ดำเนินตามรอยนี้ ก็คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันนี้ก็เป็นการพยายามที่จะนำเอาอุดมคติในแบบกษัตริย์ที่ดีที่สุด หรือระบบการปกครองโดยบุคคลคนเดียวที่ดีที่สุดมาใช้นั่นเอง
รวมความว่าในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในด้านการเมืองอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเตรียมคำสอนไว้ช่วยเหลือเกื้อกูล พยายามที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข ประชาชนจะอยู่ดีมีความสุขได้อย่างไร ตัวประกอบสำคัญอันหนึ่งคือการปกครอง ถ้าไม่สามารถให้นักปกครองปกครองได้ดีแล้ว ถึงอย่างไรประชาชนก็จะมีความสุขอย่างแท้จริงไม่ได้ ฉะนั้น ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ จะต้องช่วยแนะนำในการปกครองด้วย แนะนำผู้นำในทางการปกครองให้ประพฤติชอบด้วย แต่พระพุทธศาสนาต้องการจะให้คำสอนใช้ได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่จำกัดตัวอยู่ในรูปใดรูปหนึ่งแต่อย่างเดียว ว่าจะสอนเฉพาะระบบราชาธิปไตย หรือเฉพาะระบบประชาธิปไตย เพราะระบบทั้งสองนี้ยังมีอยู่ เขายังปกครองกันอยู่ เขาจะปกครองแบบไหนก็ตาม ก็ต้องให้เขาประพฤติปฏิบัติได้ให้เขาอยู่กันอย่างดีที่สุด
การปกครองคณะสงฆ์
เป็นอันว่าระบบสามัคคีธรรม หรือระบบประชาธิปไตยนั้น ในไม่ช้าก็ล้มไป เหลือแต่ระบบราชาธิปไตย ทีนี้ระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรมนั้น จะเหลืออยู่ที่ไหนในสมัยโบราณ ก็มาเหลืออยู่ในคณะสงฆ์ เพราะระบบคณะสงฆ์นั้นเป็นระบบที่เรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ขอให้สำรวจดูเพียงย่นย่อ
ในตอนแรกนั้น พระพุทธเจ้าในฐานะทรงเป็นธรรมราชา คือ เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นพระราชาแห่งธรรม เป็นผู้ค้นพบ และประดิษฐานธรรม ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการวางระเบียบแบบแผนต่างๆ บัญญัติวินัย ประกาศหลักธรรมคำสอนต่างๆ ขึ้นไว้ให้ถือเป็นแบบ ต่อมาพระองค์ก็มอบอำนาจให้สงฆ์ปกครองกันเอง ในการที่สงฆ์ปกครองกันเองนั้น ก็ให้ถือพระธรรมวินัยเป็นศาสดา ไม่ทรงตั้งแม้แต่พระภิกษุที่จะเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าสงฆ์ เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในมหาปรินิพพานสูตร ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” ความว่า “ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงไว้ ได้บัญญัติไว้ แก่เธอทั้งหลาย ในเวลาที่เราล่วงลับไป ธรรมและวินัยนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” อันนี้ได้ใช้เป็นหลักมาจริงๆ ในทางปกครอง
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน ก็มีเรื่องราวปรากฏเป็นเครื่องยืนยันถึงการปกครองระบบนี้ ตัวอย่างก็เรื่องวัสสการพราหมณ์ อีกนั่นแหละ วัสสการพราหมณ์คนสำคัญแห่งแคว้นมคธนี้ ในคราวหนึ่งหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้ไปพบกับพระอานนท์เข้า วัสสการพราหมณ์ก็ซักถามว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มีภิกษุสักองค์ไหมที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งไว้ บอกว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้วให้พระภิกษุรูปนี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเธอทั้งหลาย ให้ถือปฏิบัติตามองค์นี้ พระอานนท์ตอบว่า ไม่มี วัสสการพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า แล้วก็มีพระสักรูปไหมที่พระเถระจำนวนมากด้วยกันร่วมใจกันตั้งไว้ให้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุทั้งหลาย ท่านก็ตอบไปว่า ไม่มี วัสสการพราหมณ์ก็ถามว่า เมื่อไม่มีบุคคลที่เป็นที่พึ่งอาศัยเป็นหลักอย่างนี้ จะได้อะไรเป็นเหตุแห่งการเป็นอยู่โดยสามัคคีโดยธรรมกันเล่า พระอานนท์ตอบว่า มีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย หมายความว่าหลักธรรมวินัยนั้นเองเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่อาศัยของพระภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายวินัยก็ได้แก่สิกขาบท หรือข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในที่ประชุมสงฆ์ ถึงวันอุโบสถ พระสงฆ์ทุกรูปที่อยู่ในเขตหนึ่งๆ ก็ต้องไปประชุมกัน องค์หนึ่งก็สวด เป็นการซักซ้อมสำรวจกัน ถ้าปรากฏว่าองค์ไหนล่วงละเมิดผิดบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายก็จะสั่งให้พระภิกษุองค์ที่ละเมิดนั้น ปฏิบัติตามโทษที่บัญญัติไว้ ในการที่ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ท่านบอกว่า พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ทำ ธรรมวินัยเป็นผู้สั่ง ถึงที่มีการลงโทษนั้น ก็มิใช่บุคคลลงโทษ มิใช่ภิกษุทั้งหลายลงโทษ แต่ว่าธรรมวินัยหรือระเบียบแบบแผนหลักการนั้นลงโทษเขาเอง อันนี้เป็นหลักการปกครอง
แล้วก็ไม่ใช่จะไม่มีภิกษุเป็นหลัก พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักเอาไว้ว่า ถ้าภิกษุองค์ใดก็ตามมีคุณสมบัติ ๑๐ ประการ ก็ให้ภิกษุทั้งหลายยึดถือภิกษุองค์นั้นเป็นแนวประพฤติปฏิบัติได้ เชื่อฟังคำได้ ถือว่าภิกษุรูปใดก็ตามที่ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนั้น เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพนับถือยึดเอาเป็นหลัก2 นี้คือการปกครองคณะสงฆ์ในแบบเดิม เพราะฉะนั้น ในคณะสงฆ์แบบเดิม จึงไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะอะไรต่อมิอะไร แต่มีอุปัชฌาย์ อาจารย์ และระบบการถือนิสัยที่ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
นี้เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาลที่มีการปกครองแบบเดิมแท้ๆ คือ แบบภิกษุทั้งหลายร่วมกันปกครอง แต่มาในสมัยหลังได้มีความเปลี่ยนแปลงภายในคณะสงฆ์บ้าง ความเปลี่ยนแปลงภายนอกบ้าง ทำให้รูปการปกครองเปลี่ยนไป เช่น ภิกษุทั้งหลายอยู่กันเหมือนอย่างไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่มีการถือนิสัยอย่างจริงจัง เป็นต้น ขาดระเบียบวินัย จึงต้องมีแบบแผนการปกครองเพิ่มขึ้นใหม่ อย่างในประเทศไทยปัจจุบัน เป็นรูปแบบของตนโดยเฉพาะ ตามรูปแบบพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
รวมความเท่าที่กล่าวมานี้ มีระบบการปกครองต่างๆ จะเป็นระบบประชาธิปไตย หรือระบบราชาธิปไตยก็ตาม ก็มีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องการธรรมทั้งสิ้น หมายความว่า ต้องยึดเอาธรรมเป็นหลัก อย่างในหลักของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักจักรวรรดิวัตร ข้อหนึ่งก็คือ ให้พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ ทีนี้มาในหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย พวกวัชชีก็จะต้องยึดถือวัชชีธรรม วัชชีธรรมถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นหลัก หรือในคณะสงฆ์ก็ต้องถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก เวลาเกิดมีการประพฤติผิดลงโทษ ที่ว่าช่วยกันลงโทษนั้น ท่านว่ามิใช่ภิกษุทั้งหลายลงโทษ แต่เป็นธรรมลงโทษ คือหลักการนั้นลงโทษผู้ทำผิดเอง ตกลงว่าในระบบประชาธิปไตยนี้ ก็ถือธรรมเป็นหลักเหมือนกันทั้ง ๒ ระบบ จึงต้องเป็นธรรมาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยก็ตาม แต่ทีนี้ มีปัญหาว่า ระบบไหนในบรรดาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย อันไหนจะช่วยให้เข้าถึงธรรมหรือธรรมาธิปไตยได้ดีกว่ากัน
ธรรมาธิปไตยกับระบบการปกครอง
เมื่อพูดถึงธรรมาธิปไตย ก็มาถึงเรื่องอธิปไตย ๓ ในพระพุทธศาสนาที่ควรยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งคือ ในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอธิปไตยไว้ ๓ อย่าง
๑. อัตตาธิปไตย ถือตน ถือฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ตลอดจนผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่
๒. โลกาธิปไตย ถือความนิยมของโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาสรรเสริญ
๓. ธรรมาธิปไตย ถือธรรม คือ ความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่
อธิปไตย ๓ เป็นคนละเรื่องกับระบบการปกครอง ระวังอย่าเอาไปสับสนกัน อธิปไตย ๓ เป็นหลักธรรม เป็นข้อปฏิบัติ อยู่ที่ตัวของทุกๆ คนแต่ละคนปฏิบัติ แต่ละคนเป็นอัตตาธิปไตยได้ เป็นโลกาธิปไตยได้ เป็นธรรมาธิปไตยได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการปกครองไหนก็ตาม
อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ ใช้ในทางดีก็ได้ ในทางเสียก็ได้ เพราะคิดถึงฐานะ จะรักษาศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของตน อาจทำให้เกิดหิริละอายใจ ไม่กล้าทำความชั่วบางอย่าง หรืออาจทำให้เกิดความเพียรพยายามทำการต่างๆ อย่างที่ว่า เขาแค่นั้นยังทำได้ เราแค่นี้เหตุใดจะทำไม่ได้ แต่ในทางเสียก็มีโทษมาก เพราะจะรักษาศักดิ์ศรี รักษาฐานะของตนไว้เลยทำอะไรได้ทุกอย่าง ใครๆ จะเดือดร้อนมากมายเท่าไร อะไรๆ จะพินาศย่อยยับบ้างไม่คำนึง หรือเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้อย่างเดียวละทิ้งธรรม ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ความดีงาม ความสมควร จะเอาให้ตัวได้อย่างเดียว อัตตาธิปไตยจึงไม่ปลอดภัย
โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ ให้ผลดีก็ได้ ให้ผลเสียก็ได้ ในทางดีกลัวจะถูกติฉินนินทา หรือเสียความเคารพนับถือของหมู่ชน อาจทำให้เกิดโอตตัปปะ เกรงกลัวไม่กล้าทำความชั่วบางอย่าง หรืออาจทำให้กระตือรือร้นกุลีกุจอทำกรรมดีบางอย่าง แต่ในทางเสีย อาจทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีหลักการที่แน่นอน อาจทำการเพียงเพื่อเอาใจหมู่ชนบ้าง หาความนิยมบ้าง ไม่กล้าทำการอย่างที่แน่ใจว่าดีงาม เพราะกลัวเสียความนิยม หรือกลัวการกล่าวว่าต่างๆ บ้าง เมื่อใดห่างจากเสียงหมู่ชนที่จะควบคุมก็ทำความชั่วร้ายได้ โลกาธิปไตยจึงไม่ปลอดภัย
ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือเอาตามที่ได้ศึกษาและพิจารณาอย่างดีที่สุด จนเต็มขีดแห่งสติปัญญาของตนจะมองเห็นได้โดยบริสุทธิ์ใจที่สุด และอย่างใจกว้างที่สุด รับฟังข้อเท็จจริง ความคิดเห็นและเหตุผลต่างๆ อย่างเที่ยงธรรมที่สุดแล้ว เห็นว่าอะไรจริงถูกต้องดีงาม ตัดสินไปตามนั้น ผลดีจะได้แค่ไหนย่อมแล้วแต่ว่าจะมีสติปัญญาเท่าใด ได้รับข้อเท็จจริงมาเพียงใด มีอุบายวิธีแสวงหาความจริงแน่นอนเท่าใด ข้อสำคัญต้องศึกษาเรื่อยไป ใช้ปัญญาเต็มที่ และมีความบริสุทธิ์ใจ อย่างน้อยก็ต้องถือตามหลักการ ตามกติกา เคารพกฎ ระเบียบเป็นต้น ที่วางเป็นหลักไว้
ปัญหามีอยู่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ว่า อะไรเป็นธรรม เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม จะได้พูดกันต่อไป แต่หลักสำคัญก็คือว่า จะต้องพยายามให้เป็นธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของคน หมายความว่า แต่ละคนจะเป็นอัตตาธิปไตยก็ได้ เป็นโลกาธิปไตยก็ได้ เป็นธรรมาธิปไตยก็ได้ ในระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดถึงระดับพระเจ้าจักรพรรดิ ท่านก็มุ่งให้เป็นธรรมาธิปไตยคือ มุ่งให้พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระเจ้าจักรพรรดินั้น เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ทีนี้ธรรมาธิปไตย ก็ต้องเป็นหลักของประชาธิปไตยเหมือนกัน ในการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น เราก็หวังให้ประชาชนทุกๆ คน ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ทุกๆ คนถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นหลัก แล้วพิจารณาวินิจฉัยกระทำการไปตามนั้น
ในระบบการปกครอง ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้าเป็นระบบราชาธิปไตย ราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็ไม่ดี ประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็คงไม่ดีเหมือนกัน ประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นอัตตาธิปไตยกันหมด คือ แต่ละคนต่างก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเกณฑ์ทั้งสิ้น ผลที่สุดประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้ ก็จะเป็นไปในรูปที่เขาเรียกว่า อนาธิปไตย เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็คงไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยเหมือนกัน
บางคนเข้าใจสับสน ระหว่างหลักธรรมกับระบบ หรือระหว่างเนื้อหาสาระกับรูปแบบ จึงแย้งว่า ประชาธิปไตย ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ก็ต้องตรงกับโลกาธิปไตยสิ เพราะโลกาธิปไตยก็ถือเสียงนิยมของโลกคือคนทั่วไปเป็นใหญ่เหมือนกัน เพราะเข้าใจผิดอย่างนี้ จึงต้องย้ำว่า อธิปไตย ๓ จะเป็นอัตตาธิปไตยก็ตาม โลกาธิปไตยก็ตาม ธรรมาธิปไตยก็ตาม เป็นข้อปฏิบัติของบุคคล เป็นพื้นฐานของคนที่จะไปออกเสียง ส่วนประชาธิปไตยเป็นระบบ เป็นช่องทางที่จะมาเก็บเอาเสียง (ความคิดเห็น ความต้องการ) ของคนไปใช้ทำการ
ประชาธิปไตยถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เพราะต้องการจะทำอะไรๆ ให้ถูกต้องดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง และเชื่อใจว่าคนที่มาออกเสียงนั้น ให้เสียงที่เป็นจริงจากใจของตนๆ เมื่อคนส่วนมากยืนยันอย่างไร ย่อมน่าเชื่อถืออย่างนั้นมากที่สุด
ส่วนโลกาธิปไตย เป็นเรื่องของคนที่ออกเสียง เวลาจะให้เสียงไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ชัดเจนถ่องแท้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม หรือรู้ว่าอะไรจริง ถูกต้องดีงามแล้ว ไม่ว่าไปตามนั้น กลับมานึกว่าคนเขาว่ากันอย่างไร พรรคพวกเขาจะเอาอย่างไร ส่วนมากเขาเลือกอันไหน แล้วไม่ว่าไปตามความจริงใจของตนนั้น กลับว่าไปตามที่เขาว่ากันนิยมกัน ไม่มีหลักของตัว ประชาธิปไตยที่ดีย่อมไม่ต้องการโลกาธิปไตยแน่ แต่ต้องการธรรมาธิปไตย คือ ต้องการให้คนที่ออกเสียงทุกคน ยึดถือธรรม ใช้ปัญญาและพูด (ให้เสียง) ออกมาจากใจจริง
พูดสั้นๆ ว่า ประชาธิปไตยที่ดีเกิดจากธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยที่ดีช่วยให้ได้ธรรมาธิปไตยหรือ ประชาธิปไตยที่ดีเป็นของคนมีธรรมาธิปไตย จะได้ประชาธิปไตยที่ดี คนต้องมีธรรมาธิปไตย
จะพิสูจน์ดูก็ได้
ก. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะถูกใจเขา สะดวกเขา เขาจะได้ พอดีมาตรงที่เขาชอบใจกันอย่างนี้
ข. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะที่นี้เขาว่ากันอย่างนี้ เขานิยมกันอย่างนี้ กำลังตื่นอันนี้กันอยู่
ค. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะแต่ละคนๆ เขาพิจารณากันแล้วเห็นว่าอย่างนี้ถูกต้องเป็นประโยชน์จริง เสียงมาลงกันอย่างนี้
ทั้ง ๓ ข้อนี้ ประโยคท่อนแรกเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ท่อนหลังเป็นอธิปไตย ๓ ข้อละอย่างๆ ถ้าได้อย่างข้อแรก ก็เป็นประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตย ได้อย่างข้อสอง ก็เป็นประชาธิปไตยแบบโลกาธิปไตย ได้อย่างข้อท้าย เป็นประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักการ จะคือข้อไหน ก็ต้องถือเอาข้อสุดท้าย คือประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยนั่นเอง
คนที่เป็นโลกาธิปไตย ถ้าไปทำหน้าที่ปกครอง บริหาร หรือรับผิดชอบงานสาธารณะ ก็จะมุ่งหน้าเอาอกเอาใจประชาชน ด้วยการกระทำอย่างที่เรียกว่า หาเสียงหรือหาคะแนนนิยม อะไรๆ ก็อ้างประชาชนจนพร่ำเพรื่อ ถ้าจะใช้คำแรงก็ว่าประจบประชาชนบ้าง เอาประชาชนบังหน้าบ้าง จะทำก็นึกถึงแต่ความนิยมที่จะได้ ถ้าเห็นว่าจะได้คะแนนนิยมก็ทำ ถ้าเห็นว่าจะไม่ได้ความนิยม หรือกระทบกระเทือนความนิยม แม้สิ่งนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชน ก็ไม่กล้าหรือไม่ยอมทำ
ส่วนคนที่เป็นธรรมาธิปไตย แม้จะมุ่งหน้าทำการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง และยอมตามเสียงส่วนใหญ่ หรือยอมตามเสียงของประชาชน แต่ก็ไม่ทำการแบบประจบเอาใจหาคะแนนนิยม หรือแม้แต่ง้อประชาชน ปฏิบัติไปตามเหตุผลและความสุจริตใจ ในเมื่อพิจารณาเห็นชัดด้วยสติปัญญาแล้วว่า การใดเป็นไปเพื่อผลดีแก่ประชาชนอย่างแน่นอน ก็พยายามทำการนั้น การใดอาจให้ได้รับความนิยม แต่เห็นชัดด้วยปัญญาว่าจะไม่เป็นไปเพื่อผลดีแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะไม่ทำการนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็จะต้องชี้แจงเหตุผลกันก่อน หากประชาชนยังยืนยันไม่เห็นชอบ ก็ยอมตามประชาชนได้ แต่ก็ต้องประกาศความเห็นโดยสุจริตใจของตนไว้ว่า เป็นอย่างไร หากขัดฝืนต่อสำนึกแห่งธรรมจนเกินไป ก็อาจยอมสละฐานะนั้นจากตน โดยไม่ห่วงในผลประโยชน์ส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องอยู่
แบบอย่างนี้จะเห็นได้จากจริยาวัตรของพระอานนท์ ในคราวประชุมสังคายนา เมื่อถูกที่ประชุมคือสงฆ์ลงมติปรับความผิดแก่การกระทำของท่าน ท่านเห็นอยู่ว่าการกระทำของท่านเป็นไปโดยชอบด้วยเจตนามุ่งความดีงามแท้จริง ท่านจึงชี้แจงเหตุผลและความมุ่งหมายแห่งการกระทำทั้งหมดของท่านแก่ที่ประชุม พร้อมทั้งยอมปฏิบัติตามมติของที่ประชุมด้วย โดยประกาศให้ชัดแจ้งทั้งในส่วนความเห็นของตนว่า มองเห็นความบริสุทธิ์แห่งการกระทำอย่างไร และการยอมปฏิบัติตามมติที่ประชุมเพราะเป็นสังฆมติอย่างไร การแสดงเหตุผลแห่งการกระทำที่บริสุทธิ์ของตน ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรม การยอมปฏิบัติตามสังฆมติ ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรม นี้เป็นคติแห่งประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน
ในสังคมใด หากนักปกครอง นักบริหาร นักการเมืองเป็นต้น ยังยึดถือโลกาธิปไตย เป็นแต่เพียงผู้แสวงหาความนิยมจากเสียงของประชาชน และประชาชนยังเพลิดเพลินชื่นชมอยู่กับนักปกครอง นักบริหาร นักการเมือง เป็นต้น แบบโลกาธิปไตย ที่คอยเฝ้าตามประจบตน ดังเด็กที่ชอบพะเน้าพะนอ ไม่รู้จักคิดวินิจฉัยแยกเอาบุคคลประเภทธรรมาธิปไตยขึ้นมาเป็นตัวชูในกิจการ เหมือนกับว่าจะไม่ยอมเป็นผู้ใหญ่ที่คิดการเองได้ ถ้าการณ์เป็นไปเช่นนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่พัฒนาสมบูรณ์ขึ้นได้ในสังคมนั้น
ทีนี้ ปัญหาก็มีอย่างเดียวว่า ประชาธิปไตยอย่างดีที่สุด คือ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตย กับราชาธิปไตยที่ดีที่สุด คือ ราชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตย อันไหนจะดีกว่ากัน ตามความเชื่อในปัจจุบันก็ว่า ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยดีกว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็บอกว่าคนๆ เดียวถึงแม้จะมีความรู้ดีขนาดไหน มีสติปัญญาดีขนาดไหน มีคุณธรรมขนาดไหน ก็อาจจะมีข้อบกพร่องได้ ในด้านความรู้ก็อาจจะรู้ไม่ถ้วนถี่ ไม่สามารถที่จะรู้ไปทุกซอกทุกมุม ไม่รู้ปัญหาของประชาชนทุกหย่อมหญ้า หรือในด้านคุณธรรมก็อาจจะมีความบกพร่องบ้างนิดๆ หน่อยๆ หรืออาจไม่มั่นคงสม่ำเสมอตลอดไปทุกเวลา เพราะฉะนั้น ราชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยก็ดีหรอก แต่ก็ไม่ดีพอ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยดีกว่า คือ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว หลายหัวในที่นี้หมายถึงหลายหัวของคนดี คนดีหลายหัวมาร่วมกันปกครองดีกว่า คือเอาสติปัญญาของคนหลายคนมาร่วมกันปกครอง แต่ในที่นี้ หมายความว่าทุกๆ คนดีขนาดคนเดียวอย่างดีที่ว่าเมื่อกี้ หรือว่าดีกว่า เมื่อหลายๆ คนดีรวมกันแล้ว จึงต้องดีกว่าคนเดียว ที่ว่าเก่งในราชาธิปไตยนั้น ก็หวังกันว่าอย่างนี้ ถือว่าถ้าระบบประชาธิปไตยจะดีกว่าระบบอื่น ก็ดีเพราะอย่างนี้ คือเพราะเหตุที่ว่า จะเป็นระบบที่ช่วยให้คนเราเข้าถึงธรรมาธิปไตยที่ดีที่สุดนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามเป็นอันว่า ระบบการปกครองอันใดก็ตามที่ว่าดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นธรรมาธิปไตยทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเป็นอัตตาธิปไตยในประชาธิปไตยคือ ทุกคนเห็นแก่ตน ไม่มองเห็นประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่คำนึงถึงความถูกต้องดีงามหรือหลักการ แต่ละคนเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งอย่างนี้ ผลที่สุดก็เข้าลักษณะพวกวัชชีที่แตกไปแล้ว คือ ต้องแก่งแย่งกัน แล้วประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ ประชาธิปไตยจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี ก็ต้องให้ทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย คือได้แต่ละคนๆ ที่เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นหลักนี้แหละไปช่วยกันปกครอง ก็จะได้หลายหัวดีกว่าหัวเดียว คือ หลายคนมาเสริมกันแก้ข้อบกพร่องของผู้ปกครองคนเดียวได้ ไม่ใช่หลายๆ คนชั่วร้ายมารวมกันช่วยกันเสริมความชั่วร้าย แต่หลายๆ คนนั้นมีสติปัญญา มีคุณธรรมด้วยกันทั้งนั้น ก็จะช่วยกันทำให้ได้ความถูกต้องดีงามที่แท้จริง แต่มันมีปัญหาอยู่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนทุกคนเข้าถึงธรรมาธิปไตยได้ คือทำอย่างไรจึงจะให้คนที่จะไปร่วมกันปกครองนี้เป็นธรรมาธิปไตย ปัญหาก็มีอยู่แค่นี้
การสร้างธรรมาธิปไตยให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย
ธรรมาธิปไตยนั้น เป็นทางสายกลางระหว่างอัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตย อัตตาธิปไตยนั้นถือตนเองเป็นหลัก ยึดตนเองเป็นใหญ่ เอาฐานะของตน เอาผลประโยชน์ของตนเป็นเครื่องวัด โลกาธิปไตยก็ถือเอาค่านิยมของโลก คำติเตียน สรรเสริญเป็นหลัก ธรรมาธิปไตยเป็นทางสายกลาง คือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นหลักเกณฑ์ แน่นอนว่าเราต้องการให้ได้ธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยที่ดี ถ้าหากไม่ถึงธรรมาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยนั้นไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตย คือนำไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกัน
ทีนี้ เมื่อต้องการธรรมาธิปไตย ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเข้าถึงธรรมาธิปไตย เมื่อกี้นี้ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราบอกให้คนที่เป็นผู้ปกครองคนเดียวนั้น เป็นธรรมาธิปไตย แต่มาในระบบประชาธิปไตยนี่ เราจะต้องให้ทุกๆ คน ประชาชนทุกคน หรือถ้าไม่ได้ทุกคน ก็ให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นธรรมาธิปไตย เพราะประชาชนทุกคนจะไปช่วยกันปกครอง แล้วก็ต้องเป็นคนดีทั้งนั้นจึงจะช่วยกันปกครองได้
ทีนี้ ปัญหาก็มีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนส่วนใหญ่หรือทุกคนถ้าเป็นไปได้ เป็นคนดี เป็นคนถือธรรมาธิปไตย เป็นปัญหาที่ยาก แม้แต่จะรู้ว่า อะไรคือธรรม อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม ก็ยาก ทุกคนจะช่วยกันปกครองแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงาม แล้วจะไปร่วมกันปกครองได้อย่างไร จึงจะต้องมีวิธีการที่จะให้คนซึ่งมาร่วมกันปกครอง คือประชาชนทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักธรรม เป็นธรรมาธิปไตย
จะเป็นธรรมาธิปไตย ก็ต้องเริ่มตั้งแต่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม ความรู้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัญญา จะให้มีปัญญาก็ต้องให้มีการศึกษา ฉะนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ให้การศึกษา เพื่อจะให้คนมีปัญญาเกิดขึ้น จะได้รู้จักเลือก รู้จักวินิจฉัยว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์สุขต่อส่วนรวม มีปัญญามากขึ้นเขาก็รู้จักแยกมากขึ้น เรียกว่ารู้ทางเลือกมากขึ้น เมื่อรู้ทางเลือกมากขึ้น เราก็หวังว่าเขาจะเลือกเอาทางที่ดี แต่ก็มีปัญหาอีกเหมือนกัน เมื่อให้การศึกษาไปแล้วก็เกิดปัญญา ปัญญาทำให้รู้ ให้รู้จักแยก รู้จักทางเลือกมากขึ้น แต่คนที่รู้แล้ว รู้ว่าทางไหนดีทางไหนชั่ว อาจจะไปเลือกทางชั่วก็ได้ จะไปเลือกทางชั่วเพราะอะไร เพราะทางชั่วนั้นมันมาเสริมประโยชน์ส่วนตน มันมาเสริมฐานะของตนเอง เราอาจจะเว้นไม่เอาทางดี มาเอาทางเสีย เพราะทางเสียนั้นมันทำให้เราได้รับผลประโยชน์ ส่วนทางดีนั้นเป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมก็จริง แต่มันเสียผลประโยชน์ของเรา เราก็อาจจะไม่เอา กลายเป็นว่าการศึกษาสร้าง แต่ปัญญาก็ไม่พอ นี้ก็เป็นปัญหาขึ้นมาอีก จะต้องทำอย่างไรต่อไป การศึกษาทำให้เกิดปัญญา ทำให้รู้มากเข้า รู้ทางเลือกมากขึ้น รู้จักแยกแยะมากขึ้น รู้จักวินิจฉัยได้ดีขึ้น แต่ทำอย่างไรจะทำให้เขาวินิจฉัยเลือกเอาทางที่ดีอย่างเดียว คือยึดในธรรมาธิปไตย เพราะว่าเมื่อเขารู้แล้วว่าอะไรเป็นธรรม แต่เขาไม่เป็นธรรมาธิปไตย เขาไม่ยึดฝ่ายธรรม เขายึดเอาฝ่ายสนองประโยชน์ตน เขาก็เป็นอัตตาธิปไตยตามเดิม อันนี้จะทำอย่างไร
ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า การศึกษาจะให้ครบ ได้ผลสมบูรณ์ต้องมีองค์ประกอบของการศึกษา ถึง ๓ อย่าง คือ
๑. ต้องมีระเบียบวินัย ระเบียบวินัยเป็นเครื่องฝึกคนให้อยู่ในแนวทางที่ดี ควบคุมและคอยต้อนบุคคลให้พยายามเลือกแต่แนวทางที่ดี โดยประการแรกก็ไปปิดกั้นโอกาสที่เขาจะเลือกทางชั่ว คนเราถ้ามีโอกาสก็อาจจะหันไปเลือกทางชั่วได้ง่าย เพราะมันสนองผลประโยชน์ส่วนตัว จึงต้องเอาระเบียบวินัยเป็นเครื่องปิดกั้นไม่ให้คนหันไปเลือกทางชั่ว พร้อมกันนั้นก็สร้างสภาพแวดล้อมและระบบต่างๆ ให้เกื้อกูลแก่การที่เขาจะทำในทางที่ดี หรือที่จะควบคุมความประพฤติของเขา ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ระเบียบวินัย หรือระบบการดำเนินชีวิตการทำงานเป็นความสำคัญเบื้องต้น ได้แก่สิ่งที่เราเรียกว่า ศีล เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของการศึกษาขั้นหนึ่งก็คือศีล ซึ่งจำเป็นต้องมีมาด้วยในการที่จะสร้างปัญญา
๒. นอกจากศีลแล้ว จะต้องพยายามสร้างสติ ความรู้จักยั้งคิด และการรู้จักกระตุ้นเตือนตนเองให้สำนึกถึงความรับผิดชอบ หน้าที่ และความดีต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป พยายามสร้างความพากเพียรที่จะให้ดำเนินรุดหน้าไปในความดี ส่งเสริมกำลังใจในการที่จะทำสิ่งที่ดีงาม เร้าให้มีจิตฝักใฝ่ขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นอุดมคติ ให้เขายึดมั่นทำอยู่ในสิ่งนั้นเสมอๆ จนเกิดความคุ้นเคยกับการเลือกในทางที่ดี มั่นคง เข้มแข็ง แน่วแน่ในทางที่ดี เป็นทางอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า เป็นทางของกำลังจิตใจ ทำให้เข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สมาธิ
๓. ปัญญา ข้อนี้เป็นตัวสำคัญแน่นอน เพราะตอนแรกบอกแล้วว่า จะรู้ว่าอะไรเป็นธรรมก็จะต้องมีปัญญา
จะมีปัญญาก็ต้องศึกษา แต่ศึกษารู้มีปัญญาแล้วมีทางเลือก อาจจะเลือกทางไม่ดีเพราะเห็นแก่ตนก็ได้ จึงต้องมีระเบียบวินัย มีศีล แล้วมีการสร้างกำลังจิตกำลังใจ ความเข้มแข็งแน่วแน่มั่นคง เช่น ความมีอุดมคติ ความมีน้ำใจนักกีฬา มีฉันทะ มีความเพียรพยายามรับผิดชอบ รอบคอบ มีสติ เป็นต้น ที่เรียกว่า สมาธิ
เพราะฉะนั้น การศึกษาที่พรั่งพร้อมที่จะให้เกิดประชาธิปไตย ก็ต้องมี ๓ องค์ ดังที่กล่าวแล้วคือ มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา ครบทั้ง ไตรสิกขา ถ้าหากว่าการศึกษา ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีศีลในเบื้องต้น ไม่มีสมาธิค้ำประกัน ถึงจะให้ปัญญา ก็ไม่แน่นอน เพราะคนรู้ทางเลือกมากขึ้น เขาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นอัตตาธิปไตย ทั้งๆ ที่รู้ว่าอันนี้เป็นธรรม ก็ไม่เอา เพราะเสียประโยชน์ส่วนตัว จึงไปเลือกเอาทางที่ไม่ดี ไม่ชอบ แต่มันให้ประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ขาดศีล ขาดระเบียบวินัย ขาดสมาธิ ขาดการสร้างจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง จึงไม่อาจจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างประชาธิปไตยได้
นี้เป็นแง่ของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือหลักการที่นำมาใช้ในคณะสงฆ์นั้นเอง ระบบความเป็นอยู่ในสงฆ์นั้น ถ้าเราวิเคราะห์ออกไปก็คือหลักประชาธิปไตย ที่ยึดถือธรรมาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เบื้องต้นพระสงฆ์จะต้องมีระเบียบวินัย หรือศีล เป็นเครื่องปิดกั้นโอกาสที่จะทำความชั่วและเปิดโอกาสในการที่จะทำความดีอยู่เสมอ แล้วให้มีสมาธิ คือฝึกจิตให้มีสติ มีวิริยะ เข้มแข็งมั่นคงในการที่จะกระทำความดี และสร้างปัญญาในขั้นสูงสุดที่จะทำให้ผู้นั้นรู้ในตัวธรรม คือตัวความจริง ตัวสิ่งที่ดีงาม เพื่อจะทำให้ถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป เมื่อใดองค์ประกอบของการศึกษาแบบนี้บกพร่องไป ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าในระบบของคณะสงฆ์เองในสมัยต่อๆ มา เมื่อการศึกษาย่อหย่อนลงไป เมื่อระเบียบวินัยย่อหย่อนลงไป ก็ต้องมีการปกครองแบบอื่นเข้ามาแทน หรือมาเสริมการปกครองตามธรรมวินัย ต้องมีการตั้งหัวหน้าอะไรต่อมิอะไรแบบข้างนอก ซึ่งวิวัฒนาการมาจนกระทั่งทุกวันนี้
นี้เป็นการพูดเรื่องธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านเอามาแก้ปัญหาในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในชมพูทวีป แล้วมันก็มาใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน ไม่ล้าสมัย หากเรามองดูคติในพุทธกาลให้ดีแล้ว จะสามารถนำเอาแง่คิดต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยทีเดียว แม้ในด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน อย่างเช่น หลักของประชาธิปไตย ในเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ เป็นต้น ยกตัวอย่าง เรื่องของความเสมอภาค พระพุทธศาสนาบอกว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันอย่างไร ร่างกายไม่แข็งแรงบ้าง แข็งแรงบ้าง มีสติปัญญาที่เป็นพื้นมาน้อยบ้าง มากบ้าง สวยงามบ้าง ขี้ริ้วบ้าง ผิวดำบ้าง ผิวขาวบ้าง ผิวเหลืองบ้าง อะไรทำนองนี้ เรียกว่าไม่เท่ากัน แต่มันเท่ากันโดยความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็นความเท่ากัน นอกจากเท่ากันในความเป็นมนุษย์ ก็ยังมีความเท่ากันต่อกฎธรรมชาติอีก คือ มนุษย์ทุกคนอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน จะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ ศูทร ชนมั่งมีร่ำรวย ยากจน ก็ตกอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างเดียวกัน กฎธรรมชาตินี้ไม่เลือกหน้าใคร เสมอกันหมด เช่น กฎแห่งกรรมก็เสมอกันทุกคน กฎธรรมชาติในแง่อื่นๆ ทั้งหลาย เช่น ความเกิดแก่เจ็บตายอะไรนี้ก็เหมือนกัน ทุกคนมีฐานะเท่ากันสำหรับกฎธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงประกาศความเสมอภาคของมนุษย์ในแง่นี้ และเสมอภาคไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น เทวดาก็เสมอภาคกับมนุษย์ด้วย พระพรหมก็เสมอกับมนุษย์ เทวดากี่ชั้นๆ ก็เสมอกับมนุษย์ในแง่นี้ คือ ต้องตกอยู่ในกฎธรรมชาติเหมือนกัน เทวดามีความไม่ดีอยู่ก็กลับไปตกนรกเหมือนกัน เราทำดีเราก็ไปเกิดเป็นเทวดาได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นความเสมอภาค
ทีนี้ ในแง่เสรีภาพ มนุษย์ทุกคนก็มีเสรีภาพที่จะแก้ไขปรับปรุงชีวิตของตนเอง ปรุงแต่งชะตากรรมของตนเองได้ โดยพื้นฐานของธรรมชาติ หมายความว่า ตัวคนแต่ละคนนี้ จะปรุงแต่งชีวิตของตนให้มันประเสริฐก็ได้ ให้มันเลวก็ได้ ในทางเลวทรามจะให้เลวทรามเทียบเสมอสัตว์นรกก็ได้ หรือในทางที่ดีจะให้ประเสริฐจนกระทั่งเทวดาหรือพระพรหมจะต้องบูชาก็ได้ พระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์นี้แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์เองจนกระทั่งถือว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้แต่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา เราทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะพิสูจน์ ที่จะทดลอง หรือจะดูว่ามีความถูกต้องแค่ไหน เพียงไร พิจารณาได้ด้วยเหตุผล อย่างนี้ก็เป็นพื้นฐานของพระพุทธศาสนา
ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่โดยแก่นแท้แล้ว ก็ต้องมาอยู่ที่ตัวของการปกครองเองคือ การปกครองซึ่งเราจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย แม้จะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาที่มีองค์ประกอบพร้อม คือ มีองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ หรือไตรสิกขาครบถ้วน มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ และปัญญา อันนี้เป็นการพูดในแง่การเมือง
ปัญญาชนกับการแก้ปัญหาสังคม
ทีนี้ จะพูดต่อไปในแง่ของสังคมบ้าง หวนกลับไปที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ บอกว่าสมณพราหมณ์ หรือปัญญาชนในสมัยพุทธกาล เริ่มมีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง คือ ไม่ช่วยแนะนำนักปกครอง ในแง่ที่จะทำอย่างไรจึงจะปกครองได้ดี อย่างไรถึงจะให้ประชาชนผาสุก อะไรอย่างนี้ กลับมาเมามัวในลาภสักการะ เพลิดเพลินในพิธีกรรม ตลอดจนเอาใจนักปกครอง เพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน เรื่องนี้มีเล่าในพระไตรปิฎก หาอ่านได้ใน พราหมณธรรมิกสูตร3 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าความเป็นมาของพราหมณ์ว่า พวกพราหมณ์นี้เดิมก็เป็นคนดี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขทั้งในชีวิตของตนเองและทั้งในชีวิตของผู้อื่น มีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ ต่อมาภายหลังจึงเกิดความฟุ้งเฟ้อ มัวเมาเพลิดเพลินในลาภสักการะขึ้น ทำให้คลาดเคลื่อนจากแนวทางการประพฤติการปฏิบัติเดิม แง่คิดสำคัญในเรื่องของสมณพราหมณ์หรือปัญญาชนก็คือ หน้าที่ของพราหมณ์หรือปัญญาชนนั้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้
๑. เป็นผู้แนะนำชี้ทางแก่นักปกครองในเรื่องการปกครองที่ดี วิธีที่จะสงเคราะห์ประชาชนให้อยู่ดีมีความผาสุก ตัวอย่างนี้มีในพระสูตร เช่น กูฏทันตสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า นักปกครองจะปกครองอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีความผาสุก
๒. ปัญญาชนหรือสมณพราหมณ์ ควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะคนประเภทนี้ควรมีความสันโดษ มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มัวเมาในความสุข ความสำราญ ไม่แสวงหาความปรนเปรอทางวัตถุ เหตุผลก็คือ
- เมื่อมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความสันโดษแล้ว พวกปัญญาชนจะได้อุทิศเวลาในการค้นคว้าแสวงหาปัญญาได้เต็มที่ ถ้าหากว่าปัญญาชนไม่สันโดษ มัวแต่แสวงหาความสุขสำราญแล้ว ก็จะใช้เวลาไปในด้านที่ไม่ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญาเท่าที่ควร และความประพฤติเสื่อมเสีย การทำหน้าที่ไม่สุจริตก็จะเกิดตามมา
- เพื่อเป็นตัวอย่าง พวกปัญญาชนหรือสมณพราหมณ์นี้ เป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติ เพราะเป็นผู้แนะนำผู้อื่นในสิ่งที่ดีงาม ก็ต้องทำในสิ่งที่ดีงามให้เป็นแบบอย่างไว้ เพราะฉะนั้นความประพฤติในทางไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เพลิดเพลิน ไม่มัวเมา จึงเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของปัญญาชนทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพวกปัญญาชน ซึ่งเป็นพราหมณ์ในสมัยนั้นในแบบนี้ ส่วนทางด้านพระองค์เอง เพื่อจะให้ได้ผลในทางปฏิบัติ ก็ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นั้น นอกจากมองในแง่จิตใจที่จะทำให้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไปในขั้นอริยบุคคลจนกระทั่งถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าเรามองในแง่สังคมก็จะเห็นวัตถุประสงค์ได้ดังนี้
๑. พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ดังได้กล่าวแล้วว่า พราหมณ์ในสมัยนั้นผูกขาดการศึกษาหมดแล้ว ถ้าจะเรียนขั้นสูงอย่างเรียนพระเวท คนวรรณะต่ำอย่างพวกศูทรเรียนไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา ประกาศว่าใครๆ บวชได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะไหน กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บวชมาแล้วเท่ากัน แล้วก็มีโอกาสเล่าเรียน ศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยได้สูงสุดเท่ากัน เป็นการเปิดโอกาสในทางการศึกษาให้กว้างขวางทั่วถึง
๒. เป็นการสร้างกลุ่มอิสระขึ้น ถ้ามองในแง่สังคม ขอให้ลองช่วยกันพิจารณาว่าจะเป็นอย่างที่ว่านี้หรือไม่ คือ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นกลุ่มอิสระ มีความเป็นอยู่และมีโอกาสปฏิบัติตามอุดมคติได้เต็มที่ พระพุทธเจ้าตรัสอุดมคติไว้แก่พระสงฆ์ เช่น ในการส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนา ก็ตรัสว่า พวกเธอทั้งหลายจงจาริกไปสู่สถานจาริกต่างๆ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เมื่อตรัสอุดมคติไว้ให้อย่างนี้ การที่จะให้บุคคลผู้ดำเนินตามพระองค์ปฏิบัติได้ตามอุดมคตินั้น ก็จะต้องสร้างสภาพชีวิตขึ้นมาแบบหนึ่ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงกระทำโดยตั้งเป็นคณะสงฆ์ คณะสงฆ์นี้เป็นกลุ่มอิสระ มีสภาพชีวิตอะไรๆ เป็นของตนเองต่างหากจากชุมชน ต่างหากจากสังคมโดยทั่วไป ซึ่งจะเป็นเครื่องรักษาตนเอง ไม่ให้ถูกบีบคั้นจากสังคมที่เป็นอยู่ จนกระทั่งถูกสังคมนั้นกลืนกลับเข้าไปสู่สภาพเดิม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา พระองค์จะสอนอย่างไรก็ตาม ผลที่สุดผู้ที่ต้องการทำอย่างนั้น แต่อยู่ในสภาพสังคมอย่างนั้น ถูกสภาพสังคมอย่างนั้นบีบคั้น ในสภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ผลที่สุดก็ถูกกลืนกลับเข้าไป นี่เป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาแล้ว ก็ทรงประกาศธรรมเปิดรับชนทุกชั้น โดยเฉพาะจะเห็นว่า มีพวกชนชั้นสูงจำนวนมากมาย ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเศรษฐี พวกคหบดี เจ้านาย กษัตริย์ จำนวนมากออกบวชตามพระองค์ คนเหล่านี้ยอมเสียสละความสุขความสำราญออกมาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณพิเศษต่างๆ แล้วจาริกไปสั่งสอนประชาชน ไปอยู่ตามชนบท ไปอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในสมัยโบราณบางทีหมู่บ้านหนึ่งอาจจะมีองค์หนึ่ง และพระท่านไม่อยู่ประจำที่ ปีนี้องค์นี้มาอยู่ ปีหน้าท่านก็จาริกจากไป องค์อื่นก็มาอยู่แทน อะไรทำนองนี้ ทีนี้ คติที่จะได้จากลักษณะการปฏิบัติงานของพระสงฆ์ ผู้ไปปฏิบัติศาสนกิจในแง่ที่จาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนนี้ ควรตั้งเป็นข้อสังเกตดังนี้
ประการที่ ๑ พระสงฆ์ตามอุดมคติที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้ ท่านเสียสละจริงๆ หมายความว่า ท่านเคยเป็นเศรษฐี เคยเป็นเจ้านาย ก็เลิกเป็น เสียสละกันจริงๆ ไม่ต้องการความสุขความสำราญกันอีกเลย ออกจาริกไปอยู่กับประชาชนตามบ้านนอก ตามชนบท ไม่เห็นกับความสุข เสียสละแล้วไม่คิดกลับมาหาความสุขอีก
ประการที่ ๒ ในการที่ท่านทำอย่างนั้น ท่านมีความสุขความพอใจด้วย ความสุข ความพอใจ ในการกระทำอย่างนั้น ก็สำคัญเหมือนกัน คือเป็นสภาพจิตใจที่พร้อมที่จะให้อยู่ในความประพฤติปฏิบัตินั้นได้ตลอดไป คือไม่ได้ทำด้วยอุดมการณ์ที่ร้อนแรงชั่วครู่ชั่วยาม ถ้ากระทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยแรงปลุกที่ร้อนแรงชั่วครู่ชั่วยาม อาจจะใช้กำลังออกไปทำอะไรก็ได้ แต่มันได้ชั่วระยะหนึ่ง ถ้ามีสภาพจิตใจไม่พร้อม ไม่มีความสุขความพอใจในการทำอย่างนั้นจริง แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความสุขในการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างนั้นต่อไปในกาลภายหน้า ผลที่สุดก็จะหวนกลับเข้ามาสู่ชีวิตอย่างเดิม แล้วก็จะถูกกลืนเข้าไปในสังคมเดิมตามเดิม ข้อสำคัญถ้าหากว่าจะกระทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ก็จะต้องสร้างสภาพจิตใจที่พร้อมเสียก่อน คือ ถ้าจะเสียสละ ก็ต้องอยู่อย่างมีความสุขในการเสียสละนั้นด้วย
ประการที่ ๓ เป็นการไปอย่างมีระเบียบวินัยและเป็นอยู่อย่างมีระเบียบวินัย คือพระภิกษุทั้งหมดนั้นมาอยู่ในคณะสงฆ์ที่มีศีล มีระเบียบวินัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว มีความประพฤติดีงาม เหมาะสมสอดคล้องกับอุดมคติและหลักธรรมที่ตนนำไปประกาศ แม้จะอยู่ในพื้นที่ถิ่นฐานต่างๆ กัน ก็มีหลักการ มีความประพฤติเข้าแนวเดียวกัน ซึ่งอันนี้ทำให้มีหลักการ สร้างความเชื่อถือและความเคารพนับถือได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นชีวิตที่ได้ด้านหนึ่ง ขาดด้านหนึ่ง อาจจะเสียสละไป แต่อาจปฏิบัติตนไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าเชื่อถือ หรืออาจจะขัดต่อวัฒนธรรมของประชาชน ทำให้ไม่เป็นที่นับถือ อย่างนี้เป็นต้น
พระพุทธศาสนาจะเป็นผู้นำทางหรือเป็นผู้ปะทะหน้ากับความเปลี่ยนแปลง
นี้เป็นแง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำขึ้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า การตั้งคณะสงฆ์ก็คือการแก้ปัญหาสังคมอย่างหนึ่งในสมัยนั้น เป็นเรื่องของสังคมในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ ประกาศหลักธรรมในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก็เพื่อแก้ปัญหาของสังคมในสมัยนั้น
แต่สังคมมีลักษณะธรรมดาอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไประยะหนึ่งแล้วมันจะปรับตัวเข้ารูปเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อปรับตัวเข้ารูปเป็นอย่างหนึ่งแล้ว สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในสังคมนั้น ก็มักจะดำรงอยู่ในรูปที่เกาะกุมตัว เพื่อที่จะรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นแบบรักษาของเก่า ซึ่งสถาบันคณะสงฆ์ก็ไม่แตกต่างไปจากสภาพเช่นนั้น คือเมื่อสังคมปรับตัวเข้ารูปอย่างหนึ่งแล้ว สถาบันคณะสงฆ์ก็เปลี่ยนหน้าที่จากผู้ช่วยสังคมในระยะเปลี่ยนแปลง กลับมาเป็นสถาบันที่จะช่วยรักษาสภาพสังคมที่เป็นอยู่ให้คงที่ คือ กลายเป็นตัวรักษารูปแบบไป ในเมื่อสถาบันมีลักษณะในการที่จะพยายามรักษารูปแบบเดิมไว้แล้ว ต่อมาสังคมเปลี่ยนแปลงอีก ก็จะเกิดสภาพขัดขืนขึ้น สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในสภาพสังคมที่ปรับตัวเข้ารูปแบบแล้ว จะพยายามขัดขวางความเปลี่ยนแปลง หรือไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามรักษาสิ่งต่างๆ ที่เป็นของเดิมเอาไว้ ในสภาพเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดการขัดกัน คือ สถาบันนั้นแทนที่จะมาคิดช่วยว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราจะช่วยเขาอย่างไรให้เขาเปลี่ยนแปลงไปดี ก็กลับไปเป็นห่วงตัวเอง เป็นห่วงสถาบันของตัวเองว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษารูปแบบคงสภาพเดิมไว้ได้ นี้เป็นประการที่หนึ่ง
ประการที่ ๒ ก็คือ เกิดการสับสนเพราะตัวเองไม่รู้ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง และพะวงในการรักษารูปแบบอยู่ สังคมเปลี่ยนไปก็กำหนดไม่ถูก ผลที่สุด ก็เกิดความสับสน ปรับตัวเองไม่ถูก กำหนดบทบาทของตัวเองไม่ถูกว่า ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ตนควรทำอย่างไร อันนี้จะว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแก่สถาบันพระพุทธศาสนาในปัจจุบันก็ว่าได้
เพราะฉะนั้น สภาพของพระพุทธศาสนา ถ้าจะพูดไปแล้ว ปัจจุบันกับสมัยพุทธกาลย่อมผิดกัน เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านสร้างพระพุทธศาสนาขึ้นมาในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นไปในทางที่ดีที่สุด แต่สภาพสถาบันพุทธศาสนาปัจจุบัน คือ สภาพของการรักษาสถานะเดิมหรือรูปแบบเดิม แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายนอกซึ่งเข้ามาขัดแย้ง ในสภาพเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาสำคัญที่ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงตัว หรือปรับปรุงตัว มีบทบาทอย่างไรดีต่อไป กลับกลายเป็นปัญหาหนัก เดิมนั้นพระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายที่จะช่วย หรือจะควบคุมการเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าไม่รีบกำหนดให้ทัน พระพุทธศาสนาจะกลับเป็นตัวสภาพที่ขัดแย้งกับความเปลี่ยนแปลงเสียเอง
ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า สมัยก่อนหรือครั้งพุทธกาลโน้น สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นเสมือนกลุ่มชนเจ้าทุกข์กำลังเกิดเหตุการณ์อลเวงสับสนอยู่ พระพุทธศาสนาก็เข้ามาจากภายนอกมาช่วยแก้ไขเหตุการณ์ ชี้ช่องทางแก้ไขปลดเปลื้องตัว หรือเป็นผู้นำทางแก่กลุ่มชนนั้น แต่ปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ภายใน กลายเป็นคนในไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์สับสนอลเวงขึ้นอีก ถ้าไม่รู้เท่าทัน ไม่กำหนดท่าทีหรือวางตัวให้ดี พระพุทธศาสนาอาจจะกลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นคู่ต่อสู้ของความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นเครื่องกีดขวางความเปลี่ยนแปลง เป็นเป้าที่จะสร้างปรปักษ์ขึ้นในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น แทนที่จะเป็นผู้ช่วยนำทางสังคมให้ดำเนินไปด้วยดี ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง หรือช่วยแก้ไขให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพเช่นนี้เราจะทำอย่างไร ก็เป็นปัญหาปัจจุบัน ถ้าเราจะกำหนดให้ดีรีบปรับตัว ก็ต้องรีบกำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง ในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้
เก่า-ใหม่ ความงมงาย และความสับสน ระส่ำระสาย ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ มักจะมีการแบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเขาเรียกว่าพวกเก่า พวกหนึ่งที่นิยมการเปลี่ยนแปลงเขาเรียกว่าพวกใหม่ สถาบันพระศาสนาในสังคมที่เข้ารูปแบบนี้ก็มักถูกจัดเข้าในพวกเก่า ซึ่งอันนี้เป็นภาพที่มองเห็นโดยทั่วไป พวกที่ชอบการเปลี่ยนแปลงเรียกตัวเองว่าพวกใหม่ และเรียกพวกมากับสภาพเดิมว่าพวกเก่า ก็มีพวกใหม่กับพวกเก่าเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ภาพที่เด่นชัดในสมัยสังคมปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก็คือสภาพของเก่ากับของใหม่ ความจริงจะคนเก่า คนใหม่ก็ตาม มันก็เป็นความพยายามที่จะรักษาสภาพที่ดีหรือปรับตัวไปหาสภาพที่ดีให้ได้ แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า คนเรามักจะทำอะไรให้พอดีได้ยาก คือ มักจะตกเข้าไปในสภาพเอียงสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไปเป็นเก่าก็เอียงสุดไปข้างหนึ่ง เป็นใหม่ก็เอียงสุดไปข้างหนึ่ง และความเอียงสุดก็ออกมาในรูปของความคิดด้วย เป็นสิ่งที่เรียกว่าความงมงาย เช่นพวกใหม่ก็จะดูถูกติฉินนินทาพวกเก่าว่าเป็นพวกงมงาย งมงายกับของเก่า รักษาแต่ของเก่าไว้ไม่เข้าเรื่อง
ความจริงความงมงายมีอยู่ ๒ อย่าง คืองมงายในของเก่า กับงมงายในของใหม่ ทำไมถึงว่ามี ๒ อย่าง ใหม่หรือเก่าก็งมงายได้ทั้งนั้น คือ ความคิดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล สักแต่ว่ายึดไว้ หรือแล่นไปตามที่พูดขึ้นมานิยมขึ้นมา อันใดว่าดีก็ว่าไปตามนั้น อะไรก็ตามที่สักแต่ว่าดีแล้วก็ฮือกันไปแล้วคิดทำไปตามนั้น เรียกว่าความงมงายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ถ้าไม่ระวังให้ดี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งแบ่งกันเป็น ๒ พวก ก็จะตกไปในความงมงายทั้งหมด คือ งมงายในของเก่าอย่างหนึ่ง งมงายในของใหม่อย่างหนึ่ง ที่จะไม่ให้งมงายก็คือ อะไรไม่ว่าเก่าว่าใหม่ ชอบด้วยเหตุผล เป็นความดีงาม ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ มันก็ย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสียอยู่ด้วยกัน ก็เลือกเอาส่วนที่ถูกต้อง นั้นก็คือเข้าสู่หลักธรรมเป็นธรรมาธิปไตย อันนี้คือข้อควรระวังในสังคมปัจจุบันที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความแบ่งแยกเป็นเก่ากับใหม่ มีความงมงายเกิดขึ้น เป็นความงมงายของคนเก่า กับความงมงายของคนใหม่ งมงายทั้ง ๒ อย่าง
ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ ในสภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การพูดถึงเสรีภาพและความเสมอภาค ในเมื่อปัจจุบันบอกว่าจะเปลี่ยนไปสู่ความเสรี ก็ต้องดูถูกและติฉินนินทาของเก่าว่าไม่มีเสรีภาพ เมื่อไม่เสรีก็อยู่ในอำนาจถูกกดขี่บีบคั้น เพราะฉะนั้นก็จะติฉินนินทาสภาพเก่าว่าถูกกดขี่ แล้วก็ว่าใหม่นี้จะทำให้พ้นจากสภาพถูกกดขี่ มนุษย์ก็จะอยู่ในคติที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือ มักจะไปทางเอียงสุดข้างใดข้างหนึ่ง หาความพอดีได้ยาก เมื่อเก่าเอียงสุดข้างหนึ่ง พวกใหม่ถือว่าของเก่าถูกกดขี่ ก็จะช่วยให้พ้นจากการกดขี่ แต่การช่วยนั้นมีข้อควรระวัง คือ มันจะเพียงเพื่อผลัดกันกดขี่หรือไม่ ขออภัยถ้าจะใช้ศัพท์หยาบก็หมายความว่า เดิมท่านเคยเหยียบฉัน ต่อไปนี้ฉันขอเหยียบท่านบ้าง หมายความว่าผลัดกันเหยียบ ถ้าได้แค่นี้ มองในส่วนรวมกว้างๆ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทางสายกลางหรือทางที่เป็นกลางๆ ไม่เข้าใคร คือ ธรรมาธิปไตย พิจารณาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเป็นความบกพร่องที่ควรแก้ไข แล้วจัดเสียให้มันถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ดี
ที่พูดกันมาก ย้ำกันนักในเรื่องเสรีภาพนั้น ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมครั้งนี้ มีจุดสำคัญอยู่ที่การได้พ้นจากสภาพที่เรียกว่า การกดขี่บีบคั้นหรือกักกันครอบงำที่กล่าวแล้ว คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความถูกกดขี่บีบคั้นไปสู่ความมีเสรีภาพ เมื่อสังคมมีเสรีภาพแล้ว ก็จะสามารถเดินมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ตนปรารถนาได้ โดยไม่มีใครมาปิดกั้นไว้ หรือบังคับให้ฝืนใจเดินไปในทิศทางที่ตนไม่ปรารถนา เรียกว่าจะได้ปฏิบัติตามอุดมการณ์ เดินไปให้บรรลุอุดมคติของตน พูดอย่างนี้ก็เหมือนกับยอมรับหรือทึกทักเอาว่า สังคมนี้มีอุดมการณ์ หรืออุดมคติของตนเองที่ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว แต่ถูกกักไว้ พอเปิดหรือหลุดออกได้ มีจุดมุ่งของตนเองอยู่แล้ว ก็แล่นรุดตรงไปหาในทันที
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ดูเหมือนการหาเป็นเช่นนั้นไม่ สังคมนี้มิได้มีอุดมการณ์หรืออุดมคติของตนมาก่อน บางคนหรือบางกลุ่มอาจมี แต่ก็เป็นของเฉพาะบุคคล หรือของกลุ่มชนนั้นเท่านั้น หาใช่จุดมุ่งที่เห็นร่วมกันไม่ หนำซ้ำหลายคนหลายกลุ่มยังมีจุดมุ่งต่างกัน พร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกันต่อไป ยิ่งกว่านั้นจุดมุ่งที่มีบางทีก็เป็นของไปเที่ยวเก็บเอามา ตนเองก็ยังพร่ามัวอยู่ การที่ไม่มีจุดมุ่งชัดเจนร่วมกันเช่นนี้ จะเป็นเพราะถูกกักไว้หรืออยู่ในที่ครอบเสียนานจนลืมนึก หรือเพราะอะไรก็ตามที ครั้นอยากจะออกก็นึกแต่จะให้พ้นจากที่กัก หรือที่ครอบอย่างเดียว พอเปิดโล่งหลุดออกได้ก็ระส่ำระสายอลเวง บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าที่อยู่มานั้น ถูกขังหรือครอบอยู่ ในภาวะเช่นนี้ ก็จะมีสภาพสับสนเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น อาการเก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะไปทางไหนดี หันรีหันขวาง บางทีบางพวกถึงกับไม่แน่ใจว่าจะออกหรือเดินต่อไปดีหรือไม่ ห่วงหน้าพะวงหลัง หรือตัวกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานอยู่ก็ขอเพลิดเพลินต่อไปก่อน บางทีจะไปเหมือนกัน แต่เห็นที่ไปไม่เหมือนกัน เลยหันมาทุ่มเถียงทะเลาะกัน บางพวกทั้งที่ยังเห็นทางไปไม่ชัด ก็แล่นเตลิดไป ไม่มีจุดแน่นอน และในภาวะที่สับสนอลเวงระส่ำระสายเช่นนี้ คนจำนวนมากโดยเฉพาะที่ใจร้อน ก็จะอยู่ในภาวะง่ายที่จะรับ หรือจับฉวยเอาความคิด จุดหมาย หรืออุดมการณ์อะไรที่ใครๆ เอามายื่นเสนอให้ เพียงแต่ให้ความคิด หรืออุดมการณ์นั้นมีเค้ามีแง่บางอย่างให้เห็นว่าดี หรือจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ โดยไม่ต้องพิจารณารายละเอียดกันให้รอบคอบ
ในภาวะเช่นนี้ งานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อสังคมก็คือ การช่วยกันกำหนดจุดมุ่ง แนวทาง หรืออุดมการณ์ที่สังคมจะพึงเห็นชอบร่วมกันให้แน่นอนชัดเจน บุคคลและสถาบันทั้งหลายที่รับผิดชอบต่อประโยชน์สุขและความเรียบร้อยมั่นคงของสังคม จะต้องใส่ใจจริงจังในเรื่องนี้ มิฉะนั้นความแตกแยก ความวุ่นวาย ความหละหลวมคลอนแคลนจะดำเนินต่อไปในสังคม แทนการที่สังคมจะเดินหน้าไปด้วยความมั่นใจ
ทางสายกลางอยู่ที่ไหน
ตอนนี้ มีเรื่องควรทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย เป็นเรื่องแทรกเข้ามา คือ เรื่องของทางสายกลาง ซึ่งมีการเข้าใจผิดอยู่บ้าง ที่เข้าใจผิดก็คือ บางคนคิดว่าทางสายกลางนั้นคือทางที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ๒ ข้าง ถ้าเขามีกันอยู่ ๒ ฝ่าย ก็วางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหน ไม่เข้าพวกเข้าฝ่ายใด ความเป็นกลางอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกับทางสายกลาง ใช้ในคนละกรณี บางครั้งทางสายกลางก็มีลักษณะปรากฏดูเหมือนกับความเป็นกลางแบบนี้เหมือนกัน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างเดียวกัน จะเป็นกลางแบบนี้ต้องรอให้มีพวกมีฝ่ายเกิดขึ้น เป็น ๒ พวก ๒ ฝ่ายจึงจะเป็นกลางได้ เมื่อไม่มีพวกมีฝ่าย ก็เลยไม่รู้จะไปเป็นกลางที่ไหน และในทางหลักการ หรือในทางความคิด ถ้าเป็นกลางแบบนี้ก็กลายเป็นไม่มีหลักของตัวเอง ต้องรอให้มี ๒ ฝ่ายก่อน เมื่อมี ๒ ฝ่ายแล้ว จึงจะเป็นกลางได้ และเป็นกลางคือแค่ไหนก็ต้องรอว่า ๒ ฝ่ายนั้นเขายึดถือปฏิบัติกันแค่ไหน แล้วความเป็นกลางก็ขยับไปตามให้อยู่กึ่งกลางเรื่อยๆ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ทางสายกลางและไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่กลายเป็นอาการหลักลอยไป ทางสายกลางที่พูดถึงนั้นไม่ใช่อย่างนี้ ทางสายกลางนั้นเป็นกลางเหมือนกัน ไม่เข้าใครออกใครเหมือนกัน แต่มีหลักแน่นอน คือเป็นกลางยืนตัวตามความเป็นจริง เป็นทางแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดว่า อะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรสมควร จึงเรียกว่าเป็นทางแห่งปัญญา หรือถือปฏิบัติตามที่เป็นธรรมตามที่จริง ถูกต้องดีงามนั้น จึงเรียกว่าเป็นธรรมาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ในสภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ มันก็มีการที่เขาพยายามหักกันให้เป็นตรงข้าม ดังที่กล่าวมานี้ เช่น มีเก่ามีใหม่ มีขวามีซ้าย มีผู้ถูกกดขี่อะไรทำนองนี้ ชนิดที่เป็นปฏิปักษ์ดึงเข้ามาหากันไม่ได้ ต้องหักล้างทำลายกันลงไปให้หมด และมนุษย์มักจะแล่นไปในการกระทำที่เอียงสุดเสมอ เมื่อกระทำไปในสภาพที่เอียงสุด ก็ตกอยู่ในวัฏฏจักร หรือสังสารวัฏฏ์ คือ หมุนเวียนเข้าสู่สภาพเดิมเรื่อยไป ผู้หนึ่งเคยถูกกดขี่ก็ผลัดขอกดขี่บ้าง หรือว่าเธอเคยเหยียบฉัน ฉันก็ขอเหยียบเธอบ้าง ก็กลับกัน หรือว่าฝ่ายนี้เหยียบมานานแล้ว ทางฝ่ายโน้นก็ขอขึ้นเหยียบแทนบ้าง ต่อไปอย่างนั้น หรือระหว่างใหม่กับเก่าก็มีแต่ความงมงาย พวกหนึ่งว่าเก่าต้องดี หรือพวกใหม่ก็ว่าอะไรเก่าไม่ดีทั้งนั้น ต้องใหม่ซิถึงจะดี ก็พวกงมงายทั้งสิ้น ไม่ว่าพวกเก่าหรือพวกใหม่ เป็นพวกงมงายคือเป็นพวกเอียงสุดทั้งสิ้น ทีนี้ในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นระยะที่เราจะต้องพยายามทำอะไรให้ดีที่สุด คือจะต้องคำนึงถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเหมาะอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นทางสายกลาง ทางสายกลางอยู่ที่ไหน ทางสายกลางก็คือ ทางที่เป็นกลางไม่เข้าใครออกใคร ได้แก่ทางแห่งปัญญา ทางปัญญาก็คือ การพิจารณา การศึกษา วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ให้เห็นถ่องแท้ลงไปว่า อะไรดีอะไรไม่ดี เพื่อจะแก้ไขให้ถูกต้อง มิใช่เป็นเพียงการถือความประพฤติที่หักล้าง ตรงข้ามจากเดิม โดยแบ่งแยกว่าสภาพเดิมอย่างนั้น ต้องเปลี่ยนไปตรงข้ามอย่างโน้น สภาพเดิมอย่างไร ก็ให้ตรงกันข้ามกับสภาพที่เป็นมา เพียงเท่านี้มนุษย์ก็กลับเข้าไปสู่สภาพวงจรเดิมที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นพวกปฏิบัติการเอียงสุด ทำให้ดำเนินไปไม่ตลอด และเราก็แก้ปัญหาไม่ถูกต้อง
อาตมภาพได้พูดมาในเรื่องพระพุทธศาสนา กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งพูดไปมากก็ยากที่จะสรุป แต่โดยใจความแล้วก็มุ่งให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นในสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และพระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศพระศาสนา เพื่อช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่ดี ปัจจุบันนี้เรามาตกอยู่ในสภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่สถาบันพระพุทธศาสนาของเราในปัจจุบันนี้ มันมีสภาพไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล เพราะมันอยู่ในสภาพของสังคมที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่ของประกาศขึ้นใหม่อย่างสมัยพุทธกาล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมาช่วยกันคิดพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างหนึ่ง และทำอย่างไร จะเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือนำทางให้สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างหนึ่ง อย่างน้อย จากคติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำไว้ในชมพูทวีป ยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง เราก็น่าจะได้ข้อคิดมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้พอสมควร อาตมภาพก็พูดไปแต่เพียงแง่หนึ่งแง่เดียวนี้ เห็นว่าเป็นการสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาต่อทุกๆ ท่านที่มานั่งฟังอยู่ในที่ประชุมนี้ ตลอดถึงสาธุชนทั้งหลายที่ฟังอยู่ในสถานที่ต่างๆ โดยทั่วกัน
No Comments
Comments are closed.