- เป็นมงคลแท้ เมื่อครบทั้งสอง
- แต่งงาน คือเริ่มชีวิตใหม่ เป็นผู้ใหญ่รับผิดชอบครอบครัว
- รักแท้ดูที่ไหน และเป็นอย่างไร
- เมื่อเริ่มชีวิตคู่ ก็ได้กำลังเพิ่ม มาช่วยกันสร้างสรรค์
- ถ้าอยู่แค่สิทธิ ก็แห้งแล้ง จะสุขสดใส เมื่อรักแท้ด้วยน้ำใจ
- สิทธิมนุษยชนเป็นหลักประกันเบื้องต้น แต่ไม่พอที่จะให้บรรลุจุดหมายของมนุษย์
- ชีวิตสมรสเริ่มด้วยรัก แล้วเดินหน้ากว้างออกไป ไม่ใช่ถอยหลังลงมาทวงสิทธิกัน
- ถ้าก้าวหน้าไปในความรัก ชีวิตสมรสก็จะเป็นชีวิตแห่งการสร้างสรรค์
- ชีวิตคู่จะมั่นคง ต้องมีสัจจะเป็นฐาน
- ชีวิตจะก้าวไปในโลกได้ดี ต้องมีความสามารถปรับตัว และทำแบบฝึกหัดเป็น
- เข้มแข็งทนทาน จึงจะฝ่าฟันถึงความสำเร็จ
- เสียสละได้ มีน้ำใจต่อกัน ครอบครัวจึงจะสุขสันต์ยั่งยืน
- ครอบครัว คือชะตาของสังคม พ่อแม่ คือผู้สร้างอนาคตของโลก
- ชีวิตคือ การศึกษา มนุษย์ฝึกฝนพัฒนาจึงประเสริฐ
- ยิ่งฝึกตน คนก็ยิ่งประเสริฐ คนยิ่งประเสริฐ ก็ยิ่งสร้างสรรค์สิ่งดีเลิศ
- ช่วยกันปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้วิวาหมงคลให้เติบโตมั่นคง มีใบ ดอก และผลบริบูรณ์
ชีวิต คือการศึกษา
มนุษย์ฝึกฝนพัฒนา จึงประเสริฐ
ในการมองไปข้างหน้าแล้วมารวมกำลังกันสร้างสรรค์อย่างที่ว่านั้น ระหว่างนี้เราก็พัฒนาชีวิตของเราไป เพื่อให้มีความสามารถที่จะทำการสร้างสรรค์นั้น เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นอยู่ได้และดำเนินไปด้วยดี ตามหลักการที่ทางพระบอกเราว่าชีวิตคือการศึกษา
ทำไมชีวิตจึงเป็นการศึกษา เรื่องนี้เห็นได้ง่าย การที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้นี้ เราต้องพบเห็นประสบการณ์ใหม่ ตาเราก็เห็นสิ่งใหม่ หูเราก็ได้ยินสิ่งใหม่ เราเดินไปเจอสิ่งใหม่ ไปในสถานที่ใหม่ พบสถานการณ์ใหม่ ชีวิตของคนเราก็อย่างนี้
เมื่อเราพบเห็นสิ่งใหม่ หรือเจอสถานการณ์ใหม่ เราก็ต้องคิดหาทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นและสถานการณ์นั้นให้ถูกต้อง ให้ได้ผล ไม่ให้ติดขัด ให้ผ่านลุล่วงไปได้ เราจึงต้องเรียนรู้มัน ต้องคิดที่จะปฏิบัติต่อมัน หาทางแก้ไขปัญหา แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้ชีวิตของเราดำเนินไปด้วยดี การทำอย่างนี้เรียกว่าการศึกษาทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เราเป็นอยู่ได้นี้ ต้องศึกษาตลอดเวลา
ตามที่ว่ามานี้ ชีวิตของเรา ที่จะดีจะประเสริฐได้ ก็ด้วยการศึกษาหรือการฝึกนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงมีคติที่พูดกันในสังคมไทยตลอดมาว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ”
แต่คำพูดของเรานี้ เป็นคำที่พูดรวบรัดง่ายๆ เราตัดข้อความอีกตอนหนึ่งที่สำคัญทิ้งไป คือ คำเต็มต้องพูดว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก” ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่
มนุษย์นี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมา ทางพระไม่ได้ยอมให้เลยว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะมนุษย์ที่ไม่ฝึก จะแย่ที่สุด มนุษย์ที่ไม่มีการฝึกนั้น เป็นสัตว์ที่แย่ที่สุด ด้อยกว่าสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธพจน์ว่า “ทนฺโต เสฏโ มนุสฺเสสุ” แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด หรือผู้ที่ฝึกแล้ว จึงประเสริฐ “ฝึก” ก็คือ ศึกษา พัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น
มนุษย์เรานั้น เป็นสัตว์ที่ว่า ถ้าไม่ฝึก ไม่ศึกษาแล้ว อยู่ไม่รอด ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เราเอาดีได้ด้วยการฝึก ด้วยการศึกษาเรียนรู้
แม้แต่จะนั่ง จะยืน จะเดิน รับประทานอาหารนี่ มนุษย์ต้องเรียนทั้งนั้น ต้องฝึกทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ฉะนั้นจึงพูดว่ามนุษย์นี้ฝึกได้ และต้องฝึก
เมื่อเราอยู่ในโลกไป ถ้าเราฝึก เราก็สามารถเป็นสัตว์ที่ประเสริฐจริงๆ เป็นมหาบุรุษก็ได้ เป็นนักประดิษฐ์ค้นคว้า เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้
เพราะฉะนั้น มนุษย์นี้จะได้แค่ไหน ก็อยู่ที่การฝึกตัวเอง
No Comments
Comments are closed.