- พระพุทธศาสนา กับประชาธิปไตย
- พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
- เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
- เกณฑ์วินิจฉัย ความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
- ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม
- สันโดษ
- วรรณะ
- การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์
- ตบะ
- โยคะ
- ภาคผนวก ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
- บทสัมภาษณ์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
- ที่มา
- อนุโมทนา
- คำนำ
วรรณะ
การแบ่งชั้นกันในหมู่ประชาชนเป็นลักษณะที่มีอยู่ในสังคมทั่วไป ไม่ว่าในยุคสมัย หรือถิ่นฐานใด แต่การแบ่งชนชั้นที่มีชื่อว่า วรรณะ เป็นลักษณะพิเศษของสังคมอินเดียโดยเฉพาะ ซึ่งหาเทียบไม่ได้ในสังคมอื่น
วรรณะ คือระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ซึ่งถือเอาชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์ บุคคลเกิดในวรรณะใด ย่อมได้รับสิทธิและแนวทางดำเนินชีวิตตามที่หลักคำสอนในศาสนาพราหมณ์ชี้และขีดวงให้ไว้สำหรับวรรณะนั้น แน่นอนตามตัวชั่วชีวิตของตน
ชาวอินเดีย ได้เชื่อถือและประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดตามคำสอนและจารีตเกี่ยวกับวรรณะมาเป็นเวลากว่าพันปี กระทั่งการถือวรรณะนั้น ไม่เพียงแต่แพร่หลายแทรกอยู่เป็นลักษณะสามัญในสังคมอินเดียทุกระดับเท่านั้น แต่ยังมีการถือซับซ้อนแบ่งย่อยซอยออกไป ทำให้จำนวนวรรณะเพิ่มพูนขึ้นตามยุคสมัย จนเกือบจะนับไม่ถ้วนอีกด้วย และความเชื่อถือนั้นฝังลึกเหนียวแน่นจนกระทั่งว่า แม้ชาวอินเดียที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้ว เช่น เป็นมุสลิม สิกข์ และคริสต์ เป็นต้น ก็ยังมีความยึดถือวรรณะแฝงติดไป พลอยให้มีการแบ่งชั้นทำนองคล้ายกันในหมู่ศาสนิกนั้นๆ อีกด้วย
เหตุเกิดวรรณะ
ก. ตามตำนาน
๑) ทฤษฎีเกี่ยวกับลำดับยุค
การแบ่งกาลเวลาตามหลักศาสนาพราหมณ์ เป็นสิ่งเนื่องด้วยองค์พระเป็นเจ้าผู้สร้าง คือพระพรหม วันคืนหนึ่งเต็มๆ ของพระผู้สร้าง ทั้งข้างสว่างคือกลางวันและข้างมืดคือกลางคืน มีชื่อเรียกเฉพาะว่า กัป หรือกัลป์หนึ่ง เทียบมาตราเวลาของมนุษย์ได้ ๘,๖๔๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี กำหนดเอากัปหรือกัลป์นี้เป็นหลัก แบ่งซอยออกเป็นมาตราเวลาได้ ดังนี้
๑ กัลป์ = ๒ อรรธกัลป์
๑ อรรธกัลป์ = ๑,๐๐๐ มหายุค หรือ มันวันตระ
๑ มหายุค = ๔ ยุค
ยุคทั้ง ๔ นั้นคือ
๑. กฤตยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๑,๔๔๐,๐๐๐ ปี
๒. เตรตยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๑,๐๗๐,๐๐๐ ปี
๓. ทวาปรยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๗๒๐,๐๐๐ ปี
๔. กลียุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๓๕๐,๐๐๕ ปี
แต่ละยุคเริ่มต้นด้วยสนธยา และสิ้นสุดลงด้วยสนธยามศะเป็นช่วงต่อระหว่างยุค และเมื่อครบ ๔ ยุค เป็นมหายุคหนึ่งนั้น โลกจะสิ้นสุดลงด้วยลยะ กลับคืนเข้าสู่หทัยแห่งพรหมครั้งหนึ่ง
กำเนิดแห่งหมู่ชนในวรรณะทั้ง ๔ เป็นไปตามความเจริญและความเสื่อมที่เกิดขึ้นในยุคทั้ง ๔ กล่าวคือ ในยุคต้นที่เรียก กฤตยุค หรือสัตยยุคนั้น เป็นยุคที่โลกเจริญที่สุด เรียกว่าเป็นยุคทอง มนุษย์ที่เกิดในยุคนี้มีวรรณะเดียว คือ หังสะ มีสีขาวกาลล่วงมา โลกนี้เสื่อมลง ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมปรากฏในหมู่มนุษย์มากขึ้นโดยลำดับ มนุษย์วรรณะต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามกันมา
– มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่วรรณะเดิมในยุคที่ ๑ ได้แก่ มนุษย์วรรณะพราหมณ์
– มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่เตรตยุคหรือไตรดายุคที่ ๒ ได้แก่มนุษย์วรรรณะกษัตริย์
– มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่ทวาปรยุคที่ ๓ ได้แก่ มนุษย์วรรณะไวศยะหรือแพศย์
– ส่วนมนุษย์ที่เกิดในยุคปัจจุบัน คือกลียุค ได้แก่พวก ศูทรและวรรณะอันต่ำต้อยทั้งหลาย
๒) ทฤษฎีองคาพยพของพระผู้สร้าง
คัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงกำเนิดของวรรณะต่างๆ ว่าพระพรหมได้ทรงสร้างมนุษย์ในวรรณะทั้ง ๔ จากอวัยวะต่างๆ ของพระองค์ดังนี้
๑. ทรงสร้างพราหมณ์จากพระโอษฐ์
๒. ทรงสร้างราชันย์หรือกษัตริย์จากพระพาหา
๓. ทรงสร้างไวศยะหรือแพศย์จากพระโสณิ
๔. ทรงสร้างศูทรจากพระบาท
ข. สันนิษฐานตามหลักวิชา
คำว่า “วรรณะ” แปลว่า “สีผิว” ทำให้สันนิษฐานว่า การแบ่งชั้นคนในระยะแรกคงถือตามสีผิว พราหมณ์ซึ่งเป็นวรรณะสูงสุดเดิมคงเป็นพวกผิวขาวทั้งสิ้น แต่อาศัยกาลเวลาที่ล่วงมานานมีการผสมระคนกันในทางเชื้อชาติบ้าง สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และความเป็นอยู่เป็นองค์ประกอบบ้าง สีผิวจึงไม่เป็นเครื่องกำหนดที่แน่นอน
คำอีกคำหนึ่งที่คู่กันมากับคำว่า “วรรณะ” ก็คือคำว่า “ชาติ” แปลว่า “กำเนิด” ซึ่งหมายความเล็งไปถึงเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ พิจารณาในแง่นี้ การแบ่งชนชั้นคงเกิดจากการแบ่งแยกพวกหมู่กันตามเผ่าพันธุ์ด้วย ปราชญ์สันนิษฐานว่า พวกนักบวช นักรบและพ่อค้า เผ่าอารยัน ได้กลายมาเป็นคนวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์และแพศย์ พวกทาสของอารยันได้กลายมาเป็นวรรณะศูทร ส่วนพวกเจ้าถิ่นชมพูทวีปแต่เดิม และชนเผ่าล้าหลังอื่นๆ เป็นพวกนอกวรรณะก่อน และค่อยๆ ถูกจัดรวมเข้าในวรรณะต่ำๆ
ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ มีความหมายแสดงไว้ว่า วรรณะ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ เป็นอารยะ (บาลีว่า อริยะ) ส่วนวรรณะศูทรและนอกนั้น เป็นอนารยะ (บาลีเป็นอนริยะ)
การแบ่งชั้นตามระบบวรรณะของสังคมอินเดียนี้ เป็นเครื่องมือสงวนและจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพและกิจการทั้งหลายต่างกับในสังคมอื่นซึ่งส่วนมากการประกอบอาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจอันเนื่องด้วยอาชีพ เป็นเครื่องแบ่งชนชั้น
ระบบความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะ
ถือกันว่า พระมนู เป็นผู้วางระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องวรรณะไว้ ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะนั้นมีละเอียดหยุมหยิมมาก ขอยกตัวอย่างแสดงไว้พอเป็นที่สังเกต
วรรณะ ๓ พวกแรกเรียกว่าเป็น ทวิชะ เพราะเกิดได้ ๒ ครั้ง (โดยกำเนิดจากครรภ์มารดาครั้งหนึ่ง และโดยพิธีคล้องสายยัชโญปวีตอีกครั้งหนึ่ง) ส่วนศูทรและคนนอกนั้นเป็นพวกเกิดได้ครั้งเดียว ไม่มีสิทธิในยัชโญปวีต พวกทวิชะมีสิทธิเรียนพระเวทได้ ประกอบยัญพิธีตามคัมภีร์พระเวทได้ ดำเนินชีวิตตามหลัก อาศรม ๔ (คือพรหมจารี คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ และสันยาสี)ได้ ส่วนพวกศูทรและพวกนอกจากนี้ ไม่มีสิทธิเหล่านี้เลย
วรรณะทั้ง ๔ และพวกนอกวรรณะทั้งหลาย ยังแบ่งย่อยซอยออกไปอีกมากมายตามอาชีพเล็กๆ น้อยๆ และรังเกียจกันเองต่อๆ ไป ตามวรรณะปลีกย่อยเหล่านั้น เช่น พวกจัณฑาล ก็มีการแบ่งชั้นกันและรังเกียจกันตามชั้นที่แบ่งนั้นๆ เป็นต้น ทำให้ทุกหน่วยย่อยของสังคมอินเดียเป็นสังคมที่ปิดตัว แยกขาดจากกันเสร็จไปเป็นหน่วยๆ
ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม วรรณะทั้ง ๔ ถูกห้ามไม่ให้คบหากัน โดยเฉพาะไม่แต่งงานกัน ไม่กินอาหารร่วมกัน คนวรรณะสูงไม่กินอาหารที่คนวรรณะต่ำปรุง หรือแม้แต่แตะต้อง ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องเกี่ยวข้องกัน เช่น ใช้ของสาธารณูปโภคมีสระน้ำเดียวกัน เป็นต้น ก็ให้แบ่งเขตกันใช้ หรือปันระยะที่จะต้องอยู่ห่างจากกัน เช่น วรรณะนั้นห่างจากวรรณะนี้ ๙๖ ก้าว ๔๐ ก้าว ๑๕ ก้าว ๑๒ ก้าว เป็นต้น
การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ก็มีรายละเอียดของการปฏิบัติต่างกันออกไป เช่น ในหมู่วรรณะสูงด้วยกันเองใช้คาถาบูชายัญต่างกัน สายยัชโญปวีตทำด้วยวัสดุต่างชนิดกัน วิธีกราบไหว้ต่างกัน โดยอาการโค้ง การแบมือ และเหยียดมือ เป็นต้น สีประจำวรรณะก็กำหนดไว้ให้แปลกกันคือ สีขาวสำหรับวรรณะพราหมณ์ สีแดงสำหรับวรรณะกษัตริย์ สีเหลืองสำหรับวรรณะแพศย์ สีดำสำหรับวรรณะศูทร ฐานะความเป็นอยู่ก็ต่างกัน เช่น คนจัณฑาล ถึงจะมั่งมีเงินทองก็ไม่มีสิทธิสร้างบ้าน ๒ ชั้น การลงโทษในความผิดอย่างเดียวกันก็ต่างกัน เช่น คนวรรณะต่ำฆ่าพราหมณ์ จะต้องถูกลงโทษด้วยวิธีทรมานจนตาย แต่พราหมณ์ฆ่าศูทรมีค่าเท่ากับฆ่าแมว จิ้งจก นก กบ
ชนชาติอื่นก็อาจถูกจัดเข้าระบบวรรณะได้ตามฐานะ เช่น พวกโมกุลหรือมุขุ่ล ที่เป็นนักปกครองชาวมุสลิม และชาวอังกฤษก็อาจถูกจัดเข้าเป็นวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น
ปัจจุบัน วรรณะของชาวอินเดีย ได้แยกย่อยออกไปจนมีจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ วรรณะ และเกิน ๒๕,๐๐๐ อนุวรรณะ และยังมีวรรณะใหม่ๆ เกิดเพิ่มอยู่เรื่อยๆ บางวรรณะมีสมาชิกจำนวนล้าน แต่บางวรรณะมีเพียงจำนวนร้อย
ผลดี-ผลเสีย
ระบบวรรณะเกิดขึ้นเพราะชนเผ่าอารยันต้องการสงวนอภิสิทธิต่างๆ และครอบครองความมีอำนาจ ความยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่เผ่าของตน แต่ระบบวรรณะนั้นมีผลเสียมากมายหลายอย่าง ผลเสียบางอย่างเลวร้ายจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าผลดี ขอยกตัวอย่างผลดีผลเสียพอให้เห็นดังนี้
– ทำให้เกิดการผูกขาดอาชีพ และจำกัดอยู่เฉพาะถิ่นหนึ่งๆ ขยายออกไปไม่ได้ ไม่มีความขยายตัวก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
– ทำให้เกิดความแตกแยกกัน แม้มีอาชีพใกล้เคียงกันก็ร่วมมือกันไม่ได้ แม้อยู่ในวรรณะเดียวกัน ก็แบ่งย่อยกันออกไปอีก รังเกียจกันเอง รวมกำลังกันไม่ได้
– ทำให้ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพราะผู้คิดอะไรแปลกใหม่ ถูกรังเกียจว่านอกลู่นอกทาง ถูกประณาม และถูกลดฐานะในสังคมวรรณะ
– ทำให้เกิดความชำนาญพิเศษในกลุ่มอาชีพ เพราะถ่ายทอดต่อกันมาในหมู่ชนหนึ่งๆ โดยเฉพาะเป็นเวลายาวนาน
– ทำให้เกิดการยึดมั่นในความเชื่อถือ ประเพณีและจารีตต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่หรืออิทธิพลจากภายนอกไม่ได้ ทำให้ประเทศอินเดียและศาสนาฮินดูอยู่รอดได้สืบมา ไม่กลมกลืนไปกับระบบอื่นๆ จากภายนอก
ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะของอินเดียนั้น เหนียวแน่นลึกซึ้ง จนกล่าวได้ว่าถ้าไม่หาระบบอื่นมาเตรียมพร้อมที่จะแทนที่ให้ก่อนแล้ว การเลิกระบบวรรณะในอินเดียจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อาจถึงทำให้ชาติอินเดียแตกสลายย่อยยับก็ได้
ทัศนะและวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาในเรื่องวรรณะ
ก. ในทางทฤษฎี (หลักกรรมแทนหลักพรหมนิรมิต)
๑) ต่อต้านและหักล้างความเชื่อถือในเรื่องวรรณะ ด้วยการเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของโลกและสังคม โดยการกระทำของมนุษย์ แทนทฤษฎีการสร้างโลก และบันดาลความเป็นไปในสังคมโดยพระผู้เป็นเจ้า
๒) มิให้ถือชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกและวัดความสูงต่ำของมนุษย์ ให้ถือคุณธรรม ความสามารถ และความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องแบ่งแยกวัดความทรามและความประเสริฐของมนุษย์
๓) สอนให้ตระหนักว่า วรรณะไม่สามารถกีดกั้น จำกัดขอบเขตความสามารถของมนุษย์ บุคคลทุกคนไม่ว่าเกิดในวรรณะใดก็มีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และสามารถทำตนให้ดีเลวได้จนถึงที่สุดเท่าๆ กัน ควรได้รับสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะเลือกทางชีวิตและการปฏิบัติของตนเอง
ข.ในทางปฏิบัติ
๑) ตั้งคณะสงฆ์อันเป็นสังคมปราศจากวรรณะ และรับคนจากทุกวรรณะเข้ามาสู่ความมีฐานะและสิทธิที่เท่าเทียมกัน และวางระบบสังคมพุทธบริษัทที่จะช่วยค้ำจุนสังคมปราศจากวรรณะไว้
๒) บัญญัติความหมายและสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับถ้อยคำต่างๆ ที่แสดงความแบ่งแยกชนชั้นเท่าที่มีใช้อยู่ในสมัยนั้น ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะวัดคนด้วยคุณธรรม มิใช่ชาติกำเนิด เช่น คำว่า อริยะ หรือ อารยะ คำว่า พราหมณ์ จัณฑาล เป็นต้น
ตัวอย่างคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับวรรณะ
ก. ตัวอย่างพระสูตร
๑) วาเสฎฐสูตร (ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๔; ขุ.ธ. ๒๕/๓๘๑/๔๕๐) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพวรรณะพราหมณ์ ๒ คน ว่าด้วยเหตุผลหรือคุณสมบัติที่จะให้ได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
มาณพทั้ง ๒ คือ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ โต้เถียงกันว่าในบรรดาคุณสมบัติ ๒ ฝ่ายของพราหมณ์คือ ชาติกำเนิดที่บริสุทธิ์ เป็นอุภโตสุชาติตลอด ๗ ชั่วคน กับศีลและวัตร อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน และอย่างไหนเป็นคุณสมบัติที่ตัดสินความเป็นพราหมณ์ได้เด็ดขาด มาณพทั้ง ๒ มีความเห็นคนละอย่าง ตกลงกันไม่ได้ พอดีได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้าและทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึงถิ่นนั้น จึงชวนกันไปเฝ้าทูลขอความเห็น จากคำสนทนาครั้งนั้น สรุปพุทธมติได้ดังนี้
ในหมู่มนุษย์ ไม่มีความแตกต่างที่เสร็จสิ้นมาจากชาติกำเนิดเหมือนอย่างพืชและสัตว์ที่ต่างชนิดต่างพันธุ์กัน ความแตกต่างในหมู่มนุษย์เกิดจากสมัญญา คือชื่อที่สมมติให้แตกต่างกันไป เช่นการแยกพวกตามประเภทของอาชีพที่ประกอบ ครั้นความยึดถือในเรื่องชื่อและโคตรฝังแน่นกันมานาน ก็เกินเลยไปถึงกับถือว่าพราหมณ์หรือเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริงแล้ว มนุษย์จะเป็นอย่างไรๆ ไปตามชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่เป็นเพราะกรรม ที่เห็นง่ายๆ ก็คือการงานอาชีพที่ทำ เช่น ทำนา เป็นกสิกร ค้าขายเป็นพ่อค้า ลักของเป็นโจร เป็นต้น ชาวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม ถ้าจะตัดสินความเป็นพราหมณ์นั้น ก็ต้องตัดสินด้วยกรรม ไม่ใช่ด้วยชาติกำเนิด ถ้าจะยกให้ว่าพราหมณ์เป็นคนสูงสุด ประเสริฐสุด ก็ต้องกำหนดคุณธรรมที่ถือว่าดีเลิศประเสริฐสุดเป็นเครื่องวัด และบ่งไว้ว่า นั้นคือคุณสมบัติของพราหมณ์ ใครก็ตามที่ประกอบด้วยคุณธรรมนั้น มีคุณสมบัติของพราหมณ์นั้น มีคุณสมบัติถูกต้องตามนั้น ก็เป็นพราหมณ์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดมาอย่างไร พราหมณ์อย่างนี้จึงจะถือว่าเป็นบุคคลสูง เลิศ ประเสริฐแท้จริง
๒) อัคคัญญสูตร (ที.ปา.๑๑/๕๑/๘๗) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพวรรณะพราหมณ์ ๒ คน ว่าด้วยปัญหาว่าวรรณะไหนจะประเสริฐกว่ากัน การสนทนานั้นปรารภคำกล่าวของพราหมณ์ทั้งหลายที่ยกย่องแต่วรรณะพราหมณ์ว่าเป็นวรรณะขาว เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เป็นทายาทของพระพรหมเป็นวรรณะที่ประเสริฐสุด และประณามว่าคนพวกอื่นเป็นวรรณะดำต่ำทราม
พุทธมติในเรื่องนี้มีว่า พวกพราหมณ์ไม่ระลึกถึงความหลังของตนเอง เห็นกันอยู่ชัดแจ้งว่าพราหมณ์ก็เกิดมาโดยวิถีทางอย่างเดียวกับคนสามัญทั้งหลายอื่น หาได้เกิดจากโอษฐ์พระพรหมใดๆไม่ ความจริงคนในวรรณะทั้ง ๔ วรรณะไหนก็ตาม ก็ปรากฏว่ามีคนดีบ้างคนชั่วบ้างด้วยกันทั้งนั้น เมื่อประพฤติชั่ว จะเป็นคนในวรรณะไหน ก็เป็นคนชั่ว เมื่อประพฤติดี จะอยู่ในวรรณะไหนก็เป็นคนดี ถ้าจะถือเป็นพวกดำ (ต่ำ เลว) พวกขาว (สูง เลิศ) ก็ต้องถือตามธรรมดำ ธรรมขาว ไม่ใช่วรรณะดำ วรรณะขาว ใครประพฤติธรรมดำ (ความชั่ว) ก็เป็นพวกดำ ใครประพฤติธรรมขาว (ความดี) ก็เป็นพวกขาว ประพฤติเมื่อใด เป็นเมื่อนั้น ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ความประเสริฐเป็นไปโดยธรรม ความประเสริฐเป็นเพราะธรรม จึงชื่อว่าความเป็นคนประเสริฐนั้นเกิดจากธรรม ธรรมเป็นผู้สร้างผู้บันดาลคนนั้น จึงเป็นธรรมนิรมิต ธรรมทายาท ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้และเป็นเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่พรหมนิรมิตหรือพรหมทายาท ซึ่งต้องเป็นมาก่อนเกิด และแก้ไขไม่ได้ คนใดในวรรณะ ๔ ประพฤติธรรม สิ้นกิเสสาสวะ คนนั้นประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้ง ๔ วรรณะ เพราะวัดกันด้วยธรรม
จากนั้น ตรัสเล่าถึงความเป็นไปของโลกและสังคมที่วิวัฒนาการมาตามความคิดความนิยมและการกระทำของมนุษย์ ซึ่งรวมเรียกว่ากรรม ให้เห็นการเกิดขึ้นของวรรณะทั้ง ๔ ตามหน้าที่ที่ปฏิบัติ การแบ่งงาน การเลือกทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม สรุปว่า ถ้าจะถือชาติถือโคตรตระกูลกัน ก็ยกให้กษัตริย์สูงสุด แต่ถ้าจะถือหลักการแท้ๆ ต้องยึดธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ตลอดถึงเทวดา
๓) เตวิชชสูตร (ที.สี.๙/๓๖๕/๒๙๕) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพพราหมณ์ ๒ คนชุดเดิม ว่าด้วยหนทางไป สู่ความเข้าร่วมกับพรหม ปรารภคำอวดอ้างของพราหมณ์ว่า ไตรเพทเป็นทางเข้าสู่ความเข้ารวมกับพรหม ในเรื่องนี้มีพุทธมติว่า พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญไตรเพท ไม่เคยเห็นพรหมประจักษ์กับตน และมีความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตคนละอย่างกับพรหมในอุดมคติที่คิดไว้จึงไม่มีทางไปรวมกันได้จริง ถ้าจะไปอยู่ร่วมกับพรหม ตนรู้หลักว่าพรหมมีชีวิตจิตใจอย่างไร ก็ต้องทำชีวิตจิตใจให้เหมือนพรหมตั้งแต่บัดนี้ เมื่อตนเหมือนพรหมหรือ เป็นพรหมอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงปัญหาว่าตายแล้วจะไปอยู่ร่วมกับพรหมหรือไม่
ข. ตัวอย่างพุทธพจน์เกี่ยวกับวรรณะ
“วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา, ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน, ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า, ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร, ฯลฯ ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา ไม่ใช่พราหมณ์”
“เรามิได้เรียกคนว่าเป็นพราหมณ์ด้วยการที่เกิดจากท้องมารดา, เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลสต่างหาก ว่าเป็นพราหมณ์”
บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ จะชื่อว่าพราหมณ์ ก็เพราะกรรม ไม่ใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม (คืออาชีพ การงาน การกระทำ ความคิดอ่าน ความเชื่อถือ ค่านิยม การปลูกฝัง สั่งสมฝึกอบรมตนมา) บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามเป็นจริงว่า โลกเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม สัตว์โลกถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น” (ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๔; ขุ.สุ.๒๕/๓๘๒/๔๕๓)
“คนมิใช่เป็นอารยะ เพราะการที่เบียดเบียนชีวิตทั้งหลายได้ แต่เรียกว่าเป็นอารยะ เพราะไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวงต่างหาก” (ขุ.ธ.๒๕/๒๙/๕๐)
“เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่, เพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่, เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หาไม่; แท้จริงบุคคลบางคน ทั้งที่เกิดในตระกูลสูง ก็ยังชอบเบียดเบียน ฆ่าฟัน ชอบลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดร้ายต่อผู้อื่น เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ” (ม.ม.๑๓/๖๔๔/๖๑๒)
“วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น” (องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๕)
“บรรดาวรรณะทั้ง ๔ นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสาสวะแล้วอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่จะต้องทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่จะต้องทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้จบถ้วน ผู้นั้นแล เรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่า วรรณะทั้งหมดนั้น” (ที.ปา. ๑๑/๗๑/๑๐๗)
No Comments
Comments are closed.