การให้การศึกษาเพื่อจุดหมายของชีวิต
ถ้ามีใครถามว่า จะศึกษาไปเพื่ออะไร ก็เห็นจะตอบได้ง่ายๆ ว่า ศึกษาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต คำตอบนี้แม้จะกว้างสักหน่อยแต่เป็นคำตอบที่ไม่ผิด และช่วยเน้นสาระสำคัญให้เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต และทำเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตนั่นเอง ชีวิตมีจุดมุ่งหมายอย่างไร การศึกษาก็เพื่อให้ถึงจุดหมายอย่างนั้น หมายความว่า จุดหมายของการศึกษาเป็นสิ่งเดียวกับจุดหมายของชีวิต
ชีวิตที่มีจุดหมาย ก็คือชีวิตที่มีการศึกษา ควรตั้งคำถามใหม่ว่า ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไรและอย่างไร
ปัญหามีต่อไปว่า อะไรเป็นจุดหมายของชีวิต หรือถามอีกอย่างหนึ่งว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ปัญหานี้ ถ้าเชื่อในพระผู้สร้าง ก็ตอบไม่ยาก คือปัดไปให้พระผู้สร้างเสีย เพราะชีวิตจะเกิดมาเพื่ออะไร ก็แล้วแต่พระผู้สร้างนั้น เราไม่มีทางรู้ได้ ต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ว่าชีวิตนี้ทรงสร้างมาเพื่ออะไร แล้วไปถามองค์พระผู้สร้างเอาเอง แต่ถ้าไม่ยกปัญหานี้ไปให้พระผู้สร้างก็ต้องค้นหาคำตอบที่ตัวชีวิตเอง หันไปมองดูชีวิต ก็ไม่ปรากฏว่าชีวิตรู้ตัวเองในเรื่องนี้ และไม่ปรากฏว่าชีวิตเป็นตัวของตัวเองในการเกิดด้วยซ้ำ เรื่องจึงกลายเป็นว่า ชีวิตไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไร คือชีวิตไม่มีจุดหมายในการเกิดนั่นเอง ซึ่งความจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น เสียเวลาที่จะมาค้นหาคำตอบว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร
ชีวิตมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีจุดหมายหรือวัตถุประสงค์ และจุดหมายก็มิใช่สิ่งที่มีติดมากับชีวิต แต่เป็นสิ่งที่ควรกำหนดให้แก่ชีวิต การศึกษานั่นเองคือการพยายามแสวงหาจุดหมายให้แก่ชีวิต ลำพังชีวิตเองก็คือความเป็นอยู่ ชีวิตที่มีจุดหมาย ก็คือชีวิตที่มีการศึกษา ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของชีวิตนั้น มิใช่การแสวงหาคำตอบว่า คือ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความควร แทนที่จะตั้งคำถามว่า ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งไม่มีทางตอบได้ และไม่มีตัวสภาวะที่เป็นคำตอบ ควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า ชีวิตควรอยู่เพื่ออะไรและอย่างไร ซึ่งการศึกษาจะช่วยตอบปัญหาข้อนี้ และภาวะของชีวิตนี้เองที่มีความดิ้นรนอยู่ จะเป็นเครื่องชี้แนวทางแก่คำตอบ
ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่างมาประชุมกันขึ้น และเป็นอยู่ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ความดำรงอยู่ของชีวิตอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ชีวิตจะเป็นอยู่ด้วยดีเพียงใด ย่อมแล้วแต่ความสัมพันธ์นั้นว่าจะเป็นไปด้วยดีเพียงใด
กล่าวโดยทั่วไป ชีวิตนอกจากมีภาระประจำในการควบคุมรักษาหล่อเลี้ยงองค์ประกอบภายในของตนเอง ให้คุมรูปและสืบต่อไปด้วยดีแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมภายนอกมากมาย ที่บีบคั้นเข้ามาด้วยการเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตเลยอีกด้วย ความสัมพันธ์ที่กล่าวข้างต้น จึงหมายถึงการที่ชีวิตปรับตัวและเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในทางที่จะให้ตัวของมันเป็นอยู่ได้ ภาวะเช่นนี้จะเห็นได้จากคำที่ใช้กันอยู่เป็นประจำเมื่อพูดถึงชีวิต เช่น คำว่า ดิ้นรน ต่อสู้ และ อยู่รอด เป็นต้น
ชีวิตที่ขาดการเรียนรู้และการฝึกฝนอบรม ย่อมเป็นชีวิตที่หย่อนสมรรถภาพและไร้ประสิทธิภาพ ทั้งในการควบคุมรักษาหล่อเลี้ยงองค์ประกอบภายในของตนเอง และในการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ส่วนชีวิตที่มีการศึกษา ย่อมมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการปรับตัวและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จนถึงขนาดที่สามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตัวมันได้ การศึกษาจึงเป็นกระบวนการที่จะทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตัวในการที่จะดำรงอยู่และเสวยประโยชน์จากการดำรงอยู่นั้น
ภาวะเช่นนี้เรียกเป็นคำศัพท์สั้นๆ ว่า อิสรภาพ ชีวิตที่บรรลุถึงภาวะเช่นนี้ย่อมมิใช่ชีวิตที่สักแต่ว่าเป็นอยู่ แต่กลายเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีหรืออย่างดีที่สุด ภาวะที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุดนี้ คือสิ่งที่ควรกำหนดให้เป็นจุดหมายของชีวิต จึงสรุปได้ว่า จุดหมายของชีวิตก็คือความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การมีอิสรภาพ ซึ่งได้แก่การประสบความสำเร็จที่ทำให้อยู่รอดและหลุดพ้นอยู่เหนือภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการดิ้นรนต่อสู้
จุดหมายของชีวิตก็คือ ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด
อีกนัยหนึ่งคือ การมีอิสรภาพ
อนึ่ง สมรรถภาพและประสิทธิภาพนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังขึ้นในชีวิตแต่ละชีวิตด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝนอบรม ที่ชีวิตนั้นประสบด้วยตัวของมันเอง ด้วยเหตุนี้ ตัวแท้ของการศึกษา จึงเป็นภารกิจของชีวิตแต่ละชีวิต หรือการศึกษาเกิดขึ้นแก่ชีวิตด้วยการกระทำของชีวิตเอง พูดสั้นๆ ให้คลุมความว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิต โดยชีวิต และเพื่อชีวิต
การศึกษาเป็นกิจกรรมของชีวิต โดยชีวิต และเพื่อชีวิต
ต้องมีความรู้ความเข้าใจ…ความเป็นจริง
ตามที่กล่าวมา ทำให้เห็นได้ว่า ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพคือความหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตนเอง ด้วยการปรับเข้ากับสิ่งแวดล้อมบ้าง รู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวบ้าง และการกระทำให้เกิดความสามารถนี้นั่นเอง เรียกว่าการศึกษา อย่างไรก็ดี ความสามารถและการกระทำอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงเสียก่อน ภารกิจข้อหลังนี้ เป็นหน้าที่ของปัญญา และมนุษย์อย่างเดียวเป็นสัตว์เจ้าปัญญา ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นภารกิจของปัญญา และเป็นกิจกรรมของมนุษย์
กล่าวโดยย่อ การกระทำต่อไปนี้จะต้องถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาคือ
๑. การมีความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรปรับ ควรปรับที่ใด อย่างไร เป็นต้น
๒. การปรับตัวเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการดำรงอยู่ โดย
ก. พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านร่างกายให้มีความสามารถและความพร้อมในการดำรงอยู่ด้วยดี เช่น ให้เจริญเติบโต แข็งแรง มีสุขภาพดีเป็นต้น
ข. พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านจิตใจให้แข็งกล้าสามารถยิ่งขึ้น เช่นมีสติปัญญามากขึ้น มีคุณธรรมอื่นๆ เช่น เมตตา กรุณา สูงขึ้นเป็นต้น
๓. การรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตน โดย
ก. รู้จักเลือกเกี่ยวข้องและถือเอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเท่าที่มีอยู่
ข. ไม่ทำลายหรือทำตนให้เป็นอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลแก่ชีวิต
ค. ทำตนให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตนเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง ซึ่งร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน
ง. รู้จักจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิต
ในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่กล่าวถึงในข้อที่ ๓ นั้น สิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก บุคคลจะมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ต่อเมื่อบุคคลอื่นๆ ทุกคนได้รับการศึกษาดีด้วย ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ช่วยคนอื่นๆ ที่ยังขาดการศึกษาให้ได้รับการศึกษา คนที่ขาดการศึกษานั้น พูดในวงกว้างที่เป็นจำนวนใหญ่ที่สุด ก็คือคนรุ่นใหม่ หรือคนที่เกิดภายหลัง แม้ว่าตัวการศึกษาที่แท้จะเป็นเรื่องของบุคคล แต่สังคมก็ยังสามารถจัดปัจจัยต่างๆ เพื่ออำนวยให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคลได้ การจัดปัจจัยต่างๆ เพื่ออำนวยให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่บุคคลนี้เอง เรียกว่า การให้การศึกษา ด้วยเหตุนี้สังคมจึงปฏิบัติภารกิจที่เรียกว่า การให้การศึกษา อย่างเป็นงานเป็นการ ทำการถ่ายทอดประสบการณ์ในอดีตที่รับสืบทอดต่อๆ กันมาของคนรุ่นเก่าให้แก่คนรุ่นใหม่ เตรียมผู้เยาว์ของสังคมให้เป็นผู้มีการศึกษาต่อไป
การศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล ย่อมทำให้ชีวิตบรรลุถึงอิสรภาพ คือหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นใหญ่ในตัว โดยเฉพาะในข้อที่ถือกันว่าสำคัญคือ
ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ มนุษย์จะหลุดพ้นจากอิทธิพลและอำนาจครอบงำของธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง โรคภัยไข้เจ็บ ความหนาวร้อนจัด เป็นต้น กลับเป็นผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถควบคุมความเป็นไปของธรรมชาติ จัดสรรพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่ความเป็นอยู่ของตนตามความประสงค์ ตลอดจนสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาดัดแปลงปรับปรุงสร้างสรรค์ให้เป็นไปต่างๆ เท่าที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่ตน ซึ่งเรียกกันว่าความเจริญ ทำให้มีสิ่งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ขึ้นคู่กับสิ่งที่มีตามธรรมชาติ เรียกง่ายๆ ว่า มนุษย์จะกลับเป็นนายของธรรมชาติ จากภาวะนี้ มนุษย์หวังว่าชีวิตจะได้เสวยความสุขความรื่นรมย์อย่างบริบูรณ์ไม่มีขีดจำกัด
ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม มนุษย์จะหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของมนุษย์ด้วยกัน จะมีความเป็นใหญ่ในตัวในการที่จะเสวยผลแห่งการมีชีวิต ทุกคนจะมีเสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพซึ่งทำให้หลุดพ้นจากการเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงแข่งขันแย่งชิงในการดำรงชีพ และหลุดพ้นจากอำนาจบีบคั้นในการใช้สติปัญญาคิดริเริ่ม และแสดงออกต่างๆ โดยมีระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ มีระบบและสถาบันต่างๆ ในทางสังคมที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์
ชีวิตที่เป็นอย่างนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีที่สุด ถ้าทำได้จริงอย่างนี้ก็พูดได้ว่าการศึกษาได้นำชีวิตให้เข้าถึงจุดหมายได้สำเร็จ หรือมนุษย์ได้บรรลุถึงจุดหมายของการศึกษา แต่ลองหันกลับไปพิจารณาดูภาวะข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ ความหวังที่ว่าไว้ข้างต้นอาจกลายเป็นเพียงความฝันที่น่าสงสัย ซึ่งไม่เคยทำได้จริงมาก่อน และไม่มีหลักประกันที่จะให้มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จจริงต่อไป ขอให้มาลองพิจารณาข้อสงสัยและเหตุผลฝ่ายหักล้างกันดู
พูดถึงอิสรภาพในด้านที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติก่อน มีข้อแย้งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ
อิสรภาพในด้านที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
มีข้อแย้งสำคัญที่ควรพิจารณา
๑. การจัดสรรดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสร้างสรรค์ความเจริญด้วยฝีมือมนุษย์ขึ้นมามากมาย ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ทำให้มนุษย์มีโอกาสดำรงอยู่และแสวงหาความสุขความรื่นรมย์ได้มากขึ้นก็จริง แต่ไม่อาจใช้เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่า มนุษย์ที่เป็นอยู่อย่างพรั่งพร้อมด้วยความเจริญแบบนี้ บรรลุถึงความพึงพอใจในชีวิตยิ่งไปกว่ามนุษย์ที่ด้อยความเจริญกว่า หรือแม้แต่มนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะต่างโดยกาลสมัยก็ตาม
๒. การดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้วสร้างสรรค์ความเจริญแบบฝีมือมนุษย์ขึ้นมานั้น ต้องอาศัยการถ่ายทอดความสามารถและกระทำสืบต่อกันมาของมนุษย์หลายรุ่นชั่วคนแล้วคนเล่า และยังไม่มีที่กำหนดว่าจะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด ถ้าความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดจะต้องขึ้นต่อความเจริญแบบนี้แล้ว มนุษย์รุ่นก่อนๆ ก็ไม่มีทางเข้าถึงความมีชีวิตที่ดีที่สุดเป็นอันขาด แม้มนุษย์ปัจจุบันก็ยังหาได้เข้าถึงไม่ และไม่อาจทราบด้วยว่า เมื่อใดมนุษย์จะเข้าถึงจุดหมายอันนี้
๓. ที่ว่ามนุษย์จะหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของธรรมชาติ กลับมีอำนาจควบคุมเป็นนายของธรรมชาตินั้น มีทางเป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น เท่าที่เป็นมาปัจจุบัน มองดูเผินๆ จะเห็นว่า มนุษย์ได้มีความสามารถควบคุมและจัดการกับธรรมชาติได้ตามต้องการแล้วเป็นอันมาก แต่เมื่อพูดในขอบเขตที่กว้างขวาง มนุษย์ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในธรรมชาติถึงขั้นพื้นฐาน เช่นดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องของชีวิต ที่ต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย อีกประการหนึ่งถึงอย่างไรๆ มนุษย์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สิ่งทั้งปวงที่เรียกว่าเป็นความเจริญโดยฝีมือมนุษย์ ก็เป็นเพียงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปรมาปรากฏรูปอีกแบบหนึ่งเท่านั้น ยังคงเป็นไปตามกฎธรรมชาติและหมุนเวียนกลับไปสู่ธรรมชาติอีกในที่สุด
๔. ในการสร้างความเจริญตามแบบฝีมือมนุษย์นั้น มนุษย์ได้ทำลายธรรมชาติและทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นในธรรมชาติ ด้วยความเห็นแก่ตัวบ้าง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์บ้าง ด้วยความรู้ไม่ทั่วถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของธรรมชาติ เกิดความผิดพลาดทั้งที่เข้าใจว่าตนฉลาดทำการต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วบ้าง นอกจากนั้นสิ่งทั้งหลายที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์นั้น แม้จะดูเสมือนเป็นของต่างหากจากธรรมชาติ แต่โดยภาวะก็ยังคงต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติอยู่นั่นเอง การทำให้เป็นของต่างหากจากธรรมชาติจึงเท่ากับเป็นการทำธรรมชาติให้วิปริตไป การหมุนเวียนต่างๆ ตามวงจรของธรรมชาติไม่ดำเนินไปตามปกติ เมื่อเกิดมีสิ่งแปลกใหม่ที่เกินแรงผลิตของธรรมชาติ ก็มีกากของเสียที่ธรรมชาติระบายให้ไม่ทันเช่นกัน
มนุษย์ผู้สนใจเรียนรู้แต่การสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ จึงประสบปัญหาใหม่ในการที่จะทำลายหรือระบายของเสียให้หมดไป ธรรมชาติที่ถูกทำลายหรือทำให้ผันแปรวิปริตไปด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ ย่อมสะท้อนกลับมาให้โทษเป็นพิษเป็นภัยแก่มนุษย์เองในภายหลัง การสร้างความเจริญด้วยฝีมือมนุษย์จึงกลับก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวว่า มนุษย์จะสามารถทำให้ความเจริญที่สร้างสรรค์ขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งการดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติได้หรือไม่ หรือว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ความเจริญเหล่านั้นขึ้นมา เพียงเพื่อเป็นเครื่องทำลายตนเองในระยะยาว
อิสรภาพในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
มีข้อแย้งที่สำคัญ
ทีนี้ ลองมาพิจารณาอิสรภาพในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อไป มีข้อแย้งที่สำคัญดังนี้
๑. สังคมมนุษย์ได้เจริญและวิวัฒนาการมานานนักหนาแล้ว ยังไม่เคยปรากฏว่ามนุษย์ได้บรรลุอิสรภาพในด้านนี้แท้จริงเลย มนุษย์ยังไม่ได้หลุดพ้นจากการข่มเหง แข่งขัน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันในเรื่องความเป็นอยู่ ดูเหมือนว่า ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเท่าใด การแข่งขัน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และมีมาในรูปที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น ยังไม่เห็นความหวังว่า มนุษย์จะบรรลุอิสรภาพในด้านนี้ได้เมื่อใด
๒. ในการสร้างสรรค์อิสรภาพดังนี้ มนุษย์ได้พยายามสร้างระบบต่างๆ ขึ้นเพื่อควบคุมและจัดความเป็นอยู่ของมนุษย์ มีทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรมต่างๆ เป็นต้น แต่ระบบเหล่านี้ไม่เคยเป็นอิสระจากตัวบุคคลโดยสมบูรณ์แท้จริงเลย ในเมื่อระบบไม่เป็นอิสระแท้จริงก็ย่อมไม่สามารถให้อิสรภาพแก่บุคคลอย่างแท้จริง เพราะระบบนั้นอาจเคลื่อนคลาดหรือแม้แต่สลายตัวไปได้เพราะบุคคล อิสรภาพทางสังคมนี้จึงไม่มีหลักประกันที่แน่นอน
๓. นอกจากอิสรภาพในการดำรงชีวิต ที่หลุดพ้นจากการเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิงแล้ว มนุษย์ต้องการความหลุดพ้นจากความบีบคั้นในการใช้สติปัญญา และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็นผลแห่งสติปัญญานั้นด้วย เมื่อมนุษย์มีอิสรภาพทางสังคมแล้ว ก็หวังว่าจะสามารถใช้สติปัญญาคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และแสดงออกต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ทำให้สังคมมีอิสรภาพมากยิ่งขึ้น
แต่การณ์ไม่เป็นไปโดยง่ายอย่างนั้น ทั้งที่มีโอกาสใช้สติปัญญาและแสดงได้โดยเสรี แต่ความคิดและการแสดงออกนั้น มักไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ แต่มักเคลือบแฝงด้วยความปรารถนาส่วนตัวบ้าง บิดเบนไปตามความยึดมั่นส่วนตัวบ้าง ทำให้ไม่สามารถยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน เป็นที่มาสำคัญของความขัดแย้งทั้งในระหว่างบุคคล หมู่คณะ กลุ่มชน ตลอดจนประเทศชาติ เป็นเครื่องบังคับอยู่ในตัวให้ต้องมีการบีบคั้นกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงอิสรภาพ
เป็นปัญหาขั้นอับจนของมนุษย์…ปัญหานี้ มีคำตอบ
พิจารณาตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าอิสรภาพที่ชีวิตต้องการ มีช่องโหว่หรือข้อติดขัดแฝงอยู่ด้วยทุกตอน ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงอิสรภาพและบรรลุความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ที่เป็นจุดหมายของชีวิตได้โดยสมบูรณ์เลย ข้อนี้จะเป็นปัญหาขั้นอับจนของมนุษย์ เว้นแต่จะสามารถค้นพบภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่ปิดช่องโหว่นั้น ลบล้างข้อติดขัดให้หมดไปได้
ปัญหานี้ มีคำตอบว่า ช่องโหว่นั้นมีทางปิดได้ ข้อติดขัดมีทางแก้ได้ ถ้ามนุษย์จะไม่มัวหลงมองหาอิสรภาพแต่เพียงภายนอกตัวอย่างเดียว และรู้จักหันมาใส่ใจอิสรภาพภายในตนบ้าง เราจะไม่สามารถเคลื่อนไหวใช้โอกาสอันสะดวกให้เป็นประโยชน์ได้เลย แม้ว่าที่ที่เราปรากฏตัวอยู่ขณะนั้นจะราบเรียบและโล่งสบาย ถ้าเราถูกมัดติดอยู่กับที่ แต่ถ้าตัวไม่ถูกพันธนาการแล้ว แม้ที่แวดล้อมจะมีสิ่งกีดขวาง หรือคับแคบไปบ้าง ก็ยังมีทางเสวยภาวะที่เรียกว่าเป็นอิสรภาพได้ตามสมควร
เมื่อปิดช่องโหว่นั้นแล้ว ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด หรืออิสรภาพสมบูรณ์ จะต้องมีลักษณะเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาดไป ที่สำคัญๆ คือ
๑. แม้ว่าภารกิจในการจัดสรรสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์ความเจริญ จะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เรื่อยไปสืบทอดต่อกัน ทอดทิ้งไม่ได้ก็จริง แต่มนุษย์จะต้องถือว่าสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาแล้ว เป็นสิ่งอำนวยโอกาสสำหรับความมีชีวิตอย่างดีที่สุดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ไม่จำเป็นที่ความมีชีวิตอย่างดีที่สุดจะต้องขึ้นต่อภาวะเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง โอกาสที่มนุษย์จะเข้าถึงความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ย่อมมีอยู่เสมอไม่ว่ายุคใดสมัยใด หรือท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบใดๆ ไม่จำเป็นที่มนุษย์ผู้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ จะได้รับความพึงพอใจจากชีวิตน้อยกว่ามนุษย์ผู้อยู่ท่ามกลางความเจริญแบบสมัยใหม่เสมอไป
๒. ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ไม่ขึ้นอยู่กับความเป็นนายของธรรมชาติ ในความหมายที่ว่า สามารถปรับปรุงจัดสรรสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวได้ตามความประสงค์อย่างเดียว และไม่ขึ้นอยู่กับความเจริญใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นนายเหนือธรรมชาติในตัว และความไม่ตกเป็นทาสของความเจริญที่ตนสร้างขึ้นนั้นด้วย มนุษย์จะต้องมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถเสวยประโยชน์จากความเจริญที่ตนสร้างขึ้นอย่างรู้จักประมาณ โดยมีความประสานกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นฐานรองรับในขั้นสุดท้าย
๓. สังคมจะหลุดพ้นจากการเบียดเบียน ข่มเหง แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกัน ต่อเมื่อจิตใจของบุคคลในสังคมหลุดพ้นจากกิเลสที่จะเป็นเหตุให้กระทำเช่นนั้น ระบบต่างๆ ทางสังคมจะให้อิสรภาพแก่บุคคลได้ ต่อเมื่อบุคคลผู้บริหารระบบ ผู้ปฏิบัติการตามระบบ ผู้ประกอบเข้าเป็นระบบ มีจิตใจเป็นอิสระสอดคล้องกับระบบ ความคิดเห็นและการแสดงออกของบุคคลจะไม่เคลือบแฝงบิดเบือน ต่อเมื่อจิตใจของบุคคลนั้นหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัวและความยึดมั่นลำพองตนเป็นต้น
๔. ในการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ชีวิตหวังในความสุขความรื่นรมย์ เพื่อเป็นเครื่องชดเชยและปิดบังความรู้สึกบีบคั้นต่างๆ ที่มันประสบอยู่ แต่ชีวิตจะไม่มีทางพบความสุขที่แท้จริงได้เลย ถ้าจิตใจยังถูกพันธนาการอยู่ด้วยกิเลส ยังถูกทรมานด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ มนุษย์จะไม่รู้จักวิธีวางใจให้ถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของเขาเอง วิธีแสวงหาความสุขของเขาจะเผ็ดร้อนยิ่งขึ้นทุกที จนกลายเป็นภัยอันตรายทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม พร้อมกับที่ตัวเขาก็ห่างไกลจากความสุขออกไปทุกทีด้วย การแก้ปัญหานี้จะต้องเริ่มที่การทำจิตให้หลุดพ้นจากพันธนาการเสียก่อน แล้วความสุขจะเป็นสิ่งที่หาพบได้เสมอทุกแห่งทุกเวลา
ที่กล่าวมานี้ คืออิสรภาพอีกด้านหนึ่ง เป็นอิสรภาพภายใน ไม่ใช่เป็นเพียงภาวะที่ปิดช่องโหว่ แต่เป็นภาวะพื้นฐานหรือแกนกลางทีเดียว ถ้าขาดอิสรภาพข้อนี้แล้ว อิสรภาพข้ออื่นๆ ก็ไร้ความหมาย และไม่มีทางเข้าถึงได้ ภาวะนี้ก็คือ การที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ความเป็นนายเหนือธรรมชาติภายในตัว หรืออิสรภาพทางจิตใจ (มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า วิมุตติ)
การศึกษาเพื่ออิสรภาพจากสิ่งแวดล้อม เป็นภารกิจของสังคมที่จะต้องทำสืบทอดกันเรื่อยไประหว่างคนต่างรุ่น แต่การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในของจิตใจ เป็นภารกิจที่แต่ละบุคคลจะทำให้สำเร็จได้ภายในชั่วชีวิตอันสั้นของตน การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายนอกเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีรายละเอียดและวิธีการแตกต่างออกไปตามปัจจัยแวดล้อม แต่การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในตนเป็นสิ่งยืนตัวแน่นอน เพราะเกี่ยวด้วยธรรมชาติภายในของบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นภาวะที่ยืนตัว
การศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในนี้ ทำให้อิสรภาพภายนอกเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ และทำให้ชีวิตเข้าถึงจุดหมายคือความเป็นอยู่อย่างดีที่สุดได้จริง จึงเรียกว่าการศึกษาที่แท้ ระบบการศึกษาใดก็ตาม ที่ขาดการศึกษาเพื่ออิสรภาพภายในเช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ได้
No Comments
Comments are closed.