สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ : สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 7 จาก 20 ตอนของ

สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ :
สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย

เป็นอันว่ามนุษย์ยุคนี้มีความแปลกแยก ๓ อย่างนี้ คือ

๑. แปลกแยกจากธรรมชาติ

๒. แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ และ

๓. แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง

เมื่อเราแปลกแยกจากแหล่งทุนพื้นฐานแห่งความสุข ๓ อย่างนี้แล้ว เราก็เหลือความหวังในความสุขจากแหล่งอื่นอย่างเดียว คือจากสิ่งเสพบริโภคหรือวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็เลยเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคที่เหลืออยู่ทางเดียวนั้นหมดเลย

แต่วัตถุเสพบริโภคที่มีเงินทองเป็นตัวแทน ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา และมันเป็นของนอกตัวด้วย มนุษย์จึงถูกบีบช่องทางที่จะได้ความสุขให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อถูกบีบอย่างนี้ ต่อไปก็จะเกิดปัญหา

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อไปความสุขจากการได้เสพบริโภควัตถุจะเป็นความหมายอันเดียวของชีวิตของเขา ความสุขของเขาอยู่ที่การได้เสพบริโภค เพราะฉะนั้น เขาก็จะต้องหาเงิน หาของใช้อะไรต่างๆ หาโภคภัณฑ์เทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด

ทีนี้ คนเราเสพบริโภคบำรุงบำเรอไป มันมีวันเบื่อ บางทีก็มีความผิดหวังจากการหาเสพไม่ได้ หรือไม่ได้เสพ พอเบื่อวัตถุเสพหรือผิดหวังกับความสุขจากการเสพวัตถุเมื่อไร ก็หมายถึงเบื่อหน่ายชีวิต และผิดหวังต่อชีวิตด้วย เมื่อไรวัตถุเสพหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย นี่คือภาพของคนในยุคปัจจุบัน

นั่นก็เป็นเพราะว่า ช่องทางที่เขาจะมีความสุขและความหมายของชีวิตนั้น มันไปเหลืออยู่ที่ช่องเดียวแล้ว คือ อยู่ที่วัตถุเสพบริโภคเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนสมัยนี้จึงกลายเป็นคนซึ่งแทนที่จะมีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น กลับมีความสุขและช่องทางที่จะมีความสุขน้อยลง

แต่ถ้าเขาไม่ลืมฐานเดิมและรู้จักรักษาแหล่งทุนเดิมแห่งความสุขทั้ง ๓ อย่างไว้ได้ จะไม่เป็นปัญหาเลย เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

ได้บอกแล้วว่า เวลานี้มนุษย์ได้แปลกแยกไปแล้ว จากธรรมชาติ จากเพื่อนมนุษย์ และจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นเขาจึงอยู่ในภาวะบีบคั้น ที่ทำให้ยิ่งต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งบริโภคเพียงอย่างเดียว เมื่อใดสิ่งเหล่านั้นหมดความหมาย เมื่อนั้นชีวิตก็หมดความหมายด้วย และเมื่อเบื่อหน่ายวัตถุเสพ หรือผิดหวังกับมันแล้ว เขาก็ไม่รู้จะหันไปไหน เพราะทุนเดิม ๓ ด้านแห่งความสุขนั้น เขาก็แปลกแยกไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เป็นของแปลกเลยที่ว่าในสังคมที่เจริญแล้ว สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น

คนสมัยก่อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย มีวัตถุเสพบริโภคน้อย ความสุขของเขาก็อยู่กับทุนพื้นฐาน ๓ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนใหญ่ สุขจากวัตถุเสพบริโภคที่มีเป็นครั้งคราว จะมาเสริมเติมสุขเป็นกรณีพิเศษ และเขาก็จะรู้สึกพิเศษจริงๆ คือนานๆ ครั้ง และสุขมากๆ เวลานอกนั้นเขาก็อยู่กับแหล่งความสุขพื้นฐาน ๓ อย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของตัวชีวิตของเขาเองแท้ๆ

แม้บางครั้ง บางคนจะเกิดความแปลกแยกจากสิ่งเหล่านี้บางอย่าง เช่น บางคนเข้ากับใครไม่ได้ แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ไปหมด เขาก็มีทางชดเชยด้วยการหันไปอยู่กับธรรมชาติ และหรือกับกิจกรรมแห่งชีวิตของตัวเองมากขึ้น ต่างกับคนยุคปัจจุบันจำนวนมากที่หวังความสุขจากสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว พอช่องทางนี้ตัน ก็หมดทางออก ไม่มีทางไป และก็อาจจะตายดีกว่า

สังคมใดเจริญด้วยอารยธรรมปัจจุบันมากขึ้น สังคมนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น

สภาวะนี้แทบจะเป็นสูตรเลย สังคมอเมริกันปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมมาก คนก็ฆ่าตัวตายมากขึ้น และไม่ใช่เท่านั้น แต่มันกลายเป็นว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมากขึ้น วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะเวลานี้มนุษย์ที่เรียกตัวว่าเจริญแล้ว เอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคเพียงอย่างเดียว

คนสมัยนี้เรียนเพื่ออะไร? ทำงานเพื่ออะไร? ทุกอย่างเพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น คือ เพื่อการมีเงินทองที่จะหาวัตถุบริโภคและสิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม พอสิ่งเหล่านี้หมดความหมาย หรือตนเองผิดหวัง ก็จบ ชีวิตก็หมดความหมายไปด้วย

คนสมัยก่อนมีวัตถุเสพน้อย ความสุขของเขาอยู่ที่ธรรมชาติแวดล้อม อยู่ที่เพื่อนมนุษย์ อยู่ที่กิจกรรมของชีวิต ชีวิตของเขาแต่ละขณะ นานๆ จะได้เสพวัตถุบริโภคหรือสิ่งปรนเปรอแปลกๆ พิเศษสักที ความสุขของเขาจึงขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยเหลือเกิน และถ้าเขาไม่ได้เสพบริโภค จะผิดหวังบ้าง ก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่แปลก ไม่หนักนาสาหัส ไม่ร้ายแรงอะไร คนสมัยก่อนจะไม่ฆ่าตัวตาย เพราะสาเหตุเหมือนคนสมัยปัจจุบัน

แต่คนปัจจุบันนี้ หมดช่องทางที่จะมีความสุขจากแหล่งทุนพื้นฐานทั้งสามนั้น ก็เหลือช่องทางเดียว ช่องทางนี้หมดความหมายเมื่อไร ชีวิตก็หมดความหมายอย่างที่ว่าแล้ว ฉะนั้นจึงมองเห็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงฆ่าตัวตายมาก เช่น อย่างสังคมอเมริกันที่พัฒนาแล้วชั้นนำ ต้องแปลกใจตัวเองว่า ทำไมสังคมเจริญมั่งคั่งพรั่งพร้อม สะดวกสบายทุกอย่าง แล้วคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังมีชีวิตแข็งแรงสดใส จึงมาฆ่าตัวตาย

เวลานี้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากในระยะ ๓๐ ปี ช่วง ค.ศ. ๑๙๕๐ – ๘๐ วัยรุ่นอเมริกันฆ่าตัวตายสถิติเพิ่มขึ้น ๓ เท่า คือ ๓๐๐% จนกระทั่งการฆ่าตัวตายกลายมาเป็นสาเหตุแห่งการตายอันดับ ๓ ของหนุ่มสาวอเมริกันปัจจุบัน แต่สมาคมสุขภาพจิตของอเมริกาเองบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓ สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกาบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓

สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่​ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกาบอกว่า อันดับที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ อันดับที่ ๒ ฆ่าตัวตาย แล้วอันดับ ๓ จึงฆ่ากันตาย

น่าสังเกตว่า คนอเมริกันฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย ตรงข้ามกับสังคมไทยที่ฆ่ากันตายมากกว่าฆ่าตัวตาย แต่เวลานี้ คนไทยก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้น นับว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องด้วยการพัฒนาอย่างถูกทาง ต่อไปสังคมไทยจะยิ่งแย่

แต่พูดได้ว่า นี่คือการที่คนสูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการ จากการเกิดความแปลกแยก ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า แปลกแยกจาก

๑. ธรรมชาติ

๒. เพื่อนมนุษย์

๓. กิจกรรมของชีวิต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ >>

No Comments

Comments are closed.