- การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม
- เคารพ
- บูชา
- สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี – ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
- “อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม” ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
- สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
- คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม
- คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
- สันโดษ เตรียมความพร้อม ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
- แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
- ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ
- ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
- ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง
- พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน
- เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก
- ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า
- คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้
- บูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม
สันโดษ เตรียมความพร้อม
ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
เรื่องของสันโดษ จุดสำคัญที่สุดอยู่ตรงคำถามที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระสันโดษ
เมื่อพระสันโดษ นอกจากตัวเองจะไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายใจแล้ว ก็ไม่ทุจริต และจะไม่รบกวนชาวบ้าน
ถ้าพระไม่สันโดษ ก็รบกวนชาวบ้านเรื่อย เดี๋ยวอยากจะได้จีวรดีๆ เดี๋ยวอยากจะได้ที่อยู่ดีๆ นี้เอาแล้ว ก็เรี่ยไรบ้าง แสวงหาลาภโดยวิธีต่างๆ บ้าง การที่ท่านให้มีสันโดษ ก็เพื่อจะได้เป็นพระที่เลี้ยงง่าย ตามหลักปฏิบัติของพระอย่างหนึ่งคือ สุภโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย แต่ก็ไม่ใช่แค่นี้
ที่สำคัญก็คือ สันโดษจะพาคุณสมบัติอะไรมาอีก เมื่อกี้ย้ำคำว่า “สุจริต” สันโดษเป็นตัวค้ำประกันให้มีความสุจริต ถ้าไม่สันโดษก็สุจริตอยู่ได้ยาก เมื่อเราอยากจะหาสิ่งบำเรอความสุขของตนเองอย่างไม่รู้จักพอ ความซื่อสัตย์สุจริตก็อยู่ไม่ได้ คนจะซื่อสัตย์สุจริตได้ ต้องมีสันโดษมาช่วยค้ำประกัน แต่สันโดษก็ไม่ใช่แค่นั้นอีก
คราวนี้ก็มาถึงจุดสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายและเป็นเหตุผลของสันโดษ คือ พระภิกษุถ้าไม่สันโดษก็จะไม่สามารถและไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่
พระภิกษุมีหน้าที่ คือ หนึ่ง เล่าเรียน สอง ปฏิบัติ สองอย่างนี้รวมกัน คือ เล่าเรียนและปฏิบัติ ภาษาพระเรียกว่า “สิกขา” คือศึกษา คำว่า “สิกขา” คือ “เล่าเรียนและปฏิบัติ” ถ้าเล่าเรียนแล้วยังไม่ปฏิบัติ ก็ยังไม่เรียกว่า “ศึกษา” ศึกษาแท้ต้องครบ คือปฏิบัติโดยมีการเรียนรู้เป็นฐาน ศึกษาคือฝึกทำให้เป็น เมื่อเล่าเรียนแล้วก็ฝึกทำให้ได้ให้เป็นอย่างที่เรียนรู้นั้น
นอกจากเล่าเรียนและปฏิบัติแล้ว ก็ต้อง สาม เผยแพร่สั่งสอนธรรม หน้าที่ของพระมีอย่างนี้ อย่างน้อยก็ใช้คำว่า ทำกุศลให้เกิดขึ้น
พระจะเพียรพยายามทำหน้าที่ของตนได้ดี ต้องมีสันโดษ เพราะว่าเมื่อพระสันโดษ ก็ไม่มัววุ่นวายอยู่กับการที่จะครุ่นคิดหาสิ่งเสพบริโภคมาบำรุงบำเรอตนเอง จึงสงวนเวลา ออมแรงงาน และถนอมพลังความคิดไว้ได้ แล้วก็นำเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอาไปใช้กับการแสวงหาวัตถุเสพนั้น เปลี่ยนเอามาใช้กับการทำงานของตน คือ เล่าเรียน ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรมได้เต็มที่
โดยนัยนี้ สันโดษจึงเป็นการปฏิบัติขั้นเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อพร้อมแล้ว ไม่ห่วงกังวลอะไรแล้ว ก็มุ่งหน้าอุทิศตัว ทั้งอุทิศเวลา อุทิศเรี่ยวแรง และอุทิศความคิด ให้แก่การเพียรพยายามละอกุศล และทำกุศลให้เกิดขึ้น
คำว่า “ละอกุศล และเจริญกุศล” นี้คลุมหมด จะพูดง่ายๆ ก็ว่าละชั่ว และทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น คนสันโดษเอาความเพียรมาใช้ในเรื่องนี้
ใครมีหน้าที่ที่จะละความชั่ว กำจัดแก้ไขสิ่งเลวร้าย แก้ปัญหาอะไร และจะต้องสร้างสรรค์ความดีอะไร ก็ทำหน้าที่นั้นๆ ให้เต็มที่ เพราะคนที่สันโดษมีเวลาเต็มที่ ใช้แรงงานได้เต็มที่ และอุทิศความคิดได้เต็มที่
ในทางตรงข้าม ถ้าคนไม่สันโดษ สมองของเขาก็จะครุ่นคิดว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาสิ่งเสพบำเรอสุขที่ไหน จะไปบริโภคอะไร แล้วก็เอาแรงงานไปเที่ยววิ่งพล่านหาสิ่งเสพบริโภคให้แก่ตัวเอง พร้อมกันนั้นเวลาก็ถูกเผาผลาญหมดไป หน้าที่การงานก็เสื่อมเสีย
แต่พอสันโดษได้ วัตถุก็พออยู่แล้ว ก็เอาเวลา พร้อมทั้งแรงงานและความคิดไปอุทิศให้แก่งานและการทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นก็กลายเป็น สันโดษของนักทำงาน
No Comments
Comments are closed.