- กล่าวนำ
- งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข
- ทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา
- ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน
- ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
- มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้
- สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ : สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย
- งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ
- สูตรหนึ่งของธรรมชาติ: คนยิ่งพัฒนาตน สังคมยิ่งพ้นปัญหา
- มองวัตถุเสพเป็นจุดหมาย การทำงานก็กลายเป็นความทุกข์ มองวัตถุเสพเป็นปัจจัย งานยิ่งได้ผล คนยิ่งเป็นสุข
- ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
- ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้
- สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์
- ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา
- วัดความสำเร็จที่ไหน? ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี
- เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ” คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ
- สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน
- ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม
- จะประสานงาน ต้องประสานคน ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี
- งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้ เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์คิดทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข
สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ
ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์
ทีนี้เราพัฒนาต่อไป ใครทำได้ ก็ลองดูนะ รักษาศีล ๘ เพียง ๘ วันครั้งเดียว ไม่ยากหรอก แต่คุณค่าเหลือคุ้ม เพราะทำให้รักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ และทำให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย แถมยังดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย ถึงตอนนี้ก็ไปเชื่อมกับหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง ที่เรียกว่า “สันโดษ”
สันโดษนี้ ในสังคมไทยยังเข้าใจผิดมาก สันโดษ คืออะไร? ลองถามหลายท่าน ให้ความหมายไม่ถูก บางคนบอกว่า คนสันโดษ คือ คนที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร อยากปลีกตัวอยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่ใช่นะ อันนี้ไม่ใช่สันโดษ การปลีกตัวอยู่สงบนั้น เรียกว่า วิเวก
สันโดษไม่ใช่อย่างนั้น “สันโดษ” แปลให้ถูกว่า ความยินดีในของของตน คือมีเท่าไร พอใจเท่านั้น ได้เท่าไร พอใจเท่านั้น แล้วก็มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ได้มาเป็นของตน เท่าที่มีที่ได้ อย่างนี้เรียกว่าสันโดษในความหมายพื้นๆ
สันโดษทำให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ส่วนคนที่ไม่สันโดษก็คือ คนที่จะสุขต่อเมื่อได้มากที่สุด แต่ที่สำคัญก็คือ คนที่ไม่สันโดษนั้น ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้
คนที่ไม่สันโดษ ในแง่หนึ่งเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ สิ่งที่เขามีอยู่แล้วเท่าไร ก็ทำให้เขามีความสุขไม่ได้ เขามีลักษณะที่ว่า ต้องมีสิ่งเสพมากที่สุด ต้องได้มามากที่สุด ต้องได้อีกๆ จึงจะสุข ฉะนั้น คนพวกนี้ก็จะวุ่นอยู่กับการวิ่งหาความสุข แต่วิ่งตามความสุขไม่ถึงสักที เพราะความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ยังไม่มี
ขอแทรกหน่อยว่า สันโดษนี้ไม่ใช่เพื่อความสุข ถ้าสันโดษเพื่อความสุข ก็จะพลาด คนที่สันโดษ จะสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เพราะว่าได้เท่าไร ก็พอใจ แล้วก็มีความสุข แต่ถ้าเขาพอใจแล้วมีความสุข นึกว่าแค่นั้น แล้วจบ ก็นอนเท่านั้นเอง ได้มาเท่าไร พอใจแค่นั้น ก็สบายแล้ว มีความสุขได้แล้ว ก็นอนสิ ถ้าอย่างนี้ก็คือ สันโดษเพื่อความสุข เป็นสันโดษขี้เกียจ ผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้เพื่ออย่างนี้
ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่พ่วงมาในตัวมันเองของสันโดษ แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข สันโดษมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ก้าวไปในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์
ธรรมะนี้ มีวิธีมองความหมายง่ายๆ คือ ธรรมทุกข้อ แต่ละข้อๆ เป็นองค์ประกอบอยู่ในระบบการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ที่ท่านเรียกว่า “ไตรสิกขา”
สิกขา คือ การศึกษา ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นชีวิตแห่งการศึกษาการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ธรรมะทุกข้ออยู่ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนามนุษย์นี้ มันอยู่ในระบบที่สัมพันธ์ส่งผลต่อกัน เราจะต้องมองต้องคอยถามว่า เอ.. ธรรมะข้อนี้จะส่งผลต่อการปฏิบัติ ให้ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนาชีวิตอย่างไร ถ้ามันทำให้หยุด ก็แสดงว่า ผิดแล้ว เพราะฉะนั้น สันโดษจะต้องส่งผลช่วยให้เราก้าวต่อไปในกระบวนการพัฒนาชีวิต
จึงต้องถามว่า มันส่งผลอย่างไร เอาละ ทีนี้ก็มาดูกัน
ดูคนไม่สันโดษก่อน คนที่ไม่สันโดษ ไม่พอใจในสิ่งที่ได้แล้ว ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ หวังความสุขจากสิ่งเสพบำรุงบำเรอมากขึ้นยิ่งขึ้นไป ใจของเขาก็ไปอยู่ที่สิ่งเสพบำรุงบำเรอ คิดว่าพรุ่งนี้จะไปกินที่ไหน จะไปกินเหลาไหนอร่อย จะกินอาหารชนิดไหน ใจมันนึกคิดอยู่แค่นี้
๑. ใจ: ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องสิ่งเสพและการหาเสพ
๒. เวลา: ใช้ไปในการหาความสุขจากวัตถุเสพ
๓. แรงงาน: ใช้หมดไปกับการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอ
เป็นอันว่า เวลา แรงงาน และความคิดของคนไม่สันโดษ หมดไปกับการเที่ยวโลดแล่นหาสิ่งบำเรอความสุข นี่หนึ่งแล้ว แต่หนึ่งยังไม่พอ สอง.. เวลาไม่พอหาสิ่งเสพ ก็เบียดบังเวลาที่จะทำงานไปอีก สาม.. เงินไม่พอ เพราะว่าสิ่งเสพต้องใช้เงินซื้อมากขึ้นๆ ยิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยโก้เก๋ตามค่านิยม ก็ยิ่งมีราคาแพง เมื่อเงินไม่พอแล้วจะทำอย่างไร ก็กู้ยืมเอาซิ หรือทุจริตซิ เอาอีก …ยุ่งแล้วนะ แล้วนอกจากนั้น สี่… เพราะว่าความสุขไปอยู่ที่การเสพวัตถุ เขาก็ทำงานด้วยใจไม่เป็นสุข ใจตของเขาไปอยู่ที่สิ่งเสะ เมื่อต้องมาทำงาน ก็ทรมานใจเต็มที ดังนั้นก็ทำงานด้วยใจทุกข์ทรมาน นี่เสียกี่อย่างแล้ว ลองดู
๑. สุขจากวัตถุ ก็ยังไม่ได้ เพราะมัวแต่ทะยานไล่หาความสุขซึ่งอยู่กับสิ่งเสพที่ยังไม่ได้
๒. เวลา แรงงาน ความคิด และเงินทอง
ก) หมดไปกับสิ่งเสพและการหาสิ่งเสพนั้น
ข) เมื่อเวลาไม่พอ ก็ต้องเบียดบังเวลาทำงาน ทำให้งานเสีย
ค) เมื่อเงินไม่พอหาซื้อสิ่งเสพ ก็อาจจะต้องทุจริต
๓. ใจเร่าร้อนรอเวลาหาสิ่งเสพ ใจไม่อยู่กับงาน ไม่ตั้งใจทำงาน เขาทำงานนั้นด้วยความทุกข์ทรมานใจ ไม่มีความสุข และไม่มีสมาธิในการทำงาน งานก็ไม่ได้ผลดี
ทีนี้ในทางตรงข้ามคนที่สันโดษเป็นอย่างไร พอสันโดษในสิ่งที่ได้ ที่มี มีเท่าไรแกก็สุขได้ทั้งนั้น หนึ่ง… สุขจากวัตถุ ก็มีแล้ว สอง… สงวนเวลา แรงงาน ความคิด ไว้ได้หมด เวลา ก็ไม่ต้องเอาไปใช้ในการเที่ยวว่อนหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง แรงงาน ก็ไม่ต้องเสียไปกับเรื่องพวกนี้ และ ความคิด ก็ไม่ต้องมัวครุ่นอยู่กับเรื่องพวกนั้น ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้น มาทุ่มให้กับงานที่ทำ งานการ หน้าที่ การสร้างสรรค์อันใด ที่ทำอยู่ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้น มาทุ่มให้กับงานที่ทำงานการ หน้าที่ การสร้างสรรค์อันใด ที่ทำอยู่ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้หมด ทำได้เต็มที่
ทีนี้ เงินที่ได้รับ เช่น เงินเดือน ก็เพียงพอที่จะเก็บออมไว้ และนำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตตนเอง ดูแลครอบครัว และช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์หรือเกื้อหนุนสังคม นอกจากนั้นที่สำคัญมากก็คือ มีความสุขจากการทำงานอีกด้วย
ทีนี้ก็ได้หมดเลย กี่อย่างนะ
๑. สุขจากวัตถุ ก็มีเต็มที่
๒. ได้เวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้กับการทำงาน
๓. ประหยัดเก็บออมทรัพย์ไว้ได้ มีเงินมีเวลาที่จะดูแลครอบครัว และเกื้อหนุนสังคม
๔. ในเวลาทำงาน ก็มีความสุข เพราะสุขจากการทำงานด้วยใจรักและมีสมาธิ งานก็ได้ผลดียิ่งขึ้น
พูดไปแล้วว่า สุขจากการทำงาน เพราะทำงานด้วยความรู้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการทำงาน บวกด้วยสุขจากการเรียนรู้ในการทำงาน แถมด้วยสุขจากการที่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ซึ่งทำให้ชีวิตเจริญพัฒนาดีขึ้น มีความรู้ความสามารถเป็นต้นมากขึ้น แล้วยังสุขจากปีติความอิ่มใจที่ได้มองเห็นคุณค่าประโยชน์ของงานนั้นในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม ดังนั้นความสุขในการทำงานก็ยิ่งเพิ่มพูน สุขสมบูรณ์ ทั้งสุขจากวัตถุก็พอแล้ว และงานการก็ได้ผล ทุกอย่างดีไปหมด สันโดษที่แท้เป็นอย่างนี้ นี่คือสันโดษ
หลักการของสันโดษคือ เพื่อจะออมหรือสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ แล้วเอามาใช้ในการ “ทำ” คือในการสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่ดีงาม ทำหน้าที่การงาน เท่านั้นเอง เป้าหมายอยู่ที่นี่ แต่ผลพลอยได้คือ พลอยมีความสุขไปด้วย
No Comments
Comments are closed.