- การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม
- เคารพ
- บูชา
- สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี – ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
- “อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม” ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
- สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
- คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม
- คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
- สันโดษ เตรียมความพร้อม ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
- แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
- ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ
- ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
- ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง
- พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน
- เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก
- ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า
- คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้
- บูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม
“อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม”
ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
คนสมัยก่อนพุทธกาล นิยมบูชาด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้ถึงกับบูชายัญ “บูชายัญ” นั้นคืออย่างไร ก็คือเอาใจเทพเจ้า เอาทรัพย์สินสิ่งของ แม้แต่ชีวิต เช่น วัว แพะ แกะ จำนวนมากมาย มาฆ่าสังเวยเทพเจ้า ยิ่งบูชายัญพิธีใหญ่ ก็ยิ่งต้องใช้ชีวิตจำนวนมาก กระทั่งบางที่ต้องเอาชีวิตคนมาสังเวยบูชาเทพเจ้า อย่างน้อยก็มีการบูชาไฟ ต้องรักษาไฟไว้ไม่ให้ดับเลยในบ้านเพื่อบูชาเทพเจ้า
คนบูชาเทพเจ้าด้วยหวังอะไร ด้วยหวังให้ท่านช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย และหวังโชคลาภ ช่วยให้สิ่งปรารถนาแก่ตน โดยย่อก็คือ
- ช่วยให้พ้นภัยอันตราย
- ช่วยบันดาลสิ่งที่ปรารถนา
คนเราก็มี ๒ อย่าง ไปเที่ยวกราบไหว้ เช่นสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งมีฤทธิ์อานุภาพที่คิดว่าเหนือธรรมชาติ แต่การบูชานั้นวัตถุประสงค์ไปอยู่ที่สนองความต้องการของตัวเอง คือ ตัวอยากพ้นภัย และอีกอย่างคือ อยากได้สิ่งที่ปรารถนา จึงบูชาเทพเจ้า จุดเน้นอยู่ที่ความปรารถนาของตนเองว่าโดยเนื้อหาสาระ การเซ่นสรวงเทพเจ้าเมื่อหลายพันปีก่อนทำเพื่ออะไร เวลานี้ก็อย่างนั้น
เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทำซึ่งเห็นได้ชัดก็คือ ทรงชักชวนให้เลิก “บูชายัญ” ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนให้เทพเจ้ามาบันดาล พระองค์ได้ทรงย้ายหลักการจากเทพเป็นใหญ่ มาเป็น “ธรรม” เป็นใหญ่ ซึ่งเราควรจะทราบกันให้ชัด
หลักพุทธศาสนาข้อสำคัญที่สุด คือการย้ายจากเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ลบล้างหรือลบหลู่เทพ แต่ให้เปลี่ยนฐานะ เปลี่ยนความสัมพันธ์กับมนุษย์ แต่ก่อนโน้นมนุษย์ถือว่าเทพสูงสุด เทพบันดาลทุกอย่าง เช่น พระพรหมเป็นเทพสูงสุด ซึ่งมนุษย์จะต้องเชื่อฟังและไหว้วอน พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงสอนใหม่ว่า อย่าไปมัวมองที่เทพเลย ในธรรมชาติมีความจริงของมันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นไปตามธรรมดา เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านเรียกง่ายๆ ว่า “ธรรม” ซึ่งเราแปลว่า ความจริงของธรรมชาติบ้าง กฎธรรมชาติบ้าง เป็นต้น
ความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หรือธรรมนี่แหละ สำคัญที่สุด เมื่อเราต้องการอะไร ก็ดูเหตุปัจจัย และทำเหตุปัจจัย แต่จะทำเหตุปัจจัยได้ถูกก็ต้องรู้ จึงต้องศึกษาเหตุปัจจัยให้ชัด แล้วก็ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น ผลสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ธรรมคือความจริงของเหตุปัจจัย หรือกฎธรรมชาตินั่นแหละ ที่บันดาล (ใช้คำเป็นบุคลาธิษฐาน) ต้องดูที่นี่ ไม่ใช่ว่าเทพเจ้าจะมาบันดาลตามที่พระองค์โปรดปราน พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ายจากเทพเป็นใหญ่หรือเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด และ “เทพ” ก็ต้องอยู่ใต้ “ธรรม” คือใต้ความจริงของกฎธรรมชาตินี้ และให้ชาวพุทธมาสนใจเรื่องธรรมแทน
การยกเอาธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ที่มีอยู่ในธรรมดาของธรรมชาติเป็นใหญ่นี่แหละ คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา
เมื่อให้ถือ “ธรรม” เป็นใหญ่แล้ว มนุษย์ก็จะต้องพยายามศึกษา โดยเฉพาะก็คือพัฒนาปัญญาของตนให้รู้เข้าใจ “ธรรม” คือความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงของกฎธรรมชาตินั้น เช่น ทำให้ตรงเหตุปัจจัย เป็นต้น
เมื่อต้องการผลก็ต้องทำที่เหตุปัจจัย จะทำเหตุปัจจัยได้ถูกต้องก็ต้องศึกษาให้เกิดปัญญารู้เหตุปัจจัยนั้น การที่จะทำเหตุปัจจัยเดินหน้าไปได้ก็ต้องมีความเพียรพยายาม เริ่มด้วยให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำ
เป็นอันว่า จากหลัก “ธรรมเป็นใหญ่” ก็ตามมาด้วยหลักการว่า
- ให้หวังผลจากการกระทำ แทนที่จะหวังผลจากการอ้อนวอน
- ให้มีความเพียรพยายามในการกระทำ แทนที่จะมัวจัดพิธีบวงสรวงอ้อนวอน และ
- ให้ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา ที่จะรู้จักทำเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล
ด้วยเหตุนี้ หลักไตรสิกขา จึงมาเป็นหลักใหญ่แห่งการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักแห่งการพัฒนาคนให้ทำกรรมหรือทำการต่างๆ ให้ถูกต้องดียิ่งขึ้นๆ โดยสอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาติ
เมื่อคนเราปฏิบัติถูกต้องตามกฎธรรมชาติ การปฏิบัติของคนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินั้น ท่านก็เรียกว่า “ธรรม” ด้วย “ธรรม” จึงได้มีความหมายพื้นฐาน ๒ อย่าง คือ
๑. “ธรรม” คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ หรือจะเรียกว่ากฎธรรมชาติก็ได้ หรือจะเรียกว่า “สัจธรรม” ก็แล้วแต่
๒. “ธรรม” คือการปฏิบัติอย่างฉลาด หรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ที่ได้ผลดีโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติที่เรามักเรียกว่า “จริยธรรม”
No Comments
Comments are closed.