เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด? – เทคโนโลยีมา

1 เมษายน 2520
เป็นตอนที่ 4 จาก 5 ตอนของ

เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด?1

เทคโนโลยีมา

โลกปัจจุบันอยู่ในยุคแห่งความเจริญก้าวหน้า มีถ้อยคำหลายอย่างสำหรับเรียกชื่อยุคปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเจริญเช่นนั้น มีมากมายเพียงใด เช่นว่า เป็นยุคอวกาศบ้าง ยุคเทคโนโลยีบ้าง เฉพาะ ๒ คำที่ยกมานี้ คำแรกแสดงถึงระดับหรือขีดขั้นที่ความเจริญก้าวหน้าได้ย่างเข้าไปถึง ส่วนคำหลังแสดงถึงวิทยาการและอุปกรณ์ที่เป็นตัวเหตุปัจจัย ให้ความเจริญก้าวหน้านั้นเกิดมีขึ้นได้ และแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่วิทยาการและอุปกรณ์ซึ่งเรียกว่าเทคโนโลยีนั้นเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต จะว่าชีวิตของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันผูกพันอยู่กับเทคโนโลยี ถึงขั้นที่ว่ามีเทคโนโลยีเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็แทบจะว่าได้ ระหว่างคำว่ายุคอวกาศ กับยุคเทคโนโลยี คำหลังมีความหมายเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากกว่า

ในเมื่อสมัยปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี คำว่าเทคโนโลยีก็ย่อมเป็นคำที่ขึ้นหน้าขึ้นตา แต่ในภาษาไทยยังหาคำแปลหรือศัพท์บัญญัติที่ยอมรับและนิยมใช้กันทั่วไปสำหรับคำนี้ไม่ได้ บางท่านบัญญัติว่าประยุกตวิทยา บ้างว่าเทคนิควิทยา บ้างก็เรียกทับศัพท์ตามภาษาเดิมว่าเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ไม่ว่าในทางภาษาจะบัญญัติเรียกชื่อว่าอย่างไร หรือแม้เรียกชื่อไม่ถูกก็ตามที แต่ในทางปฏิบัติ คนในโลกส่วนที่นับว่าเจริญแล้วทั้งหลาย ล้วนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยี ได้ใช้สอยอุปกรณ์และผลิตผลของเทคโนโลยี หาความสุขความสะดวกสบายให้แก่ตนอยู่ตลอดเวลา

พูดอย่างง่ายๆ เทคโนโลยีก็คือการนำเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับผ่อนแรง ทุ่นแรง ทำงานแทนคน ตลอดจนอำนวยความสุขความสะดวกสบายต่างๆ คนในยุคเทคโนโลยีมีความเป็นอยู่แสนจะสะดวกสบาย จะเดินทางไกลก็ไปได้ไวด้วยรถจักรและรถยนต์ จะไปให้ไกลและไวยิ่งกว่านั้น ก็มีเครื่องบินหลายประเภทคอยรับใช้ อยู่ลำพังหรือห่างไกลเหตุการณ์ก็ฟังและดูข่าวสารได้ด้วยวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ต้องไปมาหากันก็ติดต่อกันได้ด้วยโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อข่าวสารต่างๆ เมื่อต้องการความสนุกสนานบันเทิง วิทยุและโทรทัศน์ก็นำเอาสิ่งเหล่านั้นมาส่งให้ถึงที่ ต้องการแสงสว่าง ต้องการไฟหุงต้มทำครัว ปรุงอาหาร ซักฟอกเสื้อผ้า ล้างภาชนะจานชาม ทำสิ่งของให้เย็นร้อนอ่อนแข็ง เพียงกดปุ่มหรือเปิดสวิทช์ก็สำเร็จได้ดังปรารถนา ความสะดวกสบายและผลอันน่าอัศจรรย์ต่างๆ ยังมีอีกมากมายไม่อาจพรรณนา เหมือนดังว่าจะถึงสมัยที่มนุษย์อยู่ในแดนเนรมิต

เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดความสะดวกสบาย และส่องให้เห็นความหวังแห่งความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกมากมายในอนาคต จึงเคยมีผู้ถนัดในวิชาทางฝ่ายวิวัฒนาการทำนายว่า ไกลออกไปข้างหน้าในอนาคต มนุษย์ผู้เจริญแล้วจะใช้มือและเท้าน้อยลง แต่ใช้สมองมากขึ้น ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงตามหลักวิวัฒนาการ มนุษย์ในภายหน้าจะมีแขนขามือเท้าสั้น แต่ศีรษะใหญ่โต แต่มาบัดนี้ได้มีความเจริญเกิดขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือ มนุษย์ประดิษฐ์สมองกลที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ได้ นำมาใช้ขบคิดปัญหาและจดจำสิ่งต่างๆ ผ่อนเบาภาระทางสมอง และคิดการต่างๆ แทนคนได้อย่างมากมาย เมื่อปรับปรุงสมองกลให้มีคุณภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สมองน้อยลงแล้ว คำทำนายเชิงวิวัฒนาการก็คงจะต้องดัดแปลงเสียใหม่ ให้เข้ากับกระแสความเจริญก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ คงจะต้องพูดใหม่ว่า มนุษย์ที่เจริญด้วยเทคโนโลยีในอนาคต ร่างกายจะวิวัฒนาการกลายรูปผิดแปลกไป แม้ว่าแขนขามือเท้าจะเล็กและสั้นเข้า แต่ศีรษะจะไม่ใหญ่โตขึ้น ตรงข้ามอาจจะลีบเรียว เพราะมีความจำเป็นต้องใช้น้อยลง ท้องจะพองโต เพราะมีเวลาและใช้พลังงานในการบริโภคเสพความสุขสำราญมากยิ่งขึ้น

ไม่ทันที่จะได้มีเวลาใส่ใจคิดคำนึงถึงคำทำนายข้อหลัง มนุษย์ก็ประสบกับข้อกังวลใจอย่างใหม่เสียก่อน ความกังวลใจที่เกิดจากภยันตรายอันจะเกิดขึ้นเพราะความเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ตนสร้างขึ้นนั้นเอง ภยันตรายที่ไม่เคยนึกถึง ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน เมื่อแรกเริ่มเจริญด้วยเทคโนโลยีนั้น มนุษย์มีแต่นึกฝัน วาดภาพถึงความสุขความรุ่งเรืองพรั่งพร้อมที่จะได้ประสบ แต่เมื่อภยันตรายจากเทคโนโลยีปรากฏขึ้นจนรู้ตัวแล้ว มนุษย์ผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย ก็กลับต้องหันมาใส่ใจกับการป้องกันและแก้ไขภยันตรายเหล่านั้น จนไม่มีแก่ใจจะนึกถึงคำทำนายอีกต่อไป เพราะภยันตรายนั้นร้ายแรงมาก ถึงขนาดที่อาจทำลายล้างมนุษยชาติให้สูญสิ้น มนุษย์อาจจะมีอยู่ในโลกนี้ไม่ถึงเวลาที่ความเจริญรุ่งเรืองในฝันนั้นมาถึง บางทีแม้แต่โลกนี้เองก็อาจถึงอวสานเสียก่อน

อันตรายที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีนั้น มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เฉพาะที่เป็นเหตุโดยตรงก็มีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือการผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้สิ่งแวดล้อมเน่าเสียเป็นพิษ

เทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าใด ทรัพยากรก็ถูกนำมาใช้มากมายในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น เทคโนโลยีเจริญมากในประเทศใด ประเทศนั้นก็ยิ่งใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก ผู้ชำนาญการบอกว่า เมื่อร้อยปีก่อน คนทั่วโลกใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ๑ ล้านตันต่อปี แต่เมื่อสิบปีก่อน คนใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๗๓ ล้านตันต่อปี ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าที่สุด มีพลเมือง ๒๐๗ ล้านคน เท่ากับ ร้อยละ ๕.๖ ของจำนวนประชากรทั่วโลก แต่ใช้น้ำมันร้อยละ ๓๓ และแก๊สธรรมชาติร้อยละ ๖๓ ของอัตราการใช้เชื้อเพลิงทั่วทั้งโลก นักวิชาการของสหรัฐฯ บอกว่าเฉลี่ยแล้วคนอเมริกัน ๑ คน ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเท่ากับพลเมืองชาติอื่นในโลก ๗ คนรวมกัน หรือถ้าเทียบกับชาวอินเดีย คนอเมริกันคนหนึ่งบริโภคทรัพยากรเท่ากับคนอินเดีย ๕๐ คน การทำไร่ทำนาสมัยปัจจุบันซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เห็นกันว่าสะดวกสบายทุ่นแรงทุ่นเวลา ได้ผลกว่าวิธีของชาวบ้านโบราณอย่างมากมายนั้น ถ้าว่ากันถึงความสิ้นเปลืองทางพลังงานแล้ว นักวิชาการบอกว่า อุตสาหกรรมผลิตอาหารสมัยใหม่ใช้พลังงานป้อนเข้า ๕-๑๐ หน่วย จึงจะได้ผลผลิตเป็นอาหารมีพลังงาน ๑ หน่วย ส่วนการทำนาแบบโบราณใช้พลังงานป้อนเข้า ๑ หน่วย ได้ผลผลิตเป็นพลังงานอาหาร ๕-๕๐ หน่วย

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทรัพยากรสำคัญๆ ที่ใช้ในทางเทคโนโลยีมักเป็นทรัพยากรประเภทที่สร้างทดแทนขึ้นใหม่ไม่ได้ ไม่มีเพิ่มขึ้น มีแต่จะหมดไปๆ ถ่ายเดียว ทรัพยากรที่ใช้เป็นพลังงานในสมัยปัจจุบันนั้น ธรรมชาติต้องค่อยๆ สร้างสมมานานเป็นเวลาหลายล้านปี แต่มนุษย์ยุคเทคโนโลยีผลาญหมดสิ้นภายในเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ผู้ชำนาญการเชื่อกันว่า แร่ธาตุสำคัญๆ เช่น เงิน ทอง ดีบุก ตะกั่ว ทองแดง โดยเฉพาะแหล่งพลังงานที่สำคัญ คือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจะถูกใช้หมดโลกภายในเวลา ๕๐ ปีนับแต่นี้ต่อไป อย่างไรก็ตามคนพวกหนึ่งเชื่อว่า ถึงแร่ธาตุและพลังงานเหล่านั้นจะหมดไป มนุษย์ก็จะค้นหาหรือสร้างพลังงานแหล่งอื่นขึ้นมาใช้แทนได้ แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงการปลอบใจและให้ความหวัง ไม่สามารถประกาศแสดงความมั่นใจได้จริงจัง พลังงานเหล่านั้นอาจสร้างได้ แต่ข้อบกพร่องติดขัดก็มีหลายอย่าง โดยเฉพาะแหล่งพลังงานบางอย่างอาจให้ผลดีไม่คุ้มผลเสีย เช่น จะใช้พลังงานนิวเคลียร์แทนน้ำมันและแก๊สธรรมชาติก็เป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างมาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุภัยธรรมชาติ หรือการก่อวินาศกรรม พลังงานที่ให้ประโยชน์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานให้โทษ กลายเป็นเครื่องทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และมนุษย์ในยุคสมัยเช่นนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างหวั่นกลัวหวาดผวาตลอดเวลา

อันตรายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของยุคเทคโนโลยี ซึ่งถ้ามองในแง่ปัจจุบันนับว่าร้ายแรงกว่าอย่างแรก เพราะเป็นอันตรายที่เกิดอยู่แล้วตลอดเวลา ได้แก่สภาพสิ่งแวดล้อมเน่าเสียเป็นพิษ คือ อากาศเสียบ้าง น้ำเสียบ้าง ดินเสียบ้าง เสียงผิดธรรมดาบ้าง ความร้อนผิดธรรมดาบ้าง ซึ่งเป็นภัยอันตรายที่มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขความสะดวกสบายจากความเจริญทางเทคโนโลยี ก่อให้แก่ธรรมชาติคือโลกที่ตนอยู่อาศัยก่อน แล้วอันตรายนั้นกลับย้อนเข้ามาหาตน เรียกได้ว่าเป็นอันตรายที่ทำให้แก่ตัวเอง ประเทศไหนเจริญด้วยเทคโนโลยีมากก็ประสบปัญหานี้ก่อน นักวิชาการเจ้าของเรื่องบอกว่า ในสหรัฐฯ ปีหนึ่งๆ เทคโนโลยีประเภทต่างๆ ปล่อยของเสียขึ้นไปไว้ในอากาศมากมาย คือ รถราพาหนะต่างๆ ปล่อยไอเสียขึ้นไปปีละ ๑๒๓ ล้านตัน โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยขึ้นไป ๔๘ ล้านตัน การเผากำจัดขยะปล่อยขึ้นไป ๓๑ ล้านตัน โรงงานไฟฟ้าปล่อยขึ้นไป ๒๘ ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีอื่นๆ อีกเช่น เครื่องบิน เครื่องให้ความอบอุ่นภายในอาคาร เป็นต้น ส่วนทางน้ำ นอกจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรแล้ว น้ำมันที่ปล่อยทิ้งและรั่วไหลลงในมหาสมุทรมีปริมาณปีละ ๕ ถึง ๑๐ ล้านตัน ทางภาคพื้นดิน สหรัฐฯ สร้างขยะเฉพาะปี ๑๙๗๐ เป็นจำนวน ๔ พันล้านตัน หรือถ้าคิดเป็นรายตัว คนอเมริกันคนหนึ่งๆ สร้างขยะหนักวันละ ๕ ปอนด์ ส่วนทางด้านพลังงานปรมาณู โรงงานพลังงานปรมาณูทางสันติในที่ต่างๆ สมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ยังใช้พลังงานปรมาณูไม่มาก ก็มีสิ่งที่เรียกว่ากากปรมาณูเพิ่มขึ้นทุกวัน กากเหล่านี้ยังมีรังสีซึ่งเป็นอันตรายมาก ต้องเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ครึ่งล้านปีถึงจะหมดพิษ นักวิชาการบอกว่ากากเหล่านี้ ถ้ารวมถึง ๓๐ ปีจะมีอานุภาพเท่ากับลูกระเบิดปรมาณูแรง ๑๑,๕๐๐ เมกะตัน ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสถานที่เก็บกักกากปรมาณูอย่างถาวร จึงเก็บไว้ในถังเก็บชั่วคราว ขณะนี้มีปริมาณกว่า ๘๐ ล้านแกลลอน

ของเสียและสิ่งเป็นพิษเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ทั้งสิ้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม อากาศที่เสียทำให้คนจำนวนไม่น้อย เป็นโรคปวดมึน วิงเวียนศีรษะบ้าง เป็นโรคมะเร็งบ้าง เป็นโรคเกี่ยวกับทางหายใจบ้าง น้ำที่เสียกลายเป็นน้ำเสื่อมคุณภาพบ้าง เป็นพิษไปบ้าง ทะเลสาบและแม่น้ำมากมายกลายเป็นที่ต้องห้าม แล่นเรือไม่ได้ หาปลาไม่ได้ เล่นน้ำไม่ได้ ปลาบางชนิดอยู่ไม่ได้ สูญไปบ้าง ถึงยังอยู่ได้ก็กลายเป็นปลาต้องห้าม กินไม่ได้บ้าง อย่าว่าแต่คนหรือสิ่งมีชีวิตเลย แม้แต่วัตถุธาตุที่แข็งแรงก็ยังทนไม่ไหว นักวิชาการพวกข้างต้นนั้นเองบอกว่า ในเมืองที่อากาศเสีย โลหะ คอนกรีต ยาง ดังตัวอย่างผิวเหล็กกล้า จะผุกร่อนเร็วกว่าในชนบทถึง ๓๐ เท่า อันตรายต่างๆ ยังมีอีกนานาประการ แต่คนส่วนมากรู้กันอยู่แล้ว รัฐบาลและกิจการอุตสาหกรรมทั้งหลายก็พยายามป้องกันแก้ไขกันอยู่ วิธีแก้ไขสำคัญอย่างหนึ่ง คือใช้เทคโนโลยีนั่นแหละแก้ผลเสียของเทคโนโลยี เช่นสร้างอุปกรณ์กำจัดของเน่าเสีย โดยวิธีนี้นักวิชาการบอกว่า ในเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า จะใช้จ่ายเงินทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง ๒๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญอเมริกัน และอุปกรณ์ที่กำจัดของเสียนั้นเองก็จะปล่อยของเสียออกมาด้วยเหมือนกัน เขาบอกว่าวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด ก็คือคนนี่เองยอมลดความสะดวกสบาย งดใช้ของบางอย่าง เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินชีวิตประจำวันบางส่วน ยอมสละความฟุ่มเฟือยลงเสียบ้าง

ภัยบางอย่างกระทบต่อโลกทั้งหมดในระยะยาว และสะสมซับซ้อนจนคนคิดไม่ถึง กว่าจะรู้ตัวก็ทำท่าจะสายเกินแก้ เช่น เมื่อคนปล่อยควันไอเสียต่างๆ ขึ้นไปเรื่อย และเมื่อป่าไม้ที่คอยช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ก็ถูกทำลายเหลือน้อยลงไปๆ คาร์บอนไดออกไซด์ก็สะสมมากขึ้นๆ กลายเป็นฉากขวางกั้นความร้อนในบรรยากาศไม่ให้ระบายออกไป อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกก็สูงขึ้น เมื่ออากาศร้อนขึ้น ภูเขาน้ำแข็งแถบขั้วโลกก็ละลายมากขึ้น น้ำทะเลก็สูงขึ้น พร้อมกันนั้นประชาชนบางประเทศใช้เครื่องมือดูดรองน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป แผ่นดินก็ทรุดลงไปๆ น้ำก็ท่วมมากขึ้นทุกที จนน่ากลัวว่าต่อไปเมืองที่เคยสวยงามจะกลายเป็นเมืองที่จมน้ำทะเล

ถึงแม้เทคโนโลยีจะก่อให้เกิดอันตรายได้มากมายก็ตาม แต่อันตรายนั้นก็จะไม่ร้ายแรงนักหนา ถ้ามนุษย์ไม่ทำให้มันเป็นอันตรายเสียเอง เพราะเทคโนโลยีนั้น มนุษย์สร้างขึ้นเอง มนุษย์เป็นผู้ใช้ และมนุษย์รู้อยู่แล้วว่า ตนสร้างและใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตน แต่ในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น มนุษย์ผู้แสวงหาผลประโยชน์พยายามแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกัน จึงใช้เทคโนโลยีเพื่อยึดฉวยผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดแก่คนอื่น หรือแก่ส่วนรวม หรือยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือใช้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเบียดเบียนทำลายกัน มนุษย์เจริญขึ้นเท่าใด เครื่องมือฆ่าฟันทำลายกันก็เจริญขึ้นเท่านั้น สมัยโบราณรู้จักแต่หินแต่ไม้ ก็แค่ใช้ไม้ตีกัน เอาหินทุ่มกัน หรือฝนหินให้คมมาแทงกัน ต่อมารู้จักเหล็ก ก็เอาเหล็กมาทำดาบแทงฟันกัน ครั้นรู้จักดินประสิว ก็ทำปืนและลูกระเบิดยิงหรือขว้างสังหารกัน ถึงปัจจุบันรู้จักพลังงานปรมาณู ก็ผลิตลูกระเบิดปรมาณูขึ้นมา สำหรับทำลายกันให้ได้มากมายร้ายแรงยิ่งขึ้น เลยทำให้อยู่กันด้วยความหวาดระแวง เพิ่มความทุกข์ของมนุษย์ให้มากขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นโทษที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (อภิปรายต่อรอบที่สอง)เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด? – ศาสนาไม่หมด? >>

เชิงอรรถ

  1. หมายเหตุ : พิมพ์ครั้งแรกใน ธรรมปทีป ฉบับสงกรานต์ เล่มที่ ๑๖ ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในหนังสือ อนุสรณ์ ๓๐ ปี วชิระสัมพันธ์ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖

No Comments

Comments are closed.