- วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา
- อะไรคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา
- (อภิปรายต่อรอบที่สอง)
- เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด? – เทคโนโลยีมา
- เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด? – ศาสนาไม่หมด?
ศาสนาไม่หมด?
ยังมีทุกข์ภัยอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีจะเข้าไม่ถึงเสียเลย คือความทุกข์ทางจิตใจ เช่นความวิตกกังวล ความกระวนกระวาย ความอัดอั้นคับแค้น ความขุ่นมัวหม่นหมอง ความว้าเหว่หงอยเหงา ความเบื่อหน่ายท้อแท้ เป็นต้น ความทุกข์เช่นนี้ เมื่อพันปีก่อนมีอย่างไร สมัยปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ เมื่อร้อยปีก่อนอย่างไร สมัยนี้ก็อย่างนั้น ดูเหมือนจะร้ายแรงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะในสังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยี สถิติคนเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น คนป่วยโรคจิต คนเสียสติเพิ่มขึ้น คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น คนในสังคมที่เจริญเช่นนั้น ชีวิตถูกเร่งรัดด้วยความต้องการมากขึ้น ต้องดิ้นรนวิ่งหาสิ่งที่หวังว่าจะให้ความสุขมากขึ้น ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยระบบการดำเนินชีวิตที่แข่งขันกดดันกันมากขึ้น วิ่งหาความสุขกันเสียจนบางทีไม่มีโอกาสรู้จักได้รับความสุขที่แท้จริงเลย ไขว่คว้าเอาความสนุกสนานเพลิดเพลินชนิดที่พอแก้ความกระวนกระวาย แก้ความว้าเหว่เบื่อหน่ายผ่านไปทีหนึ่งๆ จนไม่มีเวลาตั้งตัวคิดว่า ชีวิตต้องการอะไรที่แท้จริง หรือชีวิตที่ดีมีความหมาย มีความสุขจริงคือชีวิตอย่างไร พอสิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินผ่านไปคราวหนึ่ง ก็กลับขุ่นมัว ว้าเหว่ เบื่อหน่าย รู้สึกชีวิตว่างเปล่าซ้ำอีก หรือยิ่งขึ้นอีก แล้วก็พล่านหาความสนุกสนานเพลิดเพลินมากลบทับใหม่ สะสมเชื้อแห่งความทุกข์ความพิการของชีวิตจิตใจให้พอกพูนยิ่งขึ้น พอพลาดพลั้งหาเชื้อเพลิงมาเติมไฟไม่ได้ทันอย่างเคย วงจรไม่หมุนต่อไปอย่างเดิม หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินสนองความต้องการอย่างเก่ากลายเป็นของชาชินไปเสียแล้ว ไม่เร้าใจอย่างเคย เบื่อ เซ็ง ชีวิตจิตใจขาดฐานที่ตั้ง ก็ตกฮวบฮาบ เห็นชีวิตเป็นที่ระทมทุกข์และไร้ค่า เปิดทางรับโรคประสาท โรคจิต ตลอดจนความคิดที่จะตัดรอนชีวิตของตน หรือไม่ก็คิดหาสิ่งเร้าความรู้สึกที่แรงยิ่งขึ้นๆ ถ้าไม่เช่นนั้นก็หันออกไปคิดเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น แย่งชิงสิ่งที่คิดว่าจะให้ความสุขแก่ตนจากผู้อื่น หรือทำให้เขาได้รับความทุกข์อย่างตนบ้าง กลายเป็นภัยแก่สังคม จึงปรากฏว่าสังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยี คนมีทุกข์ก็มากขึ้น อาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น
ความจริง มนุษย์สร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น ก็เพื่อนำมารับใช้ตนในการแก้ปัญหา กำจัดสิ่งกีดขวางขัดข้องของชีวิต ให้สามารถแสวงหาความสุขความสะดวกสบาย มีชีวิตที่ดีปราศจากทุกข์ และความจำกัดบีบคั้นต่างๆ ตามความเข้าใจของมนุษย์ สิ่งที่จำกัดบีบคั้นมนุษย์ก็คือธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์อยู่นั่นเอง มนุษย์แต่เดิมต้องดำรงชีวิตอยู่ภายในขอบเขตจำกัดของธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีชีวิตอยู่ภายในขอบเขตที่ธรรมชาติกำหนดให้ และยังถูกบีบคั้นด้วยภัยธรรมชาติ ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มนุษย์เชื่อว่าถ้าคนเอาชนะธรรมชาติ สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นอิสระ แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตได้ ทำอะไรได้ตามปรารถนา มีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ มนุษย์ได้พยายามเอาชนะ กลับตัวขึ้นเป็นนายเหนือธรรมชาติ และบังคับควบคุมธรรมชาติให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เครื่องมือที่มนุษย์จะเอาชนะควบคุมบังคับธรรมชาติก็คือเทคโนโลยี
ปัจจุบันนี้มนุษย์เชื่อว่า ตนได้สร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นมามากมาย สามารถเอาชนะ กลับตัวขึ้นเป็นนายบังคับควบคุมธรรมชาติแวดล้อมให้เป็นไปตามปรารถนาได้แทบทุกอย่างใกล้จะสมบูรณ์แล้ว มนุษย์มีความสะดวกสบาย ทำสิ่งที่นับว่าเป็นอัศจรรย์ได้มากมาย แต่แล้วเทคโนโลยีที่มนุษย์เอามาช่วยตนต่อสู้เอาชนะธรรมชาตินั่นเอง ก็ได้เริ่มกลับกลายมาเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่บีบคั้นสร้างปัญหาแก่มนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องควบคุมเอาชนะให้ได้ต่อไป จนบัดนี้ ปัญหาที่เป็นตัวความทุกข์ของมนุษย์ก็ยังมีอยู่มากนักหนา ปัญหาบางอย่างแก้ได้แล้ว แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา มีทั้งปัญหาจากภายในตัวบุคคล ปัญหาระหว่างคนด้วยกัน ปัญหาจากธรรมชาติส่วนที่ยังแก้ไม่เสร็จ และปัญหาจากเทคโนโลยีที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนายใหม่ของมนุษย์ หันไปพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เป็นไปเช่นนั้น พอจะมองเห็นได้ว่ามีปัจจัยสำคัญ ๒ อย่าง คือ ความไม่รู้จริง หรือรู้ไม่เพียงพอทั่วถึง (อวิชชา) อย่างหนึ่ง ความอยากความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตน ที่ทำให้ไม่ทำพอดีตามที่รู้ (ตัณหา) อย่างหนึ่ง
มนุษย์สร้างเครื่องมือขึ้นบังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็ด้วยความรู้ในกฎเกณฑ์องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นไปในธรรมชาติ คือความรู้ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ของมนุษย์ที่เห็นกันว่ากว้างขวางลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ในหลายกรณีหรือแทบทุกกรณี เป็นความรู้แต่เพียงจำเพาะด้านหนึ่งๆ ไม่ครบถ้วนทั่วถึงองค์ประกอบอันละเอียดซับซ้อนต่างๆ ที่สัมพันธ์ถึงกันแทบทุกส่วนของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์จัดการบังคับควบคุมธรรมชาติด้านหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งได้ จึงกลายเป็นผลักดันให้ธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง หรืออีกส่วนหนึ่งผันผวนวิปริตออกไป กลายเป็นเกิดปัญหาขึ้นใหม่ และปัญหานี้บางทีก็เป็นภัยร้ายแรงแก่มนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่ทันรู้ตัว หรือกว่าจะรู้ตัวก็ทำอันตรายแก่ตนเสียแล้วเป็นเวลานาน สภาพเช่นนี้เป็นเหมือนบีบของอย่างหนึ่งกุมไว้ได้ แต่ของนั้นไปโป่งออกหรือทะเล็ดไปอีกด้านหนึ่ง ไม่เป็นการบังคับควบคุมที่สำเร็จผลอย่างแท้จริง จัดว่าเป็นเพราะสาเหตุอย่างที่หนึ่ง คือเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้จริง
บางครั้งทั้งที่รู้ว่าในการที่จะควบคุมรักษาสมดุลในธรรมชาติไว้ จะต้องปฏิบัติการกับเทคโนโลยีส่วนนี้ภายในขอบเขตเพียงเท่านี้ แต่เพราะอยากได้ผลประโยชน์ให้มาก ก็ทำการเกินไปกว่านั้น หรือในทางตรงข้ามทั้งที่รู้ว่าการที่จะควบคุมรักษาสมดุลในธรรมชาติไว้ จะต้องทำการเพิ่มขึ้นอีกอย่างนั้นๆ แต่เพราะขัดหรือจะทำให้เสียผลประโยชน์ของตนก็ไม่ทำ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีอย่างมักง่ายเห็นแก่ได้ (ตัวอย่างแรกเช่นคนปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ และการปล่อยไอเสียในอากาศ ตัวอย่างหลังเช่นการที่จะต้องติดตั้งเครื่องกำจัดน้ำเสียเพิ่มเข้าในโรงงาน หรือตัวอย่างง่ายๆ คนขี้เกียจนำเศษของไปทิ้งในถังขยะ และคนที่ไม่ตั้งถังขยะ การใช้ยาฆ่าแมลงและผงชูรสอย่างประมาทและเห็นแก่ตัว) เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็ย่อมเกิดมากขึ้นเรื่อยไป จัดว่าเป็นเพราะสาเหตุอย่างที่สองคือเกิดจากตัณหา ความอยากได้ หรือความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตน ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีส่วนมากเกิดจากสาเหตุข้อหลังนี้ เรียกได้ว่า มนุษย์รู้จักบังคับควบคุมธรรมชาติได้โดยใช้เทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักบังคับควบคุมเทคโนโลยีที่ตนใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติ ถึงจะบังคับควบคุมธรรมชาติได้ แต่เมื่อบังคับควบคุมเครื่องมือสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ก็ย่อมทำให้เกิดผลร้ายซึ่งบางที่รุนแรงยิ่งกว่าควบคุมบังคับธรรมชาติไม่ได้เสียเลย ถามต่อไปว่า เหตุใดจึงบังคับควบคุมเทคโนโลยีไม่ได้ คำตอบก็ชัดอยู่แล้วว่าเพราะบังคับควบคุมความ อยากหรือตัณหาของตนไม่ได้ พูดสั้นๆ ว่า บังคับควบคุมตนเองไม่ได้
รวมความว่าเพราะควบคุมตัณหา คือความอยากความเห็นแก่ตนไม่ได้ ก็บังคับควบคุมตนเองไม่ได้ เพราะควบคุมบังคับตนเองไม่ได้ ก็ควบคุมการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ เพราะควบคุมการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ ก็บังคับการควบคุมธรรมชาติให้ได้ผลดีไม่ได้ และจึงทำการต่อธรรมชาติในทางที่ให้เกิดภยันตราย การกระทำอย่างนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็นการควบคุมธรรมชาติ เพราะการควบคุมหมายถึงทำให้อยู่ในสภาพที่พอดี ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ไม่เป็นโทษ การนำเทคโนโลยีไปใช้ทำการกับธรรมชาติ ในทางที่แสวงหาผลประโยชน์ตนอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียแก่สังคมหรือแก่ธรรมชาติส่วนรวมเช่นนี้ ควรเรียกว่าเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์จากธรรมชาติ หรือเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติมากกว่า
ในสังคมที่เจริญนำหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาต่างๆ มักเกิดจากสาเหตุอย่างที่สองคือตัณหาเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าสาเหตุอย่างที่หนึ่งคืออวิชชา ถึงแม้จะมีอยู่แต่ก็มีการคอยระแวดระวังและคอยศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ เพื่อให้รู้รอบคอบทั่วถึง และแก้ไขปรับปรุงให้ทำการได้ผลเรียบร้อยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ในสังคมที่เจริญรอยตามอย่างหรือสังคมเลียนแบบ ปัญหามักจะร้ายแรงยิ่งกว่าเพราะมักมีสาเหตุอย่างที่หนึ่งยืนพื้นอยู่ก่อน เช่นไม่รู้แม้แต่วัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ไม่รู้ว่าเขาสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อควบคุมธรรมชาติ จะได้แก้ปัญหาความทุกข์ ความบีบคั้นขัดข้องของมนุษย์ให้ดำรงชีวิตได้อย่างผาสุกปลอดภัย เป็นเครื่องสนับสนุนชีวิตที่ดีงาม และการมีโอกาสแสวงหาคุณค่าทางจิตปัญญาที่สูงขึ้นไป แต่เข้าใจไปว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรอ ใช้แสวงหาความสนุกสนานมัวเมาและผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อมีอวิชชาเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นเครื่องหนุนตัณหาให้แรงยิ่งขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงหนักเข้าไปอีก
ลงท้าย ต้นตอของปัญหาก็มาอยู่ที่ตัวมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ส่วนเทคโนโลยีถึงจะเจริญยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็มีฐานะเท่าเดิม คือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลาย แม้แต่ของเล็กน้อยอย่างไม้จิ้มฟัน ไม้คาน หรือรองเท้า ก็เป็นของสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติในสถานใดสถานหนึ่ง เครื่องมือเครื่องใช้น้อยใหญ่ที่เรียกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นของสำหรับมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์อยู่กับตนอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว หรือมนุษย์ที่มีความสุขอยู่แล้ว จะนำไปใช้เป็นเครื่องประกอบสำหรับอำนวยความสะดวกสบายรองรับความสุขนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์ที่เป็นมนุษย์เต็มตัวอยู่แล้ว หรือมนุษย์ผู้รู้จักที่จะมีความสุขอยู่แล้วนั้น เมื่ออยู่ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้า เขาก็มีความสุขอย่างผู้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกสบายเพียงเล็กน้อย เมื่ออยู่ในสมัยที่เทคโนโลยีเจริญ เขาก็มีความสุขอย่างผู้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกสบายมาก ซึ่งเขาอาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ โดยที่ความเป็นมนุษย์และความสุขของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านั้น เทคโนโลยีเป็นของสำหรับคนผู้มีฐานที่ตั้งตัว พร้อมที่จะมีความสุขอยู่แล้ว ใช้เทคโนโลยีเพียงเป็นเครื่องประกอบส่วนนอกของชีวิต ไม่ใช่สำหรับผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับเทคโนโลยี สำหรับคนที่หวังเช่นนี้ เทคโนโลยีจะยั่วยวนให้ลุ่มหลงมัวเมา หลอกให้เพลิดเพลินตื่นเต้นไปกับสิ่งเร้าสิ่งเอิบอาบกระหยิ่มใจ ให้ลืมอาการเบื่อหน่ายหงอยเหงาไปคราวหนึ่งๆ โดยสุมซ้อนหรือคลุมซ่อนปมทุกข์ปมปัญหาที่ฝังลึกอยู่ข้างในเอาไว้โดยไม่ได้แก้ไข จนกว่าจะเกิดอาการเอียนอืดเฟ้อ หรือระเบิดออกมาเป็นโรคจิตโรคประสาทในที่สุด
แม้ว่าโลกสมัยปัจจุบัน จะเจริญด้วยเทคโนโลยี มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายพรั่งพร้อมแทบทุกประการ แต่เทคโนโลยีนั้นก็เป็นเพียงเครื่องประกอบของชีวิต มีขอบเขตจำกัดเพียงเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มีคุณและโทษขึ้นกับผู้ใช้ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับคนที่จะมีชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ใช้ จะดีหรือร้าย และได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นปัญหาที่ต่างหากออกไป ไม่อยู่ในวิสัยของเทคโนโลยีเอง ปัญหานั้นคือปัญหาการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับความเจริญทางเทคโนโลยี สร้างคนที่มีฐานแห่งความสุขอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว ผู้พร้อมที่จะมาสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยี ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่สร้างหรือใช้เพื่อก่อปัญหา ทำให้เกิดโทษมากยิ่งขึ้น คือสร้างคนผู้สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีควบคุมธรรมชาติได้ในความหมายที่แท้จริง ในความหมายที่ว่าให้อยู่ในสภาพที่ดีอันจะให้เกิดแต่คุณประโยชน์ มิใช่เพียงความหมายที่ว่าจะแย่งชิงผลประโยชน์เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ การควบคุมเช่นว่านี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยการควบคุมมาตามลำดับเป็นชั้นๆ เริ่มแต่ควบคุมตัณหาในตน หรือควบคุมตนเองได้แล้ว จึงควบคุมการใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การควบคุมธรรมชาติอย่างถูกต้องในที่สุด
การสร้างคนที่มีจิตใจเป็นอิสระ ผู้มีความสามารถในการควบคุมอย่างแท้จริง คือควบคุมได้ทั้งธรรมชาติภายในและธรรมชาติภายนอกเช่นนี้ คือหน้าที่ของศาสนา เป็นหน้าที่ดั้งเดิมตลอดมาแต่โบราณไม่เปลี่ยนแปลง จะแปลกกันก็แต่ว่า คนที่ถูกสร้างนั้นเป็นคนที่ใช้ไต้ ใช้ตะเกียง หรือใช้ไฟฟ้า คนที่เดินทางด้วยเกวียน หรือด้วยรถยนต์และเครื่องบิน คนที่ต่อสู้กันด้วยไม้พลอง ด้วยหอกดาบ ด้วยปืน หรือด้วยจรวด แต่ทั้งหมดนั้นก็คือคน คนที่ดีหรือร้าย คนที่รู้จักมีทุกข์รู้จักมีสุข และคนที่เป็นสัตว์ประเสริฐอันฝึกให้มีอารยธรรมได้ ภารกิจที่แท้จริงของศาสนา ซึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีไม่อาจก้าวก่ายได้ นอกจากช่วยสนับสนุนย่อมอยู่ ณ ที่นี้ หากศาสนาใส่ใจและทำหน้าที่นี้สำเร็จ ข้อนั้นย่อมหมายถึงความดำรงอยู่ของศาสนาเองด้วย และหมายถึงความสวัสดีของชาวโลกด้วย
No Comments
Comments are closed.