- พระพุทธศาสนา กับประชาธิปไตย
- พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
- เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
- เกณฑ์วินิจฉัย ความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
- ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม
- สันโดษ
- วรรณะ
- การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์
- ตบะ
- โยคะ
- ภาคผนวก ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
- บทสัมภาษณ์ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
- ที่มา
- อนุโมทนา
- คำนำ
เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
ขอเจริญพรท่านสาธุชนทั้งหลาย ทั้งท่านผู้จัดสัมมนาและท่านผู้ร่วมสัมมนาทุกท่าน
อาตมภาพมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมแสดงความคิดเห็นในที่นี้ ในตอนแรกที่อาจารย์สุลักษณ์นิมนต์ไปนั้น อาตมภาพรู้สึกว่าหัวข้อที่สัมมนากันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการสมัยใหม่ เช่น สังคมวิทยาเป็นต้น ซึ่งอาตมภาพไม่สู้มีความรู้ จึงแจ้งมาขอให้ท่านพิจารณาใหม่ว่า อาตมภาพไม่ค่อยถนัด ท่านก็บอกว่าขอให้ลองพูดหน่อย เพราะเป็นการพูดแบบที่เรียกว่ากันเอง ที่ท่านนิมนต์มาในวันนี้นั้น ต้องการให้พูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนาครั้งนี้ แต่ในสัมมนานั้น อาตมภาพไม่ได้ฟังมาตลอด ถ้ามุ่งไปในแง่เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านผู้ร่วมสัมมนาได้พูดกันไปแล้ว ว่าอาตมภาพมีความคิดอย่างไร ในเมื่อไม่ได้ร่วมฟังมาตั้งแต่ต้น ก็คงแสดงความคิดเห็นอะไรได้ไม่มากนัก เพราะมาได้ฟังก็ตอนท้ายๆ เมื่อกี้นิดหน่อยเท่านั้น นอกจากนั้นก็ได้ยินได้ฟังต่ออีกทอดหนึ่งในบางส่วน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความที่สัมมนากันมาแล้ว อาตมภาพก็รู้สึกว่าจะแสดงความคิดเห็นไม่สู้สะดวก เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงคิดว่าให้เป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สัมมนาก็แล้วกัน คือการสัมมนานั้นแจ้งชื่อเรื่องไว้แน่นอนว่า “เอกลักษณ์ของสังคมไทยในอนาคต”
เรื่องเอกลักษณ์ในแง่อนาคตนี้ รู้สึกว่าเรามีข้อที่จะต้องพิจารณากันหลายอย่าง ตั้งต้นแต่ว่า เราจะต้องกำหนดกันให้ถูกต้องว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยเราที่เป็นอยู่นี้คืออะไรกันแน่ ในอดีตเป็นมาอย่างไร สืบต่อมาถึงปัจจุบันอย่างไร และในอนาคตเอกลักษณ์ของเราจะอยู่ในฐานะอย่างไร จะอยู่ได้หรือไม่ นอกจากนั้น ถ้าอยู่ ควรจะอยู่ในสภาพเช่นไร เมื่อเรากำหนดสภาพที่ว่าควรจะเป็นอย่างนั้นได้แล้ว เรายังต้องคิดอีกว่า เมื่อเราต้องการสภาพเอกลักษณ์ของเราให้เป็นอย่างนั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง คือจะรักษาไว้ได้อย่างไร หรือส่งเสริมให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้อย่างไร ซึ่งแต่ละข้อ แต่ละจุดเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ยากทั้งนั้น แม้แต่หัวข้อแรกว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยเราเอง ที่เป็นอยู่และเป็นมาคืออะไร อาตมภาพว่าเพียงหัวข้อนี้ก็กำหนดกันยากอยู่แล้ว เท่าที่อาตมภาพมาได้ฟังเฉพาะตอนท้ายนี้ ก็พอจะจับความได้ว่า ท่านที่มาร่วมสัมมนาก็ยอมรับว่า ยากที่จะกำหนดเหมือนกันแต่ละท่านมีทัศนะไปแต่ละแง่ๆ เท่าที่ท่านนั้นๆ คิดพิจารณาเห็นมา เห็นด้านสังคมบ้าง ด้านการปกครองบ้าง ด้านเกี่ยวกับศาสนาบ้าง เป็นเรื่องแต่ละด้านๆ ไป บางทีแม้แต่ด้านเดียวกันก็ไม่แน่ใจนักว่าจะลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นเริ่มแต่จุดแรกที่เราจะกำหนดว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร ก็ไม่สู้ง่ายนัก
อาตมภาพเคยอ่านหนังสือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่สมัยโบราณ” เคยเห็นพระองค์สรุปไว้ว่า ลักษณะของคนชาติไทยมีอยู่ ๓ อย่าง คือความรักอิสรภาพอย่างหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสาอย่างหนึ่ง และความฉลาดในการประสานประโยชน์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชี่ยวชาญในทางประวัติศาสตร์ พระองค์ก็ทรงพิจารณาจากพงศาวดารไทย ทรงพบว่ามีลักษณะ ๓ ประการอย่างนี้ แต่สำหรับท่านที่มาพิจารณาภายหลังจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางท่านอาจมองเห็นแง่อื่นอีก เช่น ความรักสนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเข้ากันได้ หรือเป็นเพียงแง่หนึ่งของลักษณะที่พระองค์ท่านสรุปมาแล้วก็ได้
อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่าอันนี้เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นมาในอดีตทีนี้เราก็ต้องกำหนดว่า เอกลักษณ์เหล่านั้น ถ้าหากว่าเป็นเอกลักษณ์ในอดีต ปัจจุบันนี้เอกลักษณ์เหล่านี้ยังดำรงอยู่หรือไม่ และยังคงสภาพดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้เอกลักษณ์เหล่านั้นจะคงสภาพดีอยู่หรือไม่ก็ตาม เรายังพิจารณาต่อไปอีกว่า ควรจะให้คงสภาพอยู่หรือไม่ และถ้าหากเราต้องการให้มันคงอยู่ต่อไปในอนาคต เราจะมีวิธีการดำรงรักษาไว้อย่างไร และถ้าหากว่ามันได้เสื่อมหรือคลอนแคลนไปแล้ว เราจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้มันกลับเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ หรือถ้าหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เรามีวิธีการเปลี่ยนอย่างไร อันนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากทั้งนั้น อาตมภาพเห็นจะไม่ขอมาพิจารณาร่วมด้วยในส่วนรายละเอียด แม้แต่ข้อที่ว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยคืออะไร เป็นอย่างไร อยากจะพูดแต่เพียงในแง่ของพระพุทธศาสนาในวงกว้างๆ เรื่องเอกลักษณ์ของเรานี้จะเป็นอย่างไรก็ตามไม่พูดถึง พิจารณาแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะมีเอกลักษณ์ที่พึงปรารถนาในอนาคต
พิจารณาในแง่พุทธศาสนา อาตมภาพเห็นว่ามันต้องเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา คือต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา เริ่มต้นตั้งแต่เราต้องเข้าใจตัวเราเอง ที่ต่อเนื่องมาจากอดีต ว่าลักษณะของชาติเราสืบมาจากอดีตนั้นเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาโดยไม่ต้องเข้าข้างใครทั้งนั้น คือไม่พกเอาความคิดเห็น ความยึดมั่นของตนเป็นหลัก คิดแต่ในแง่ว่าอันใดควรอันใดเป็นประโยชน์ จะควรรักษาไว้ หรือควรจะส่งเสริมให้มีให้เป็นอย่างไร เป็นเรื่องของการที่เราจะต้องพิจารณาโดยใช้ปัญญาทั้งสิ้น อันนี้ว่าตามหลักพุทธศาสนาก็คือ เราจะต้องเข้าใจหลักอนัตตา
เรื่องหลักอนัตตานี้ อาตมภาพว่าปัจจุบันเราอาจจะมีความเข้าใจกันไม่ค่อยถูกนัก ที่จริงหลักอนัตตาเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาทีเดียว ถ้าหากเราเข้าใจหลักนี้ให้ถูกต้องแล้ว เราก็ได้ชื่อว่าเข้าใจพุทธศาสนาด้วย ถ้าเรายังไม่เข้าใจหรือใช้ไม่ถูก ก็ยังชื่อว่าไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา บางท่านมีความคิดเห็นว่าถ้าสอนว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตัวของเราอะไรอย่างนี้แล้ว เวลาเราจะใช้ของเช่นสิ่งสาธารณูปโภคหรือของที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เราก็ถือเป็นอนัตตาเสียหมด คิดว่าอันนี้ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอาใจใส่มัน เสร็จแล้วสิ่งของเหล่านั้นก็เสียหายไปถ้าคิดว่าอนัตตาเป็นไปในแง่อย่างนั้น อันนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงมาก ความจริงว่าตามหลักพุทธศาสนาแล้ว การรู้สึกอย่างนั้น ก็คือการยึดถือในอัตตาที่ร้ายแรงที่สุด หรือที่เสียหายที่สุด เพื่อความกระจ่าง เราอาจจะแบ่งการกระทำเกี่ยวกับเรื่องที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้เป็น ๓ แบบ คือแบบที่ ๑ การใช้โดยไม่ถือว่าไม่ใช่ของเรา เป็นของหลวง ใช้โดยไม่ต้องเอาใจใส่นี้แบบหนึ่ง แบบที่ ๒ ได้แก่ที่เรามักอบรมสั่งสอนกันบ่อยๆ ว่าให้ถือว่ามันเป็นของเรา ช่วยกันรักษาไว้ ส่วนแบบที่ ๓ เดี๋ยวค่อยกล่าวต่อไป
ทีนี้แบบที่ ๑ ที่บางท่านว่าเป็นแบบอนัตตานั้น ที่จริงเป็นแบบที่ยึดมั่นถือมั่นอัตตาอย่างร้ายแรงที่สุด การที่เราบอกว่าไม่ใช่ของเรานั้น ก็คือการที่เรายึดมั่นในตัวเราอย่างเต็มที่ เพราะมีการยึดมั่นในเราจึงมีผู้อื่น เมื่อมีตัวตนของเราก็มีตัวตนของผู้อื่นขึ้น มีการแบ่งแยก เราปฏิเสธตัวตนของผู้อื่นเสีย แล้วยึดมั่นสิ่งที่เป็นตัวตนของเราไว้อย่างเต็มที่ จึงเห็นไปว่าสิ่งใดที่ไม่สนองความต้องการ ไม่เป็นประโยชน์ที่เราจะได้ เราก็ไม่เอาด้วย เราก็ปัดไปเสียทั้งหมด เท่ากับบอกว่า อันไหนเป็นของตัวเรา ไม่ใช่ของหลวง เราจึงจะเอาใจใส่ อันนี้ถือว่าเป็นการยึดมั่นที่ร้ายแรงที่สุด เป็นความเห็นแก่ตัวที่จะต้องกำจัดในทางพุทธศาสนา
ขั้นที่ ๒ ที่ยึดถือว่าเป็นของเราร่วมกัน อันนี้นับว่าเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ลดการยึดมั่นในอัตตาลงไป คือทำให้ความรู้สึกในอัตตาหรือตัวตนนั้นมันน้อยลงไป โดยขยายขอบเขตกว้างขวางเป็นการรู้สึกร่วมกันกับผู้อื่น อัตตาของตัวเองนั้นเกือบจะไม่มีแล้ว เป็นอันร่วมกันทั้งหมด เป็นการแผ่ไปในวงกว้าง แต่อันนี้ในทางพุทธศาสนายังไม่ถือเป็นวิธีแห่งปัญญา ไม่ใช่ถึงขั้นรู้หลักอนัตตาที่ถูกต้อง
ถ้าเราจะใช้ปัญญากันให้เต็มที่ ยกตัวอย่างที่ว่ามาแล้วในกรณีจะใช้สิ่งของสาธารณะเหล่านั้น เราจะพิจารณาโดยเป็นกลางได้หรือไม่ ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ทำขึ้นเพื่อประโยชน์อะไร ควรจะใช้อย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แพร่หลายกว้างขวางอยู่ได้นาน จะได้ใช้กันต่อๆ ไป ถ้าหากเราพิจารณาเป็นกลางๆ อย่างนี้โดยไม่ต้องยึดถือตัวตน อันนี้จะเข้าหลักทางพุทธศาสนา แต่หมายถึงว่าเราจะต้องใช้ปัญญาอย่างมาก คนจะต้องดำรงชีวิตด้วยปัญญาจึงจะอยู่ได้ ข้อที่จะต้องพิจารณาก็คือ ถ้าหากว่าเราต้องการสังคมที่มีการใช้ปัญญาอย่างสูงสุดแล้ว เราควรจะไปกันให้ถึงขั้นนี้หรือไม่ ขั้นแรกเราอาจจะยังต้องสอนในแบบที่ว่านี้เป็นสิ่งของร่วมกันเป็นของเราด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นการใจกว้างอยู่ แต่ก็ยังไม่พ้นจากอัตตา ต่อเมื่อใดได้ใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ เห็นตัวเหตุตัวผลแท้ๆ เมื่อนั้นจึงเป็นจึงจะเป็นไปตามหลักอนัตตาแท้ๆ และทางพระพุทธศาสนาถือว่าแบบนี้เป็นที่ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ เพราะว่าเป็นอิสระ เกิดจากความเข้าใจถูกต้อง ไม่ต้องขึ้นต่อการชักจูงภายนอก ถ้ายังต้องมีการอาศัยเครื่องชักจูงภายนอก จะให้ยึดว่าเราเป็นเราหรือเป็นอะไรก็ตาม การยึดถืออย่างนั้น ยังถือว่าเป็นไปโดยต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ยังไม่ปลอดภัยแท้จริง ถ้าหากว่าเครื่องชักจูงหรือปัจจัยอันนั้นมันขาดหายไป หรือไม่เป็นที่ต้องการขึ้นมาเมื่อไร ก็เลิกล้มเป็นอันพลาดสูญเสียประโยชน์ไป เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงถือว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วอันนี้แหละเข้าในแนวแห่งโลกุตระ
ในการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ หากเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง พิจารณาโดยไม่เอาตัวตนเข้าจับ ทำโดยประการนี้ก็เข้าแนวแห่งโลกุตระ บางท่านอาจคิดว่าเป็นการดึงเอาโลกุตระลงมาให้ต่ำ ที่จริงโลกุตระก็เป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่ในโลก แต่มีความหมายในแง่ที่ว่าเป็นอิสระจากโลก ไม่ติดโลก คำว่าโลกุตระนั้นแสดงลักษณะเด่น ๒ ประการคือ (๑) แสดงลักษณะของปัญญาความรู้ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความจริง ประการที่ (๒) เป็นลักษณะของความเป็นอิสระ ความที่ไม่ผูกพันไม่ยึดติด เช่น อย่างประยุกต์ในกรณีเมื่อกี้ว่าจะใช้สิ่งของ ถ้าเราเข้าใจตามความเป็นจริง รู้ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์แล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของปัญญา เมื่อเกิดจากปัญญาแล้วก็เป็นเรื่องของความเป็นอิสระ เพราะว่าไม่ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก อันนี้เป็นแนวทางแห่งโลกุตระ ที่จริงนั้นในทางพุทธศาสนาต้องการให้คนที่อยู่ในโลกนี้อยู่ได้อย่างไม่ติดโลก
แม้ในคณะสงฆ์เอง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เมื่อพระสงฆ์ได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ได้บรรลุโลกุตรธรรมแล้ว ท่านกลับมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น โดยที่ความเห็นแก่ตัวจะหมดไป เราจะเห็นว่า คณะสงฆ์ในความหมายของพระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้ ก็เพราะว่าพระสงฆ์มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม บทบัญญัติในทางพระวินัยของคณะสงฆ์นั้น ถ้าเราศึกษาก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนที่จะต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ อยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมทั้งนั้น ถ้าเมื่อใดสมาชิกในคณะสงฆ์ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คณะสงฆ์ก็เสื่อม อันนี้พระพุทธเจ้าทรงมุ่งอย่างนี้
โลกุตรธรรมนั้นทำให้คนตัดความผูกพันยึดติดในเรื่องตัวตนให้น้อยลงให้หมดไป แต่จะกระจายความรู้สึกนั้นไป ในแง่ของการเข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์ที่แผ่กว้าง ที่จะช่วยมีส่วนรับผิดชอบต่อส่วนรวมให้มากขึ้น อันนี้ต้องถือว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งจะให้ใช้โลกุตรธรรมเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตได้ทั่วไป มิใช่ต้องการให้ไปยึดว่า เมื่อเราจะไปโลกุตระแล้วจะต้องไม่เกี่ยวข้องอะไรในโลกนี้ ที่จริงพระอริยบุคคลตั้งแต่ชั้นโสดาบันไปจนถึงชั้นอนาคามี มีมากมายเหลือเกินที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านเหล่านี้ก็ล้วนแต่บรรลุโลกุตรธรรมแล้วทั้งนั้น เมื่อบรรลุแล้วก็สามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้มากขึ้น เพราะว่าหมดความเห็นแก่ตัวไป อันนี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ
เรื่องของเอกลักษณ์นี้ก็เหมือนกัน อาตมภาพเห็นว่าเราจะต้องเข้าใจตามหลักอนัตตา คือพิจารณาตามแง่ของมัน ที่มันเป็นโดยสภาพของมันเอง ไม่ใช่เอาตัวเราเข้าจับ การที่เอาตัวเราเข้าจับก็คือการที่เรายึดมั่นอะไรสักอย่างหนึ่งว่าเป็นของตัวเรา โดยผูกมัดขึ้นมาด้วยวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง ชอบใจถูกใจสนองความต้องการส่วนตัวอะไรอย่างหนึ่ง ทีนี้ความยึดมั่นเหล่านั้น ย่อมแตกต่างกันไป และขัดแย้งซึ่งกันและกัน เมื่อว่าตามหลักอนัตตา ตัวของเอกลักษณ์เอง เราก็เห็นได้ว่า มันไม่มีตัวตนของมันเอง ที่ว่าไม่มีตัวตนของมันเอง ก็เพราะมันประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มันมีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น การที่ว่ามันไม่มีตัวตนนั่นแหละมันจึงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากว่าสิ่งทั้งหลายมันมีตัวตนของมันเองแล้ว มันแน่นอนแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้อย่างไร สิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเอง มันเป็นของปรุงแต่งขึ้นต่อเหตุปัจจัยที่จะให้เป็น เพราะฉะนั้นมันจึงแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงปรุงแต่งได้ เจริญได้ เสื่อมได้ แล้วแต่เราจะสร้างเหตุปัจจัยให้มันหรือปล่อยให้เหตุปัจจัยอะไรเกิดขึ้นแก่มัน มันไม่มีตัวตนของมันแท้ๆ ถ้าเราต้องการให้มันปรากฏรูปลักษณะในทางที่เราปรารถนาอย่างไร เราก็สร้างเหตุปัจจัยขึ้นมาให้มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ถือว่าเป็นไปตามหลักอนัตตา หรือการนำความรู้ในหลักอนัตตามาใช้ประโยชน์
ทีนี้ที่ต้องระลึกไว้อย่างสำคัญก็คือ ความเป็นอนัตตาในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สำหรับมายึดมั่น คือไม่ใช่มายึดมั่นว่าอันนี้ไม่ใช่ตัวตนของเราอะไรอย่างนั้น อนัตตาเป็นเรื่องสำหรับรู้ คือ รู้ว่าเรื่องของมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ คือจะปฏิบัติกับมันอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์กับมันอย่างไรต่อไป เช่นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันไม่มีตัวตนของมันเอง มันประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น เพราะอาศัยเหตุปัจจัย มันจึงเปลี่ยนแปลงได้แก้ไขได้ให้มันเป็นไปต่างๆ ได้ เมื่อรู้ว่ามันจะเป็นไปได้ก็เพราะจะต้องทำเหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็หาเหตุปัจจัยของมันว่าจะต้องทำเหตุปัจจัยอะไร มันจึงจะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเข้าใจหลักอนัตตา และรู้จักถือเอาประโยชน์จากหลักอนัตตา
อีกประการหนึ่ง อนัตตาสอนให้เราเตือนใจตัวไว้ว่า อันสิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเอง ฉะนั้นมันอาจจะสูญสลายตัวที่เป็นอยู่อย่างนั้นไปเมื่อไรก็ได้ หากว่าเราต้องการให้รูปลักษณะนั้นปรากฏอยู่ เราก็ต้องหาทางสร้างเหตุปัจจัยอุดหนุนให้มันคงรูปอย่างนั้นอยู่ เราจะประมาทมิได้ มันเป็นเรื่องของหลักอนัตตาทั้งนั้น เป็นเรื่องของการรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายแล้วนำมาใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อาตมภาพคิดว่า การที่เราจะรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้ได้หรือจะดำรงส่งเสริมให้มีขึ้นอย่างไรนั้น เรื่องแรกเราจะต้องเข้าใจไตรลักษณ์ก่อน คือเอกลักษณ์จะอยู่ได้ด้วยเข้าใจไตรลักษณ์แล้วก็นำความรู้ในหลักไตรลักษณ์นั้นมาใช้ด้วยปัญญาของเรา เราต้องรู้ว่าสิ่งหลายเป็นอนิจจัง คือมันไม่คงที่ เมื่อมันไม่คงที่มันก็แปรปรากฏสภาพออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเจริญก็ได้ อาจจะเสื่อมก็ได้ ทีนี้เราต้องการให้มันเจริญ มันจะเป็นไปได้อย่างไร
ความเจริญหรือเสื่อมนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการให้มันเป็นไปในทางที่เราต้องการ เราก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยให้เป็นไปในทางที่เราต้องการนั้น สิ่งทั้งหลายเป็นทุกขัง เพราะมีสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดและด้วยความสลายตัว เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันดำรงอยู่ ดำเนินไปพร้อมกับที่ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดสลายอย่างนี้ มีปัจจัยต่างๆ คอยขัดแย้งอยู่ เราก็ต้องพยายามระมัดระวังไม่ประมาทอยู่เสมอ และในขั้นสุดท้าย เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเองที่ต่างหากจากส่วนประกอบ ฉะนั้นเราจะต้องการอย่างไร ให้มันปรากฏ ลักษณะรูปร่างอย่างไร เราก็ต้องพยายามทำปัจจัยปรุงแต่งมันให้เป็นอย่างนั้น
ในเรื่องเอกลักษณ์นี้ก็เหมือนกัน เราก็ดูสภาวะของมันว่าเราต้องการให้มันอยู่ในสภาพอย่างไร ในกรณีนี้เราคิดในแง่ที่เกี่ยวเนื่องกับคนไทยว่า เอกลักษณ์ของชาติไทยเป็นอย่างไร และเอกลักษณ์นั้นต่อไปถ้าจะให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยดีที่สุด จะต้องมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร เราก็พิจารณาโดยไม่ต้องเอาตัวตนเข้าไปจับเอาความถูกผิดประโยชน์มิใช่ประโยชน์ขึ้นมาจับเป็นส่วนรวม เมื่อเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างไรแล้ว เราก็สร้างเหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการใช้วิธีการแห่งปัญญา คือเราจะต้องไม่เอาตัวตนที่เรายึดมั่นถือมั่นขึ้นไปจับ คือไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยโมหะ ที่ว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยโมหะนั้นก็คือ การที่ว่าเราเอาความยึดมั่นของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบ้าง หรือจะโดยเหตุแฝงซ่อนอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง มาจับมันมาเคลือบมัน แล้วมันก็จะปรากฏขึ้นในรูปที่เรามองอย่างนั้น
ฉะนั้นเรื่องของเอกลักษณ์อาตมภาพว่า ถ้าเราพิจารณาตามสภาพที่มันเป็นจริง แล้วจัดการปรุงแต่งแก้ไขมันโดยวิถีทางแห่งปัญญาแล้วมันก็จะเป็นไปในแนวที่เราต้องการ เสร็จแล้วจึงจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้ ส่วนที่ว่าเอกลักษณ์คืออะไร เป็นอย่างนั้น อาตมภาพไม่ขอร่วมพิจารณาในโอกาสนี้ เพียงแต่กล่าวว่าถ้าหากเราเข้าใจวิธีการอย่างนี้แล้ว เอกลักษณ์อันใดก็ตามอยู่ได้ทั้งนั้น เราสามารถดำรงรักษาปรับปรุงส่งเสริมให้มันมีขึ้นได้อย่างนั้น
เป็นอันว่าอาตมภาพขอย้ำในเรื่องที่ว่า เราจะต้องเข้าใจหลักความจริงในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย แม้แต่เอกลักษณ์ของชาติเราเอง เราก็ต้องไม่คิดในแง่ที่จับความยึดมั่นความต้องการของเราเป็นเกณฑ์ เราต้องคิดว่ามันจะอยู่ดีต่อไปเป็นประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร แล้วก็จับอยู่ที่แง่นั้น พยายามมองตามสภาวะของมันจริงๆ พยายามคิดหาเหตุปัจจัยที่จะสร้างให้มันเป็นอย่างนั้น มันจึงจะเป็นไปได้ตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราจะเอาความยึดมั่นของตัวเราของฝ่ายหนึ่งเข้าจับแล้วก็เกิดความไม่มั่นคงขึ้น
อย่างไรก็ดี ถ้าว่าถึงปุถุชนแล้วความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับตัวเองหรือความคิดเห็นของตัวเองนั้นตัดได้ยาก ความยึดติดมันก็จะต้องมีเข้าไป ถึงอย่างไรก็ตามในเมื่อเรายึดหลักกลางที่ว่า ถือเอาตามสภาพที่เป็นจริงของมันแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นของเรามันก็คลายลง อย่างน้อยมันก็จะแสดงผลออกมาไม่ได้เต็มที่ อันนี้เป็นทัศนะของอาตมภาพซึ่งเห็นว่า สิ่งทั้งหลายอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ทั้งนั้น แม้แต่เอกลักษณ์ของเราเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ แล้วมันก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และก็เป็นอนัตตาด้วย ดังนั้นเมื่อเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันเองแล้ว ถ้าเราไม่ระวัง ประมาท มันก็สูญสลายตัวไปได้ ถ้าเราต้องการให้มันคงอยู่ในสภาพอย่างไร เราก็ต้องพยายามสร้างเหตุปัจจัยให้มันปรากฏตัวออกมาในรูปลักษณะอย่างนั้น
อีกอย่างหนึ่งที่อาตมภาพเห็นว่าสำคัญ คือนอกจากเราจะพิจารณาในแง่ของเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนรวมของชาติไทยแล้ว เราจะต้องพิจารณาเอกลักษณ์ของเราแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ว่าพัฒนาแต่เอกลักษณ์ส่วนรวมไป ผลที่สุดตัวคนแต่ละคนเองชีวิตหมดความหมาย อันนั้นก็จะกลายเป็นผลเสียขึ้นก็ได้ ทางพระพุทธศาสนานั้นย้ำความสำคัญให้พระสงฆ์มีการฝึกอบรมตนเอง อบรมชีวิตในทางจิตใจเตรียมไว้ให้พร้อม ที่จะมีปัญญาอยู่ได้ในสภาพสังคมอย่างใดๆ ก็ตามที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้น
เพราะฉะนั้น นอกจากเราจะคำนึงถึงเอกลักษณ์ส่วนรวมของชาติไทยในอนาคตแล้ว เราจะต้องให้เกิดความกลมกลืนภายในขึ้นด้วย คือเอกลักษณ์ที่ดีที่แท้จริงของชาติ จะต้องเป็นผลรวมของเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่เขาทำให้มันมีขึ้นแก่ตนด้วยความพร้อมของเขาเอง เอกลักษณ์ของส่วนรวม ที่แต่ละคนมีชีวิตที่มีความหมาย ด้วยความพร้อมของเขาเอง จึงจะเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่า ควรสร้างขึ้น
ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าสังคมก้าวหน้าไปทุกทีๆ โลกนั้นกว้างขวางยิ่งขึ้น คนไปไหนมาไหนได้มากมายกว้างขวาง ได้มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันเราก็รู้สึกว่าโลกสำหรับบุคคลแต่ละคนนั้นมันแคบลง ตัวคนแต่ละคนนั้นถูกจำกัดให้มีความรู้สึกคับแคบลงไปทุกที แทนที่ว่าสังคมกว้างขวางขึ้น ไปไหนได้ไกลขึ้น ได้สัมพันธ์กับคนมากขึ้น จะได้เกิดความรู้สึกกว้างขวางขึ้นกลับตรงข้าม คือ ในบุคคลแต่ละคนนั้น เรากลับแคบลงไปทุกทีๆ แล้วก็ทำให้เกิดความว้าวุ่นขึ้นมาทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ทางพระพุทธศาสนาจึงว่า เราจะละทิ้งชีวิตภายในของบุคคลแต่ละคนเสียมิได้ ในขณะที่เราพยายามเสริมสร้างหรือรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนรวมของชาตินั้น ซึ่งพร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในเอกลักษณ์เช่นนั้น เราก็ต้องพยายามสร้างให้เกิดมีขึ้นด้วย
อาตมภาพเห็นว่าการฝึกฝนอบรมในทางจิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธศาสนาจึงให้วิถีแห่งปัญญาไว้ คือการที่บุคคลแต่ละคนรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีจิตใจที่เป็นอิสระ ถอนความยึดมั่นในเรื่องตัวตนได้ นี้จะเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความยึดมั่นในทิฐิอันจะเป็นเหตุให้เกิดความวิวาทอะไรต่างๆ ขึ้น เมื่อรู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีชีวิตภายในที่อยู่ด้วยปัญญาแล้ว ก็จะสามารถเข้าอยู่ในสภาพสังคมชนิดใดก็ตามที่เราตกลงจะสร้างขึ้นได้ คือจะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้องแท้จริงแก่บุคคลแต่ละคน ให้พร้อมที่จะอยู่ในสภาพสังคมที่เราจะสร้างขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำไปพร้อมกันทั้งสองอย่างคือทั้งในแง่ของส่วนรวม และในแง่ของบุคคลแต่ละคน
ถ้าว่าถึงเกี่ยวกับการสัมมนานี้เอง แม้ว่าอาตมภาพจะไม่ได้มาร่วมฟังการสัมมนาแต่ต้น แต่ก็ได้รับทราบต่อจากท่านผู้อื่นบ้าง จึงพอจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนานี้ไว้บ้าง เมื่อว่าในแง่ของการริเริ่มแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการทำด้วยกุศลเจตนามุ่งประโยชน์เพื่อส่วนรวม กิจกรรมที่มุ่งประโยชน์เพื่อส่วนรวมเช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำที่ปลุกหรือว่าก่อให้เกิดความขวนขวายในทางที่ดีงามขึ้น อันนี้เป็นข้อที่ควรอนุโมทนา
สำหรับเรื่องของท่านที่บรรยายมาแล้ว เช่นอาตมภาพได้อ่านจากเอกสารของท่านอาจารย์ ม.ล.บุญเหลือในวันแรก ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ อาตมภาพคิดว่า ถ้าหากคนรุ่นเก่าจะเขียนเรื่องที่ท่านได้ทราบในกาลก่อนๆ ไว้บ้าง ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง คนรุ่นหลังอย่างอาตมภาพนี้ก็สนใจอยากจะรู้เรื่องเก่าๆ อย่างนั้นไว้ เพราะสิ่งเหล่านั้น ต่อไปเราจะหาไม่ได้ คนที่เกิดก่อนเล่าเรื่องที่ตนพบมาเอาไว้ คนรุ่นหลังก็จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป แม้แต่การที่เราจะกำหนดว่า เอกลักษณ์ของเราคืออะไร เราก็ต้องพิจารณาส่วนอดีตด้วย แต่บางทีเราก็ค้นหากันไม่ค่อยได้ ว่าอดีตของเราเป็นมาอย่างไร ทีนี้ ถ้าท่านที่อยู่ในรุ่นเก่ากว่า จะเขียนเล่าเรื่องที่ท่านได้เคยเห็นเคยพบเท่าที่ผ่านมา ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังๆ ต่อไป
การสัมมนาเรื่องเอกลักษณ์ของชาติในอนาคต เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับกาลทั้งสาม เพราะการเสริมสร้างรักษาเอกลักษณ์ของชาติ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีมาในอดีต ซึ่งเป็นมาถึงปัจจุบัน และจะดำเนินต่อไปในอนาคต การพูดถึงเรื่องนี้ น่าจะเป็นการแสดงว่าท่านทั้งหลายที่มาร่วมสัมมนาได้มีความเห็นชอบร่วมกันว่า เราจะดำเนินไปสู่อนาคตโดยก้าวไปจากฐานที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน คือ จากฐานของเราเอง ด้วยกำลังและย่างเท้าของตน ซึ่งเป็นวิธีที่มั่นคงแน่นอนและน่าภูมิใจที่สุด ส่วนในอนาคตเราจะนำตัวเราไปอย่างไร จะตกเติมเสริมแต่งเมื่อประสบสิ่งใหม่อย่างไร ก็เริ่มก่อออกไปจากฐานเดิมอันนี้
อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏสภาพให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยสืบเนื่องมาแต่อดีตนั้น เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยท่าที และวิธีการอย่างเดียวกันทั้งหมด หาได้ไม่ เพราะสิ่งเหล่านั้น จะเป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี แม้ที่เป็นสถาบันย่อมมีเบื้องหลังต่างๆ กัน บางอย่างรอดตัวอยู่ถึงปัจจุบันโดยรักษาชีวิตชีวา รักษาคุณค่าและความหมายเดิมของมันไว้ได้ เปลี่ยนแปลงแต่รูปภายนอกที่ถูกสิ่งอื่นๆ กระทบกระเทือน บางอย่างก็พอกพูนรูปร่างมีสิ่งใหม่ๆ เข้าผสมกลายรูปไป บางอย่างก็คงรูปอยู่ได้อย่างเดิม ที่ถึงกับแตกหน่อกิ่งก้านขยายกว้างขวางมีชีวิตชีวา คุณค่า ความหมายต่างๆ เจริญเติบโตผิดแปลกออกไปก็มี ในเวลาเดียวกันก็มีสิ่งหลายอย่างที่คงเหลืออยู่ในสภาพที่เป็นเพียงซากของอดีต ซากของอดีตนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาธรรมดาของสิ่งที่เป็นซากนั้น ชีวิตชีวา คุณค่า และความหมายเดิมของมัน ย่อมสูญสิ้นหมดไปแล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่จึงอาจเป็นเพียงสภาพที่เกะกะ กีดขวาง ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ หรือบางทีอาจจะมีความหมายอย่างอื่นเกิดขึ้นมาแทน และความหมายนี้อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้
ที่กล่าวนี้เป็นเครื่องเตือนสติว่า ถ้าจะมองหาคุณค่า และความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นแล้ว จะต้องไม่หลงผิดฉวยเอาลักษณะอาการต่างๆ ที่มองเห็นหรือปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของมัน แต่จะต้องศึกษาสืบสวนค้นคว้าให้ลึกซึ้งลงไปในอดีตจริงๆ ข้อนี้ขอย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะดูเหมือนปัจจุบัน เรามักจะเข้าใจผิวเผินกันอย่างนี้มาก
นอกจากนี้เมื่อรู้เข้าใจแล้ว ยังจะต้องพิจารณาตัดสินอีกว่า จะพอใจในความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในซากนั้น หรือว่าจะดึงเอาคุณค่าและความหมายเดิมกลับมาใส่คืนให้แก่ซากนั้นอีก หรือจะว่าเอาไว้แต่คุณค่าและความหมายเดิม มาสร้างร่างสวมให้ใหม่ หรือจะรักษาซากเอาไว้ มาสร้างคุณค่าและความหมายใส่ลงไปใหม่ ตลอดถึงว่าหรือจะทำลายซากนั้นเสียเลย นับเป็นข้อควรพิจารณาทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตโดยทั่วไป และเรื่องของเอกลักษณ์ที่สัมมนากันมา
นี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งอาตมภาพคิดว่า ยังไม่มีอะไรที่จะแสดงความคิดเห็นเป็นพิเศษจากนี้ แต่ก็อยากจะขอยกพุทธภาษิตขึ้นมาบทหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าจะใช้กับการที่เราจะมีเอกลักษณ์อะไรก็ตามได้ทุกอย่าง คือพระพุทธเจ้าตรัสว่า ปญฺญาชีวึ ชีวิตมาหุเสฎฐํ แปลว่า ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุด อันนี้เป็นชีวิตที่ต้องการในทางพุทธศาสนา คือ ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ในเมื่อชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาประเสริฐ เราก็ต้องหาทางสร้างสติปัญญาให้เกิดมีขึ้น ปัญญานั้นก็คือความรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้เหตุรู้ผล ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วคนจะมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถทำสิ่งทั้งหลายได้ในแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยกันคิดช่วยกันทำได้ ไม่ต้องคอยบงการให้ทำ หรือว่าจะต้องคอยชักจูงให้ทำกันอยู่เสมอ และเราก็จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาด้วย
ว่าโดยสรุป หลักและวิธีในเรื่องนี้ก็คือพระพุทธศาสนาถือว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาก็ต้องรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลาย รู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายก็คือ รู้หลักไตรลักษณ์ เราจะให้เอกลักษณ์ของเราอยู่ได้และเป็นไปอย่างไรนั้น เราควรเข้าใจไตรลักษณ์ให้ดี และนำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นทัศนะของอาตมภาพในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นพุทธศาสนาในความเห็นของอาตมภาพก็ได้ อาตมภาพขอแสดงความคิดเห็นไว้เพียงเท่านี้
No Comments
Comments are closed.