- การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม
- เคารพ
- บูชา
- สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี – ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
- “อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม” ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม
- สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
- คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม
- คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต
- สันโดษ เตรียมความพร้อม ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว
- แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
- ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ
- ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา
- ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง
- พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน
- เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก
- ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า
- คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้
- บูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม
แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา
ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด
สันโดษที่ถูกต้อง เป็นสันโดษของนักทำงาน และสันโดษเพื่อทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้าสันโดษไม่มาต่อด้วยความเพียรในการทำกิจการงานหน้าที่ ก็จะทำให้เราหยุดเฉย ลงนอน กลายเป็นเกียจคร้านไปเลย
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ สันโดษจึงเป็นธรรมที่ต้องระวัง เพราะถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจความมุ่งหมายว่าพระพุทธเจ้าสอนสันโดษไว้เพื่ออะไร ก็จะกลายเป็นสันโดษเพื่อความสุข เพราะคนสันโดษสุขง่ายอยู่แล้ว พอสุขแล้วก็สบาย ไม่มีอะไรจะขวนขวาย ก็เลยเกียจคร้าน นั่นคืออันตราย
แต่สันโดษอย่างของอาจารย์ป๋วยนี่แน่ใจได้ เป็นสันโดษของนักทำงาน ซึ่งในที่นี้ต้องการเน้นใน ๒ ด้านก่อน คือจะไม่เน้นในแง่ความสุขส่วนตัวของท่าน ในแง่นั้นท่านก็สุขด้วยวัตถุหรือทรัพย์สินสิ่งของที่ท่านมีอยู่ ท่านมีเท่าไรเท่าที่พอสมควรแล้ว ท่านก็สุขได้ อันนี้เป็นด้านส่วนตัว แต่แง่สำคัญที่ไปสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่น ก็คือ
๑. (สันโดษทำให้) รักษาความสุจริตได้ เพราะฉะนั้น เมื่ออาจารย์ป๋วยสันโดษ ก็เป็นหลักประกันให้ท่านดำรงความซื่อสัตย์สุจริตได้ด้วย เพราะท่านสันโดษ ท่านจึงไม่รับนอกเหนือหรือเกินจากส่วนของท่าน และไม่เอาส่วนที่ไม่ถูกต้องตามธรรม หรือส่วนที่ไม่ใช่สิทธิของท่าน แม้แต่ใครจะให้ก็บอกว่าฉันไม่เอาหรอก ถึงตอนนี้ ก็ถึงขั้นเป็นความ “มักน้อย” เลยทีเดียว
พูดสั้นๆ ว่า เพราะท่านสันโดษ ท่านจึงรักษาสุจริตไว้ได้ และในทางกลับกัน เพราะท่านซื่อสัตย์สุจริต ท่านจึงสันโดษ
๒. (สันโดษทำให้) อุทิศตัวให้แก่การทำงาน เรียกว่าสันโดษ เพื่อทำงาน หรือสันโดษของนักทำงาน แทนที่จะเอาเวลาไปล้างผลาญกับการหาความสุขส่วนตัว ก็เอาเวลานั้นมาใช้ในการทำงาน ก็เลยทำงานได้เต็มที่
คนสันโดษนั้น ทำงานได้เต็มที่ เพราะไม่ไปวุ่นวายนอกงานนอกหน้าที่ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า สงวนหรือออมเวลาพร้อมทั้งงานและความคิดไว้ได้หมด แล้วเอามาทุ่มเทอุทิศให้กับการทำงานหรือการสร้างสรรค์อย่างเดียว
ธรรมะที่พูดมาแค่นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนา อย่างที่อาจารย์ป๋วยท่านทำในข้อสันโดษนี้ ซึ่งทำให้มีความสุจริตด้วย พร้อมกับเป็นนักทำงาน ถ้าคนไทยปฏิบัติได้อย่างนี้ ประเทศชาติก็จะพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย สันโดษแบบนี้ไม่ขัดขวางการพัฒนาประเทศแน่นอน แต่หนุนการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง
บางทีเราเถียงกันไม่เข้าเรื่อง สมัยหนึ่งหลายคนเถียงกันว่า สันโดษขัดขวางการพัฒนาหรือไม่ ก็เถียงกันไป บางทีก็ถึงกับด่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ฝ่ายหนึ่งบอกว่า สันโดษขัดขวางการพัฒนาประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า นี่ มาติเตียนธรรมของพระพุทธเจ้า ตาคนนี้! เป็นคนนอกศาสนาหรือไร? ก็ว่ากันไป แต่ที่จริงอาจจะโกรธกันไปไม่เข้าเรื่อง
ทางพระท่านให้ตอบแบบวิภัชวาท คือต้องแยกแยะตอบ หรือตอบแบบจำแนก คือ บอกว่า ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ใช่ สันโดษอาจจะกลายเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาได้ เพราะเป็นสันโดษเลื่อนลอย ซึ่งไปตันที่ความสุข แล้วก็ทำให้เฉื่อยชาเกียจคร้าน แต่ถ้าสันโดษถูกต้อง จะสัมพันธ์กับการรักษาความสุจริตและช่วยให้เราอุทิศตัวแก่การทำหน้าที่การงานได้อย่างเต็มที่ ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นเครื่องหนุนการพัฒนา และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จะพัฒนา
อย่างนี้เรียกว่าตอบแบบวิภัชวาท หรือตอบแบบแยกแยะ ไม่ใช่ตอบผางไปอย่างเดียว ผิดไปเลย หรือถูกครึ่งเดียว บางครั้งก็ทะเลาะกันมากมาย ก็ยุ่งกันใหญ่
No Comments
Comments are closed.