ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา – ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้ ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ

7 พฤศจิกายน 2542
เป็นตอนที่ 11 จาก 18 ตอนของ

ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา

ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้
ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของธรรมที่จะโยงเข้ากับการพัฒนา ตรงนี้แหละ คือประเด็นที่เจ้าภาพนิมนต์ไว้ โดยกำหนดให้พูดในเรื่อง ธรรมกับการพัฒนา ดูเหมือนชื่อหัวข้อเรื่องจะเป็นว่า “ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา” หรือว่าอาตมาจำผิดไปเอง ชื่อเรื่องที่ตกลงกันไว้อาจจะเป็นว่า “การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” ก็คล้ายกัน จะเอาชื่อไหนก็ได้ ใช้ได้ทั้งคู่

“ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา” และ “การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” นั้นเป็นของแน่นอน เช่นที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า การพัฒนาที่จะดีย่อมหนีไม่พ้นธรรม เช่น ต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต ต้องมีความเพียรพยายามในการทำงาน ต้องมีความสันโดษอย่างถูกต้อง ที่เอามาใช้เป็นหลักประกันความสุจริต และหนุนการทำความเพียร ตามหลักการหวังผลจากการกระทำ ถ้าคนไทยได้แค่นี้ประเทศชาติก็พัฒนามากแล้ว

นอกจากนี้ คนที่ไปทำงานพัฒนานั้น ต้องมีความเสียสละด้วย วัตถุประสงค์ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มีข้อหนึ่งที่เน้นความเสียสละ แต่ความเสียสละนั้น ถ้าจิตใจเราไม่พร้อม ก็ทำได้ยาก จิตใจของเราต้องพร้อมด้วย อย่างน้อยใจต้องยอมรับ ถ้าใจเราไม่ยอมรับ ก็จะทำอย่างฝืน พูดง่ายๆ ก็คือฝืนความต้องการ

ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผล เราต้องมีความต้องการเสียก่อน เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงสอนให้ “เปลี่ยน” ความต้องการเสียก่อน จะเรียกว่าพัฒนาความต้องการก็ได้ คือปรับเปลี่ยนความต้องการให้ถูกต้องดีงามเป็นไปด้วยปัญญามากขึ้น

หลักสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนาถือว่า ความต้องการของคนนั้น “เปลี่ยน” ได้ “พัฒนา” ได้ เราเคยต้องการอย่างนี้ แต่ความต้องการนั้นเป็นโทษ หรือขัดขวางจุดหมายที่ดี เราก็ปรับเปลี่ยนมันเสีย ถ้าเราปรับเปลี่ยนความต้องการให้ตรงกับสิ่งที่เป็นจุดหมาย เราเกิดความต้องการใหม่ สิ่งที่มุ่งหมายก็จะสำเร็จ

เหมือนอย่างเด็กจะกินอาหาร ถ้าเด็กต้องการกินอาหารอร่อย เมื่อแกได้อาหารที่ไม่อร่อย แกกินโดยฝืนความต้องการ แกก็ทุกข์มาก ถ้าเราจะพัฒนาเด็ก เราก็ช่วยให้แกปรับเปลี่ยนความต้องการ โดยให้ปัญญาแก

วิธีเปลี่ยนความต้องการของคนที่จะให้เกิดการพัฒนานั้น ต้องเปลี่ยนด้วยการให้ปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ เปลี่ยนทิฐิ เปลี่ยนแนวคิดความเห็น

ตอนแรกเด็กมีความเห็นยึดไว้โดยไม่รู้ตัวว่า การกินอาหารนั้นเพื่ออร่อย ต่อมาเราเริ่มถามให้เด็กใช้โยนิโสมนสิการว่า เรากินอาหารเพื่ออะไร ให้เด็กหัดตอบ เด็กคิดไปคิดมา ก็เริ่มตอบได้ว่า ที่จริงกินอาหารไม่ใช่เพื่อแค่เอร็ดอร่อย แต่การกินอาหารมีวัตถุประสงค์ที่เป็นของจริงแท้ คือเพื่อสุขภาพ หรือที่เดี๋ยวนี้ใช้คำโก้ว่า เพื่อคุณภาพชีวิต

การกินเพื่อคุณภาพชีวิตนี้ อาหารอร่อยยังไม่พอ บางทีอาหารอร่อยกลับเป็นพิษ กลายเป็นทำลายคุณภาพชีวิตก็มี ไม่ได้แล้ว กินอาหารอร่อยนี่ บางทีเสียด้วย แล้วทำอย่างไร อาหารอะไรจะช่วยให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่จริงแท้นั้น

ตอนนี้แกมองเห็นแล้วว่าสิ่งที่ถูกต้อง คือคุณภาพชีวิต นี่คือเปลี่ยนทิฐิแล้ว พอปัญญาเกิด ก็เปลี่ยนทิฐิได้ว่า เป้าหมายที่ถูกต้อง ต้องเป็นว่า กินเพื่อคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่กินเพื่ออร่อย

พอเด็กเปลี่ยนทิฐิมาเป็นว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการกินอยู่ที่คุณภาพชีวิต แกก็จะมองหาว่าอะไรจะสนองวัตถุประสงค์นี้ ถึงตอนนี้ก็เดินหน้าต่อไปในการศึกษา เช่นเรียนรู้ว่า อาหารอย่างนั้นอย่างนี้ มีคุณค่า มีประโยชน์ มีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตดี สนองเป้าหมายนี้ได้ ถึงตอนนี้ แกก็อยากกินอาหารที่มีคุณค่าอย่างที่ได้เรียนรู้นั้น นี่คือ เปลี่ยนความต้องการ

เมื่อเด็กเริ่มเปลี่ยนความต้องการ อาหารที่เคยชอบเพราะอร่อย และมีความสุขเมื่อได้กิน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นพิษ คราวนี้แกชักจะไม่ต้องการแล้ว และถ้าได้กินก็ชักจะไม่สุข แต่อาจจะกระสับกระส่าย กลายเป็นว่าอาหารที่จะช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตจึงจะสนองเป้าหมายนี้ได้ และแกจึงจะต้องการ และความต้องการนั้น ถ้าได้สนองเมื่อใด แกก็มีความสุขเมื่อนั้น

คนเรานี้ เมื่อได้สนองความต้องการก็มีความสุข ก่อนนี้เด็กต้องการกินอาหารที่อร่อย ที่แกถูกใจ ถ้ากินไม่อร่อย แกจะทุกข์ทันที แต่ทีนี้พอเกิดต้องการคุณภาพชีวิตขึ้นมา และแกได้กินอาหารนั้น บางทีทั้งๆ ที่ไม่ค่อยอร่อย แต่แกมีความสุขได้ แล้วแกยังภูมิใจด้วยว่า เรากินถูกต้อง เราทำด้วยความรู้ คนที่ทำอะไรด้วยความรู้ ด้วยปัญญา จะมีความมั่นใจที่มั่นคง

เมื่อเด็กมีความสุขในการกินอาหารที่สนองความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิต แกก็มีความสุขอย่างใหม่ เพราะมีความต้องการใหม่ และได้สนองความต้องการนั้น นี่คือเรื่องของการพัฒนามนุษย์

ที่ว่ามานี้เป็นการยกตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น การพัฒนาปรับเปลี่ยนความต้องการหรือความอยากของคนนี้ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ควรจะพูดต่างหากโดยเฉพาะ

ในที่นี้ขอสรุปเพียงสั้นๆ ว่า การพัฒนาปรับเปลี่ยนความต้องการของคน เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาความต้องการของคน การพัฒนาสังคมประเทศชาติก็ไม่อาจเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง และจะสำเร็จผลดีไม่ได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัดชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา >>

No Comments

Comments are closed.