ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 14 จาก 20 ตอนของ

ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด
เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา

เมื่อสอนให้สันโดษในสิ่งเสพบริโภคแล้ว ก็มีหลักคำสอนประกบไว้ ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้จมอยู่ในสันโดษ คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เราอยู่แค่สันโดษ แต่ หนึ่ง สันโดษต้องมีตัวตามตัวรับว่า สันโดษในอะไร และ สอง ไม่ใช่สันโดษแล้วจบ สันโดษอย่างนั้นเป็นสันโดษเลื่อนลอย และผิด สันโดษ คือเตรียมตัวพร้อมแล้ว ต้องต่อด้วยถามว่า จะทำอะไร

สันโดษ ต้องตามด้วยคำว่า “ในสิ่งเสพ” หรือ “ในวัตถุบริโภค” แล้วก็เข้าคู่ประกบของมันว่า ไม่สันโดษ “ในกุศลธรรม” คือในการทำกิจหน้าที่ทำงานสร้างสรรค์ความดี

ถ้ากลับกันก็ผิดทันที คือ ถ้าคนไหนสันโดษในสิ่งเสพบริโภค ก็ผิด และถ้าคนไหนสันโดษในกุศลธรรม หรือสันโดษในสิ่งดีงามหรือในการทำหน้าที่การงาน เป็นต้น ก็ผิด การทำกิจหน้าที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามต้องไปให้ถึงจุดหมาย จะพอใจจบแค่ที่ทำอยู่เท่านั้นไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ ไม่ต้องมาเถียงนะ ไปดูพระไตรปิฎกเลย (องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑/๖๔) พระองค์ตรัสว่า

“(ที่เราตรัสรู้นี้) ได้ประจักษ์คุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. ความเพียรไม่ระย่อ

พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็งอย่างยิ่ง ถ้าทรงมองเห็นเป้าหมายอะไรว่า เป็นจริง ดีงามแท้ ถูกต้องตามเหตุ ตามผล พระองค์ไม่มีสันโดษ ไม่มีหยุดยั้ง ไม่มีระย่อ ทรงอุทิศชีวิตให้เลย ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ เราก็ไม่ได้ฟังพระพุทธเจ้าแล้ว

เพราะพระพุทธเจ้าไม่สันโดษ จึงเสด็จออกไปบำเพ็ญเพียรแสวงหาสัจธรรม ไปเข้าสำนักไหน เรียนจนอาจารย์เจ้าสำนักนั้นหมดความรู้ อาจารย์สำนักนั้นชอบ ชวนให้อยู่ด้วย มาสอนลูกศิษย์ด้วยกัน ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ ก็ทรงพอพระทัยว่า เอ้อ.. เราเรียนจบแล้วนะ ดีใจ ภูมิใจ พอ.. ก็จบกัน ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่ยังไม่ถึงจุดหมาย ไม่เอา.. ไปต่อ ทรงลาพระอาจารย์ ไปสำนักโน้น จบความรู้อาจารย์แล้ว ก็ไม่พอ ไปต่ออีก จนกระทั่งบรรลุจุดหมาย ฉะนั้น ในแง่กุศลธรรม สิ่งสร้างสรรค์ดีงามหรือการทำงานทำหน้าที่แล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีสันโดษ แต่พระพุทธเจ้าทรงสันโดษในสิ่งเสพ

สันโดษในสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ มันมารับกันเลย พอสันโดษในสิ่งเสพ ก็ออมเวลา แรงงาน และความคิด เอามาทุ่มให้กับการไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ งานการก็เดินดี ก็ก้าวหน้ากันใหญ่ ไปกันจนถึงจุดหมาย

ฉะนั้นจะเห็นว่า มหาบุรุษทั้งหลายเป็นคนสันโดษในสิ่งเสพ และ ไม่สันโดษในกุศลธรรม ทั้งนั้น ไม่ว่านักค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

อย่างไอน์สไตน์นี่ ชัดเลยว่าสันโดษในวัตถุบริโภคและสิ่งเสพ ท่านผู้นี้ไม่เอาเรื่องเลย ไม่สนใจว่าจะหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอ จะไปหาอะไรอร่อยกินที่ไหน ไอน์สไตน์ไม่วุ่นวายด้วย แต่ไอน์สไตน์คิดค้นไม่หยุด จะสืบสาวหาความจริงว่ามันคืออะไร มันเป็นอย่างไร อย่างนี้ แกไม่ยอมหยุด แกไม่สันโดษเลยในกุศลธรรม คือการหาความรู้สร้างปัญญา

ทีนี้ คนที่ไม่ได้เรื่องนั้นตรงกันข้าม ในสิ่งเสพ ไม่สันโดษ แต่ในกุศลธรรม สิ่งสร้างสรรค์ กลับไปสันโดษ ก็ตัน กลายเป็นคนประมาท ขนาดเป็นอริยสาวกแล้ว เกิดมีความสันโดษ เช่นพอใจอยู่กับการมีศรัทธา ไม่เพียรพยายามบำเพ็ญธรรมให้ยิ่งขึ้นไป พระพุทธเจ้าก็ทรงตำหนิว่าเป็น “ปมาทวิหารี” คือเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท (ดู สํ.ม.๑๙/๑๖๐๑/๕๐๐) เพราะฉะนั้น เรื่องการฝึกตน การทำความดีงามทำกิจกรณีย์นี้ หยุดไม่ได้ ต้องทำยิ่งๆ ขึ้นไป

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่ง (องฺ.ทสก.๒๔/๕๓/๑๐๑) ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความคงอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่ความเจริญขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย

รวมความว่า ความสันโดษรู้จักพอในวัตถุเสพ กับความไม่สันโดษในการทำกิจทำการที่ดีนี้ สอดคล้องรับช่วงต่อกัน เมื่อสันโดษให้ตัวเบาพร้อมดีแล้ว ก็ไม่สันโดษรุดหน้ามุ่งไปกับการทำงานได้เต็มที่ ขอยกหลักอริยวงศ์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายว่า เป็นสายประเพณีของอริยชน คนอารยะ ที่จะรักษาหลักปฏิบัติ ๔ อย่างต่อไปนี้ (องฺ.จตุกฺก๒๑/๒๘/๓๕) คือ

๑-๒-๓. สันโดษด้วยจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (ของบริโภค) และเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)

๔. เป็นภาวนาราม (ยินดีในการพัฒนากุศล) เป็นปหานาราม (ยินดีในการกำจัดละอกุศล)

เพราะฉะนั้น ต้องต่อกัน ไม่สันโดษต้องมารับช่วงต่อจากสันโดษ บอกว่า  ด้านนี้ฉันพอละพร้อมแล้ว ทีนี้ก็มุ่งแน่วไปกับด้านกิจด้านงานนั้นได้เต็มที่

เป็นอันว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว ทุกอย่างก็รับกันหมด เราจะต้องพัฒนาตนให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุแค่พอดี ถ้าคนไหนปฏิบัติตามหลักสันโดษแล้ว เขาจะเป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย และเมื่อเขาไม่สันโดษในกุศลธรรม การทำงานทำหน้าที่ก็ยิ่งมาเพิ่มความสุขให้เขาอีก ทำให้ตัวเขาเองเป็นคนที่มีความสุข พร้อมทั้งผลดีก็เกิดขึ้นแก่ส่วนรวมด้วย

ถึงตรงนี้ น่าจะสรุปเรื่องสันโดษไว้สักหน่อย สันโดษที่ใช้ทั่วไปหมายถึง สันโดษในสิ่งเสพหรือวัตถุบริโภค เป็นข้อปฏิบัติขั้นเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคน ให้เขาพัฒนาผ่านพ้นชีวิตในขั้นหาสุขจากการ “ได้” และการ “เสพ” เพื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตในขั้นที่มีความสุขจากการ “ทำ” หรือสุขจากการศึกษาและ “สร้างสรรค์”

ในด้านวัตถุบริโภคหรือสิ่งเสพ ความสันโดษ และไม่สันโดษ (รวมทั้งสันโดษที่ผิดและสันโดษที่ถูก) มีผลต่างกันในแง่ความสุข ดังนี้

๑. ไม่สันโดษ → ความสุขที่ไม่มาถึง + ชีวิตและสังคมที่กร่อนโทรม

๒. สันโดษเลื่อนลอย → ความสุข + ความเกียจคร้านด้อยพัฒนา

๓. สันโดษออมพลัง → ความสุข + การสร้างสรรค์

เป็นอันว่า ถึงตอนนี้เราประสานได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ ๓ หรือ ๔ ก็ตาม คือ

องค์ ๓: ประสานงาน เงิน และความสุข ให้กลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอันเดียว

องค์ ๔: ประสานงาน เงิน ความสุขของบุคคล และประโยชน์ของสังคม ให้เกื้อกูลหนุนกันเป็นอันเดียว

นี่คือ ประสานให้งานกลายเป็นความสุข ไม่ใช่งานเป็นความทุกข์ ไม่ใช่งานต้องบันดาลสุขโดยผ่านเงิน ไม่ต้องรอให้ผ่านพ้นงานมาได้เงินก่อน แล้วจึงจะเป็นสุข

คราวนี้ งานเป็นความสุขไปด้วยในตัวเลย พองานเป็นความสุขแล้ว เงินก็เป็นส่วนแถมมาเสริมสุขอีก งานก็เป็นสุข เงินก็เสริมสุข คราวนี้สบาย ๒ ชั้นเลย งานก็สุขอยู่แล้ว ยังแถมเงินมาเติมสุขอีก และสุขในงานนั้น ก็ทำให้ทำงานได้ผลดีเป็นประโยชน์แก่สังคมยิ่งขึ้นด้วย สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์

แต่ถ้าคนไหนคอยรอหวังสุขจากเงิน คนนั้นแย่ มีแต่ลบตลอดเวลา มีแต่ถอย ไม่มีบวกในด้านไหนเลย

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคน พัฒนาตนให้ถูกทาง โดยเฉพาะ ความสันโดษในวัตถุเสพบริโภค ที่ประสานกับความไม่สันโดษในการทำงานสร้างสรรค์นี้ ต้องถือว่าเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาการพัฒนาของประเทศไทย

ถ้าคนไทยเข้าใจและปฏิบัติได้ตามหลักการนี้ จะต้องการความสำเร็จในการพัฒนาประเทศระดับไหนก็ได้ แม้จะเป็นผู้นำในประชาคมโลก ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม หรือพูดให้ถูกว่า ไม่ยากสักนิดเลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์วัดความสำเร็จที่ไหน? ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี >>

No Comments

Comments are closed.