– ๑ – พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

ความหมายที่ประสานสืบเนื่องกัน ของการประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน

คำตรัสทั้งหมดมีความหมายสัมพันธ์กัน ทั้งวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน

วันประสูติที่ตรัสอาสภิวาจานั้น บอกว่าการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้รู้ว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้มีความดีงาม มีความสมบูรณ์ และหลุดพ้นจากทุกข์ มีอิสรภาพได้ แต่การที่จะเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐได้อย่างนั้น ก็จะต้องพัฒนาตัวให้รู้ธรรม เข้าถึงธรรมอย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้

ในวาระแห่งการตรัสรู้นั้น พุทธพจน์ที่ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น เป็นวาทะที่แสดงหลักการนี้ชัดเจนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงหยั่งรู้ถึงธรรม คือกฎแห่งความจริงของธรรมชาติแล้ว พระองค์ก็หมดสิ้นความสงสัย มีความสว่าง บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ เท่ากับบอกว่า การที่มนุษย์จะประเสริฐได้ ก็ต้องพัฒนาตน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะดีขึ้นมาเอง มนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกตน ไม่พัฒนาแล้วหาประเสริฐไม่ เมื่อพัฒนาตัวเองจนเข้าถึงธรรมแล้ว นำธรรมมาใช้ประโยชน์ได้ จึงจะเป็นผู้ประเสริฐจริง

แต่ทำอย่างไรมนุษย์จะได้ใช้ธรรมพัฒนาตนเองให้เข้าถึงธรรมได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสย้ำเตือนไว้ตอนปรินิพพาน เป็นปัจฉิมวาจาว่า “เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” เป็นการตรัสเตือนว่า ชีวิตของเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งทั้งหลายรอบตัวก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน สังขารทั้งหลายเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เราจึงจะเข้าถึงธรรมและใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์ แล้วบรรลุความเป็นผู้ประเสริฐ มีอิสรภาพได้ ปัจฉิมวาจาตอนปรินิพพานย้ำที่จุดนี้

เป็นอันว่า ในการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานนี้ มีพุทธพจน์ที่ตรัสหลักการไว้ครบวงจร คือ

๑. ประสูติ = ประกาศอิสรภาพให้มนุษย์รู้ตัวว่า เราสามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ พ้นทุกข์ มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ได้

๒. ตรัสรู้ = ทรงเตือนว่า เราจะมีชีวิตที่ประเสริฐดีงามเป็นอิสระอย่างนั้นได้ เราจะต้องเข้าถึงธรรมด้วยการพัฒนาตนจนหยั่งรู้เข้าถึงธรรม

๓. ปรินิพพาน = ตรัสเตือนว่า การที่จะพัฒนาตนเข้าถึงธรรมได้สำเร็จ เราจะต้องมีความไม่ประมาท ใช้เวลาทำกิจกรณีย์ให้เต็มที่

เท่าที่พูดเลยออกไปข้างนอกนิดหน่อยนี้ เป็นการอธิบายความหมายของวิสาขบูชา ในแง่ต่างๆ พอเป็นตัวอย่าง

คติจากพุทธประวัติ: จากพระโพธิสัตว์ สู่ความเป็นพระพุทธเจ้า

ทีนี้พูดในแง่ของพุทธประวัติเอง วันวิสาขบูชาที่ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือเป็นวันที่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้าเมื่อว่าโดยย่อ ก็มี ๒ ส่วน

ช่วงแรก เป็นประวัติแห่งการบำเพ็ญบารมี คือการพัฒนาตนด้วยการประกอบคุณงามความดีต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นกุศล โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่น โดยเสียสละได้แม้แต่ชีวิตของตน ส่วนแรกนี้เป็นตอนบำเพ็ญบารมีเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์

ช่วงที่สอง เป็นประวัติหลังจากตรัสรู้แล้ว คือเมื่อพัฒนาพระองค์เองสมบูรณ์แล้ว บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เสด็จออกบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดสรรพสัตว์ โดยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นช่วงที่ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองแล้ว ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว

ตอนที่ยังบำเพ็ญบารมีเพื่อพัฒนาตนเองนั้นก็ช่วยเหลือผู้อื่นด้วย แต่การช่วยเหลือนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะตัวเองก็ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่รู้แจ้งถึงความจริงแท้ คือยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม ฉะนั้นการช่วยเหลือ จึงอยู่ในขอบเขตของการช่วยชีวิต และช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ ความยากจนแร้นแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่สามารถให้สิ่งที่ประเสริฐสูงสุดของชีวิต ซึ่งให้ได้ต่อเมื่อถึงตอนที่เป็นพระพุทธเจ้า

นี้คือพุทธประวัติ ซึ่งโดยย่อมีสองตอน ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ก็คือ

๑. ช่วงต้น เป็นช่วงพัฒนาตนเอง

๒. ช่วงหลัง เป็นช่วงที่พัฒนาตนเองสมบูรณ์แล้ว ก็ช่วยให้ผู้อื่นพัฒนาตัวของเขาต่อไป

คติจากพุทธประวัติ จุดสำคัญอยู่ที่การมองชีวิตของพระพุทธเจ้า แล้วทำให้รู้ตระหนักว่า การที่มาเป็นพระพุทธเจ้าได้นี้ ก็คือประวัติแห่งการพัฒนาตนของมนุษย์ท่านหนึ่ง การพัฒนาตนเองของพระพุทธเจ้านี้ เราเรียกว่าการบำเพ็ญบารมี คือการสร้างสรรค์คุณงามความดีอย่างยวดยิ่ง

การทำความดีนั้น มนุษย์ทั่วๆ ไปก็พอรู้ๆ กันอยู่ แต่การทำความดีที่เรียกการบำเพ็ญบารมีนั้น เป็นการทำในระดับที่คนธรรมดาทำแทบจะไม่ไหว เช่น จะให้ทาน หรือเสียสละ ก็เสียสละอย่างสูง ซึ่งทำได้ยาก เช่น สละอวัยวะ ตลอดจนสละชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาความดีงาม หรือเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น

คนทั่วไปอาจจะให้เงินให้ทองกันบ้าง แค่ขนาดให้เงินให้ทองนั้น บางทีก็ยังให้ได้ยาก ต่างจากท่านผู้บำเพ็ญบารมีที่พัฒนาตนเต็มที่อย่างพระพุทธเจ้า ต้องให้ได้แม้กระทั่งชีวิตของตน การทำความดีอย่างอื่นก็เหมือนกัน ท่านทำได้อย่างที่เรียกว่า พิเศษสุด หรือสุดยอด จึงสามารถพัฒนาตนให้สมบูรณ์ได้

พระพุทธเจ้าต้องมีความเพียรในการสร้างสรรค์ความดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็งชนิดที่เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ย่อท้อ อุปสรรคขวางหน้าไม่กลัว กล้าสู้ อดทน ฝ่าฟันไป เอาชนะตนเองได้จนกระทั่งประสบความสำเร็จ นี่แหละคือสิ่งที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธทั้งหลาย

ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติ โดยเฉพาะมานึกถึงวัน วิสาขบูชานี้ อย่างน้อยก็ต้องระลึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าจะบรรลุธรรมสำเร็จมาได้นั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และเราก็ควรจะต้องทำ

ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร จึงจะได้สรณะ

การที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างนั้น ทำให้เราได้ประโยชน์หลายอย่าง ดังนั้น ชาวพุทธจึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยถือเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง ในความหมายว่า เป็นเครื่องเตือนใจ หรือเป็นเครื่องเตือนระลึก โดยมีคุณค่าที่เราจะได้ดังนี้

๑. การระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นการสร้างพลังเริ่มต้นที่จะก้าวไปและยืนหยัดอยู่ในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิต โดยมีความเชื่อด้วยความตระหนักรู้ว่า ตัวเรานี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมมีศักยภาพอยู่ในตนที่จะฝึกฝนพัฒนาได้จนเป็นผู้ประเสริฐ ดังมีพระพุทธเจ้าที่ทรงพัฒนาพระองค์สำเร็จแล้วเป็นแบบอย่าง ความตระหนักรู้อย่างนี้ทำให้เกิดศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ที่เรียกว่า เกิดตถาคตโพธิศรัทธา คือ เชื่อในปัญญาที่จะทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธะได้

ชาวพุทธต้องมีความเชื่อที่ว่านี้เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นฐาน ถ้าไม่มีความเชื่อนี้ก็ไม่สามารถจะเดินหน้าไปได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงวางหลักการเบื้องต้นไว้ว่า ชาวพุทธมี ตถาคตโพธิศรัทธา เป็นคุณสมบัติข้อแรก และพระโสดาบันเป็นผู้มีศรัทธานี้อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว

จะเห็นได้ชัดเจนว่า ในตถาคตโพธิศรัทธา หรือเรียกสั้นๆ ว่า โพธิศรัทธานี้ ศรัทธามาด้วยกันกับปัญญา ที่เรียกว่า “โพธิ” คือเชื่อในปัญญา หมายความว่า ศรัทธาเชื่อมต่อกับปัญญา โดยศรัทธาเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่ปัญญา ไม่ใช่ศรัทธาติดจมงมงาย

ปัญญานี้เราต้องพัฒนา เมื่อเราพัฒนาไปจนตลอด เราก็จะกลายเป็นพุทธะได้ แต่ถ้าเรามัวย่อท้อ ปล่อยตัว ให้วันเวลาผ่านไป โดยไม่พัฒนาตนเอง เราก็ต้องมีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ต้องคอยรอความช่วยเหลือจากอำนาจดลบันดาลอยู่อย่างนั้น

การระลึกถึงพระพุทธเจ้าทำให้เกิดศรัทธา และความมั่นใจในวิถีชีวิตแห่งการพัฒนาตน โดยยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง นี่คือข้อหนึ่งที่ว่า มีความเชื่อ มีความมั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้จนเป็นพุทธะ

๒. เมื่อเชื่อว่าตัวเรานี้ฝึกได้พัฒนาได้ และจะประเสริฐจะดีเลิศด้วยการฝึกฝนพัฒนานั้นอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการบอกอยู่ในตัวว่าเราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้นโพธิศรัทธาก็จึงโยงมาหาความสำนึกตระหนักในหน้าที่ของตนว่า ในเมื่อเราเป็นมนุษย์ เราจะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐจนกระทั่งเป็นพุทธะได้ เราจะต้องพัฒนาตนเอง คือ ต้องศึกษาหรือต้องฝึกตนเอง นี้คือความสำนึกในหน้าที่ว่า เมื่อเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งเป็นจิตสำนึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้เป็นชาวพุทธจะต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือพัฒนาตนนี้ ถ้ามิฉะนั้น ก็ยังไม่เข้าสู่พุทธศาสนาอย่างแท้จริง

๓. เกิดกำลังใจในการบำเพ็ญความดี และในการพัฒนาตนเอง การฝึกตนเองนั้นยาก คนที่ทำความดีอยู่ในโลก แม้แต่แค่อยู่ในครอบครัว พอเจออุปสรรคนิดหน่อย ยังทำไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ผล หรือบางทีคนอื่นไม่เห็นความดีของเรา ก็ชักจะท้อ บางทีเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ทำความดี แต่ครูไม่ยกย่อง ไม่เห็นคุณความดี ก็ท้อ แต่พอนึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงประวัติของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาว่า พระองค์สู้ไม่มีถอยเลย ขนาดชีวิตยังยอมสละได้ เพื่อทำความดีให้สำเร็จ พอระลึกขึ้นมาอย่างนี้ ก็เกิดกำลังใจขึ้นมาทันที ฮึดสู้ต่อ บอกตัวเองว่า เราเจอนิดเดียวทำไมถอยล่ะ พระพุทธเจ้าเจอหนักกว่าเราเยอะ พระองค์ยังเดินหน้าต่อไป

การที่ท่านเล่าชาดก และพุทธประวัติไว้ ก็เพื่อประโยชน์ข้อนี้แหละ คือเพื่อปลุกใจและให้กำลังใจชาวพุทธไว้ จะได้ไม่ท้อไม่ถอย พระโพธิสัตว์ทรงเป็นตัวอย่างของการบำเพ็ญบารมีอย่างยอดเยี่ยม ฉะนั้นเด็กๆ ทั้งหลาย อย่ากลัว อย่าถอย อย่ายอมแพ้ อย่าย่อท้อต่ออุปสรรค เอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง พระองค์พบอุปสรรคและความยากลำบากมากกว่าเรา พระองค์ก็สู้จนกระทั่งสำเร็จ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ถอย ถึงจะแพ้บ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็สู้ต่อไป

บางคนพอสอบไม่ได้ ก็ท้อแท้หมดกำลังใจเสียแล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก คนที่สอบได้ก็ดีแล้ว โมทนาด้วย แต่คนที่สอบไม่ได้ก็มีทางไปอย่างอื่น บางทีการที่สอบไม่ได้ อาจจะกลายเป็นจุดหักเลี้ยวของชีวิต ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ก็ได้

ลองดูประวัติบุคคลสำคัญของโลกสิ บางทีเขาไปสอบตกหรือพลาดเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ แล้วนั่นกลายเป็นจุดสำคัญ ทำให้หันไปมองไปจับเรื่องอื่นที่ไม่เคยนึกถึง เลยกลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยได้เขาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างนั้น

มนุษย์มีโอกาสอยู่ตลอดเวลา อย่าไปท้อไปถอย เราติดด่านนี้ ไม่เป็นไร ไปทางโน้น เอาใหม่ ตั้งสติ ใช้ปัญญา มีความเพียรเดินหน้า แล้วสู้ต่อไป พระพุทธเจ้าผจญมาหนักกว่าเรา นึกไว้ตลอดเวลาอย่างนี้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องครั่นคร้าม เป็นคนเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น เดินหน้าต่อไป นี้คือได้กำลังใจ

๔. ได้วิธีลัดจากประสบการณ์ของพระพุทธเจ้า เราทราบกันดีว่า พระพุทธเจ้ากว่าจะค้นพบธรรม ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ลองผิดลองถูกมานานเหลือเกิน เมื่อตรัสรู้สำเร็จแล้ว ก็ทรงนำเอาประสบการณ์ของพระองค์มาเล่าให้เราฟัง เราก็เลยได้วิธีลัด เรียกว่าแทบจะได้สูตรสำเร็จ โดยไม่ต้องเสียเวลาและเหน็ดเหนื่อยลองผิดลองถูกอย่างพระองค์ เราก็สบายไปเลย

พระพุทธเจ้า นอกจากทรงประมวลประสบการณ์มาเล่าไว้แล้ว พระองค์ยังจัดวางลำดับประสบการณ์และสิ่งที่ทรงค้นพบไว้เป็นระบบเป็นกระบวนที่ทำให้เรารู้เข้าใจและปฏิบัติได้สะดวกด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นลาภอันประเสริฐของเรา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อาราธนาธรรม-(กล่าวนำ)– ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.