– ๑ – พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

พุทธสรณะ คือจุดเริ่มที่จะนำเราสู่อิสรภาพ

สรุปว่า การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ประโยชน์ ๔ ประการ คือ

๑. ได้โพธิศรัทธา คือ ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนได้ จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐสูงสุด

มนุษย์นี้ถ้าไม่ฝึก แม้แต่จะสู้แมวก็ไม่ได้ แมวยังเก่งกว่า เพราะมันสามารถอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาไม่เท่าไร เดี๋ยวมันก็หากินได้ แต่มนุษย์นี่ลองไม่ฝึก ไม่เรียนรู้สิ หากินก็ไม่เป็น จะอยู่ไม่รอด ต้องให้พ่อแม่เลี้ยงนานแสนนาน ฝึกกันอยู่นั่นแหละ นั่งก็ฝึก นอนก็ฝึก กินก็ฝึก ขับถ่ายก็ฝึก เดินก็ฝึก พูดก็ฝึก กว่าจะอยู่รอดได้เป็นสิบปี เพราะฉะนั้น มนุษย์ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษา ก็สู้แมวไม่ได้ แต่พอฝึกแล้ว มนุษย์ก็จะพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด จะเป็นมหาบุรุษ ตลอดจนเป็นพุทธะก็ได้ มนุษย์สามารถพัฒนาจากสัตว์ที่อ่อนแอแย่ที่สุด ที่สู้แต่แมวก็ไม่ได้ จนกลายเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด เราจึงตั้งพระพุทธเจ้าไว้เป็นแบบ

นี่แหละข้อหนึ่ง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้ศรัทธาความเชื่อมั่นในศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งพัฒนาได้ ฝึกฝนได้ จนเป็นพุทธะก็ได้

๒. ได้จิตสำนึกในหน้าที่ คือเกิดความสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ซึ่งต้องฝึกนั้นว่า มนุษย์ที่ดีจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

ชาวพุทธควรสร้างจิตสำนึกนี้ให้มีอยู่เป็นประจำในจิตใจ ไม่ว่าจะไปไหนพบเห็นอะไร ก็มองให้เป็นเรื่องที่จะฝึกตัวหรือเป็นเรื่องที่จะเรียนรู้ทั้งหมด คนที่วางใจอย่างนี้ นอกจากได้ประโยชน์จากสิ่งที่พบแล้วก็ไม่มีทุกข์ด้วย

คนที่มีทุกข์ก็เพราะวางใจไม่ถูก ไปเห็นอะไรก็มองแค่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่ชอบใจ ก็อยากจะหนี อยากจะหลบ จึงเกิดความทุกข์เป็นปัญหา แต่คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนจะได้เรียนรู้เสมอ เพราะมองอะไรก็เป็นเครื่องฝึกตนหมด เจอสิ่งที่ชอบใจก็ได้ฝึกตน เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้ฝึกตน จึงดีหมด สบายหมด และมีความสุขหมดทุกสถานการณ์ นี่แหละยังไม่ทันตรัสรู้เลยก็เริ่มมีความสุขทุกสถานการณ์แล้ว คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่ทำหน้าที่ได้ถูกต้อง

นี้ข้อสอง คือระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วได้จิตสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ

๓. ได้กำลังใจ คือได้พลังความเข้มแข็งแกล้วกล้า จากตัวอย่างแห่งประวัติการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้เพียรพยายามมาก่อนเราแล้วอย่างหนัก เราพบอุปสรรคหรือความยากลำบากแค่นี้ จะไปถอยทำไม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทีไร ก็ได้กำลังใจสู้ต่อไป และเข้มแข็งยิ่งขึ้น

๔. ได้วิธีลัด คือได้ประสบการณ์ของพระองค์ที่ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีมหากรุณาอยากจะช่วยเหลือพวกเรา แล้วทรงนำเอาประสบการณ์นั้นมาเล่า มาบอก มาจัดตั้งวางระบบไว้ และสอนให้เหมาะกับอุปนิสัยของเราแต่ละคน

การระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ประโยชน์มากมาย เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าต้องให้ได้ประโยชน์อย่างนี้ จึงจะเป็นพุทธสรณะ สรณะคือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง

บางคนว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง นึกว่าพระองค์จะมาคอยช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ จะมาดลบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ ถ้านึกอย่างนี้ จะไม่เป็นสรณะอันเกษม เพราะหวังพึ่งพระพุทธเจ้าเพียงแค่เหมือนเทพเจ้าภายนอก เป็นคนอ่อนแออย่างลูกแหง่ที่ต้องคอยปลอบคอยอุ้มอยู่เรื่อยไป เมื่อไรๆ ก็พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าจะให้ถูกต้องได้ผลจริงต้องระลึกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ โดยโยงมาที่ตัวเองว่า เราจะพัฒนาตนไปจนกระทั่งเป็นผู้ประเสริฐด้วยตนเอง และเป็นที่พึ่งแก่ตนได้

จากพุทธสรณะ โยงธรรมะมาถึงตัวเราด้วยสังฆรัตนะ

แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่ว่าแล้ว การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นประโยชน์แท้จริง ก็ต่อเมื่อช่วยโยงเราให้เข้าถึงความจริงของธรรม

พระพุทธเจ้าที่ได้เป็นพุทธะ ก็เพราะพระองค์ได้พัฒนาปัญญาจนตรัสรู้ธรรม จึงบรรลุนิพพาน มีจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับกิเลส ไร้ทุกข์ สามารถนำธรรมะมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่

เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงต้องโยงต่อไปให้ระลึกถึงธรรม อย่างน้อยเริ่มตั้งแต่จะมองอะไร ก็มองตามเหตุปัจจัย ไม่มองตามชอบใจหรือไม่ชอบใจ แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นเอาธรรมะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว เป็นการได้ธรรมสรณะอย่างง่ายๆ ที่สุด แม้จะยังไม่รู้จักธรรมมากมาย เอาแค่หลักการใหญ่ว่า มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แค่นี้ก็เป็นการเริ่มพัฒนาปัญญา ได้เริ่มเรียนรู้ทันที

ส่วนคนที่มองอะไรตามชอบใจและไม่ชอบใจ จิตใจจะขุ่นมัวเศร้าหมองวุ่นวาย วนเวียนอยู่กับทุกข์และสุขจากการได้สิ่งที่ชอบใจและเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ ถึงจะมากล่าวคำบาลีว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ก็ว่าไปอย่างนั้นเอง ไม่รู้ความหมาย เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ได้ถึงสรณะที่แท้จริง แต่ถ้าเอาธรรมเป็นที่ระลึก ถึงธรรมสรณะจริง เริ่มมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ก็เริ่มเรียนรู้ คือเริ่มศึกษา เริ่มได้ปัญญา และเริ่มหลุดพ้นจากทุกข์

ต่อไปสรณะที่ ๓ คือสังฆะ ได้แก่ชุมชนของมนุษย์ที่พัฒนาตนเองในระดับต่างๆ มีทั้งท่านที่ยังไม่ถึงจุดหมายก็มี ถึงจุดหมายแล้วก็มี ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนอันประเสริฐ เป็นประจักษ์พยานของธรรม เป็นที่สื่อธรรม เป็นที่ดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก เป็นที่สืบต่อถ่ายทอดธรรม เป็นชุมชนแบบอย่างในการเป็นอยู่ด้วยธรรม และเป็นที่ชักนำหมู่มนุษย์ให้เข้าถึงธรรม เราถึงสังฆรัตนะโดยตั้งชุมชนอย่างนี้ไว้เป็นแบบอย่าง และช่วยกันสร้างสรรค์และสืบต่อสังคมอย่างนี้ ให้สังคมเป็นสังฆะ คือชุมชนแห่งมนุษย์ที่พัฒนาตนในระดับต่างๆ ซึ่งเราเองก็ควรจะได้เข้าไปร่วมด้วย

หลักการ ๓ ประการนี้แหละที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ซึ่งควรจะระลึกขึ้นมาเตือนใจตนอยู่เสมอ

๑. ระลึกถึงพุทธะ คือบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้เราได้พัฒนาตนเอง ให้เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ และมุ่งมั่นพัฒนาตน

๒. ระลึกถึงธรรมะ คือความจริงของธรรมชาติซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่เราจะต้องรู้ เพื่อจะพัฒนาตนได้สำเร็จ ให้มีชีวิตที่ดีงาม และมีชีวิตที่สมบูรณ์

๓. ระลึกถึงสังฆะ คือชุมชนอันประเสริฐที่สร้างขึ้นด้วยธรรม เป็นที่ดำรงรักษาสืบต่อถ่ายทอดธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าร่วมสร้างสรรค์

ชาวพุทธต้องระลึกถึงสรณะทั้ง ๓ ในความหมายอย่างนี้อยู่เสมอ เพราะเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อนึกถึงแล้วก็นำมาตรวจสอบตัวเองของพวกเราชาวพุทธ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ว่าเราได้ปฏิบัติตามหรือเปล่า อย่างน้อยในการพัฒนาตนเองที่จะต้องมีความเพียรสร้างสรรค์ ตั้งใจมุ่งมั่น ทำแต่สิ่งที่ดีงาม ทำกิจหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ พร้อมกันนั้นก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัยแก่สังคม พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ โดยมีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น ไม่ระย่อ คุณความดีอย่างนี้เราทำหรือเปล่า

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็แสดงว่าเรายังได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเหลือเกิน เรียกได้ว่ายังไม่ได้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ดีไม่ดีถ้าจับหลักไม่ถูก เราจะถอยร่นหล่นลงมาจากพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อาราธนาธรรม-(กล่าวนำ)– ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.