๑. วันวิสาขบูชา

10 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 1 จาก 2 ตอนของ

ความหมายของวันวิสาขบูชา
ในแง่ปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติแห่งมนุษยชาติ

ความหมายของวันวิสาขบูชาที่ได้กล่าวมานั้น แม้จะลึกซึ้งและสำคัญ ก็ยังจำกัดแคบ เป็นเชิงคติเกี่ยวกับชีวิตบุคคล คือพระชนมชีพของพระบรมศาสดา วันวิสาขบูชายังมีความหมายที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นความหมายในขั้นหลักการของพระพุทธศาสนา ตรงกับความจริงที่ว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และในแง่นี้ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษ ถือได้ว่าเป็นการขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยที่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีความหมายเชิงหลักการ ดังนี้

๑. การประสูติของพระพุทธเจ้า คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นความหมายที่โยงถึงกันอยู่ในตัว

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีสัญลักษณ์อยู่ที่การทรงประกาศการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ด้วยพระดำรัสที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส”1 แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก”

พระวาจานี้ทรงประกาศท่ามกลางสังคมมนุษย์ที่มีอิทธิพลของการนับถือเทพเจ้าครอบคลุมและครอบงำไปทั่วทั้งหมด คำว่า “เชฏฐ” เป็นต้นนั้น เป็นคำแสดงฐานะของพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด มนุษย์ยุคนั้นเชื่อว่าชีวิตและสังคมของตนจะดีร้ายเป็นไปอย่างไร ย่อมขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้าที่จะลงโทษหรือโปรดปรานดลบันดาลให้เป็นอย่างไร สิ่งที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อนำผลดีมาสู่ชีวิต ครอบครัว และสังคมของตน ก็คือการยอมสยบต่อเทวบัญชา และการอ้อนวอนบูชาขอผลที่ปรารถนา ด้วยการเซ่นสรวงสังเวย และการบูชายัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ประกาศหลักการที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีคุณความดีและมีปัญญาญาณสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นบุคคลผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ที่เรียกว่า “พุทธะ” ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายตลอดแม้กระทั่งพระพรหมก็จะน้อมนบบูชา ฉะนั้น มนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนสูงสุด คือ พุทธะนี้ต่างหาก ที่เป็น “อัคคะ” (ผู้เลิศ) เป็น “เชฏฐะ” (ผู้เป็นใหญ่) เป็น “เสฏฐะ” (ผู้ประเสริฐ) หาใช่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมผู้เป็นเจ้าไม่

ด้วยหลักการนี้ พระพุทธศาสนาได้กระตุ้นและกระตุกมนุษย์ให้หันมาใส่ใจในศักยภาพแห่งมนุษย์ที่มีอยู่ในตนเอง และเกิดความสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ พฤติกรรม ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สันติ สุข และอิสรภาพ แห่งชีวิตและสังคมของตนจะสัมฤทธิ์หรือไม่ และแค่ไหนเพียงใด อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตัวของมนุษย์เอง หาใช่อยู่ที่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่ มนุษย์ไม่ควรจะมัวคิดหาทางพะเน้าพะนออ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้า แต่ควรหันมาเพียรพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จด้วยสติปัญญาของตน

การประสูติของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิวัติในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ด้วยการประกาศว่า อำนาจสูงสุดที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน และการกระทำด้วยปัญญาที่พัฒนาขึ้นมาให้รู้ความจริงของธรรมชาติ หาใช่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่

๒. การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการปรากฏแห่งธรรมขึ้นมาเป็นใหญ่สูงสุด

อิสรภาพของมนุษย์ ที่ทรงประกาศในการประสูตินั้น จะบรรลุผลเป็นจริงก็เพราะมีการตรัสรู้ กล่าวคือเมื่อมนุษย์รู้เข้าใจมองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วปฏิบัติการทั้งหลายได้ถูกต้องตามธรรม โดยฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญาญาณจนตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้ว มนุษย์จึงเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด

การตรัสรู้ คือการบรรจบประสานระหว่างปัญญาของมนุษย์ กับธรรม คือความจริงของธรรมชาติ เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น2 มีใจความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐ ผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัย ย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน . . . เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย . . . ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ ฉะนั้น”

ธรรมคือความจริงของธรรมชาตินั่นแหละยิ่งใหญ่สูงสุด หาใช่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลอันใดไม่ แม้แต่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจของธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นในธรรมชาตินั่นเอง ธรรมย่อมเหนือเทพ เทพจะเหนือธรรมไปไม่ได้ เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะได้เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรม เพราะมนุษย์มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้ลุถึงธรรมได้

เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ก็มีความเป็นอิสระที่จะเป็นอยู่และทำการอย่างประสานกับธรรม ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้น ซึ่งมีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจคอยรอคำสั่งบัญชาของเทพยดาพรหมเจ้า ที่ไม่รู้ว่าจะต้องประสงค์อย่างใด และจะขัดเคืองหรือโปรดปรานอย่างไหน เมื่อใด

๓. การปรินิพพาน คือการเตือนจิตสำนึกในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

ด้านหนึ่งของธรรมหรือความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ก็คือความไม่เที่ยงแท้คงทน และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของสิ่งทั้งหลาย ธรรมคือความจริงนี้มีอยู่ หรือกำกับอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะการที่ชีวิตนั้นจะต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย

ในขณะที่ความเป็นจริงของธรรมบอกเราว่า เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ มีความสามารถ และมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรมคือกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐ บรรลุสันติสุขและอิสรภาพแท้จริง ก็ต่อเมื่อมีปัญญาเข้าถึงธรรมและสามารถทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดำเนินตามธรรม แต่พร้อมกันนั้นธรรมนั่นเองก็กำกับความจริงไว้ว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราทุกอย่างไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะนิ่งนอนใจประมาทอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ามัวประมาทผัดเพี้ยนละเลย ชีวิตของเราอาจหมดโอกาสที่จะพัฒนาให้เข้าถึงคุณค่าและประโยชน์ที่พึงได้จากธรรม

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และประกาศแก่โลกแล้วนั้น มาปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเรา และเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำเนินไปสู่ความดีงาม ความมีสันติสุขและอิสรภาพ อันพึงได้จากธรรมนั้น เราจึงจะต้องเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท หรือดำเนินไปในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น เมื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระวาจาสุดท้ายที่เรียกว่า “ปัจฉิมวาจา” อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายและความหมายแห่งการปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”3 แปลว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไป เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

ทำการบูชาให้สมค่าของวันวิสาขะ

ถ้าวันวิสาขบูชาจะช่วยให้เราระลึกถึงความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อย่างเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และเตือนใจให้เรานำหลักการนั้นมาใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง การบูชาของเราก็จะเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม อย่างสมคุณค่าของวันวิสาขบูชาโดยแท้จริง และจะช่วยให้มนุษยชาติก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนามนุษย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศนำไว้นานแล้ว ได้จริงจังเสียที แต่ถ้าจะคิดเอาง่ายๆ อย่างน้อยก็ควรจะระลึกพิจารณาดังที่จะกล่าวต่อไป

ในวันเกิดบ้าง ในวันตายบ้าง ของบรรพบุรุษ บุรพการีชน คนที่เราเคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย คนทั้งหลายนิยมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงความเคารพนับถือและความมีน้ำใจต่อบุคคลผู้นั้น ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันที่ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจะไม่พึงทำการแสดงออกอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นการแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดาของตน

ในวันที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญของวงศ์ตระกูล ของกลุ่มชน หรือท้องถิ่นหนึ่ง ก็ยังมีการจัดพิธีที่ระลึกหรืองานเฉลิมฉลองกัน ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชาที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ประชาชนจะไม่พึงจัดพิธีสมโภชหรืองานมหาบูชา

พุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดา อย่างน้อย หากจะสงบจิต ระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าสักข้อหนึ่ง ก็คงจะพอชื่อว่าได้ทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นพุทธบูชา

ถ้าสามารถพิจารณาตั้งจิตคิดไปตามให้เห็นความหมายด้วย ก็จะชื่อว่าได้กระทำพุทธบูชาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

หากมองเห็นความหมายที่จะพึงปฏิบัติได้แล้วนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับประพฤติตาม ก็ย่อมจะได้ชื่อว่า เป็นผู้กระทำปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุด ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงแสดงออกได้ต่อพระบรมศาสดาของตน นับว่าเป็นอานิสงส์อย่างสูงสุดของวันวิสาขบูชา

แท้จริง การที่เราบูชาพระพุทธเจ้านั้น มิใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงต้องการได้รับผลประโยชน์อะไรจากเรา แต่เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ผลดีหรือประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวเราผู้บูชานั้นเอง ทั้งแก่ชีวิตของเรา และแก่สังคมของเราทั้งหมด

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า จิตใจของเราก็โน้มน้อมไปในทางแห่งความดีงาม ทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เอิบอิ่ม เป็นสุข

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า เราก็น้อมนำเอาพระคุณความดีของพระพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในจิตใจของเรา ทำให้เรามั่นใจที่จะดำเนินต่อไปในวิถีทางแห่งความดีงาม และประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระพุทธจริยาของพระองค์

เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงสั่งสอน ซึ่งเราจะต้องเพียรพยายามปฏิบัติบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะจบสิ้นสมบูรณ์

เมื่อเราทั้งหลายพากันบูชาพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นสัญญาณของการที่เราเคารพยกย่องนิยมบุคคลที่ดีมีธรรม และการเคารพเชิดชูธรรมที่เป็นความดีและความจริง ซึ่งหากสังคมยังยึดถือในการบูชาอย่างนี้ สังคมก็จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้ และธรรมก็จะคุ้มครองรักษาสังคมให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน

หากระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนใดๆ ไม่ได้เลย และไม่สามารถทำอะไรอื่นอีกได้ ก็พึงสละเวลาทำใจให้สงบ แล้วอ่านหรือฟังคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าสักท่อนหนึ่งตอนหนึ่ง ถ้าในขณะที่อ่านหรือฟัง จิตใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น หรือมีใจปลอดโปร่งโล่งเบาเบิกบานผ่องใส ก็นับว่าได้มีส่วนร่วมฉลองวันวิสาขบูชา และกระทำพุทธบูชาในวันสำคัญนี้ด้วย

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. มองวันวิสาขบูชา >>

เชิงอรรถ

  1. อาสภิวาจา ในคราวประสูติ ดู ที.ม.๑๐/๒๖ (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๒๖); ม.อุ.๑๔/๓๗๗ (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๓๗๗)
  2. พุทธอุทาน เมื่อแรกตรัสรู้นี้ ดู วินย.๔/๑-๓ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑-๓); ขุ.อุ.๒๕/๓๘-๔๐ (ขุททกนิกาย อุทาน พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๓๘-๔๐)
  3. ปัจฉิมวาจา คราวปรินิพพาน ดู ที.ม.๑๐/๑๔๓ (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๓); สํ.ส.๑๕/๖๒๐ (สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ข้อ ๖๒๐)

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.