– ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

– ๒ –
ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย

จากมนุษย์ปุถุชน มาดูจุดเริ่มต้นว่าจะพัฒนาตรงไหน

ในการที่จะพัฒนาคนนั้น ลองหันมาดูมนุษย์ปุถุชนว่าเป็นอย่างไร เมื่อมองตามธรรมชาติของคนเราที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็จะเห็นว่ามีลักษณะอย่างหนึ่ง ในบรรดาลักษณะหลายๆ อย่าง คือการที่ว่าเราจะทำอะไร หรือจะมีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์อะไรหรือไม่ ก็ขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก

พูดเป็นหลักการได้ว่า มนุษย์ปุถุชนนั้นเมื่อทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอประสบความสำเร็จ สุขสบาย พ้นทุกข์ไปได้ ก็จะลงนอนเสวยสุข พฤติกรรมอย่างนี้เป็นธรรมชาติทั่วไปของมนุษย์ปุถุชน คือคนที่ยังมีกิเลส ซึ่งจะดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามขึ้นมาก็เพราะทุกข์มันบีบ ภัยมันมาคุกคาม ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ เช่น อดอยากบ้าง สงครามจะมาบ้าง นอนอยู่ไม่ได้แล้ว จึงลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายทำอะไรกันใหญ่ แต่พอพ้นภัยสุขสบายแล้ว ประสบความสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ดีแล้ว …สบาย คราวนี้ก็ลงนอน เสวยสุข

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนามักตกอยู่ในวงจรนี้ และนี่ก็คือวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ หมายความว่า พอเจอทุกข์เจอปัญหาเดือดร้อนขึ้นมา ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายขยันหมั่นเพียรสร้างสรรค์ ก็เลยร่ำรวยขึ้นมา เป็นต้น เรียกว่าเจริญ แต่พอเจริญมีความสุขดีแล้ว ก็เฉื่อยชา หรือถึงกับลุ่มหลง ระเริง มัวเมา ตกอยู่ในความประมาท แล้วก็เสื่อมลง บุคคลก็ตาม ครอบครัวก็ตาม สังคมก็ตาม ประเทศชาติก็ตาม หรือแม้แต่ที่เราเรียกว่าอารยธรรมทั้งหลาย ลองศึกษาดูเถิด โดยมากเป็นอย่างนี้

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือมาสั่งสอนแนะนำว่า ทำอย่างไรมนุษย์จะไม่ต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญที่เกิดจากกิเลสของตัวเองแบบนี้ คือ ทำอย่างไรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้มีคุณสมบัติอย่างใหม่ให้กลายเป็นว่า … ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะสุข ฉันก็สร้างสรรค์ตลอดเวลา คือมีความขยันหมั่นเพียรด้วยสติที่คอยเตือนให้ทำตามที่ปัญญาบอก

ที่ว่านั้นหมายความว่า เมื่อเราพัฒนาปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะเป็นตัวบอกว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม อะไรจะทำให้เกิดความเจริญ ตามหลักแห่งเหตุปัจจัย เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม สติจะคอยเตือนให้เราเร่งแก้ไขป้องกัน กำจัด เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ สติก็เตือนให้เราสร้างสรรค์ทำสิ่งนั้นขึ้นมา

ถ้าเราอยู่ด้วยสติ เราก็ไม่ประมาท ไม่ผัดเพี้ยน ไม่หลงระเริง ไม่มัวเมา เราก็จะกระตือรือร้นเพียรพยายามละเว้นสิ่งที่รู้ว่าควรละเว้น และทำตามที่รู้ว่าควรจะทำ ถ้าอย่างนี้ เมื่อเจริญแล้ว หรือถึงจะสุขสบายแล้ว ก็เจริญต่อไป ไม่ต้องเสื่อม นี้แหละเป็นจุดสำคัญ

พระพุทธเจ้าทรงให้หลักประกันว่า ถ้าเราไม่ประมาท เราไม่ต้องเสื่อม ไม่ใช่ว่าเมื่อเจริญแล้วจำเป็นจะต้องเสื่อมเสมอไป แต่ที่จะเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็อยู่ที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่เสื่อมไปโดยเลื่อนลอย ใครบอกว่าเสื่อมแล้วก็เจริญเอง เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม ก็แสดงว่าไม่ได้ถือหลักเหตุปัจจัย กลายเป็นลัทธิเดียรถีย์ที่ท่านเรียกว่า อเหตุวาท คือลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธิแล้วแต่เวรแต่กรรม หรือลัทธิที่ถือว่าถึงคราวก็เป็นไปเอง

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องเสื่อมไปตามเหตุปัจจัย และเจริญตามเหตุปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยจะรู้ได้อย่างไร ก็รู้ด้วยปัญญา เราก็พัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้เหตุปัจจัย แต่ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเมื่อรู้แล้วจะประมาทหรือไม่ ถ้าประมาทก็อีกนั่นแหละ ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ไม่ดี จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม แต่มันล่อใจ ก็ไปทำเสียนี่ เลยกลายเป็นทำเหตุของความเสื่อม ทีนี้ในทางตรงข้าม ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ดี จะเป็นเหตุปัจจัยให้เจริญ ก็ผัดเพี้ยน พรุ่งนี้ค่อยทำ เดือนหน้าค่อยทำ หรือละเลยเสียจนหมดโอกาส นี่เรียกว่าคนประมาท ก็เลยหนีไม่พ้นวงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือย้ำหลักไม่ประมาท ให้คนทั้งหลาย แม้สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาท คนผู้ใด ทั้งที่สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาทได้ คนนั้นเรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้ว แต่ถ้าคนไหนจะขมีขมันทำต่อเมื่อเจอทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม พอสุขสบายก็นอน อย่างนี้ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเต็มที่ ไม่มีอะไรที่แสดงถึงการพัฒนา

หลักความไม่ประมาทนี้ ควรจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่สภาพแวดล้อมทุกอย่างเอื้อให้สุขสบาย ชวนให้ประมาท แต่ทั้งที่พระพุทธศาสนาย้ำนัก ไม่ให้ประมาท แต่คนไทยกลับมองข้ามหลักความไม่ประมาทนี้ไปเสีย เลยจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเกินไป

ปุถุชนสามัญก็แย่อยู่แล้ว ถ้าหลงติดยากล่อมจะแย่ยิ่งกว่านั้น

ย้อนมาดูเรื่องมนุษย์ปุถุชนสามัญที่ว่าตามปกติก็เป็นอย่างนี้ คือ ต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบายก็นอนเสวยสุข แล้วก็วนเวียนเราต้องมีอยู่ในวงจรเสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเสื่อมเรื่อยไป แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น ยังมีคนที่แย่กว่าปุถุชนสามัญอีก คือ แม้แต่ยามทุกข์ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

ตามธรรมดาโดยธรรมชาติ คนเรานั้นเวลาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม อยู่นิ่งเฉยไม่ได้หรอก จะต้องดิ้น แต่ที่ไม่ดิ้น หรือไม่ค่อยมีกำลังดิ้นนั้น เกิดจากเหตุ ๒ ประการ

๑. สบายมานานจนเคยตัว จนเป็นคนเห็นแก่ง่าย หรือจะเอาแต่สบาย เคยตัวติดเป็นนิสัย อยู่กันในสังคมแห่งความสนุกสนานบันเทิง อยู่กันอย่างฟุ้งเฟ้อหรูหรา ไม่เคยเหนื่อยยาก ไม่เคยลำบาก ไม่เคยอดทนก็เลยอ่อนแอ พอมาเจอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามเข้าก็เลยท้อแท้ พอไม่ได้อย่างใจ แทนที่จะดิ้นก็เลยอ่อนใจระย่อหมดแรงหมดกำลัง ก็ซบเซา เหงาหงอย จับเจ่า หรือคร่ำครวญร้องทุกข์ไป นี่พวกหนึ่ง เรียกว่าพวกซ้ำเติมตัวเอง

๒. เจอทุกข์แล้ว เตรียมจะดิ้นรนขวนขวาย หรือภัยมา เตรียมจะลุกขึ้นสู้ แต่เกิดมียากล่อมเข้ามา พอได้ยากล่อมเข้า ทีนี้ก็ลืมแล้ว ไม่นึกถึงการที่จะต้องดิ้นรนขวนขวาย เลยติดอยู่กับยากล่อมนั่นเอง

เรื่องยากล่อมนี้สำคัญนะ บางสังคมมียากล่อมมากเหลือเกิน ยากล่อมที่จะทำให้คนเจอทุกข์ไม่ลุกขึ้นดิ้นนี่ มีหลายระดับ

ก) อย่างง่ายๆ ก็คือ สุรา ยาเสพติด การพนัน พวกนี้เป็นยากล่อมขั้นหยาบ มีพิษรุนแรงมาก พอไปเจอยากล่อมพวกนี้แล้ว ที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็ไม่เอาแล้ว ได้แต่เมาซม ติดเพลิน ครึ้มใจ หวังลมๆ แล้งๆ หลบทุกข์ หนีปัญหาไปชั่วคราว แล้วก็นอนอีก.. ก็เลยแย่ มีแต่ทรุดลงไป นอกจากนี้มีอะไรอีก

ข) ลัทธิคอยโชค ก็มาปลอบกันว่า ไม่เป็นไรหรอกน่า มันเสื่อมได้มันก็เจริญได้ พอเสื่อมๆ ไป เดี๋ยวมันก็เจริญเอง เดี๋ยวนี้พูดกันเยอะเหมือนกัน นี่เรียกว่าลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธินี้ไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา

บอกแล้วว่าพุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเสื่อมหรือเจริญ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ามนุษย์ต้องการผล มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำเหตุให้ถูกต้อง แต่พอไปเจอลัทธิคอยโชค ก็คิดว่าแล้วแต่โชค เดี๋ยวมันก็ดีเอง ก็เลยติดยากล่อม เพลินอยู่กับความหวังที่เลื่อนลอย ปล่อยไปเรื่อยๆ บางทีมันก็ไม่ดีขึ้นมา บางทีมันก็ดีด้วยปัจจัยอื่นที่ตัวไม่ได้ศึกษา หรือบางทีเหตุปัจจัยร้ายมาซ้ำเติม จากวิกฤติก็เลยกลายเป็นวิบัติ

ยากล่อมมีเยอะ ยากล่อม ก็คือ อะไรก็ตามที่มาช่วยกล่อมใจให้เพลินๆ สบายไปได้ในเวลานั้นๆ แล้วก็เลยลืมทุกข์ลืมปัญหาและนอนใจ ลืมดูความเป็นจริง

ค) ยากล่อมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลัทธิรอคอยความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลที่ว่ามาแล้วตั้งแต่ต้น สังคมอินเดียเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าทุกอย่าง จนกระทั่งบูชายัญ หวังที่จะให้อำนาจยิ่งใหญ่ภายนอกมาดลบันดาล ช่วยเหลือ มัวแต่มองไปนอกตัว ไม่มองว่าตัวเราจะต้องทำอะไร คิดแต่รอให้ท่านช่วย ตัวเราก็ไม่ต้องทำอะไร มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ท่าน มันขึ้นต่อท่าน ไม่ได้ขึ้นต่อเรา เราจะทำอะไรก็ไม่มีผล ก็ได้แต่นอนรอไป อย่างนี้ก็เป็นยากล่อมอีกอย่างหนึ่ง ยากล่อมนี้เมืองไทยมีเยอะ

ง) แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นสูง อย่างสมาธิและวิปัสสนา ถ้าผิดหลักเมื่อไร ก็อาจจะกลายเป็นยากล่อมได้ทั้งหมด อย่าไปนึกภูมิใจว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วจะถูก โดยเฉพาะสมาธิสมัยนี้ใช้เป็นยากล่อมกันมาก คือว่า พอทำสมาธิได้ก็ใจสบาย หายทุกข์หายร้อน เคยกลุ้มใจมีความเครียดก็หาย ก็มีความสุขดี ทีนี้พอมีความทุกข์มาก็นั่งสมาธิแล้วก็สบาย

แม้แต่สมาธิที่ว่าดี เมื่อปุถุชนได้ ก็มักเอามาใช้เป็นยากล่อม

สำหรับเรื่องสมาธินี้ท่านก็ไม่ได้ถึงกับประณามเสียๆ หายๆ ก็ใช้ได้อยู่ เพราะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยคนเราจิตใจว้าวุ่น กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ได้ ก็มานั่งสมาธิ ใจจะได้รวม สงบลง จะได้พัก จะได้ตั้งมั่น ประโยชน์ที่ต้องการอยู่ที่ตรงนี้ แต่พร้อมกันนั้นเราจะได้กำลังด้วยนะ ไม่ใช่พักเฉยๆ

การพักด้วยสมาธินี้ทำให้เราได้กำลัง และทำให้เราพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป สิ่งที่ต้องการก็คือเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าสมาธิเพียงเพื่อได้พัก ได้นอนหลับ มาเพลิน มาซม มาเสวยความสุข หรือหาความสุขอยู่กับสมาธิ จนติดจมอยู่ที่นั่น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะทำผิดพลาดกันเยอะ

อย่างในเมืองฝรั่งก็มีทางเขวได้มาก เพราะฝรั่งไม่เคยเจอสุขสงบอย่างนี้ เขาเจอแต่ความเครียด ความทุกข์ทางจิตใจ จนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก เมื่อไม่รู้หลักการที่เป็นพื้นฐานไว้ พอได้สมาธิ ก็เลยสบาย ได้ทางออก ก็เลยมาติดยากล่อมเสียอีก ดีไม่ดีสมาธิที่ใช้ผิดทางอย่างนี้จะพาให้สังคมฝรั่งเสื่อมไปด้วย

การปฏิบัติสมาธินี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชาวพุทธเองก็ต้องระวัง สมาธินั้นไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อเดินหน้าต่อ อย่าลืมว่าสมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งในกระบวนปฏิบัติของไตรสิกขา ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า การปฏิบัติต้องดำเนินไปให้ครบไตรสิกขา ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายอย่าเพิ่งหยุด

องค์ธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนา อยู่ในกระบวนการ พัฒนามนุษย์ทั้งสิ้น ถ้าองค์ธรรมไหนมาทำให้มนุษย์หยุด คือไม่ส่งผลเป็นปัจจัยเอื้อในการเดินหน้าต่อไป ก็ต้องสงสัยว่ามีหวังผิดแล้ว อันนี้ขอย้ำว่า การปฏิบัติธรรมข้อใดก็ตาม แม้จะดีจะสุข ถ้าทำให้เราหยุด ก็ควรสงสัยว่าคงจะปฏิบัติผิด เพราะองค์ธรรมทุกอย่างนั้นมีไว้เพื่อเป็นองค์ประกอบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ จึงจะต้องเป็นปัจจัยที่ส่งต่อให้ก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย

สมาธิมีเป้าหมายเพื่อให้เรามีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ ซึ่งจะเป็นจิตที่เป็น กัมมนีย์ แปลว่า ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน ประโยชน์แท้อยู่ที่นี่ คือเอาไปใช้ และการใช้ที่สำคัญก็คือใช้งานทางปัญญา โดยนำไปคิดพิจารณาแก้ปัญหา ค้นหาความจริง ตลอดจนมองดูสภาวธรรมให้เห็นชัด เพราะจิตที่เป็นสมาธินี้เป็นจิตที่ใส สงบ มั่นคง แน่วลงไป จะมองอะไรก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง จะคิดอะไรก็เป็นลำดับ ไม่มีอะไรมาวุ่น มารบกวน มาบัง มาขวาง มาแทรกแซง

รวมความว่า สมาธิก็เป็นองค์ธรรมในการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ถ้าไม่วางท่าทีให้ดีอาจจะทำให้เขว อาจจะทำให้หลง อาจจะทำให้ตกหลุมได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องย้ำกันไว้มิให้ลืมว่า สมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งที่จะส่งผลต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขาเท่านั้น ถ้าเมื่อไรไปหลงติดในความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น ก็จะกลายเป็นยากล่อม ซึ่งแปลว่าผิดทางแล้ว

ต่อเมื่อใดเราบรรลุผลสำเร็จ บรรลุความสมบูรณ์ของการพัฒนาตน เป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จึงไม่ต้องใช้สมาธิในแง่สิกขา แต่เพราะจบสิกขาแล้ว ท่านจึงใช้เวลาให้ผ่านไปด้วยการเผยแผ่ธรรม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เวลาเหนื่อยขึ้นมาท่านก็นั่งสมาธิพักผ่อน เรียกว่า “ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” พวกเราก็เหมือนกัน ใช้สมาธิพักผ่อนได้ แต่พักแล้วอย่าไปติดเอาสมาธิเป็นยากล่อมก็แล้วกัน ย้ำว่าเอาสมาธิเป็นที่พักได้ แต่อย่าให้ติดเป็นยากล่อม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์ถาม-ตอบ ท้ายบรรยาย >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.