– ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

มาตรวัดระดับการพัฒนาของคน ที่ดูได้ไม่ยาก

เมื่อคนเจอทุกข์กำลังลุกขึ้นดิ้น พอติดยากล่อมก็หยุด เพลิน ลืมทุกข์ไป เลยหมดแรงดิ้น นี่แหละจึงกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าปุถุชนสามัญ เพราะว่าปุถุชนสามัญนั้นเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ต่อเมื่อสุขสบายจึงลงนอนเสวยสุข แต่คนที่ติดยากล่อมนี้ต่ำกว่าระดับปุถุชนสามัญไปอีก เพราะเจอทุกข์ก็ไม่ดิ้น ได้ยากล่อมแล้วก็สบาย เพลิน ซึมเซื่อง ซบเซา ก็เพลินอยู่กับยากล่อมนั้นแหละ ไม่ไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่แก้ปัญหา ตกอยู่ในความประมาท กลายเป็นคนที่นอนเสวยสุขตั้งแต่ยังเป็นทุกข์อยู่ด้วยซ้ำ

พุทธศาสนาย้ำเรื่องนี้ คือ หลักความไม่ประมาท ท่านเตือนว่า แม้แต่เป็นอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่านอนใจ อาจจะประมาทได้ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่ประมาทได้อย่างแท้จริง เพราะคนเรานี้ เวลามีความสุข อย่างหนึ่ง ยามประสบความสำเร็จ อย่างหนึ่ง หรือคราวที่เกิดความรู้สึกภูมิใจว่าเรานี้ดีแล้ว อย่างหนึ่ง สามตัวนี้มักล่อให้หย่อน หรือไม่ก็หยุดเลย พูดสั้นๆ ว่า ตกหลุมความประมาท

เมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความสุขแล้วประมาทนั้นเห็นได้ชัด แต่คนที่มีความดี ถ้าเกิดความภูมิใจก็ต้องระวัง อย่างพระโสดาบัน ภูมิใจว่าเราได้บำเพ็ญความดีสำเร็จมาถึงแค่นี้ พอเกิดความพอใจอย่างนี้ ก็ชักจะเฉื่อย ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระอริยบุคคลที่เป็นอย่างนี้ว่า เธอเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท ฉะนั้นอย่าได้นอนใจ ชาวพุทธต้องเดินหน้าเสมอ

ตามที่พูดมาในที่นี้ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น ๔ ระดับ โดยวัดจากมาตรฐานปุถุชน คือ

๑. มนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปุถุชนสามัญ คือพวกที่เจอทุกข์ ก็ไม่ดิ้น ถูกภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว ได้แต่ท้อแท้ ระทดระทวย จับเจ่า หรือไม่ก็นอนเฉื่อย เพราะติดยากล่อม เพลินไปเรื่อยๆ ส่วนในเวลาที่สุขสบายไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมา เรียกว่า ทุกข์ก็ไม่ดิ้น สุขก็นอนซึม หรือทุกข์ก็ซม สุขก็ซึม

๒. มนุษย์ปุถุชนสามัญ คือพวกที่ว่าถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสบายก็ลงนอนเสวยสุขเฉื่อยลงไป

๓. มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว คือพวกที่ว่าเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่แม้จะสุขสบายแล้วก็ยังเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หยุด พวกนี้นับว่าเข้าสู่ทางของอารยชนแล้ว

๔. มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด คือยามทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคาม ก็ไม่พลอยทุกข์ จิตใจยังปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ แล้วก็ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป หมายความว่า ในด้านการกระทำ ก็มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ และในด้านจิตใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกทุกข์ครอบงำด้วย และแม้จะสุขแล้วก็ยังขวนขวายสร้างสรรค์ต่อไป

คนเราที่พัฒนาแล้วโดยมากก็ยังได้แค่ขั้นที่ ๓ คือถูกทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามก็ขวนขวายจริง แต่จิตใจไม่สบาย กระวนกระวาย ทุรนทุราย แม้ว่าจะไม่ประมาทก็จริง แต่ยังมีความเดือดร้อนใจ มีความเครียดในใจ ดังจะเห็นกันมากในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรจำนวนมากมีความทุกข์ในใจด้วย เป็นคนขยันจริง แต่เร่าร้อน เครียด ซึ่งแสดงว่า ยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด

ฉะนั้น คนในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่จิตใจมีความเครียดมีความทุกข์นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขให้พัฒนาต่อไปอีก ให้เป็นคนชนิดที่ว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จิตใจก็ยังดีงามสุขสบายปลอดโปร่ง พร้อมกันนั้นก็เพียรพยายามสร้างสรรค์ต่อไป แม้ถึงยามสุขสบายก็ไม่หยุดหรือผัดเพี้ยน

จะต้องระลึกไว้ว่า คนที่พัฒนาแล้วนั้น เขาจะเป็นอยู่หรือทำการอะไร ก็ไม่ได้ขึ้นต่อความสุขความทุกข์ แต่เขาขึ้นต่อปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และสติก็คอยบอกหรือคอยเตือน ให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น และให้ทำสิ่งที่ควรทำตามที่รู้ด้วยปัญญานั้น นี่แหละเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยระดับการพัฒนาของคน

สำรวจคนไทย ว่ามีศักยภาพที่จะเผชิญวิกฤติแค่ไหน

หันมาดูสังคมของเรา สังคมไทยเวลานี้ได้ประสบภาวะที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ ถึงขั้นเป็นวิกฤติการณ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะนำหลักการของพระพุทธศาสนามาใช้ได้เต็มที่ แต่เวลานี้เราเป็นอย่างไร ลองสำรวจตัวเราแต่ละคน และสำรวจสังคมไทยว่าได้ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่ามานี้แค่ไหนเพียงไร

เวลานี้เราถูกทุกข์บีบคั้น ถูกภัยคุกคามแล้ว เราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย มีความขยันหมั่นเพียรที่จะสร้างสรรค์หรือเปล่า หรือว่าเราไปติดยากล่อม ติดสุรา ยาเสพติด การพนัน นี้พวกที่หนึ่งเห็นง่าย หรือเลยจากนั้นอีกพวกหนึ่งก็ไปติดลัทธิอ้อนวอน ลัทธินอนคอยโชค ลัทธิหวังผลดลบันดาล จนกระทั่งติดสมาธิเป็นยากล่อม ถ้าติดก็ต้องรีบลุกขึ้นมาแก้ไขกัน

ที่จริง เรื่องติดยากล่อมนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ใช่มีเฉพาะเวลานี้ แต่เวลานี้เป็นตอนสำคัญที่เราจะต้องรีบแก้ไข ถ้าไม่แก้ตอนนี้สังคมจะเลวร้ายหนักลงไปอีก เพราะวิกฤติจะกลายเป็นวิบัติ แต่ถ้าแก้เสียตอนนี้ วิกฤติก็มีทางที่จะกลายเป็นวิวัฒน์ คนที่ฉลาดต้องเอาวิกฤติเป็นวิวัฒน์ให้ได้ เพราะวิกฤติเป็นช่วงต่อระหว่างวิบัติกับวิวัฒน์ หมายความว่า ถ้าทำดี ทำถูก วิกฤติก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ แต่ถ้าทำไม่ดี ทำไม่ถูก ก็จะกลายเป็นวิบัติไปเลย

ตอนนี้สังคมไทยมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ยามมีทุกข์นี้ ถ้าเราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็จะเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาคน ยิ่งถ้ามองสังคมในวงกว้าง ก็เป็นโอกาสดีเลิศที่จะพัฒนามนุษย์ เพราะคนเราเรียนรู้ได้มากจากปัญหา ได้ศึกษาจากความทุกข์

ขอให้สำรวจดูเถิด คนที่จะพัฒนาจากการมีความสุขหาได้ยาก ในประวัติบุคคลสำคัญ และประวัติศาสตร์ของชาติที่เจริญทั้งหลาย จะเห็นแต่มนุษย์ที่พัฒนาจากการแก้ปัญหา และเข้มแข็งขึ้นมาจากการเผชิญทุกข์ทั้งนั้น ส่วนคนหรือชาติประเทศที่สบายมีความสุขแล้ว ไม่มีอะไรจะให้สู้ หรือคิดแก้ไข ก็เลยไม่มีอะไรจะให้ใช้ความคิด ทำให้โน้มไปในทางที่จะหลงเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้นคนที่มีความสุขแล้วนี้ ถ้าไม่มีคนสอนที่ดี หรือไม่มีกัลยาณมิตร และตัวเองก็ไม่รู้จักคิด ไม่หาแบบฝึกหัดมาทำ จึงเจริญยากที่สุด

คนที่มีความทุกข์นั่นแหละ ทุกข์มันจะสอน คือมันทำให้เราต้องดิ้นรนหาทางออก คิดแก้ไข ใช้กำลัง ใช้ฝีมือ เรียกว่าได้ใช้ทั้งสมองและมือเต็มที่ รวมทั้งเท้าก็ต้องเคลื่อนไหวไม่ได้หยุด จึงได้ฝึกตัวเองตลอดเวลา เป็นอันว่า คนเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการพยายามแก้ปัญหา ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเราพยายามแก้ไขปัญหา เราก็ได้พัฒนาปัญญา เพราะเราต้องคิด พอเราคิดหาทางแก้ไขปัญหา ปัญญาก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมา ยิ่งถ้าเป็นคนรู้จักคิด หรือคิดเป็น ก็ยิ่งก้าวไปไกล

ถ้าไม่มีปัญหาให้คิด แล้วปัญญาจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่มีโจทย์เลขแล้วเราจะคิดเลขเก่งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัด จะเกิดความชำนาญได้อย่างไร

ฉะนั้นคนที่เกิดมากับความสุข ถ้าไม่ระวังตัวให้ดี มัวประมาทอยู่ก็เสียเปรียบมาก ส่วนคนที่เกิดมาเจอความทุกข์ เมื่อวางใจถูกก็ได้เปรียบในแง่ที่จะพัฒนาตนเอง อันนี้เป็นคติสำคัญที่จะต้องเอาไว้สอนลูกหลาน

ขอให้จำไว้ว่า ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ที่ไม่มีแบบฝึกหัด ย่อมยากที่จะพัฒนา เพราะฉะนั้น คนใดสังคมใด ได้เจอทุกข์ภัยและความยากลำบากมามาก เป็นผู้ที่ทำแบบฝึกหัดมาแล้ว ก็จะเก่งกล้าสามารถและประสบความสำเร็จ ชีวิตใดสังคมใดอยู่สุขสบายก็ต้องไม่ประมาท ให้รีบหาแบบฝึกหัดมาทำ

เริ่มแต่ในครอบครัว ก็ต้องดูพ่อแม่ว่าช่วยให้ลูกพัฒนาหรือไม่

อย่างคนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นหัวหน้าครอบครัวในปัจจุบันนี้ หลายท่าน ในอดีตยากจนข้นแค้น ตอนเป็นเด็กลำบากมาก บางวันมีรับประทาน บางวันไม่มี ต้องช่วยพ่อแม่หาเงิน ขยันอดทนดิ้นรนขวนขวาย จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ครอบครัวเป็นปึกแผ่น ร่ำรวย

พอร่ำรวยแล้วก็คิดว่า เราลำบากมานักหนาแล้ว ถึงลูกเราก็ขอให้เขาสบายให้เต็มที่ คิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยบำรุงบำเรอลูกใหญ่ บางทีก็เลยกลายเป็นเสียไป เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า สุขไม่ช่วยให้คนได้เรียนรู้ แต่คนเราเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ฝึกหัดพัฒนาตนจากการเผชิญความทุกข์ยากลำบาก

คนที่เกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อมสุขสบาย จึงเสียเปรียบหลายอย่าง เริ่มแต่ไม่มีเครื่องทดสอบ ไม่มีแบบฝึกหัด ไม่ได้ทั้งความเข้มแข็งในการดิ้นรนต่อสู้ ไม่ได้ทั้งทักษะจากการฝึกพฤติกรรม และไม่ได้ทั้งปัญญาในการคิดแก้ปัญหา ขอย้ำว่าสองอย่างนี้สำคัญยิ่งนัก คือ

๑. ความเข้มแข็ง ความหนักแน่นมั่นคง ที่จะทำการทั้งหลายให้สำเร็จด้วยความพากเพียรขยันอดทน

๒. ความรู้คิดรู้พิจารณาใช้ปัญญาแก้ปัญหา ทำการสร้างสรรค์ พัฒนาตนให้เจริญงอกงามมีความสามารถยิ่งขึ้นไป

คนที่เกิดมากับความสุขนั้น สองอย่างนี้ได้ยากเหลือเกิน คือที่จะได้ความเข้มแข็งทนทาน และได้ปัญญาแก้ปัญหานี้ยาก ฉะนั้น พ่อแม่ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดี คือเป็นคนที่ระวังไม่ให้ลูกตกอยู่ในความประมาท รู้จักหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ

ถามว่า ถ้าเป็นอย่างที่ว่านั้น พ่อแม่หลายรายที่เคยทุกข์มาแล้ว พอประสบความสำเร็จสุขสบายก็คงต้องประมาท แต่บางคนก็ยังไม่เห็นประมาท ก็ยังขยันขันแข็งต่อไป ทำไมเป็นอย่างนั้น

คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะว่าพ่อแม่เหล่านั้นดิ้นรนขวนขวายมานานจนเป็นนิสัย เคยชินอย่างนั้นแล้ว แม้จะมีความสุขสบายขึ้นมา ความเคยชินเก่าก็ทำให้ขยันต่อไป แกอยู่นิ่งไม่ได้

แต่ก็จะเห็นได้ว่าหลายคนหนีไม่พ้น บางคนเคยทุกข์มามาก แต่ต่อมาพอประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็หันไปมัวเมาประมาท มีให้เห็นถมไป แต่หลายคนก็อย่างที่ว่าแล้ว ยังเคยชินกับนิสัยเก่า เรียกว่ามีบุญเก่าที่สะสมไว้ จึงอยู่ได้ แต่ลูกไม่มีบุญเก่าสะสมไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงต้องถ่ายทอดบุญนี้ให้

อย่าถ่ายทอดให้ลูกแต่ทรัพย์ภายนอก ควรสนใจถ่ายทอดทรัพย์ภายในของตัวเองนี้แหละให้ลูก ทรัพย์ที่ประเสริฐของเราก็คือนิสัยแห่งความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเพียรพยายามขยันอดทน ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา การสู้ทุกข์สู้อุปสรรค ที่เราสร้างขึ้นมาในตัวนี้แหละ นี่คือทรัพย์อันประเสริฐ เรียกว่าอริยทรัพย์จากภายในตัวเราแท้ๆ ที่ควรให้แก่ลูก

ลูกได้เงินทองภายนอกเท่าไร ก็ไม่เท่าได้อริยทรัพย์ภายในนี้ พ่อแม่ควรจะถ่ายทอดทรัพย์นี้ให้ได้

อย่าไปมัวแต่นึกให้ลูกมีความสุข ไม่ทุกข์อย่างเรา ไม่จำเป็นต้องให้เขาทุกข์อย่างเราหรอก แต่ขอให้ถ่ายทอดอริยทรัพย์ให้เขาด้วย คือคุณสมบัติของตัวเอง ที่ได้มาระหว่างที่เพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นแหละ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์ถาม-ตอบ ท้ายบรรยาย >>

หน้า: 1 2 3 4

No Comments

Comments are closed.