- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
– ๒ –
ดูแลครอบครัว
คุณภาพชีวิตของครอบครัวที่มีความสุข
ปุจฉา: ประเด็นที่ผ่านมานั้นชัดเจนดีค่ะ ดิฉันอยากเรียนถามท่านในลักษณะของคุณภาพชีวิตว่า ในฐานะของชาวพุทธ คุณภาพชีวิตของครอบครัวที่มีความสุขควรเป็นลักษณะใด
วิสัชนา: คุณภาพชีวิตดูได้ ๓ ระดับ เริ่มด้วยระดับที่ ๑ ซึ่งแยกเป็นหลายด้าน
ด้านแรก คือ เรื่องสุขภาพร่างกาย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีกำลัง แข็งแรง อายุยืน
ด้านที่สอง มีอาชีพสุจริต ด้านวัตถุ มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่เดือดร้อน มีกินมีใช้ อย่างน้อยพึ่งตัวเองได้ในด้านเศรษฐกิจ
ด้านที่สาม มีสถานะในสังคม เป็นที่ยอมรับนับถือ มียศ มีตำแหน่ง มีบริวาร มีผู้คนยกย่อง และถ้ามีเกียรติคุณ เป็นที่นิยมนับถือก็ยิ่งดี
ด้านที่สี่ ก็คือ มีครอบครัวอบอุ่นผาสุก มีความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสุข พี่น้องรักกันดี ดูแลเอาใจใส่ ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
ทั้ง ๔ ด้านนี้รวมกันเป็นระดับที่ ๑ เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือประโยชน์ปัจจุบัน เป็นจุดหมายขั้นตาเห็นต้องดูเป็นพื้นฐานก่อน
คุณภาพชีวิตด้านแรกที่เป็นด้านวัตถุ หรือรูปธรรมนี้ ก็อย่างที่บอกแล้วว่า ท่านถือว่าสำคัญ ในฐานะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เราอาศัยมันเป็นฐานที่จะก้าวขึ้นสู่การพัฒนาและความดีงาม หรือการสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป ดังนั้นท่านจึงเอาใจใส่มากทีเดียว เพียงแต่ต้องระวังว่าไม่ให้เอาเป็นจุดหมายที่จะไปหลงติดวนเวียนจมอยู่ แต่ถ้าปฏิบัติให้ถูกก็เป็นการเตรียมฐานชีวิตให้พร้อม
เพราะฉะนั้น ในเรื่องคุณภาพชีวิตจึงมีหลักสำคัญพิจารณาแยกแยะละเอียดลงไปอีก เช่น หลักสัปปายะ ๗ ประการ
สัปปายะ ก็คือคำบาลีที่เราเอามาแปลว่า “สบาย” นั่นเอง แต่ความหมายในภาษาไทยของเราเพี้ยนไปหน่อย
สบายของเรา มักเข้าใจกันว่า หมายถึง ไม่ติดขัด ไม่มีอะไรบีบคั้นกดดัน หรืออึดอัด แล้วก็หยุดแค่นั้น คล้ายกับว่าพร้อมจะลงนอน หรือพักผ่อนได้ (มองที่การไม่ต้องทำ)
แต่สบาย หรือสัปปายะของเดิม หมายถึง สภาพที่เอื้อ เกื้อหนุน เหมาะ ช่วยให้เป็นอยู่ ทำกิจกรรม หรือดำเนินกิจการต่างๆ อย่างได้ผลดี หรือเอื้อต่อการที่จะปฏิบัติให้สำเร็จผล (มุ่งเพื่อการกระทำ) เช่น จะไปฝึกสมาธิ ท่านก็ให้มีสัปปายะ จึงจะได้ผลดี
“สัปปายะ” คือ สภาพเอื้อ เรียกง่ายๆ ว่า ภาวะสบาย นี้เป็นคุณภาพชีวิตขั้นต้น มี ๗ อย่าง คือ
๑. อุตุสบาย (อุตุสัปปายะ) คือ สภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ที่เกื้อกูลต่อชีวิต ธรรมชาติรื่นรมย์ ความร้อนความหนาว บรรยากาศทั่วไป ที่ดี ที่เหมาะ ที่เอื้อ
๒. อาหารสบาย หรือโภชนะสบาย (อาหารสัปปายะ/โภชนสัปปายะ) มีอาหารเพียงพอ ไม่ขาดแคลน และเป็นอาหารที่มีคุณภาพ ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ มีรสชาติประกอบพอเหมาะพอควร
๓. อาวาสสบาย หรือเสนาสนะสบาย (อาวาสสัปปายะ/เสนาสนสัปปายะ) คือ ที่อยู่อาศัย ที่นั่งที่นอน มั่นคง ปลอดภัย อยู่อาศัยใช้ทำกิจที่ประสงค์ได้ดี เป็นที่ผาสุก
๔. บุคคลสบาย (ปุคคลสัปปายะ) คือ มีบุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน ไม่มีคนที่เป็นภัยอันตราย หรือก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าให้ดีก็ให้มีคนที่มีคุณธรรม มีปัญญา จิตใจดี มีไมตรี มีความรู้ ที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาชีวิต พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาให้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยได้คนที่เหมาะใจ
๕. อิริยาบถสบาย (อิริยาปถสัปปายะ) คือ การบริหารอิริยาบถ การเคลื่อนไหวของร่างกาย การได้นั่งนอนยืนเดินอย่างสมดุลและเพียงพอ บริหารร่างกายได้คล่องไม่ติดขัด
๖. โคจรสบาย (โคจรสัปปายะ) คือ มีแหล่งอาหาร แหล่งปัจจัย ๔ สิ่งจำเป็นในการใช้สอยเป็นอยู่ หาไม่ยาก เช่น มีหมู่บ้าน ร้านตลาด หรือชุมชน ที่ไม่ไกล ไม่ใกล้เกินไป
๗. สวนะสบาย (คำเต็มว่า ธรรมสวนสัปปายะ หรือภัสสสัปปายะ) คือ มีโอกาสได้ยินได้ฟังถ้อยคำ เนื้อความ และเรื่องราวที่ให้เกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจในหลักความจริง ความดีงาม ที่เป็นธรรม เป็นวิทยา ตลอดจนการพูดคุยถกเถียงสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด พูดตามยุคสมัยว่า มีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่สร้างสรรค์ ผดุงจิตใจ จรรโลงปัญญา เอื้อต่อการศึกษา เกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ปุจฉาแทรก: ได้ ๗ ข้อแค่นี้ก็สบายแล้ว ทั้ง ๗ ข้อสบายทั้งนั้น สบายสมชื่อทุกข้อ ครบ ๗ ข้อแล้วยังอยู่แค่ระดับที่ ๑ เท่านั้นหรือ
วิสัชนา: ทั้งหมดที่พูดมานี้ยังเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรม คุณภาพชีวิตจะจริงแท้และยั่งยืน ต้องลึกเข้าไปในจิตใจ หรือสูงขึ้นไปในทางนามธรรมด้วย
ต่อจากนี้ก็ให้ดูระดับ ๒ ที่เรียกว่า สัมปรายิกัตกะ หรือประโยชน์เบื้องหน้า เป็นจุดหมายขั้นเลยตาเห็น หรือประโยชน์ที่ลึกเข้าไป เป็นเรื่องที่เลยจากที่ดูในระดับตาเห็นทั่วๆ ไปแล้ว ที่จริงแค่ ๔ ข้อแรกที่กล่าวมาก็ดูได้เยอะแล้ว และเรื่องสัปปายะ ๗ บางอย่างก็ล้ำเข้ามาในระดับที่ ๒ นี้บ้าง แต่ตอนนี้เน้นด้านนามธรรมให้ชัดขึ้น
ในขั้นนี้ก็ดูว่า พ่อแม่ผู้นำในครอบครัว เป็นหลักใจ ให้ความอบอุ่น ซาบซึ้ง สุขใจ อยู่กันในครอบครัวอย่างมีความภาคภูมิใจและมั่นใจ ที่ได้ดำเนินชีวิตโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็เป็นคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นการทำให้จิตใจสงบ มีความรู้สึกมั่นคง
ยิ่งกว่านั้นยังได้เสียสละบำเพ็ญประโยชน์ ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นกุศลที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีอย่างยิ่ง เพราะรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามีความหมาย ทำให้เกิดปีติอิ่มใจมีความสุขที่ลึกซึ้ง ยั่งยืน และจะย้อนไปโยงกับข้อแรก เช่น ทำให้เป็นที่นิยมนับถือ มีความภูมิใจในครอบครัวของตนว่า พ่อแม่ของเราได้ทำประโยชน์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ทำความดีสร้างสรรค์สังคม เป็นต้น
รวมทั้งมีศรัทธา เชื่อมั่นในการกระทำความดี เชื่อมั่นในพระรัตนตรัย มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ จิตใจไม่ว้าเหว่ เป็นคุณภาพชีวิตในระดับจิตใจ แล้วก็มีปัญญาแก้ปัญหานำชีวิตได้ มีความรู้ความเข้าใจ ทันต่อข่าวสารเหตุการณ์ความเป็นไปในโลก และรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล นี่ก็เป็นคุณภาพชีวิตในระดับปัญญา ซึ่งสำคัญมาก
สูงกว่านั้นก็ถึงระดับ ๓ ที่เรียกว่า ปรมัตถะ แปลว่าประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นจุดหมายสูงสุด เป็นขั้นที่มีจิตใจเป็นอิสระ
สองระดับแรกยังเป็นคุณภาพชีวิตในขั้นของการอยู่ร่วมสังคมในฐานะเป็นบุคคล แต่ในที่สุดความเป็นบุคคลในสังคมนั้น ก็ต้องโยงไปหาด้านชีวิตที่เป็นของธรรมชาติ หมายความว่า ที่แท้นั้นทุกชีวิตอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ และกฎธรรมชาตินี้ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีการพลัดพราก พบความผันผวนปรวนแปรเป็นไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยหลากหลายที่เกี่ยวข้อง
ตอนนี้ไม่ว่าคนดี หรือคนชั่ว ถ้าจิตใจยังไม่อิสระ พอเจอกับความผันผวนปรวนแปร ซึ่งเป็นโลกธรรม ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สังคม เหตุการณ์บ้านเมือง ชีวิตเปลี่ยนไป พอเจอเข้าก็โศกเศร้าทุกข์ใจ
ตอนนี้แหละที่คนจะต้องเข้าถึงธรรมชาติ ถ้ารู้ความจริงแจ่มแจ้ง ปัญญาชัดเจนถึงสัจธรรมแล้ว จิตใจก็จะเป็นอิสระ ไม่หวั่นไหว มั่นคง สมบูรณ์ จึงเป็นคุณภาพชีวิตสูงสุด ที่เรียกว่าเป็นมงคลข้อ ๓๘ ตามพุทธพจน์ที่ว่า “…จิตฺตํ …อโสกํ วิรชํ เขมํ” ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบกระทั่งแล้ว จิตใจไม่หวั่นไหว มีความมั่นคง ไม่เศร้าโศกแห้งเฉา ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นจิตใจที่สะอาด ผ่องใส เกษม ปลอดโปร่ง เบิกบาน อันนี้จัดว่าเป็นมงคลสูงสุด เป็นคุณภาพชีวิตชั้นยอด พ่อแม่ที่ถึงขั้นนี้ก็จะเป็นหลักของครอบครัวและของเพื่อนมนุษย์ทั่วไปได้อย่างดี คุณภาพชีวิตก็ดูได้หลายระดับตามหลักอัตถะ คือประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย ๓ ขั้นอย่างนี้
No Comments
Comments are closed.