- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
เมื่อคนพัฒนา ความสุขก็เป็นอิสระจากวัตถุมากขึ้น
ปุจฉา: ครอบครัวมีความสุข หรือความผาสุกมีลักษณะอย่างไรคะ
วิสัชนา: ถ้ามองอย่างกว้าง ก็ดูตามลักษณะของคุณภาพชีวิตในเรื่องสัปปายะ ๗ และอัตถะ ๓ ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้ามองในแง่ตัวคน ก็ควรพิจารณาในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุด้วยว่า วัตถุที่มีอยู่สามารถให้ความสุขกับเขาได้ไหม เขามีการพัฒนา มีความสุกงอมทางปัญญาแค่ไหน จิตใจเป็นอิสระจากวัตถุมากน้อยเพียงใด
ถ้าความสุขของเขาไม่ค่อยขึ้นต่อวัตถุแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีวัตถุมาก ชีวิตจะพึ่งพาวัตถุน้อยลง และมีความสุขได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าจิตใจพัฒนาไม่พอ เขาก็ต้องการวัตถุมากจึงจะมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดูความสุกงอมแก่กล้าของอินทรีย์ โดยเฉพาะด้านปัญญา ถ้าเขายังพัฒนาทางจิตใจและทางปัญญาน้อย เขาก็จะพึ่งพาวัตถุมาก แต่ถ้าเขาพัฒนาสูงขึ้นไป ความสุขของเขาก็แบ่งหรือย้ายไปที่อื่น เช่น สุขจากความรักใคร่ไมตรีระหว่างมนุษย์ ศรัทธาในศาสนาหรืออุดมคติบางอย่าง กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หรืองานที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ความสุขกับธรรมชาติ ความสุขจากวิเวก การศึกษาหาความรู้ การแสวงธรรมแสวงปัญญา ความปลอดโปร่งเป็นอิสระ เป็นต้น ที่ขึ้นต่อวัตถุน้อยลงๆ
ปุจฉา: ในหลักการแล้ว เราควรฝึกการพึ่งพาวัตถุให้น้อยได้อย่างไรบ้างคะ
วิสัชนา: เราควรฝึกตนเองให้เป็นอิสระเหนือวัตถุ มีชีวิตที่ดีเป็นสุขได้ด้วยตนเองโดยพึ่งพาวัตถุน้อยที่สุด หรือค่อยๆ น้อยลงไป จึงมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่าศีล ๘ เป็นตัวอย่างของการฝึก อย่างน้อยไม่ให้ลุ่มหลงวัตถุ ไม่ให้เอาความสุขและชีวิตของเราไปฝากไว้กับวัตถุอย่างเดียว จนกลายเป็นทาสของมันหรือสูญเสียอิสรภาพไป
จะเห็นว่าศีล ๘ เป็นการเพิ่มจากศีล ๕ ในข้อที่เกี่ยวกับตนเองเท่านั้น ในขณะที่ศีล ๕ เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ฆ่าฟันกัน ไม่ละเมิดกรรมสิทธิกัน ศีล ๘ เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น ไม่ต้องดูการละเล่น ไม่ต้องประดับตกแต่ง ไม่ต้องใช้ที่นอนที่สบายเกินไป และกินง่าย อยู่ง่าย กินมื้อเดียว ก็สามารถอยู่ได้ คล้ายๆ กับว่าเอาแค่ที่ตรงและพอกับความต้องการของชีวิตจริงๆ ไม่เอาตามความชอบใจของฉัน แต่ดูตามความเป็นจริงว่าชีวิตต้องการแค่ไหน ถ้าอาหารมื้อเดียวพอ เราก็บอกว่าพอ ฉันไม่เอาความสุขไปฝากหรือไปขึ้นกับอาหารอร่อย แต่จะเอาเวลาไปพัฒนาทางด้านจิตใจ และปัญญา เช่นใช้เวลาไปในการค้นคว้าตำรับตำรา อ่านหนังสือ หรือไปฟังธรรม ไปปาฐกถา อภิปราย ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ ที่ท่านเรียกว่าอนวัชชกรรม
รวมแล้วศีล ๘ เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนต่อขึ้นไปจากระดับศีล ๕ ศีล ๕ มีเพื่อให้มนุษย์อยู่รวมกัน โดยไม่เบียดเบียนกัน แต่ศีล ๘ ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตของแต่ละคนอยู่ดีมีสุขได้โดยขึ้นกับวัตถุน้อยลง ไม่ฝากความสุขไว้กับวัตถุ มิฉะนั้นแล้วต่อไปชีวิตจะกลายเป็นว่าความสุขต้องขึ้นอยู่กับวัตถุ เช่น ไปไหนไม่มีฟูก ไม่มีที่นอนดีๆ ก็ไปไม่ได้ เป็นการจำกัดตนเอง แล้วก็เป็นทุกข์ด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ขึ้นกับวัตถุมากนักก็จะเอาเท่าที่จำเป็น กิน นอนที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น และมีความสุขได้ ไปทำคุณงามความดีได้สะดวก จึงมีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น โล่งเบา คล่องตัว สามารถไปทำสิ่งที่ดีงามได้มากขึ้น
ดังนั้นชีวิตยิ่งพัฒนาขึ้นไปก็ยิ่งมีโอกาสให้ตนเองพัฒนาได้มากขึ้น และช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น แล้วด้านวัตถุเมื่อได้มามาก ก็จะมีส่วนที่เกินจำเป็น ซึ่งนำไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ถ้าเป็นคนที่มีชีวิตขึ้นต่อวัตถุ คิดแต่จะเสพบริโภคให้มากที่สุด มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ก็ต้องเอาให้ตัวได้มากที่สุด และต้องเอาจากคนอื่น ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน คนอื่นก็เดือดร้อน ตัวเองก็ไม่รู้จักพอ มีเท่าไรก็ไม่เป็นสุข เป็นคนที่สุขได้ยาก แต่ถ้าพัฒนาตัวขึ้นไป ความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย มีนิดเดียวฉันก็เป็นสุข แต่ฉันเก่งฉันหาได้มาก ก็นำไปช่วยเหลือเกื้อหนุนเพื่อนมนุษย์ได้มาก กลายเป็นดีไป
เข้าหลักว่า ตัวเองก็เป็นสุขได้ง่าย และช่วยให้คนอื่นเป็นสุขได้มาก หรือเป็นสุขง่าย กินใช้น้อย ทำประโยชน์ได้มาก
No Comments
Comments are closed.