– ๒ – ดูแลครอบครัว

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

มองวัตถุเป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ปุจฉา: จะมีกรณีข้อขัดแย้งคือ การมองว่าการปฏิบัติธรรมควรจะอยู่อย่างสันโดษใช่ไหมคะ แต่การดำเนินชีวิตทางโลกต้องมีวัตถุมาเติมแต่ง มาทำให้เกิดความสมบูรณ์ ดังนั้นการที่เราจะให้เด็กแยกแยะได้นี่จะเป็นเรื่องลำบากไหมคะ

วิสัชนา: ไม่ลำบากเลย พระพุทธศาสนายอมรับว่าวัตถุเป็นสิ่งสำคัญ มีคำสอนเต็มไปหมดให้มีความขยันหมั่นเพียรหาทรัพย์ให้มากๆ แต่ท่าทีต่อวัตถุนี้เป็นสิ่งสำคัญ

เราไม่ได้ใช้วัตถุเพียงเพื่อหาความสุขจากการเสพบริโภค บำรุงบำเรอ แต่เรามีท่าทีต่อวัตถุว่าเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องอาศัยวัตถุจึงเรียกมันว่าเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้สามารถทำสิ่งดีงามประเสริฐที่สูงขึ้นไปอย่างอื่นได้ เช่น ต้องมีเสื้อผ้าอาหาร เราจึงไปศึกษาเล่าเรียนได้ จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเรื่องไม่จบที่วัตถุ วัตถุไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นปัจจัย เป็น means ไม่ใช่เป็น end

ทีนี้เมื่อวัตถุเป็น means ก็เป็นเครื่องเกื้อหนุน เราอาศัยมันเพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือการสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป ตรงนี้เองเป็นสิ่งสำคัญ เราแสวงหาวัตถุมาก็จริง แต่ด้วยท่าทีที่มีจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจน วัตถุจึงเป็นเครื่องเกื้อหนุนพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐสูงขึ้นไป

อย่างน้อยที่สุด ถ้าเรามองวัตถุหรือเศรษฐกิจเป็นปัจจัย เมื่อเรามีวัตถุมาก เราก็จะได้ใช้มันเกื้อหนุนสังคมให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ให้สังคมเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น มิใช่ว่ามีวัตถุมากก็ใช้เสพบำรุงบำเรอให้ตนเองยิ่งใหญ่ ลุ่มหลงมัวเมา จมอยู่แค่นั้น มิใช่อย่างนั้น ท่าทีแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีงาม และระบบของชีวิตสังคมมนุษย์ก็จะมีความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ดีงามยิ่งขึ้นต่อไป อารยธรรมก็จะมีทางเป็นอารยธรรมของมนุษย์ได้จริง

จึงต้องมีการฝึกกันตั้งแต่บัดนี้ คือให้มองวัตถุหรือเศรษฐกิจเป็นปัจจัย ไม่ใช่มองเป็นจุดหมาย ถ้าคนมองวัตถุเป็นจุดหมาย ก็จะพยายามหาวัตถุให้พรั่งพร้อม แล้วก็มัวเมาติดจมวนอยู่แค่นั้น ได้แค่อวดโก้ประกวดกัน และตามมาด้วย

หนึ่ง ต้องพยายามแสวงหาให้มากที่สุด เพื่อเอามาบำรุงบำเรอตนเอง เท่าไรก็ไม่พอ

สอง แย่งชิงเบียดเบียนกัน

สาม อารยธรรมถึงจุดตัน ไม่ก้าวหน้างอกงามต่อไป แต่จะหมุนเข้าสู่วงจรลุ่มหลงมัวเมาและเจริญแล้วก็เสื่อม

แต่ถ้ามองวัตถุเป็นปัจจัยแล้วจะสามารถกำหนดขอบเขตการเสพบริโภคได้ ต่อจากนั้น ถ้ามีมากก็เอาไปช่วยเกื้อหนุนสังคมและสร้างสรรค์ทำความดีงาม

หลักมีอยู่แล้วว่า ทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งวัตถุ และนามธรรม ควรเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน มีความสัมพันธ์กันในเชิงเกื้อหนุน ในขั้นพื้นฐานหรือขั้นต้นที่สุด มนุษย์ต้องอาศัยวัตถุมาเกื้อหนุนชีวิต ถ้าเราไม่มีวัตถุ เราก็จะมีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขไม่ได้ เราต้องอาศัยมัน แต่อาศัยมันแล้วเราไม่จบที่นั่น ไม่มัวลุ่มหลงมัวเมา ถ้าเราเอาวัตถุเป็นจุดหมายก็จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน แต่ถ้าเรามีวัตถุโดยรู้ตระหนักว่าเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุนแล้ว เราก็เดินหน้าต่อไป เกื้อหนุนสันติสุขของโลก และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามทั้งทางจิตใจและทางปัญญา สันโดษมากับความเข้าใจและการปฏิบัติอย่างนี้

สรุปว่า จุดหมายขั้น ๑ มีทรัพย์มียศ-อำนาจ ได้ผลแก่ตัวเอง แต่ยังเสี่ยงดีเสี่ยงร้าย ไม่แน่

พอถึงขั้น ๒ ก็ใช้ทรัพย์ยศทำความดีสร้างสรรค์ประโยชน์

จบที่ขั้น ๓ ใจสุขสงบเป็นอิสระ ไม่ติดวัตถุ ไม่ขึ้นต่อลาภยศโลกธรรม เบิกบานผ่องใส เป็นหลักให้แก่คนอื่นและสังคม

อยู่บ้าน ครอบครัวก็เป็นเวทีปฏิบัติธรรม ที่จะฝึกตัวช่วยกันพัฒนาชีวิตให้บรรลุจุดหมาย ๓ ขั้น ทั้งสุขตัว สุขด้วยกัน และสร้างสรรค์สังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – เลี้ยงลูกสรุป >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9

No Comments

Comments are closed.