– ๒ – ดูแลครอบครัว

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

ใช้ปัญญาและการุณย์ในการสื่อสารสัมพันธ์

ปุจฉา: ในสังคมทั่วไป ความมั่นคงในชีวิตประการหนึ่งก็คือ การดำรงชีวิตครอบครัว การอยู่ร่วมกันของสมาชิกทุกคน ซึ่งตรงกันข้ามกับรูปแบบของผู้ปฏิบัติธรรมที่ต้องละการยึดติดในครอบครัว เพื่อแสวงหาความเป็นอิสระ ความเห็นดังกล่าวปรากฏอยู่เป็นวิถีชีวิตทางโลกและทางธรรม เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรที่จะผสมผสานธรรมให้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตครอบครัว โดยที่สมาชิกมีความแตกต่างทางความคิดเห็น

วิสัชนา: นี่ไม่ใช่เฉพาะพ่อ แม่ สามี ภรรยา แต่รวมถึงทุกคน ทั้งพี่น้องด้วย อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ ที่มีระดับการพัฒนาของจิตใจและปัญญาไม่เท่ากัน เราจะหวังให้ทุกคนเหมือนกันไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะให้มาประสานกันด้วยดี

เรื่องของคนที่มีระดับการพัฒนาไม่เท่ากัน ทำอย่างไรจึงจะนำมาประสานกันได้ ก็อย่างที่เคยพูดแล้วว่า ต้องมีปัญญา เข้าใจกัน และกรุณา เห็นใจกัน แล้วก็พยายามปรับด้วยวิธีการสื่อสารเป็นต้น เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ด้วยดี ยอมรับซึ่งกันและกัน ยอมรับความปรารถนา ความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ต้องยอมกัน จะให้เขาเป็นอย่างเรา หรืออย่างที่ใจเราต้องการฉับพลันทันใดไม่ได้

เมื่อเกิดความขัดแย้ง กระทบกระทั่งกันแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้บานปลาย เอาละนะเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว ก็แก้ไขได้ มาประชุมพูดจา ประสานกันได้ ปรับเข้ากันได้ เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่เอาตามใจปรารถนาของเรา ยอมให้กับความปรารถนาของผู้อื่นด้วย

ไม่ต้องพูดถึงขั้นไม่ยึดติดในครอบครัวหรอก แม้แต่ในขั้นความยึดติดในวัตถุทั่วๆ ไป ก็ต้องเข้าใจ ผู้ที่พัฒนามากกว่าก็ต้องยอมรับความจริงว่า คนมีการพัฒนาไม่เท่ากัน เขายังไม่มาถึงขั้นนี้ เขายังมีความปรารถนาในวัตถุมาก ถ้าเราพ้นไปแล้ว เราก็ไม่ต้องการอะไรมากมาย แต่ก็รู้ เข้าใจเขา และต้องยอมบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยเลย ก็ต้องหาทางให้เขาเข้าใจว่า ชีวิตของเรามิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เราเห็นว่า ถ้าเราไปฝากความสุขไว้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะเป็นทาสของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แล้วจะมีปัญหาตามมามาก

ดังนั้น ต้องปล่อยเขาในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องให้เขาก้าวต่อไป ก็เหมือนกับเด็กๆ ยังอยากโก้ ยังติดอร่อย แต่ผู้ใหญ่ต้องรู้ทัน มิใช่จะเอาแต่คอยตามใจ จะสนองความต้องการของเขาอย่างเดียว ต้องรู้จักสนองความต้องการอย่างรู้เท่าทัน และหาทางให้เขาพัฒนา จุดสำคัญของปัญหาสมัยนี้ก็คือ พ่อแม่ผู้ใหญ่คิดแต่จะสนองความต้องการ ชนิดที่เป็นการบำรุงบำเรอปรนเปรอ โดยไม่ใช้ปัญญาที่จะช่วยให้เขาได้รู้คิด เลยทำให้เขากลับยิ่งลุ่มหลง หมกมุ่น มัวเมา ทำให้เขาเสียโอกาสและไม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้

ปุจฉา: ความยากอยู่ที่การพัฒนา บางทีเรามีฐานะในครอบครัวเป็นน้อง แต่เมื่อเรามีการฝึกฝนตนเองมาพอสมควร ค่อนข้างจะลำบากในการสื่อความเข้าใจให้กับสมาชิกในครอบครัว

วิสัชนา: ต้องมองกว้างๆ ยอมรับในบุคคล และสังคม สังคมเป็นอย่างนี้จะไปหวังให้คนมาเป็นอย่างที่ใจเราต้องการไม่ได้เลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – เลี้ยงลูกสรุป >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9

No Comments

Comments are closed.