- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
รู้จักใช้วิธีบ่มอินทรีย์
ปุจฉา: ท่าทีในการปฏิบัติตน ก็คือ เราไม่ควรหวั่นไหว แม้ว่าจะมีความขัดแย้ง ความไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าจะขัดแย้งกับหลักคุณธรรม เราก็ไม่ควรหลวมตัว แต่ก็ไม่ขัดขวาง แต่ก็ต้องฝึกตนเอง รักษาใจให้ปรารถนาดี อย่างนี้จะถูกต้องไหมคะ
วิสัชนา: อย่างพระพุทธเจ้าเมื่อฝึกเวไนยสัตว์ พระองค์จะเอาพระทัยตามปรารถนาไม่ได้ พระองค์จะทรงใช้ปัญญา พิจารณาว่า ตอนนี้เขาพัฒนาหรือสิกขาอยู่ในระดับใด ถ้าอินทรีย์ยังไม่พร้อม พระองค์จะสอนสิ่งนี้ให้เขา ก็ทรงตระหนักว่าเขายังไม่พร้อม พระองค์ก็ยังไม่ให้ ยังไม่สอนเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ใจเราว่าจะให้เขาได้อันนี้ แล้วก็ไปยัดเยียดให้ เป็นไปไม่ได้
อินทรีย์เขายังไม่แก้กล้าพอ จะทำอย่างไร หนึ่ง ก็คือ รอให้อินทรีย์สุกงอม สอง ก็ต้องใช้วิธีการจัดสรรโอกาส จัดเตรียมแบบฝึกหัดหรือเครื่องฝึก กระตุ้น เพื่อทำให้เขามีอินทรีย์แก่กล้าพร้อมขึ้นมา ท่านเรียกว่า ใช้วิธีบ่มอินทรีย์ ก่อน พอเขาพร้อมแล้ว จึงจะแสดงธรรมนั้นๆ ได้ ถ้ายังไม่พร้อม ก็ยังให้ไม่ได้ อินทรีย์คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ปุจฉา: พระพุทธองค์ทรงทราบว่า บุคคลใดมีอินทรีย์แก่กล้า หรือไม่เพียงใด ควรจะบ่มอินทรีย์อย่างไร ถ้าเราจะนำมาเป็นหลักในการฝึก พัฒนาคนในปัจจุบันแล้ว ควรทำอย่างไรคะ
วิสัชนา: วิธีบ่มอินทรีย์มีต่างๆ ซึ่งแล้วแต่จะให้พร้อมสำหรับจุดหมายระดับไหน แต่มีวิธีการที่ใช้ทั่วๆ ไป เช่น การสนทนา การปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การกำหนดเรื่องให้ไปขบคิดจัดทำเพื่อแก้ปัญหา การสร้างแบบฝึกหัดให้ การให้พบประสบการณ์บางอย่าง การจัดกิจกรรมต่างๆ การไปทัศนศึกษา การไปดูโน่นดูนี่ เป็นวิธีการบ่มอินทรีย์ได้ทั้งนั้น คือเรามีเป้าหมายแล้วว่าจะไปบ่มอินทรีย์ใคร ก็มีการจัดเตรียมกิจกรรม จัดเตรียมสภาพแวดล้อมอะไรต่างๆ ให้เขาได้พบเห็น ได้ฝึก ได้ทำ จนกว่าเขาจะพร้อมขึ้นมาถึงจุดที่เราต้องการ
การฝึกจึงต้องมีความรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมีทั้งแนวราบ และแนวตั้ง แนวตั้งก็คืออินทรีย์ ๕ ว่ามีมากน้อยแค่ใด แนวนอน หรือแนวราบก็คือ จริต อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความสนใจ แม้แต่คนที่พัฒนาอยู่ในระดับเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เช่นว่า คนนี้ทำอาชีพด้านธุรกิจ คนนี้ทำอาชีพรับราชการ คนนี้เป็นทหาร ต่างกันคนละอาชีพ อาจจะมีอินทรีย์ระดับเดียวกัน แต่มีภูมิหลัง แนวโน้ม แนวความสนใจไม่เหมือนกัน เรียกว่ามีความแตกต่างแนวนอน หรือแนวราบ ต้องรู้ทั้งสองแนวนี้จึงจะปฏิบัติต่อคนนั้นได้ถูกต้อง การสอนจึงจะทำได้ดีขึ้น
พูดสั้นๆ ว่าแนวอินทรีย์ คือระดับการพัฒนา กับแนวอธิมุติ อันได้แก่แนวโน้มของจิตใจ จริต อัธยาศัย ภูมิหลัง พื้นเพต่างๆ
ปุจฉา: การใช้ธรรมะเพื่อไปฝึกคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรจะมีเทคนิคอย่างไรคะ
วิสัชนา: ต้องรู้จักคน รู้วิชาอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยความต้องการของเขาเป็นสื่อ แล้วพัฒนาความต้องการของเขาขึ้นมาอีกที เรื่องความต้องการ และการพัฒนาความต้องการนี้ คนไม่ค่อยจะพูดถึงกัน นักการศึกษาไม่ค่อยพูดถึง
การพัฒนาความต้องการสำคัญมาก บางทีไปนึกว่าคนเรามีความต้องการอย่างเดียว ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ความต้องการของคนพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงไปได้ พอพัฒนาเปลี่ยนความต้องการได้แล้ว อะไรต่ออะไรก็เปลี่ยนไปตามมากมาย รวมทั้งความสุขและวิธีเข้าถึงความสุขก็เปลี่ยนไปด้วย พูดง่ายๆ ว่า คนจะเปลี่ยนระดับการพัฒนาไปเลย
ในที่นี้พูดเฉพาะในแง่ความแตกต่างระหว่างบุคคล ขอยกตัวอย่าง เรื่องนี้มาในหมวดทศพลญาณ คือญาณของพระพุทธเจ้า ๑๐ อย่าง ที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสอน เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในญาณ ๑๐ นี้มี ๒ ข้อเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคลที่พูดมาแล้ว คือ
ความแตกต่างในแนวตั้ง คือ อินทรีย์ ได้แก่ อินทริยปโรปริยัตตญาณ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ว่า บุคคลแต่ละคน มีความแตกต่างในอินทรีย์ หรืออินทรีย์ยิ่งหย่อนกว่ากัน คนไหนแค่ไหน และ
ความแตกต่างในแนวราบ หรือแนวนอน คือ อธิมุติ เรียกว่า นานาธิมุตติกญาณ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงหยั่งทราบว่า แม้แต่คนที่มีอินทรีย์ในระดับเดียวกัน ก็มีแนวโน้ม สภาพจิตใจ พื้นเพ ความสนใจ ไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าคนไหนเป็นอย่างไร
เวลาที่พระพุทธเจ้าสอน ทรงสอนแบบรวมๆ ก็มี แต่ที่ทรงใช้มากก็คือการสอนรายบุคคล แบบนี้พระองค์ใช้มาก การสอนที่ได้ผลดีจริง โดยมากต้องเน้นเป็นรายบุคคล แม้แต่เมื่อทรงสอนในที่ประชุม พระพุทธเจ้ามักทรงมีในพระทัยแล้วว่า พระองค์จะมุ่งคำสอนไปที่คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย โดยที่พระองค์มีในพระทัยแล้วว่า คนนั้นมีอินทรีย์พร้อมแล้ว พระองค์ก็จะตรัสมุ่งไปที่บุคคลนั้นเลย ให้เขาได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนคนอื่นก็ได้ประโยชน์ร่วมไปด้วย
No Comments
Comments are closed.