- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
ประสานใจชวนให้ก้าวไปด้วยกัน
ปุจฉา: การไม่สันโดษในกุศลธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติในชีวิตครอบครัว ควรเป็นอย่างไรคะ
วิสัชนา: ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็คือ ความไม่อิ่มไม่พอในการทำความดี ในสิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์ เป็นคุณสมบัติทั่วๆ ไปที่จะทำให้เจริญก้าวหน้า แล้วจะมีปัญหาในครอบครัวอย่างไร
ปุจฉา: กล่าวคือเมื่อนำมาปฏิบัติในครอบครัว อาจมีเกณฑ์แตกต่างกัน มีแนวปฏิบัติที่ไม่ประสานสัมพันธ์กันได้ค่ะ
วิสัชนา: หลักการทั่วไปนั้นเหมือนกัน ทุกคนควรไม่อิ่มไม่พอในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม หรือ ก้าวหน้าในการสร้างสรรค์ความดีนั่นเอง แต่ถ้าเราจะก้าว คนอื่นยังติดจมอยู่กับที่ ก็ต้องยอมรับความจริง แต่ไม่ใช่ยอมปล่อยอยู่อย่างนั้น หมายความว่าไม่ใช่เอาอย่างใจ ต้องเข้าใจและเห็นใจเขา แล้วใช้ความฉลาดในวิธีการ ค่อยๆ ช่วยให้เขาเดินหน้า หรือพัฒนา อย่างที่ว่าแล้ว
โดยเฉพาะต้องพิจารณาด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล เมื่อต้องอยู่ด้วยกัน มีความสัมพันธ์ ก็ควรมีความเข้าใจเขา เห็นใจ และรู้จักปรับ ยืดหยุ่น ฉลาดในวิธีการ โดยเฉพาะวิธีการและคุณสมบัติที่จะมาเกื้อหนุนวิธีการให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องใช้การเข้าถึงกันด้วยการสื่อสารเป็นอย่างมากทีเดียว การรู้จักใช้ภาษา สื่อสารเป็น เป็นเรื่องใหญ่มาก
มนุษย์ปัจจุบันมีปัญหามากในเรื่องการสื่อสาร อยู่ในยุคข่าวสาร แต่สื่อสารไม่เป็น การสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้ความฉลาด ความสามารถ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายที่เผยแผ่ธรรม สอนคนได้สำเร็จ ต้องมีปฏิสัมภิทา ๔ ซึ่งมีข้อ ๒ ที่เรียกว่า นิรุตติ-ปฏิสัมภิทา คือปัญญาแตกฉานในการใช้ภาษาสื่อสาร ต้องรู้ว่าจะใช้ถ้อยคำอย่างไร จึงจะเหมาะและได้ผล จะพูดกับเขาอย่างไร ถ้อยคำ ลำดับเรื่อง จุดเน้น จังหวะ ความกระชับ สละสลวย ชัดเจน ความสอดคล้องกับสถานการณ์ หรือกาลเทศะ เรื่องและคำที่เข้ากับผู้ฟัง ท่วงทีการพูด ลักษณะการพูด การสื่อสารที่ตรงประเด็นและนำสู่จุดหมาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีผลทั้งนั้น
ในการสื่อสารทั่วไปมีหลักปิยวาจาอยู่ในสังคหวัตถุ ๔ ประการ รวมแล้วก็เพื่อจะให้ชุมชนนั้นๆ ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป อยู่กันได้ มีความสามัคคีกลมเกลียว พร้อมเพรียงกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว มีเอกภาพ โดยปฏิบัติสังคหวัตถุทั้ง ๔ ประการ คือ
๑. ทาน การให้แก่กัน การให้ทั้งสิ่งของ วัตถุ เงินทอง ความรู้ วิชาการ
๒. ปิยวาจา การพูดด้วยจิตใจหวังดี
๓. อัตถจริยา การใช้กำลังความสามารถ เรี่ยวแรงต่างๆ ที่มีอยู่ ทำประโยชน์ให้แก่กัน
๔. สมานัตตตา การทำตนเสมอสมาน ทำตัวให้เข้ากันได้ มีความเสมอภาค ยุติธรรม ไม่ดูถูกดูหมิ่น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
ข้อที่ ๔ ทำให้พูดกันง่าย พอคนเรารู้จักร่วมสุขร่วมทุกข์ มีทุกข์ไม่ละทิ้งกัน เวลามีปัญหา ก็มีความเห็นใจกัน มาร่วมกันแก้ไข พูดก็ง่าย แต่ถ้าใจไม่รับกันแล้ว ก็พูดกันยาก เพราะใจตั้งต้านไว้ก่อน ไม่ใช่ตั้งรับ ถ้าเกิดความรู้สึกเห็นใจเขา มีความรู้สึกว่าได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันแล้ว จิตใจจะมีความโน้มเอียงไปในทางรับกันได้
No Comments
Comments are closed.