๒. ศีล คือ การประพฤติดีงาม มีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนและฝึกหัดขัดเกลา เฉพาะอย่างยิ่ง
ก) รักษาศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้านผู้ยังแสวงหาวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภคต่างๆ เมื่อต่างคนต่างหา ทุกคนก็อยากได้อยากเอาให้มากที่สุด คนที่มีกำลัง มีโอกาส มีความสามารถมากกว่า ก็จะข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ที่ด้อยกำลัง ด้อยโอกาส สังคมก็จะเดือดร้อน เต็มไปด้วยการเบียดเบียนแย่งชิง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงวางหลักศีล ๕ ไว้เป็นกรอบหรือเป็นขอบเขต ว่าใครจะแสวงหาอย่างไรก็หาไป แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิด ศีล ๕ ข้อนี้ แล้วสังคมก็จะสงบสุขพอสมควร ไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ และทุกคนก็จะพออยู่กันได้ และพอมีความสุขได้มากบ้างน้อยบ้าง โดยให้ทุกคน
๑) เว้นจากปาณาติบาต ไม่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายกัน รวมทั้งไม่รังแกสัตว์
๒) เว้นจากอทินนาทาน ไม่ละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกันและกัน
๓) เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดต่อคู่ครองของรักของหวงกัน
๔) เว้นจากมุสาวาท ไม่ละเมิดต่อกันทางวาจา ไม่ทำร้ายหรือทำลายผลประโยชน์กันด้วยวาจาเท็จ โกหกหลอกลวง
๕) เว้นจากสุรายาเมาสิ่งเสพติด ไม่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นด้วยการมีพฤติกรรมที่ขาดสติสัมปชัญญะเพราะเสพสิ่งเสพติด
ข) รักษาอุโบสถ หรือศีล ๘ ศีล ๕ นั้นช่วยให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย อย่างน้อยไม่เดือดร้อนจนถึงกับลุกเป็นไฟ แต่ก็ไม่เป็นหลักประกันว่าคนจะมีความสุข ผู้ที่ปรารถนาชีวิตที่ดีงามมีความสุข ควรฝึกหัดพัฒนาตนต่อไปด้วยการรักษาอุโบสถหรือศีล ๘ ซึ่งมีข้อปฏิบัติเพิ่มจากศีล ๕ อีก ๓ ข้อ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิม ๑ ข้อ (ข้อ ๓) ตามประเพณีทั่วไป นิยมรักษาเพียง ๗-๘ วัน ครั้งหนึ่ง คือ ในวันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ และขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด
การรักษาอุโบสถนี้ เป็นการฝึกตนในการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ ไม่ให้ชีวิตและความสุขของตนต้องไปขึ้นต่อการเสพหรือบริโภควัตถุมากเกินไป ไม่ให้กลายเป็นคนลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุ กล่าวคือใน ๖-๗ วันที่ผ่านมา เคยแต่ตามใจตนเอง หาความสุข ด้วยการกินตามใจชอบ ยุ่งอยู่กับการสนุกสนานดูฟังการบันเทิง และบำเรอสัมผัสกายด้วยการนอนฟูกฟูหรูหรา พอมาถึงวันที่ ๗ หรือ ๘ ก็หัดเป็นอยู่ง่ายๆ โดยพึ่งวัตถุแต่เพียงเท่าที่จำเป็นหรือพอแก่ความต้องการที่แท้จริงของชีวิต ฝึกเป็นอยู่ให้ดีงามและมีความสุข โดยไม่ต้องพึ่งการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เช่น กินอาหารเพียงในเวลาจำกัดแค่เที่ยงวันเท่าที่เพียงพอแก่สุขภาพ
การปฏิบัติตามหลักการรักษาอุโบสถนี้ นอกจากเป็นการฝึกตนให้มีความสุขได้ง่ายขึ้นและพร้อมที่จะก้าวต่อไปในการพัฒนาชีวิตขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ก็จะทำให้มีวัตถุเสพบริโภคเหลือพอที่จะนำไปเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่ผู้อื่น และมีเวลาเหลือจากการมัวเมาเสพวัตถุที่จะนำไปใช้ในทางที่ดีงามสร้างสรรค์อย่างอื่น โดยเฉพาะในขั้นภาวนาที่เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ และพัฒนาปัญญาของตน ตลอดจนไปบำเพ็ญทาน ทำการสงเคราะห์ หรือบำเพ็ญประโยชน์ด้านอื่นๆ
ศีล ๘ เฉพาะข้อที่ต่างและเพิ่มจากศีล ๕ คือ
๓) เว้นจากอพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ งดเว้นเมถุน
๖) เว้นวิกาลโภชน์ ไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวัน
๗) เว้นนัจจคีตวาทิต-มาลาคันธวิเลปนะฯ งดการฟ้อนรำขับร้องเล่นดนตรีดูการละเล่น และการประดับตกแต่งร่างกายใช้ของหอมเครื่องลูบไล้
๘) เว้นอุจจาสยนมหาสยนะ งดนอนบนฟูกฟูที่นั่งที่นอนสูงใหญ่หรูหราบำเรอ
No Comments
Comments are closed.